รายงาน : มุมมอง จุดต่าง นิยาม แห่งคำ นโยบาย คืออะไร กันแน่

มีความเห็น “ต่าง” 1 ซึ่งทวีความแหลมมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับในท่ามกลางการเคลื่อนไหวของแต่ละพรรคการเมือง

นั่นก็คือ ความเป็นต่างใน “นิยาม” ของคำว่า “นโยบาย”

ฝ่ายหนึ่ง มีความเห็นว่าอย่าเสียเวลาไปกับการโจมตีกันและกัน ขอให้หยิบยกและนำเสนอ “นโยบาย” เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจ

นั่นก็คือ เห็นว่าการหยิบคำว่า “ประชาธิปไตย” และ “เผด็จการ” ขึ้นมามิใช่นโยบาย

Advertisement

นั่นก็คือ เห็นว่าการนำเสนอในเรื่องการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งการแจกเงินตั้งแต่อยู่ในท้องเข้าเชิงตะกอนต่างหากคือ “นโยบาย”

ความหมายก็คือประชาธิปไตย เผด็จการ มิใช่นโยบาย เป็น “เศรษฐกิจ” ต่างหากคือนโยบาย

ฝ่ายหนึ่ง มีความเห็นว่าไม่ว่าเศรษฐกิจ ไม่ว่าการเมืองล้วนเป็น “นโยบาย” ล้วนมีความจำเป็นที่จะต้องนำเสนอต่อประชาชน

Advertisement

เศรษฐกิจ การเมือง มิอาจแยกจากกันได้

ใครก็ตามที่ติดตามการรณรงค์หาเสียงของแต่ละพรรค ไม่ว่าผ่านแผ่นพับ ไม่ว่าผ่านการแถลงของคนสำคัญในพรรคก็สามารถแยกจำแนกออกได้

ยิ้มเห็นแก้ม แย้มเห็นไรฟัน

พรรคการเมืองหลายพรรคไม่ยอมพูดว่า 5 ปีที่ผ่านมาบ้านเมืองอยู่ภายใต้การปกครองแบบไหน เน้นแต่เพียงว่าเมื่อมีรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้งก็เป็นประชาธิปไตย

เป้าหมายหลักก็คือ ให้ก้าวข้ามพ้นความขัดแย้ง ไปสู่อนาคตที่เป็นประชาธิปไตย

พรรคการเมืองหลายพรรคเน้นอย่างหนักแน่นและจริงจังว่าที่บ้านเมืองเป็นอย่างเช่นทุกวันนี้ก็เพราะว่า 5 ปีที่ผ่านมาไม่เป็นประชาธิปไตย

จึงไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ จึงไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจดี มีอนาคต

พวกเขาเน้นอย่างหนักแน่นว่า อยู่มาอย่างนี้เป็นเวลา 5 ปีแล้วยังต้องการให้เป็นเช่นนี้ต่อไปอีก 4 ปี หรืออาจไม่น้อยกว่า 20 ปี ตามยุทธศาสตร์ชาติอีกหรือ

นี่คือทาง 2 แพร่งที่เสนอให้ประชาชนเลือก

จากนี้จึงเห็นได้เด่นชัดมากยิ่งขึ้นเป็นลำดับในมุมมองและบทสรุปที่แตกต่างกันโดยพื้นฐานในทางการเมือง
ยิ่งเข้าใกล้วันที่ 24 มีนาคม ความเห็นต่างนี้ยิ่งเด่นชัด

เด่นชัดว่าพรรคการเมืองมี 2 กลุ่ม 2 ฝ่าย

กลุ่มหนึ่ง โน้มเอียงที่จะให้การสนับสนุน คสช. สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี

ต้องการรักษาสถานภาพ 5 ปีให้ต่อเนื่องไปอีก

กลุ่มหนึ่ง คัดค้านและต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. ปฏิเสธ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ต้องการจะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีก

ข้อดีเป็นอย่างยิ่งก็คือ ความแตกต่างนี้ประชาชนมีสิทธิเลือกและตัดสินใจ

การเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม จึงเป็นการเลือกตั้งอันทรงความหมายและมีผลชี้ขาดอนาคตของประเทศเป็นอย่างสูง

1 เลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 1 ไม่เลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เหมือนกับ 2 แนวทางนี้จะเป็นการมัดมือชก แต่คำถามก็คือ มีข้อเสนออะไรมากยิ่งไปกว่า เอา หรือไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือไม่

เหมือนกับจะเป็นคำถามต่อ “พรรคการเมือง”

แต่ในความเป็นจริง กระบวนท่าและการนำเสนอความคิดของแต่ละพรรคการเมืองต่อประชาชนในที่สุดก็ขมวดรวมไปยัง 2 เป้าหมายนี้อยู่นั่นเอง

คำตอบจะเห็นได้ในวันที่ 24 มีนาคม อีก 16 วันข้างหน้า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image