“ทหารสมัครใจ” โดย กานดา นาคน้อย

เร็วๆนี้อ่านข่าวพบว่าโฆษกกลาโหมยืนยันว่า“จำเป็นต้องเกณฑ์ทหาร” [1] และพบข้อมูลที่สับสนและไม่ชัดเจน บทความนี้ขอเสริมข้อมูลในประเด็นต่างๆดังต่อไปนี้

1. โฆษกกลาโหมไม่เสนอประเด็นสำคัญเมื่ออ้างอิงต่างประเทศ

โฆษกกลาโหมเสนอว่าบางประเทศนำการเกณฑ์ทหารกลับมา กล่าวคือ สวีเดน ลิทัวเนีย จอร์แดน หรือกำลังพิจารณานำการเกณฑ์ทหารกลับมา กล่าวคือ อิตาลี โรมาเนีย เยอรมันี ฝรั่งเศส แต่โฆษกกลาโหมไม่ได้อธิบายประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้

ก) ประเทศที่ยกมา“เคยยกเลิก”เกณฑ์ทหารแล้วกองทัพและชาติก็ไม่ได้ล่มสลายหายไป แสดงว่าการ“ลองยกเลิก”เกณฑ์ทหารไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย

ข) ยกเว้นจอร์แดนในทุกประเทศที่ยกมาอำนาจตัดสินใจยกเลิกเกณฑ์ทหารเป็นของฝ่ายการเมืองไม่ใช่ข้าราชการ (กษัตริย์จอร์แดนแต่งตั้งข้าราชการเข้ารัฐสภาได้)

Advertisement

ค) ลิทัวเนียหวาดกลัวกองทัพรัสเซียที่เข้ายึดเขตไครเมียในยูเครน จึงทดลองนำการเกณฑ์ทหารกลับมาชั่วคราว 5 ปี และมีระยะเวลาเกณฑ์เพียง 9 เดือน [2]

ง) เยอรมนียังไม่ได้นำข้อเสนอเกณฑ์ทหารเข้าสภาและคาดว่าจะไม่ได้เข้าสภาก่อนปีหน้า คาดว่าจะเสนอให้เกณฑ์ทั้งชายและหญิงในระยะสั้นไม่เกิน 12 เดือน ให้เข้าทำงานภาคพลเรือนสนับสนุนเท่านั้น เช่น งานรักษาพยาบาล ไม่ได้เสนอให้ทหารเกณฑ์ออกรบ จะผ่านสภาไหมก็ไม่แน่ เพราะนักการเมืองบางคนบ่นว่า“สิ้นเปลืองงบประมาณ” [3]

จ) จอร์แดนมีพรมแดนทางบกติดซีเรีย ต้องเผชิญปัญหาผู้ลี้ภัยสงครามกลางเมืองซีเรีย ปัญหาผู้ลี้ภัยโรฮิงญาในไทยสาหัสเท่าผู้ลี้ภัยสงครามกลางเมืองซีเรียหรือ?

ฉ) ยกเว้นลิทัวเนียและจอร์แดน ประเทศที่โฆษกกลาโหมยกมาคือประเทศส่งออกอาวุธระดับท็อป 20 ของโลก โดยเฉพาะฝรั่งเศสและเยอรมันนี 2 ประเทศนี้ส่งออกอาวุธระดับท็อป 5 งบกลาโหมในประเทศส่งออกอาวุธไม่ได้เป็นเพียงการบริโภคแต่เป็นการลงทุนและสร้างงานภาคเอกชนด้วย [4]

โลกนี้มีมากกว่า 200 ประเทศ โฆษกกลาโหมให้ข้อมูลว่ามี 39 ประเทศที่ยังใช้ระบบเกณฑ์ทหารอยู่ แต่ไม่ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า สหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน และอินเดียมี“ทหารสมัครใจ”เพียงพอ [5]

ช) สหรัฐฯและญี่ปุ่นเคยเลิกเกณฑ์ทหารและยังไม่นำการเกณฑ์ทหารกลับมา ทั้ง 2 ประเทศมีนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลมากมาย แม้ญี่ปุ่นไม่ใช่ผู้ส่งออกอาวุธแต่ญี่ปุ่นก็ผลิตเครื่องบินรบและเรือดำน้ำได้ ดังนั้นงบกลาโหมในสหรัฐฯและญี่ปุ่นไม่ได้เป็นเพียงการบริโภคแต่เป็นการลงทุนเช่นกัน

ซ) จีนไม่บังคับเกณฑ์ทหารทั้งๆที่มีกฎหมายเกณฑ์ทหาร เพราะมีทหารสมัครใจมากพอ และจีนก็พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อส่งออกอาวุธเช่นกัน (มีนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนได้รางวัลโนเบลขณะที่ทำงานในประเทศตะวันตกและเปลี่ยนสัญชาติในภายหลัง)

ฌ) อินเดียไม่บังคับเกณฑ์ทหารและพยายามพัฒนาเทคโนโลยี อินเดียมีนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลและผลิตวิศวกรมากจนส่งออกวิศวกรไปซิลิคอนวัลเลย์ที่สหรัฐฯ 3 ใน 4 ของวีซ่าทำงานด้วยทักษะสูงที่สหรัฐฯเป็นวีซ่าที่ออกให้คนอินเดีย [6]

ในกรณีของไทย โฆษกกลาโหมเปิดเผยว่าจำนวนทหารสมัครใจยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของกองทัพ ตัวเลขความต้องการของกองทัพไทยมาจากไหน? เทคโนโลยีช่วยลดตัวเลขนี้ได้ไหม? การเพิ่มเงินเดือนและสวัสดิการให้นายสิบจะเพิ่มจำนวนทหารสมัครใจได้ไหม?

ทำไมประเทศส่วนใหญ่ในโลกนี้จึงอยู่ได้โดยไม่ต้องมีทหารเกณฑ์ !?!

2. หลักสูตรนักศึกษาวิชาทหารไม่ใช่ของฟรีต้องมีทุนทรัพย์

การยืนยันว่า“จำเป็นต้องเกณฑ์ทหาร”โดยโฆษกกลาโหม มีความหมายโดยนัยว่า”จำเป็นต้องเกณฑ์ลูกคนจน แต่ไม่จำเป็นต้องเกณฑ์ลูกคนรวยและลูกคนชั้นกลาง” เพราะนโยบายเกณฑ์ทหารในไทยมีสองมาตรฐาน

ก) ชายไทยที่เคยเป็นนักศึกษาวิชาทหารหรือเคย“เรียนรด.”หลังจบมัธยมต้นไม่ต้องเกณฑ์ทหาร แต่การศึกษาภาคบังคับจบที่มัธยมต้น ฉะนั้นลูกคนจนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ไม่มีโอกาสเรียนต่อหลังจบมัธยมต้นจึงกลายเป็น“กลุ่มเป้าหมาย”ของการเกณฑ์ทหาร

ข) ลูกคนจนเสียโอกาสทำงานหารายได้เพราะการเกณฑ์ทหาร และอาจเสียโอกาสทั้งชีวิตถ้าพิการหรือเสียชีวิตในค่ายทหาร นโยบายเกณฑ์ทหารแบบไทยๆเป็นนโยบายซ้ำเติมคนจน

ค) ประเทศที่ยังมีการเกณฑ์ทหาร อาทิ อิสราเอล เกาหลีใต้ ฯลฯ ไม่อนุญาตให้เลี่ยงเกณฑ์ทหารด้วยการเรียนรด. ยิ่งไปกว่านั้น อิสราเอลตีความคำว่า“เท่าเทียม”ครอบคลุมถึงเพศจึงบังคับเกณฑ์ทหารทั้งชายและหญิง

ง) เกาหลีใต้ยกเว้นเพียงนักกีฬาที่ชนะเลิศในการแข่งขันกีฬานานาชาติที่สำคัญ เช่น กีฬาโอลิมปิก คนเกาหลีใต้บางกลุ่มพยายามช่วยลูกเลี่ยงเกณฑ์ทหารด้วยการคลอดลูกที่สหรัฐฯเพื่อให้ลูกมีสัญชาติอเมริกัน (คนเกาหลีใต้เข้าสหรัฐฯได้ 90 วันโดยไม่ต้องขอวีซ่า) รัฐบาลเกาหลีใต้จึงออกกฎหมายบังคับให้คนสัญชาติอเมริกันเชื้อสายเกาหลีบางประเภทต้องเกณฑ์ทหารเมื่อเดินทางเข้าเกาหลีใต้เพื่อความเท่าเทียม [7]

ถ้าไทยอยากเกณฑ์ทหารด้วยมาตรฐานเดียวอย่างเท่าเทียมแบบเกาหลีใต้ก็ต้องยกเลิกการเรียนรด. แต่การเกณฑ์ทหารด้วยมาตรฐานเดียวจะเป็นอุปสรรคต่อการสร้างทรัพยากรมนุษย์อย่างมาก เพราะปัจจุบันไทยมีอัตราเกิดต่ำมาก การยกเลิกทั้งการเกณฑ์ทหารและการเรียนรด.จะมีผลดีต่อการสร้างทรัพยากรมนุษย์ เยาวชนชายจะได้เอาเวลาเรียนรด.มาพัฒนาทักษะในด้านต่างๆ แม้มีสงครามวันนี้ยุวชนทหารก็เป็นได้เพียงทหารคุณภาพต่ำ

3. โฆษกกลาโหมไม่เปิดเผยโครงสร้างกำลังพลตามอัตราตำแหน่ง

มีรายงานว่า 40%-50% ของงบประมาณกลาโหมหมดไปกับรายจ่ายด้านกำลังพล [8]

ก) การประเมินรายจ่ายด้านกำลังพลต้องอ้างอิง“โครงสร้างกำลังพลตามอัตราและตำแหน่ง” เพราะอัตราและตำแหน่งเป็นปัจจัยหลักที่กำหนดเงินเดือนและผลตอบแทน แต่กองทัพก็ไม่เปิดเผยโครงสร้างดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญต้องประเมินจากการประกาศแต่งตั้งนายพลประจำปี

ข) มีการประเมินว่าไทยอาจมีนายพลมากที่สุดในโลก และสัดส่วนจำนวนนายพลต่อกำลังพลของไทยสูงถึง 4 เท่าของสหรัฐฯซึ่งเป็นมหาอำนาจที่มีฐานทัพทั่วโลก [9] มีวิธีการลดสัดส่วนดังกล่าว 2 ทาง กล่าวคือ ก)เพิ่มกำลังพล ข)ลดจำนวนนายพล วิธีหลังสมเหตุสมผลกว่าวิธีแรกเพราะไทยไม่มีฐานทัพทั่วโลกแบบสหรัฐฯ จะลดนายพลที่หน่วยไหนก็ขึ้นอยู่กับโครงสร้างกำลังพล

ค) มหาอำนาจทางการทหารอย่างสหรัฐฯเปิดเผยโครงสร้างกำลังพลตามอัตราและตำแหน่งอย่างโปร่งใส เพราะโครงสร้างดังกล่าวไม่ใช่ความลับทางการทหาร ทำไมกองทัพไทยไม่เปิดเผยข้อมูลนี้บ้าง?
แสนยานุภาพและจำนวนนายพลเป็นคนละเรื่องกัน!

4. โฆษกกลาโหมไม่เปิดเผยขนาดกำลังพลในภาคธุรกิจ

โฆษกกลาโหมแจกแจงว่า “สถานภาพกำลังพลในกองทัพ แบ่งเป็นส่วนประชากร 4% ส่วนสนับสนุนการรบ 7% ส่วนภูมิภาค 14% ส่วนกำลังรบ 63% ส่วนส่งกำลังบำรุง 4% และส่วนการศึกษา 8%” รวมแล้วเป็น 100%

แล้วกำลังพลในภาคธุรกิจอยู่ตรงไหนและมีขนาดใหญ่แค่ไหน?

ก) กองทัพไทยต่างจากกองทัพในประเทศทุนนิยมสากล (เช่น สหรัฐฯ) ตรงที่กองทัพไทยมีธุรกิจ อาทิ ธนาคารทหารไทย ททบ.5 สัมปทานวิทยุทหาร การบริหารที่ดินและอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ [10]

ข) นอกจากการสะสมทุนเชิงพาณิชย์ก็มีทหารที่เป็นบอร์ดหรือกรรมการของบริษัทและรัฐวิสาหกิจ ผู้อ่านที่สนใจสามารถค้นหาข้อมูลกรรมการบริษัทมหาชนได้จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (https://www.set.or.th/set/commonslookup.do?language=th&country=TH)

ค) ส่วนข้อมูลกรรมการบริษัทจำกัดนอกตลาดหลักทรัพย์ก็ตรวจสอบได้ที่คลังข้อมูลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ (https://www.dbd.go.th/ewt_news.php?nid=5347&filename=faq)

แสนยานุภาพและธุรกิจของกองทัพเป็นคนละเรื่องกัน!

5. โฆษกกองทัพนับงานของตำรวจและกระทรวงยุติธรรมรวมเป็นงานของกองทัพ

โฆษกกลาโหมนับ“ภัยยาเสพติด”และ“ภัยไซเบอร์”ว่าเป็นภัยคุกคามแบบใหม่ที่กองทัพต้องจัดการ

ก) ที่จริงแล้วงานปราบปรามยาเสพติดเป็นงานของตำรวจและกระทรวงยุติธรรม มีสำนักงานคณะกรรมการปราบปรามและป้องกันยาเสพติดในกระทรวงยุติธรรมมานานแล้ว ภัยยาเสพติดไม่ใช่ภัยแบบใหม่และไทยอยู่กับภัยยาเสพติดมาเป็นเกินศตวรรษ สารเสพติดที่เป็นปัญหาเปลี่ยนรูปแบบจากฝิ่นเมื่อ 100 ปีที่แล้วเป็นสารอื่นๆตามกาลเวลา

ข) ถ้ามีปัญหายาเสพติดในเขตควบคุมของกองทัพ เช่น ค่ายทหารและที่ดินในครอบครองของกองทัพ ก็ถกเถียงกันได้ว่าการบังคับใช้กฎหมายควรเป็นหน้าที่ของกองทัพหรือตำรวจและกระทรวงยุติธรรม แต่ที่แน่ๆกองทัพไม่มีอำนาจหน้าที่แก้ปัญหายาเสพติดนอกเขตควบคุมของกองทัพ

ค) “ภัยไซเบอร์”ก็มีทั้งภัยด้านความมั่นคงทางการทหาร และภัยคุกคามผู้บริโภคและภาคธุรกิจ การป้องกันและปราบปรามภัยไซเบอร์แบบแรกเป็นหน้าที่ของกองทัพ แต่แบบหลังเป็นหน้าที่ตำรวจและกระทรวงยุติธรรม

โปรดทำความเข้าใจกับหน้าที่ของกองทัพ!

หมายเหตุ : ผู้อ่านสามารถแลกเปลี่ยนทัศนะได้ที่ทวิตเตอร์ https://twitter.com/kandainthai

ที่มา :
[1] “กห.ตั้งโต๊ะแถลง ความจำเป็นต้องมีเกณฑ์ทหาร วอนพรรคการเมือง อย่ายกเป็นนโยบาย” มติชนออนไลน์ 27 กุมภาพันธ์ 2562: https://www.matichon.co.th/politics/news_1382520

[2] “Lithuania to reinstate compulsory military service amid Ukraine tensions” The Guardian, February 24, 2015: https://www.theguardian.com/world/2015/feb/24/lithuania-reinstate-compulsory-military-service

[3] “Germans debate return of military conscription and service for men and women” Deutsche Welle, May 5, 2018: https://www.dw.com/en/germans-debate-return-of-military-conscription-and-service-for-men-and-women/a-44962067

[4] The 25 largest exporters of major arms and their clients, 2013-17 (Table 1), in Trend in International Arms Transfers 2017, SIPRI Factsheet March 2018: https://www.sipri.org/sites/default/files/2018-03/fssipri_at2017_0.pdf

[5] France’s Macron brings back national service, The BBC, June 28, 2018:
https://www.bbc.com/news/world-europe-44625625

[6] Indians accounted for more than 74 per cent of H-1B visas in 2016 and 2017: USCIS report, The Economic Times, May 8, 2018: https://economictimes.indiatimes.com/nri/visa-and-immigration/indians-accounted-for-more-than-74-per-cent-of-h-1b-visas-in-2016-and-2017-uscis-report/articleshow/64072608.cms

[7] Korea toughens regulations on anchor babies, citizenship. The Korean Herald, January 9, 2011: http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20110109000252

[8] ผบ.ทบ.แจงแล้ว ย้ายค่ายทหารออกนอกเมืองจริง แย้ม “ยุบ” บางหน่วยด้วย! ข่าวสดออนไลน์ 7 กันยายน 2561: https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_1542146

[9] “นายพลว่างงาน” กานดา นาคน้อย ประชาไทออนไลน์ 19 ตุลาคม 2557: https://prachatai.com/journal/2014/10/56086

[10] “ทุนกองทัพไทย (ตอนที่ 3) ที่ดินกองทัพบก” กานดา นาคน้อย ประชาไทออนไลน์ 1 มิถุนายน 2557: https://prachatai.com/journal/2015/06/59565

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image