รายงาน : พรรคขนาดกลาง โชว์วิชั่น‘ปรองดอง’สู้เลือกตั้ง?

หมายเหตุ มติชนทีวีจัดดีเบต (S) ELECTION’62 #เกาะติดเลือกตั้ง 62 หัวข้อ “พรรคขนาดกลาง ‘ปรองดอง’ ไม่แบ่งฝ่ายขายได้จริงหรือ” โดยมี นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย (ภท.) นายนิกร จำนง ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ (ปช.) พ.ต.อ.รวมนคร ทับทิมธงไชย ประธานยุทธศาสตร์พรรคประชานิยม (ปย.) ร่วมแลกเปลี่ยน

⦁จุดยืนของพรรคเน้นผู้สมัคร หัวหน้าพรรค หรือนโยบาย

สุวัจน์ : ในการลงสมัครรับเลือกตั้ง พรรคชาติพัฒนาให้ความสำคัญเรื่องทีมเวิร์ก ผู้สมัคร นโยบาย กรรมการบริหารพรรค เราไม่ได้จำกัดที่บุคคลหนึ่ง เพราะการเมืองเป็นเรื่องของความพร้อมทุกด้าน ถ้านโยบายดีแต่
ผู้สมัครไม่ดี หรือหัวหน้าพรรคดีแต่นโยบายไม่สอดคล้องก็ไม่ได้ ดังนั้น ทั้ง 3 อย่างต้องไปด้วยกันและเราให้ความสำคัญกับทั้ง 3 ด้าน ซึ่งเราออกแบบมาตั้งแต่ทำพรรคแล้วว่าจะไม่ขายคนหนึ่งคนใด เพราะการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองทุกคนต้องช่วยกัน

ศักดิ์สยาม : พรรค ภท.เน้นที่ประชาชน ที่ผ่านมาพบว่ามีการนำเสนอให้พี่น้องประชาชนปวดหัวมากกว่าเดิม เพราะมีการพยายามแบ่งขั้วเผด็จการและประชาธิปไตย แต่ความจริงพี่น้องประชาชนมีปัญหาที่มากกว่านั้นคือ ความยากจนและหนี้สิน

Advertisement

นิกร : สาระสำคัญของการเมืองไม่ได้อยู่ที่พรรคการเมืองที่เป็นคนใช้ของประชาชน แต่อยู่ที่ประชาชนในการเลือก ซึ่งในส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนาสมัยก่อนเลือกเพราะตัวบุคคล แต่ต่อมาผู้เลือกพัฒนามาเลือกพรรค ซึ่งพรรคชาติไทยพัฒนามาจากพรรคชาติไทยเดิม เกือบ 40 กว่าปีทำให้พรรคเป็นที่รู้จักกันทั่วไป และบางคนก็รู้จักหัวหน้าพรรค แต่ปัญหาพรรคการเมืองคือเราต้องอยู่ต่อไปในการเลือกตั้งต่อไป ส่วนนโยบายเราก็มีครอบคลุมและเป็นคำมั่นสัญญาที่เราสัญญาประชาชนโดยเราจะปฏิบัติการอย่างเร่งด่วน

พ.ต.อ.ทวี : พรรคประชาชาติเป็นการรวมตัวของคนที่มีอุดมการณ์ทางการเมือง ประกอบด้วยนักการเมืองที่มีประสบการณ์ความรู้ความสามารถระดับต้นๆ ของพรรคการเมือง มาจากข้าราชการอดีตข้าราชการ เราเห็นว่าปัญหาของประเทศชาติถ้าปล่อยไว้ หรือแก้แบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยจะทำให้แก้ไม่ได้ เราจึงรวมตัวกัน
ตั้งพรรคการเมืองโดยเน้นคุณค่าของมนุษย์ ให้มีความเท่าเทียมกันแม้มีความหลากหลาย พรรคจึงได้ส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรม และแสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมโดยเลือก นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ซึ่งเป็นมุสลิม มาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เพราะเราไม่ได้ดูที่ศาสนาแต่ดูผลงาน อย่างไรก็ตาม วันนี้ประเทศชาติไปไม่ได้
เกิดการผูกขาดของคนกลุ่มหนึ่งออกกฎระเบียบเพื่อชิงทรัพยากร เราจึงต้องทำประเทศให้เป็นประชาธิปไตย ประชาชนต้องมีสิทธิเสรีภาพความเท่าเทียม มีศักดิ์ศรีมนุษย์ และที่สำคัญผู้บริหารต้องมาจากเลือกตั้ง และเราจะผลักดันให้เป็นรัฐสวัสดิการให้ได้

พ.ต.อ.รวมนคร : นโยบายของพรรค ประชาชนต้องมาก่อน รัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบ เรียนฟรี 19 ปี อย่างมีคุณภาพ รักษาฟรีทุกโรคแบบมีคุณภาพ ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ จ้างแรงงานไทยเพิ่ม จึงเป็นที่มาของการยกเลิกบัตรคนจน หรือ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คือโครงการของพรรคประชานิยม หยุดนำภาษีอากรของคนที่เสียภาษีไปแจกโดยที่ผู้บริหารไม่ทำงาน เราจะนำเงินที่ยกเลิกไปพัฒนา ซื้อรถไถนา รถเกี่ยวข้าว เกี่ยวอ้อย ทำนาทำไร่ฟรี สร้างโรงสีข้าวประจำอำเภอ และรับซื้อข้าวจากชาวนาโดยตรง ทั้งนี้เราส่งผู้สมัครทั้งหมด 319 เขต บัญชีรายชื่อ 111 รายชื่อ รวมแล้ว 430 คน แต่เราจะเน้นที่นโยบายที่แตกต่างจากพรรคการเมืองอื่น

Advertisement

⦁นโยบายเด่นที่พรรคต้องการเสนอต่อประชาชน

สุวัจน์ : พรรคของเราให้ผู้สมัคร ส.ส.ลงพื้นที่และรวบรวมความต้องการของประชาชน นำมาจัดทำนโยบาย เพื่อให้นโยบายตรงกับปัญหา ซึ่งจากการลงพื้นที่ พบว่าประชาชนในปัจจุบันต้องการ 2 เรื่องคือ 1.เศรษฐกิจดี โดยเฉพาะเศรษฐกิจรากหญ้า และ 2.การเมืองนิ่ง ความขัดแย้งจบสิ้น เราจึงนำ 2 เรื่องนี้มาทำนโยบายโดยผสมผสานกับพื้นฐานของพรรค ซึ่งมีที่มาจาก พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนาคนที่ 1 เมื่อมองเหตุการณ์ยุค พล.อ.ชาติชายกับยุคปัจจุบัน พบว่ามีความคล้ายกัน แต่คล้ายกันในสิ่งที่ดี คือในยุค พล.อ.ชาติชายนั้น เป็นยุคทองทางเศรษฐกิจ บ้านเมืองเรียบร้อย ไม่มีปัญหา จึงมองว่าบุคลิกของ พล.อ.ชาติชาติตรงกับเหตุการณ์ปัจจุบัน เมื่อมาบวกกับความทันสมัยของประเทศ และตัวแปรต่างๆ เช่น ภูมิรัฐศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมที่ต้องการคนรุ่นใหม่ รวมถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ วันนี้เราจึงให้ความสำคัญกับ 2 เรื่องดังกล่าว โดยนโยบายเศรษฐกิจนั้น มี 2 ระดับ คือเศรษฐกิจข้างบนและเศรษฐกิจข้างล่าง ปัญหาเฉพาะหน้าในขณะนี้คือเศรษฐกิจข้างล่าง เพราะครึ่งหนึ่งของคนในประเทศเป็นเกษตรกร เงินในกระเป๋าของเขาหายไป และไม่ได้เอ็นจอยกับจีดีพี 4 เปอร์เซ็นต์ เราจึงมีนโยบายสำหรับเศรษฐกิจรากหญ้าแบบเร่งด่วน อาทิ 1.กองทุนสวัสดิการเกษตรกร 20,000 ล้านบาท เข้าไปดูเรื่องราคาพืชผล 2.ปรับการทำเกษตรให้เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ 3.คนต่างจังหวัดที่เป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชน หรือเอสเอ็มอี เราจะมีกองทุนสร้างความเข้มแข็ง ให้ปรับปรุงกิจการ และเพิ่มสภาพคล่อง 10,000 ล้านบาท และ 4.การอัดฉีดระดับรากหญ้าที่เร็วที่สุด คือนำนักท่องเที่ยวไปเที่ยว โดยต้องกระจายไปตามหมู่บ้านต่างๆ จะทำให้รายได้เข้าไปถึงคนในชนบท

ส่วนเศรษฐกิจข้างบน จะทำอย่างไรให้ประชาชนเติบโตอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่โต 4 เปอร์เซ็นต์ กันเพียงไม่กี่คน ดังนั้น ต้องสร้างความทัดเทียม ยั่งยืน และมีภูมิคุ้มกันให้ระบบเศรษฐกิจ ไม่ใช่มีอะไรมากระทบนิดหน่อย เศรษฐกิจก็ไปแล้ว พรรคจึงเห็นว่าเด็กไทยต้องพูดได้ 2 ภาษา เพื่อดึงดูดนักลงทุน รวมถึงสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ทั่วถึงทุกภูมิภาคและเชื่อมโยงไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น รถไฟรางคู่ รถไฟความเร็วสูง หรือการเปิดประตูอีสานไปสู่อินโดจีน ส่วนด้านพลังงาน วันนี้พลังงานทดแทนมีราคาถูกกว่าฟอสซิล จำเป็นต้องนำมาใช้เป็นพลังงานหลักของประเทศ นอกจากนี้ ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคที่ 4 จะทำอย่างไรเพื่อเพิ่มทักษะแรงงาน ขณะที่เรื่องสิ่งแวดล้อม เราให้ความสำคัญว่ากรุงเทพฯต้องไม่มีฝุ่น นำหลัก zero waste มาใช้
อีกทั้งทำให้เกิด 5จี โดยเร็ว ไวไฟทั่วถึง จะช่วยลดเรื่องความเหลื่อมล้ำ ทั้งนี้ ภาพรวมทางเศรษฐกิจของเรา คือทำให้เทคโนโลยีสร้างผลกระทบในเชิงบวก นอกจากนี้ ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศคือการ
ท่องเที่ยว เพราะเรามีนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน เป็นอันดับ 4 ของโลก ในอนาคต รายได้จากนักท่องเที่ยว อาจเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี แล้วใครจะมาแข่งกับเมืองไทยเรื่องการท่องเที่ยว เพราะประเทศไทยมีจุดแข็งมากมาย ดังนั้น การท่องเที่ยวจะต้องเป็นวาระหลักและเป็นความยั่งยืนของระบบเศรษฐกิจ

ส่วนเรื่องความขัดแย้ง เราให้ความสำคัญว่าจะทำอย่างไรให้คนเสมอภาคกัน เพราะความขัดแย้งทางการเมืองส่วนหนึ่งเกิดจากความเหลื่อมล้ำ พรรคจึงมีนโยบายกระจายอำนาจ ดูแลกำนันผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นรากฐานของรากหญ้า เงินเดือนขั้นต่ำของเขาควรอยู่ที่ 10,000 บาท ขณะที่ อสม.ควรได้รับค่าตอบแทน 2,000 บาท นอกจากนี้ ปัจจุบันไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ เราจึงบอกว่าไม่ต้องเป็นผู้สูงอายุได้ไหม แต่ใช้วิธีต่ออายุการเกษียณ รวมถึงการออกแบบอารยสถาปัตย์เพื่อดูแลผู้สูงอายุ คนพิการ และคนทั่วไป แต่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ เท่ากับเราขาดกำลังคนรุ่นใหม่ พรรคจึงมีทุนรับน้องใหม่ให้เด็กแรกเกิดจำนวน 1,000 บาทต่อเดือน เพื่อส่งเสริมให้คนมีลูก และสุดท้าย พรรคจะเอากีฬามาสร้างความสามัคคีในชาติ ชูนโยบายกีฬา กีฬาเป็นยาวิเศษ จะสร้างมินิสปอร์ตคอมเพล็กซ์ตามอำเภอต่างๆ มีกองทุนพัฒนานักกีฬาให้เป็นนักกีฬาโลก และใช้หลักของกีฬามาพัฒนาการเมือง คือถ้าเราเล่นการเมืองแบบเดียวกับเล่นกีฬา รู้แพ้รู้ชนะ เหมือนที่ พล.อ.ชาติชายบอกว่า การเมืองจบเป็นยกๆ ประชาธิปไตยชนะกันเสียงเดียวก็พอ ไม่เอากันเป็นไม่เอากันตาย ลืมอดีต เหล่านี้จะช่วยลดเรื่องความขัดแย้ง

พ.ต.อ.ทวี : พรรคเรามีนโยบายชัดเจน แม้จะซ้ำกับพรรคอื่นบ้าง แต่วิธีคิดของเราแตกต่าง เช่น การแก้ปัญหาการบริหารและการปกครอง ซึ่งปัจจุบันพบว่าประเทศไทยมีรัฐบาลกลางที่ใหญ่ แต่ทำให้ท้องถิ่นเล็ก งบประมาณเฉพาะบุคลากรส่วนกลาง ตั้งไว้กว่า 1 ล้านล้านบาท ขณะที่ท้องถิ่นซึ่งมีกว่า 8,700 แห่ง กลับมีงบเพียง 3 แสนล้าน ในการพัฒนาประเทศ เมื่ออำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน เราต้องทำรัฐส่วนกลางให้เล็ก อาจต้องมีรูปแบบการปกครองที่มีการเลือกตั้งเพื่อกระจายอำนาจและให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชน เรื่องต่อมาที่สำคัญอย่างยิ่ง คือวันนี้ทุกพรรคพูดแต่เรื่องรายจ่าย จะทำนู่นทำนี่ แต่ยังไม่เคยพูดเรื่องหารายได้เข้ารัฐ เราจึงจำเป็นต้องมีสถาบันกลางที่ทำนโยบายภาษีและงบประมาณ ซึ่งผมไม่ค่อยชอบอะไรที่เป็นอิสระ เพราะเรามีองค์กรอิสระเยอะ แต่มีแล้วตรวจสอบไม่ได้ มีแล้วก็สร้างอาณาจักร ฉะนั้น ถ้ามีแล้วต้องยึดโยงกับประชาชน เพื่อให้เกิดความสมดุล หรือเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ต้องมีการศึกษา อีอีซีของเรามีการขยายให้เช่าที่ดินถึง 99 ปี ซึ่งต้องถามว่าประชาชนได้อะไร นอกจากนี้ ใน 14 จังหวัดภาคใต้ เราจะเห็น 2 โครงสร้างสำคัญ คือ วัฒนธรรมและเศรษฐกิจชุมชน เวลาลงทุนอะไร ต้องเห็นความสำคัญของมนุษย์มากกว่ากฎหมาย วันนี้ทราบไหมว่า คนที่เสียภาษีมากที่สุดคือคนจนและชาวบ้านที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่มีคนไปสร้างวาทกรรมว่าคนรวยหรือคนชั้นกลางไปเสียภาษีให้คนจน ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ ฉะนั้น วันนี้ต้องเลิกคิดว่าสมบัติของชาติเป็นสมบัติของราชการ แต่ต้องเป็นของประชาชน ต้องมาจัดระบบ บริหารจัดการใหม่ โดยพรรคประชาชาติจัดเป็นนโยบาย “ตัว อ.” ซึ่ง อ.ตัวแรก คือ ไม่เอาความอยุติธรรม พรรค ปช.มีความเชื่อมั่นว่าระบอบประชาธิปไตยคือการแก้ไขปัญหาของประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับนี้เหมือนดูถูกประชาชน ต่อให้ชนะหมดก็ยังไม่ได้อำนาจบริหารมา พรรคจึงมีนโยบายสำคัญว่าจะยกเลิก ปรับปรุง และปฏิรูปกฎหมาย ส่วน อ.ต่อมา คือ อาหาร คนต้องไม่ยากจน มีอาหารกิน

ส่วนการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผ่านมามีคนถามมากกว่ามีคนตอบ พรรคต้องบอกว่าการแก้ปัญหาไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด คนอาจคิดว่าเราพัฒนากันมาเยอะ เคยมีโครงการ 1 ตำบล 1 โรงงานยาง เราทุ่มงบไปเยอะ แต่ปัญหาก็ยังมีอยู่ ฉะนั้น รากเหง้าของปัญหาในวันนี้ คือเราต้องยอมรับว่าทุกคนเป็นคนไทย ต้องเปิดพื้นที่ จากเดิมที่เป็นเรื่องของคน 2 กลุ่ม คือทหาร ตำรวจ พลเรือน กับ ผู้ก่อเหตุ แต่ทำไปทำมา คนที่เดือดร้อนคือผู้หญิงที่ต้องเป็นม่าย พ่อแม่ต้องขาดลูก ดังนั้น ต้องเอาปัญหาภาคใต้เป็นปัญหาของคนทุกคน และคนที่จะแก้ปัญหาต้องทำให้คนเชื่อมั่น มีความซื่อสัตย์ จริงใจ ตรงไปตรงมากับประชาชน พยายามไม่ให้มีหน่วยงานใดมาซ้อนรัฐ และแต่ละหน่วยต้องทำหน้าที่ของตนเอง เช่น ทำไมวันนี้ กอ.รมน. ไปสอนหนังสือ เขาจะทำทุกอย่างไม่ได้ ต้องให้ทุกคนมีหน้าที่ ดังนั้น จุดยืนของพรรคประชาชาติ คือเราต้องนำสันติสุขและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินกลับสู่ภาคใต้ ช่วงที่เป็นประชาธิปไตย ประชาชนรู้สึกว่าเขาได้รับการกระจายทรัพยากรและงบประมาณ แต่ในบางช่วงที่มีการใช้กำลัง ทำให้คนจำยอม มันก็กลายเป็นวงจรอุบาทว์
จนบ้านเมืองมาถึงวันนี้ และที่สำคัญ สิ่งที่พรรคให้ความสำคัญสูงสุด คือสร้างคนด้วยความรู้ สร้างครู
สร้างอาชีพ และสร้างชาติ เชื่อว่าพรรคมีบุคลากรที่จะเปลี่ยนประเทศไทยให้ดีขึ้นได้

⦁นโยบายเด่นที่พรรคต้องการเสนอต่อประชาชน

ศักดิ์สยาม : ปัญหาปากท้อง ความยากจนและหนี้สิน เป็นโจทย์ใหญ่ที่สุดของประเทศ ถ้าแก้ไขได้ สิ่งต่างๆ จะง่ายขึ้น ในเรื่องการดูแลภาคการเกษตร สิ่งที่พรรค ภท.จะใช้คือไม่ใช้งบประมาณแทรกแซง วิธีการคือออกกฎหมายตามพระราชบัญญัติอ้อยน้ำตาลให้กับพืชเศรษฐกิจ 4 ตัวคือ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน และแบ่งสัดส่วนให้ชัดว่าเกษตรกรต้องได้ตามต้นทุนที่ลงทุน เช่นจากการศึกษาของพรรคพบว่าชาวนามีต้นทุน 78 เปอร์เซ็นต์ พรรคจึงใช้ 75 เปอร์เซ็นต์ เมื่อลองคำนวณในปีนี้ที่เกษตรกรขายข้าวหอมมะลิได้ 18,000 บาท ถ้าใช้กฎหมายแบ่งปันกำไรของพรรค ภท.จะได้ 19,500 บาท เท่ากับได้กำไรมากขึ้น
สิ่งสำคัญรองจากนั้น คือต้องสร้างตลาดสมบูรณ์ในการปรับสินค้าทางการเกษตร นั่นคือตลาดพืชพลังงาน มีพืชถึง 4 ชนิดที่ผลิตเป็นพืชพลังงานได้ คือ ข้าว มันสำปะหลัง และอ้อย นำไปทำเป็นเอทานอล ส่วนปาล์มน้ำมันก็ทำเป็นไบโอดีเซลได้

ส่วนเรื่องการศึกษาที่ยุ่งมากๆ คือปัญหากองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) มี 1 ล้านคนที่ไปกู้ยืมเงินจาก กยศ.และถูกบังคับคดี อีก 3 ล้านคนยังอยู่ในระบบ และอีก 3 ล้านคนเป็นผู้ค้ำประกัน รวมเป็น 7 ล้านคน เท่ากับ 1 ใน 7 ของประชากรทั้งประเทศ แม้ กยศ.จะก่อตั้งขึ้นด้วยหลักการที่ดี แต่ผิดเรื่องเดียวคือใช้หลักธุรกิจในการคิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ ทุกคนต้องหนีกันหมด ดังนั้น ต้องปรับระเบียบ กยศ. ปรับโครงสร้างหนี้ ต่อไปนี้ต้องไม่มี 1.เบี้ยปรับ 2.ดอกเบี้ย 3.ผู้ค้ำประกัน อีกทั้งระยะการผ่อนชำระต้องยาวสัก 10 ปี และระยะปลอดหนี้ควรยืดจาก 2 ปี เป็น 5 ปี ใครที่จบมาแล้วหางานไม่ได้ ควรไปเรียนเพิ่ม แต่ต้องเรียนฟรีผ่านการเรียนออนไลน์ นอกจากนี้ยังมีนโยบายแกร็บคาร์ แอร์บีแอนด์บี การเปลี่ยนเสียงระเบิดเป็นเสียงเครื่องจักรในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ทั้งหมดจะตอบโจทย์การแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน

ส่วนการปลูกกัญชาเสรี ขณะนี้มี 34 ประเทศในโลกทำแล้ว ประเทศที่ทำครบวงจรมี 3 ประเทศ คือ แคนาดา เม็กซิโก อุรุกวัย และมลรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยทำทั้งเชิงการแพทย์และพาณิชย์ รวมถึงให้ประชาชนปลูกได้บ้านละ 6 ต้น ต้นละ 1 เหรียญ ดังนั้น จากระบบของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย หากนำมาใช้กับประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบ จะทำให้เราเก็บภาษีได้ประมาณ 303,000 ล้านบาท นำมาลดภาษีมูลค่าเพิ่มให้ประชาชนได้

นิกร : จะเห็นว่า 40 ปีที่ผ่านมาของพรรค ชทพ. สนใจภาคการเกษตรเป็นหลัก เพราะรู้ว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศนี้อยู่ที่ภาคการเกษตร พรรค ชทพ.จึงเสนอว่าต้องพัฒนาภาคเกษตรให้เป็นเกษตรทันสมัย มีเงินใช้ทุกครัวเรือน เมื่อควบคุมราคาตลาดโลกไม่ได้จำเป็นต้องลดต้นทุน และใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น ทั้งนี้เห็นว่าควรให้ค่าตอบแทนแก่อาสาสมัครเพื่อการเกษตรประจำหมู่บ้านด้วย ในอนาคตการทำเกษตรอาจจะหายไป จึงมีนโยบายเรียนฟรีภาคเกษตร คือ ถ้าเป็นลูกของเกษตรกรหรือผู้ที่ประสงค์จะเป็นเกษตรกร ให้เรียนฟรีได้ตั้งแต่ประถมศึกษาถึงระดับปริญญาตรี เพื่อมาเป็นบุคลากรทดแทน

ส่วนด้านการท่องเที่ยว ประเทศไทยมี 2 อย่าง คือด้านธรรมชาติและวัฒนธรรม ธรรมชาตินั้นเมื่อใช้ไปเยอะๆ ก็เสื่อม ดังนั้น ต้องสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ในชุมชนต่างๆ ขณะเดียวกัน หากเรารับนักท่องเที่ยวจำนวนมาก วัฒนธรรมไทยก็เสื่อมได้ ฉะนั้นการสงวนวัฒนธรรมไว้เป็นเรื่องดี และอีกเรื่องที่จำเป็นมากสำหรับการท่องเที่ยวคือเรื่องความปลอดภัย ประเทศเป็นสถานที่หนึ่งที่ต้องไปก่อนตายสำหรับนักท่องเที่ยว แต่ถ้านักท่องเที่ยวคิดว่า เมื่อเขามาแล้วต้องเสี่ยงกับความตาย เขาก็คงไม่มา ความปลอดภัยจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้น พรรคชาติไทยพัฒนาจะดูแลรายได้ของประเทศในส่วนที่เป็นรายได้โดยแท้ ไม่ใช่รายได้แฝง ส่วนด้านการศึกษา เป็นนโยบายที่สำคัญ คนไทยต้องได้เรียนในสิ่งที่ใช่ ได้ใช้ในสิ่งที่เรียน และไม่เปลี่ยนไปตามความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

พ.ต.อ.รวมนคร : นโยบายหลักคือ ประชาชนต้องมาก่อน รัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบ เรียนฟรี 19 ปี ตั้งแต่อนุบาลถึงปริญญาตรีแบบมีคุณภาพ รักษาฟรีทุกโรคแบบมีคุณภาพ ส่วนนโยบายย่อย คือ 1.ยกเลิกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐของรัฐบาลปัจจุบัน หยุดการนำเงินภาษีไปแจกให้ผู้รับเงินที่ไม่ต้องทำงาน เพราะคน 14 ล้านคนที่รัฐบาลลงทะเบียนว่าเป็นคนจน ใช้เงินถึง 102,600 ล้านบาท ดังนั้น ต้องคัดแยกว่าคน 14 ล้านคน ใครเดือดร้อนจริง ให้มาลงทะเบียนที่สถานีตำรวจ 1482 แห่ง 2.นโยบายลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ ต้องแยกเป็นกลุ่ม คือ กลุ่มผู้ใช้แรงงาน ต้องเพิ่มเงินค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 360 บาทต่อคนต่อวันทั่วประเทศ เงินเดือนเริ่มต้นระดับปริญญาตรี ปรับเป็น 16,500 บาท นอกจากนี้ ต้องปฏิรูปกฎหมายประกันสังคม ยกเลิกการหักเงินเดือนลูกจ้างร้อยละ 5 ที่นำส่งกองทุนประกันสังคม แล้วให้นายจ้างจ่ายทั้งหมด ลูกจ้างจะได้รับสิทธิรักษาพยาบาลและสวัสดิการเท่าเดิมทุกประการจะแก้ปัญหารวยกระจุก จนกระจาย เป็นการเติมเงินเข้าไปในกระเป๋า

ส่วนต่อมาคือการปรับปรุงการโดยสารใน กทม. จะเปลี่ยนงบที่ใช้ซื้อรถถัง ไปซื้อรถโดยสารปรับอากาศเอ็นจีวีแบบชานต่ำ 10,000 คัน ปรับลดราคาค่าโดยสาร จากปัจจุบัน 23 บาทต่อสาย เหลือ 10 บาทตลอดสาย 40 บาทตลอดวัน และสำหรับผู้สูงอายุจะลดราคาให้อีก 50 เปอร์เซ็นต์ เหลือค่าโดยสาร 5 บาทตลอดสาย 20 บาทตลอดวัน นักเรียนนักศึกษาโดยสารฟรี

เรื่องการเกษตร เปลี่ยนงบที่ซื้อรถถัง ไปซื้อรถเกี่ยวข้าว รถไถนา รถดำนา เอาไว้ประจำหมู่บ้าน ให้เกษตรกรใช้ฟรี เป็นการลดต้นทุนให้ชาวนา รวมถึงสร้างลานตากข้าวให้ชาวนาใช้ฟรี ทำโรงสีข้าวประจำอำเภอตั้งการข้าวแห่งประเทศไทย เป็นรัฐวิสาหกิจ ทุนจดทะเบียน 10,000 ล้านบาท ทำหน้าที่รับซื้อข้าวเปลือกจากประชาชนโดยตรงแต่เพียงผู้เดียว โดยการแก้ พ.ร.บ.ข้าวให้รัฐบาลเป็นผู้รับซื้อและขายข้าวจากประชาชนโดยตรง ส่วนยางพารา พรรคเสนอเรื่องการรับซื้อน้ำยางพาราสด ตั้งโรงงานผลิตหมอนยางพาราประจำจังหวัด

⦁การเลือกตั้งครั้งนี้มีนักวิชาการวิเคราะห์ว่าเป็นการเลือกตั้งเพื่อเลือกระหว่างขั้วประชาธิปไตยและสนับสนุนการสืบทอดอำนาจ หลังการเลือกตั้ง หากมีคนชวนร่วมรัฐบาลจะวางจุดยืนพรรคอย่างไร

สุวัจน์ : เรามีประเพณีทางการมือง หลังเลือกตั้ง
แล้วเสร็จประชาชนจะเป็นคนตัดสิน ในสมัยก่อนเมื่อดูตัวเลขแล้วพรรคใดได้เสียงมากที่สุดจะเริ่มฟอร์มรัฐบาล ถ้าหากได้เกินครึ่งก็จบ โดยหาคนมาเติมเพื่อให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ แต่ถ้าไม่ถึงครึ่งก็ต้องไปหาให้ได้เกินครึ่งก่อน โดยมีประเพณีว่าคนที่ได้เสียงข้างมากจะเป็นคนขยับ แต่ของใหม่กติกาคือมี ส.ส.500 คน และส.ว.250 คน ตามบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญใน 5 ปีแรก การจัดรัฐบาลจึงต้องเริ่มจากใครเป็นนายกฯก่อน ขั้นตอนหลังเลือกตั้งคือ ยกที่ 1 ชิงประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อทำหน้าที่ประธานรัฐสภา ยกที่ 2 ชิงนายกรัฐมนตรี ยกที่ 3 ผู้ที่ได้เป็นนายกฯจัดตั้งรัฐบาล ถ้ามีคนมาชวนก็ไม่ได้มีหลักการอะไรมาก แต่จะต้องดูว่าหลังเลือกตั้งควรให้รัฐบาลเป็นอย่างไร เพราะจากที่ไปเยี่ยมเยียนประชาชน ประชาชนฝากความหวังเรื่องเศรษฐกิจและความขัดแย้ง ดังนั้นถ้าจะคิดหรือทำอะไรก็ต้องตัดสินใจจากตรงนี้ว่าจะทำให้พี่น้องประชาชนโอเคหรือไม่ การฟอร์มรัฐบาลที่มีเสถียรภาพเป็นอย่างไร นโยบายเศรษฐกิจและนโยบายแก้ปัญหาความ
ขัดแย้งเป็นอย่างไร จึงต้องเอาประชาชนเป็นคำตอบประกอบการตัดสินใจ

พรรคชาติพัฒนาโนพร็อบเบลม เราไม่ต้องการสร้างปัญหา ไม่ต้องการที่จะบอกว่าเราไปอยู่ฝ่ายไหนแล้วสร้างเงื่อนไขทางการเมืองที่ทำให้เกิดความซับซ้อนในการจัดตั้งรัฐบาล หรือความซับซ้อนในการแก้ไขปัญหาทางการเมือง การเมืองในวันนี้อะไรที่จบแล้วก็ควรจบไป ผมนึกถึงคำพูดท่านชาติชาย ชุณหะวัณ อยู่เสมอ ว่าการเมืองจบเป็นยกๆ จึงถือแนวนี้โดยลืมอดีตความขัดแย้งและเปิดพื้นที่กว้างเพื่อให้การเมืองไปได้ ไม่เกิดเดดล็อก เมื่อรวมตัวกันได้ก็ค่อยมาดูที่นโยบาย ต้องแชร์ร่วมกันเพื่อให้ไปร่วมกันได้ เพราะแต่ละพรรคก็ได้ไปบอกกับประชาชนไว้จึงต้องเห็นใจกัน ประนีประนอม พูดคุยกันเพื่อไปสู่จุดนั้น

ศักดิ์สยาม : ต้องดูผลการเลือกตั้ง หลัง 24 มีนาคม เพราะประชาชนเป็นคนตัดสิน โดยต้องดูมุมกว้างเพราะไม่ได้มีเพียงประชาธิปไตยหรือการสืบทอดอำนาจ แต่อาจมีประชาธิปไตยที่มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาปากท้องให้พี่น้องประชาชน การเลือกตั้งคือการที่ประชาชนตัดสินอนาคตตัวเอง จึงต้องมีสติในการไปเลือกตั้ง อย่าใช้ความรู้สึกอคติ รัก สงสาร หรือโกรธมากเกินไป อย่าใช้ความรู้สึกเกลียดชังเวลาเดินเข้าไปในคูหา แต่ต้องใช้สติว่ามาเลือกตั้งครั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาที่ตนเจอ ทั้งเรื่องปากท้อง ความยากจน และการศึกษา ถ้าผลการเลือกตั้งออกมาวันนั้นเราจะเห็น ซึ่งสิ่งหนึ่งที่พรรคภูมิใจไทยบอกตลอด คือเราไม่ต้องการที่จะสร้างความขัดแย้งสำหรับประเทศไทยต่อไป

นิกร : เราเป็นพรรคอายุมาก 40 กว่าปี ครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 10 ของเรา ผมอยู่พรรคนี้มา 30 กว่าปี ได้เห็นการตัดสินใจของพรรคมาตลอด สิ่งที่เราดำรงไว้คือการส่งผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้งเพื่อเอานโยบายที่พูดไว้มาทำให้เกิดเป็นรูปธรรมให้ได้ ดังนั้นการตัดสินใจว่าจะร่วมรัฐบาลหรือไม่ พรรคจึงจะตัดสินใจหลังการเลือกตั้งแล้วเสร็จ แต่ต้องมาคุยกับ ส.ส.ก่อน เพราะสมัยก่อนเป็นมติพรรคได้ แต่ปัจจุบันอำนาจ ส.ส.เป็นอำนาจที่ประชาชนให้มาตามรัฐธรรมนูญ จึงมีอำนาจเต็ม ไม่ต้องเป็นมติของพรรค มีอิสระอย่างเปิดเผย

พรรคเราเคยเป็นมาหมด เมื่อครั้งรัฐบาลไทยรักไทย เราตัดสินใจเป็นฝ่ายค้านตั้งแต่ก่อนฟอร์มรัฐบาลเพื่อความสบายใจ การตัดสินใจอีกครั้งคือเมื่อพรรคประชาธิปัตย์ฟอร์มตัวรัฐบาลไม่ได้ เราจึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องไปร่วมรัฐบาล ดังนั้นการตัดสินใจจึงต้องเอาหลังพิงประชาชน ยึดหลักพรรค อีกลักษณะเฉพาะตัวของพรรคซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมคนชอบเชิญพรรคชาติไทยไปร่วมรัฐบาล ก็เพราะเราไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตายด้วยกัน ถูกยุบพรรคด้วยกัน เราตัดสินใจได้ง่ายเพราะดำรงความเป็นพรรคที่มีนโยบายการทำงานเพื่อประชาชน เราไม่มีศัตรูและเป็นเพื่อนกับทุกข้าง แต่ที่เรากังวลคือการก้าวข้ามความขัดแย้ง ดังนั้นขอให้ทุกฝ่ายที่จะมาร่วมรัฐบาลหรือเป็นฝ่ายค้านในสภา ก้าวข้ามความขัดแย้ง และมาร่วมแรงปฏิรูปประเทศไทย

พ.ต.อ.รวมนคร : ต้องฟังเสียงประชาชน รอผลวันที่ 24 มีนาคม โดยหลักการพรรคคือประชาชนต้องมาก่อน

⦁อยากให้เชิญชวนประชาชนมาใช้สิทธิเลือกตั้ง

สุวัจน์ : อยากเชิญชวนให้มาใช้สิทธิเยอะๆ เพื่อให้การเลือกตั้งได้รับการยอมรับและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาบ้านเมืองตามที่ประชาชนต้องการ ในส่วนของพรรคชาติพัฒนาขออาสาตัวว่าเราจะเอาเศรษฐกิจยุคทอง เศรษฐกิจยุคน้าชาติ (ชาติชาย ชุณหะวัณ) กลับมา เราไม่ขัดแย้งกับใคร เราเคารพประชาชนและใช้กลไกสภา ทุกอย่างตัดสินกันในห้อง ใช้เสียงข้างมาก จึงขอให้สบายใจว่าถ้าเป็นพรรคชาติพัฒนาไม่มีปัญหาและไม่สร้างปัญหาให้กับประชาชน

ศักดิ์สยาม : อยากให้ดูปัญหาของพี่น้องประชาชนเป็นหลัก ทั้งปัญหาความยากจนและหนี้สิน พรรคภูมิใจไทยชูเรื่องนโยบายการปลูกกัญชาโดยเสรี ตามโมเดลของรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งจะตอบโจทย์ทุกเรื่องในการแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชน ถ้าประชาชนเห็นด้วยกับพรรคภูมิใจไทย วันที่ 24 มีนาคม ก็กรุณาไปเลือกผู้สมัครพรรคภูมิใจไทยทั้ง 350 เขต

นิกร : เราไม่ได้เลือกตั้งกันมายาวนาน พี่น้องประชาชนอาจจะเบื่อ เมื่อมีปัญหาก็ขอให้ข้ามไป เลือกตั้งเพื่อตัวเอง พิจารณาว่าพรรคไหนมีความสอดคล้องกับแนวความคิดของตน แล้วออกไปเลือกตั้ง เลือกพรรคที่ชอบ เลือกผู้สมัครที่คิดว่าจะฝากความหวังไว้ได้ หลังเลือกตั้งก็คงจะมีปัญหาอยู่บ้างแต่ก็จะค่อยๆ คลายไป ต้องมีความหวัง เหมือนกับเราที่เป็นพรรคการเมืองก็มีความหวังที่จะมาช่วยแก้ปัญหา

พ.ต.อ.รวมนคร : ประชาชนต้องมาก่อน หลักการคือ ต้องการการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ก็คือประชาชนทั้งประเทศเลือกพรรคประชานิยม 319 เขต ทั่วประเทศ ถ้าคิดว่าวันนี้ชีวิตดีอยู่แล้วก็เลือกพรรคเดิม แต่ถ้าวันนี้ชีวิตไม่ดีและต้องการความเปลี่ยนแปลง ก็ขอเป็นทางเลือกที่จำเป็นในการเปลี่ยนแปลงประเทศเพราะไม่มีนักการเมืองเดิมแม้แต่คนเดียว เพื่อให้เกิดความแตกต่างจากพรรคเดิม ถ้าต้องการ
แบบเดิมเลือกพรรคเดิม หรือต้องการเปลี่ยนแปลงเลือกพรรคประชานิยม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image