เดินหน้าชน : ปฏิรูป-ปว.เงียบ 7 มี.ค.62

ทั้งที่วันเลือกตั้งชัดเจนแล้วคือ วันที่ 24 มีนาคม 2562

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ก็ยินยอมเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคพลังประชารัฐ

พรรคการเมืองและผู้สมัคร ส.ส.ต่างก็โชว์นโยบายและลงพื้นที่หาเสียงกันอย่างคึกคัก

ซึ่งเหลือเพียงอีกไม่กี่วันก็จะถึงวันเลือกตั้งแล้ว แต่หลายคนยังไม่วายที่พูดกันถึงเรื่องปฏิวัติ

Advertisement

คาดเดากันไปเรื่อยเปื่อยว่า หากการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามเป้าหมาย หรือเกิดเหตุวุ่นวาย ก็อาจจะเกิดขึ้นอีก

ประเด็นที่หยิบยกมาวิจารณ์ หรือเป็นข้อกังวลคือ แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นเบอร์ 1 ที่เกือบทุกโพลสำรวจพบว่า ประชาชนอยากให้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่กลับสวนทางกับผลโพลที่ระบุว่า ประชาชนอยากให้พรรคเพื่อไทย เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

บางโพลยังพบว่า พรรคพลังประชารัฐ ยังเป็นรองพรรคประชาธิปัตย์

Advertisement

อีกประเด็นที่วิตกกันคือ พล.อ.ประยุทธ์ ยังเป็นหัวหน้า คสช. ที่ยังมีอำนาจเบ็ดเสร็จตามมาตรา 44

ความวิตกกังวลของคนกลุ่มนี้ จะไปห้ามก็ไม่ได้ หรือจะชี้แจงให้เข้าใจและให้มั่นใจว่า การปฏิวัติรัฐประหารจะไม่เกิดขึ้นอีกก็อธิบายเหนื่อย

เพราะในสังคมจะมีความเชื่อที่แตกต่างกันไป

ที่สำคัญคือ การรัฐประหาร ไม่มีใครบอกกล่าวกันล่วงหน้า

การปฏิวัติรัฐประหารที่ผ่านๆ มา แม้จะมีบรรดาผู้นำและผู้มีอำนาจออกมายืนยันเสียงแข็งเหมือนกันว่า จะไม่มีการปฏิวัติ และไม่มีใครอยากปฏิวัติ

แต่สุดท้ายการปฏิวัติก็เกิดขึ้น

จึงไม่มีใครรับประกันได้ว่า การปฏิวัติจะเกิดขึ้นอีกหรือไม่

พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. และเลขาฯคสช.ก็ไม่ยืนยัน

โดยเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2561 ภายหลังขึ้นเป็น ผบ.ทบ. พล.อ.อภิรัชต์ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวในทำนองว่า หวังว่าเหตุการณ์ก่อนการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 จะไม่เกิดขึ้นอีก

พร้อมระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะมีการแก่งแย่งชิงการเมือง การเอาชนะ ไม่รู้จักแพ้ ไม่รู้จักชนะ

ยิ่งขณะนี้เป็นช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียง การเมืองกำลังร้อน กระแสข่าวการปฏิวัติก็ถูกพูดถึงกันอีกครั้ง

ยังตระหนกกับภาพการเคลื่อนรถถังและแชร์กันว่อนในสังคมออนไลน์ ทั้งที่เป็นการเคลื่อนย้ายเพื่อเข้าทำการฝึกร่วมหน่วยทหารรักษาพระองค์และเหล่าทัพ ประจำปี 2562

แม้จะมีการชี้แจงและดับข่าวลือต่างๆ โดยขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกและตกเป็นเหยื่อการสร้างข่าวในสังคมออนไลน์ แต่ความตื่นตระหนกของประชาชนที่เกิดขึ้น ย่อมชี้ให้เห็นว่า ยังมีความกังวลกับการรัฐประหาร

หลายคนจึงกลัวว่า อาจจะมีการปฏิวัติซ้อน และอาจจะกลัวว่า รัฐประหารจะอยู่ยาว ซึ่งจะทำให้สิทธิเสรีภาพต่างๆ ที่มีอยู่จะหายไปอีก

แต่ความเคลื่อนไหวช่วงกว่า 4 ปีที่ผ่านมา ที่ คสช.เข้ามาบริหารจัดการประเทศ ซึ่งฝ่ายหนึ่งมองว่า เป็นการปฏิรูปการเมืองนั้น ก็มีอีกฝ่ายมองว่า เหมือนมีการ “ปฏิวัติเงียบ” เกิดขึ้นแล้ว

โดยเฉพาะการกำหนดกฎกติกาและรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งใหม่

ทั้งยังกำหนดให้มี ส.ว. 250 คน โดย 244 คนมาจาก คสช.เลือก อีก 6 คนเป็นโดยตำแหน่ง และให้อำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

รวมทั้งให้พรรคการเมืองเสนอชื่อ “คนนอก” ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคเป็นนายกรัฐมนตรีได้

เหล่านี้จึงมองกันว่า เหมือนเป็นการ “ปฏิวัติเงียบ” ที่ใช้ “กฎหมาย” เป็นเครื่องมืออยู่แล้ว

ความกังวลว่า จะมีการปฏิวัติซ้อน จึงยากที่จะเป็นไปได้

ทรงพร ศรีสุวรรณ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image