Brain Talk : บทเรียนปฏิรูประบบเลือกตั้งนิวซีแลนด์

การปฏิรูประบบเลือกตั้งของประเทศนิวซีแลนด์ หนึ่งในดินแดนในฝัน เส้นทางด้านการท่องเที่ยวของคนไทยหลายคน อันมีธรรมชาติสวยงาม และคุณภาพชีวิตของประชากรที่ดี

ในเรื่องระบบการปกครอง นิวซีแลนด์เดินรอยตามสหราชอาณาจักร คือไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์อักษร มีรูปแบบ รัฐบาลในระบบรัฐสภา (Westminster model) ส่วนระบบการเลือกตั้ง นิวซีแลนด์ใช้ระบบเลือกตั้งแบบหนึ่งเขตหนึ่งคน เสียงข้างมากธรรมดา ตั้งแต่เลือกตั้งครั้งแรก ใน ค.ศ.1852

แต่ผลที่เกิดจากการใช้ระบบเสียงข้างมากธรรมดามานาน ทำให้พัฒนาการทางการเมืองของนิวซีแลนด์ เกิดระบบสองพรรค คู่ตรงข้าม วางรากฐานมาอย่างมั่นคงยาวนาน

ดูเหมือนจะไม่มีปัญหา แต่ก็มีปัญหาเกิดขึ้น เพราะระบบการเลือกตั้งแบบนี้ก่อให้เกิดปัญหาความไม่สมดุลระหว่างคะแนนเสียงกับที่นั่งในสภา

Advertisement

ยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมเลยก็คือ ผลการเลือกตั้งสองครั้ง ใน ค.ศ.1978 และ ค.ศ.1981 พรรค National ชนะเลือกตั้ง ได้ที่นั่งมากที่สุดในระบบสภาเดียวของนิวซีแลนด์ คือได้ 51 ที่นั่ง หรือคิดเป็น 55.4% ของจำนวนที่นั่ง ทั้งที่ได้คะแนนเสียงเพียง 39.8% ขณะที่ พรรค Labour ได้ที่นั่งเพียง 40 ที่นั่ง ทั้งที่ได้คะแนนเสียง 40.4% ส่วน พรรค social credit ที่มีคะแนนอันดับ 3 ได้คะแนนไปถึง 16.1% กลับมีที่นั่งในสภาเพียง 1 ที่นั่ง เท่านั้น

ปัญหาดังกล่าวก่อให้เกิดการตั้งคำถามอย่างหนักถึงความเท่าเทียม และปัญหาการจัดสรรที่นั่งอย่างยุติธรรม ผลการเลือกตั้งดังกล่าว ขัดกับหลักการที่ว่า การเลือกตั้งควรสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน

นอกจากปัญหาความไม่สมดุลของ คะแนนเสียงกับที่นั่ง อีกปัญหาหนึ่งที่ได้รับการพูดถึงอย่างมาก คือคนเผ่าเมารี ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อย และผู้หญิงแทบไม่มีโอกาสได้รับเลือกตั้ง

Advertisement

กระบวนการปฏิรูประบบเลือกตั้งในนิวซีแลนด์จึงเกิดขึ้น ราวปี 1984 เมื่อพรรค Labour คว้าชัยชนะแล้วกลับมาได้เสียงข้างมากในรัฐสภา จึงได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาระบบเลือกตั้ง เพื่อทบทวนปัญหาระบบเดิม และศึกษาระบบเลือกตั้งอื่นๆ ในโลก ใช้เวลาหนึ่งปีในการศึกษา ก่อนจะเสนอให้มีการเปลี่ยนไปใช้ระบบเลือกตั้งแบบผสม โดยเป็นการจัดสรรที่นั่งทั้งจากระบบเขตและระบบสัดส่วน

ประโยชน์ที่เกิดขึ้นก็คือ พรรคการเมืองเดิมก็สามารถแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม รวมถึงคนกลุ่มน้อยอย่างคนเผ่าเมารี ผู้หญิง และเพศทางเลือกก็สามารถมีผู้แทนได้ นี่คือการปฏิรูประบบเลือกตั้งโดยคำนึงถึงหลักการที่ว่าการเลือกตั้งควรสะท้อนผลประโยชน์ และความหลากหลายของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

จากนั้นก็เป็นการทำประชามติ ผลปรากฏว่ามีผู้ออกเสียงร้อยละ 84.7 ต้องการเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง และผู้ออกเสียงประชามติร้อยละ 70.5 ต้องการเปลี่ยนไปเป็นระบบเลือกตั้งแบบผสมเพื่อความเท่าเทียมมากขึ้น ต่อมาในปี 1993 มีการทำประชามติอีกครั้ง พร้อมกับการเลือกตั้งทั่วไป เพื่อลดค่าใช้จ่าย พบว่าประชาชนร้อยละ 53.9 ยังยืนยันที่จะเปลี่ยนไปใช้การเลือกตั้งแบบผสม

ในปี 1996 จึงเป็นครั้งแรกของนิวซีแลนด์ที่ใช้การเลือกตั้งระบบใหม่ แต่ถึงกระนั้นในปี 2011 เมื่อพรรค National เข้ามามีอำนาจเป็นรัฐบาล ก็มีความพยายามทำประชามติ เพื่อถามประชาชนว่ายังเห็นชอบระบบเลือกตั้งแบบผสมหรือไม่ ประชาชนร้อยละ 56.17 ก็ยังคงต้องการระบบเลือกตั้งแบบผสมต่อไป

จนถึงวันนี้ นิวซีแลนด์ใช้ระบบเลือกตั้งแบบผสมมาแล้ว 8 ครั้ง การเลือกตั้งในปี 2017 มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญ อาทิ มีพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งเข้าสู่สภาจำนวนมากขึ้น ห้าถึงเจ็ดพรรค ทำให้นิวซีแลนด์เปลี่ยนจากประเทศจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวกลายเป็นรัฐบาลผสม พรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากที่สุดในสภาไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล เพราะพรรคเสียงข้างน้อยมีการเจรจาตกลงตั้งรัฐบาลกันสำเร็จ นอกจากนี้ยังมีความหลากหลายมากขึ้น สมาชิกรัฐสภาที่เป็นผู้หญิงและชนเผ่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

นี่คือบทเรียนการเปลี่ยนผ่านการเมืองอย่างสันติ โดยการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งให้ยุติธรรม

(ดูเพิ่มเติมใน สิริพรรณ นกสวน สวัสดี, ระบบเลือกตั้งเปรียบเทียบ, (กรุงเทพฯ : สยามปริทัศน์, 2561) หน้า 187-191)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image