เปิดคำวินิจฉัยศาลรธน. มติเอกฉันท์ยุบ‘ทษช.’

หมายเหตุ – องค์คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ทั้ง 9 คน ประกอบด้วย นายนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ นายจรัญ ภักดีธนากุล นายชัช ชลวร นายปัญญา อุดชาชน นายวรวิทย์ กังศศิเทียม นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และนายบุญส่ง กุลบุปผา ได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคดีที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 ฐานกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากกรณีเสนอชื่อแคนดิเดต นายกรัฐมนตรี ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม


นุรักษ์ มาประณีต
วันนี้ศาลนัดแถลงด้วยวาจาและลงมติคำร้องต่างๆ โดยได้แยกคำร้องออกเป็น 9 คำร้อง ซึ่งศาลมีมติยกคำร้องทั้งหมดเนื่องจากผู้ร้องต่างๆ ไม่ใช่คู่ความในคดี โดยในคดีนี้มี กกต. และพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เป็นคู่กรณี และได้มอบหมายให้นายนครินทร์ และนายทวีเกียรติเป็นผู้อ่านคำวินิจฉัย

นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่า พิจารณาแล้วเห็นว่าการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถูกสถาปนาขึ้นโดยธรรมนูญการปกครองฉบับชั่วคราวปี 2475 และหมวดที่ 1 หมวดพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 11 ในธรรมนูญฉบับดังกล่าว บัญญัติว่าพระบรมวงศานุวงศ์ ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าโดยกำเนิด หรือโดยแต่งตั้ง ย่อมดำรงตำแหน่งฐานะเหนือการเมือง ตาม
พระประสงค์ของพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ฉบับที่ 1/60 ปี 2475 ถึงพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานกรรมการสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญปี 2475 ซึ่งพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเห็นชอบด้วยทุกประการ

พระราชหัตถเลขาดังกล่าวระบุว่า หลักการพระบรมวงศานุวงศ์อยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะ ไม่ควรแก่ตำแหน่งทางการเมือง เพราะการเมืองจะนำมาทั้งในทางพระเดชและพระคุณ และอาจถูกติเตียน นำมาซึ่งความขมขื่น โดยการรณรงค์หาเสียงต่างฝ่ายต่างโจมตีใส่ร้าย ทำลายความสงบเรียบร้อย ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างเจ้านายกับราษฎร ควรถือเสียว่าพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป ทรงอยู่เหนือการเมือง ส่วนเจ้านายจะทำนุบำรุงประเทศ มีโอกาสบริบูรณ์ในทางตำแหน่งประจำ หรือวิชาชีพเป็นพิเศษอยู่แล้ว

Advertisement

หลักการพื้นฐานดังกล่าว ถือเป็นเจตนารมณ์ร่วมของการสถาปนาระบอบการปกครองไทย ไว้ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่แรกเริ่ม ฉันทามติของสภาผู้แทนราษฎร ให้การยอมรับ ปฏิบัติสืบต่อมาว่า พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงทรงดำรงตำแหน่งฐานะเหนือการเมือง การไม่เข้าไปมีบทบาทฝักฝ่าย อาจนำมาซึ่งการโจมตีติเตียน กระทบความสมัครสมานระหว่างพระมหากษัตริย์กับราษฎร เป็นหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

กระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) มีการปรับปรุงรัฐธรรมนูญปี 2475 ทั้งฉบับ อันนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญปี 2489 แม้เว้นการบัญญัติจำกัดบทบาทของพระบรมวงศานุวงศ์ในทางการเมืองไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่กระนั้นก็หาได้ทำให้หลักการพื้นฐานทางรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยฐานะของพระบรมวงศานุวงศ์ทรงอยู่เหนือการเมือง และอาจกระทบกระเทือนต่อความเป็นกลางทางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกลบล้างไปไม่

ทั้งนี้เป็นที่ประจักษ์ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 6/2543 กรณี กกต.ออกระเบียบให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ขณะนั้นว่า พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไปมีสิทธิเลือกตั้ง อีกทั้งให้เลขาธิการพระราชวังแจ้งเหตุที่ทำให้ไม่อาจใช้สิทธิเลือกตั้งแทนพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป

Advertisement

ต่อมา กกต.พิจารณาแล้วเห็นว่า มีปัญหาในทางปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าว จึงยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มีบุคคลใดบ้างไม่อยู่ในข่าย หรือยกเว้นไม่ต้องแจ้งเหตุอันควร ที่ทำให้ไม่อาจไปเลือกตั้งได้ตามมาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญปี 2540

ศาลรัฐธรรมนูญ (ขณะนั้น) วินิจฉัยว่า รัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับ รวมทั้ง 2540 มีหมวดพระมหากษัตริย์เป็นการเฉพาะ เป็นบทบัญญัติรับรองสถานะพิเศษตามคติระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทรงอยู่เหนือการเมือง และทรงดำรงอยู่ในการเคารพสักการะ ละเมิดการถูกกล่าวหา หรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ทางใดมิได้ และทรงเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ทรงอยู่เหนือการเมือง ธำรงไว้ซึ่งความเป็นกลางทางการเมือง

ที่ผ่านมาพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระราชโอรส และพระราชธิดา ไม่เคยไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และหากกำหนดให้พระบรมวงศานุวงศ์ที่มีความใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ ที่ทรงได้รับการโปรดเกล้าฯไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจเป็นนิจ ทรงไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จะทำให้เกิดความขัดแย้ง และไม่สอดคล้องกับหลักการของการทรงดำรงอยู่เหนือการเมือง และความเป็นกลางทางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญ (ขณะนั้น) วินิจฉัยว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 มาตรา 68 มิให้บังคับใช้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามรัฐธรรมนูญปี 2540 มาตรา 22 และ 23

หลักการพื้นฐานว่าด้วยการดำรงอยู่เหนือการเมือง และความเป็นกลางทางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามนัยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 6/2543 ข้างต้น สอดคล้องกับหลักการว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ครองราชย์ มิใช่ผู้ปกครอง เป็นหลักการของหลักประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐ กล่าวคือ สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นบ่อเกิดแห่งความชอบธรรมของระบบการเมือง เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ และรวมกันเป็นปึกแผ่นของคนในชาติ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ ใช้อำนาจอธิปไตยทางการเมืองแบบสภาผู้แทนราษฎร

ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย มีความแตกต่างจากการปกครองของระบอบที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐในลักษณะอื่น ที่มีบทบาททางการเมืองโดยตรง ควบคุมการใช้อำนาจทางการเมืองผ่านการแต่งตั้งพระบรมวงศานุวงศ์เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ดังเช่นระบอบราชาธิปไตย ที่บังคับใช้ในรัฐธรรมนูญบางประเทศ

การกระทำของพรรค ทษช. ที่เสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ในนามพรรคการเมืองเพื่อแข่งขันกับพรรคอื่น ในการรณรงค์หาเสียง และกระบวนการให้ความเห็นชอบบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการกระทำที่เล็งเห็นได้ว่า ส่งผลให้ระบอบการเมือง การปกครองไทย แปรเปลี่ยนไปสู่ระบอบพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีพระบรมวงศานุวงศ์ทำหน้าที่ใช้อำนาจทางการเมืองปกครองประเทศ

สภาพการณ์เช่นนี้ทำให้หลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงครองราชย์ มิใช่ปกครอง ถูกเซาะบ่อนทำลาย หรือเกิดความเสื่อมทรามให้ถูกทำลาย

อนึ่ง รัฐธรรมนูญปี 2560 มีเจตนารมณ์สำคัญประการหนึ่ง มุ่งลดเงื่อนไขความขัดแย้ง เพื่อให้ประเทศมีความสงบสุข บนฐานรู้รักสามัคคี ภายใต้หลักการปกครอง และประเพณีการปกครองตามลักษณะของสังคมไทย

รัฐธรรมนูญปี 2560 บัญญัติรับรองปกป้อง คุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชนไทยอย่างกว้างขวาง สร้างความตื่นตัวเรื่องสิทธิเสรีภาพ ปรากฏชัดในข้อเท็จจริงว่า ในการจัดการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มี.ค.2562 มีผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต จำนวนมากกว่า 1 หมื่นคน พรรคการเมืองส่งผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 77 พรรค และมีพรรคการเมืองเสนอรายชื่อบุคคลให้รัฐสภาแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี 44 พรรค

อย่างไรก็ตามการใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองที่รัฐธรรมนูญรับรอง ต้องอยู่ใต้กฎเกณฑ์ที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และต้องไม่ใช่การใช้สิทธิเสรีภาพในการบั่นทอนทำลายหลักการพื้นฐานรัฐธรรมนูญ สั่นคลอนฐานรากระบอบประชาธิปไตย ที่ดำรงอยู่ในเสื่อมโทรมไป

ด้วยเหตุนี้ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของอารยประเทศ บัญญัติกลไกปกป้องระบอบการปกครอง บ่อนทำลาย หรือใช้สิทธิเสรีภาพเกินขอบเขตของบุคคล หรือพรรคไว้เสมอ แม้พรรค ทษช.จะมีสิทธิและเสรีภาพดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติไว้โดยสมบูรณ์ แต่การใช้สิทธิและเสรีภาพกระทำการใดๆ ของพรรค ย่อมตระหนักว่า การกระทำ
นั้นต้องไม่ใช้สิทธิเสรีภาพที่ได้รับจากรัฐธรรมนูญ ย้อนกระทบกลับมาทำลายบรรทัดฐาน และคุณค่าของรัฐธรรมนูญเสียเอง

ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ
ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามราชประเพณี ความมั่นคงทางสถานะ และเอกลักษณ์ของสถาบันพระมหากษัตริย์โบราณ รวมถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) ที่พระองค์ทรงครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยผ่านรัฐสภา เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติทุกเพศทุกวัยทุกศาสนา เคารพรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และโบราณราชประเพณี ทรงอยู่เหนือการเมือง ต้องทรงเป็นกลางทางการเมือง

ทรงต้องระวังมิให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยต้องถูกนำไปเป็นคู่แข่ง หรือฝักใฝ่ฝ่ายใดในทางการเมืองอย่างเคร่งครัด หากถูกกระทำการด้วยวิธีการใดๆ ให้เกิดผลเป็นไปเช่นนั้น สภาวะความเป็นกลางทางการเมืองย่อมสูญเสียไป หากเสียความเป็นกลาง ย่อมไม่สามารถดำรงพระองค์เพื่อให้ได้รับการปกป้องให้อยู่เหนือการเมืองได้ ถ้าปล่อยให้สภาพการณ์เป็นไปเช่นนั้น สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่อาจเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาวไทยอีกต่อไป ย่อมทำให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของไทย ต้องเสื่อมโทรม หรือสูญสิ้นไป หาควรปล่อยให้เป็นเช่นนั้นไม่
ระบอบประชาธิปไตยและโบราณราชประเพณี จะต้องนำมาใช้บังคับในทางรัฐธรรมนูญ กรณีไม่มีบทบัญญัติลายลักษณ์อักษร ถึงแม้ไม่มีนิยามศัพท์เฉพาะ แต่พออนุมานเบื้องต้นได้ว่า ตามความในปรากฏชื่อเรียก

1.หมายถึง ประเพณีการปกครองที่ปฏิบัติมานานจนเป็นประเพณีดีงาม ไม่ใช่ประเพณีด้านอื่น
2.ประเพณีการปกครองของไทยที่ยอมรับนับถือกันว่าดีงามในไทย ควรแก่การถนอมรักษาสืบสานให้มั่นคง ไม่ใช่ประเพณีการปกครองของประเทศอื่น หรือลัทธิอื่น
3.ประเพณีการปกครองที่ถือปฏิบัติในวาระสมัยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเท่านั้น
4.ประเพณีการปกครองไทย หมายถึงระบอบเสรีประชาธิปไตย มิใช่ประชาธิปไตยรูปแบบอื่น ทฤษฎีอื่น หรืออุดมการณ์อื่น

ตัวอย่างชัดแจ้งคือ ประเพณีการปกครองแผ่นดิน
โดยธรรม ที่พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจโดยธรรม ทรงดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรม สร้างความสำเร็จแก่ส่วนรวม และทำให้ประชาชนในชาติมีความผาสุก ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องอยู่เหนือการเมือง ทรงเป็นกลางทางการเมือง ต้องไม่เปิดช่อง เปิดโอกาสให้สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกนำไปใช้ประโยชน์ โดยฝักใฝ่ทางการเมือง ไม่ว่าโดยตรง หรือโดยอ้อม แม้ว่าจะไม่มีบทบัญญัติให้ทรงอยู่เหนือการเมืองเป็นการเฉพาะ แต่ต้องนำประเพณีการปกครองมาใช้บังคับด้วย ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 5 วรรคสอง

พรรคการเมืองมีความสำคัญ เพราะเป็นองค์กรกำหนดตัวบุคคลเข้าไปดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร มีกรรมการบริหารพรรคเป็นเสมือนมันสมอง และระบบจิตใจใช้ดุลพินิจ ตัดสินใจแทนพรรค ผู้จัดตั้งพรรค ต้องมีความรับผิดชอบต่อทุกการตัดสินใจในการกระทำของพรรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อความมั่นคงดำรงอยู่ พัฒนาต่อไปอย่างยั่งยืน ถ้าพรรคการเมืองใดมีการกระทำล้มล้าง หรือปฏิปักษ์กับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พรรคการเมืองนั้นรวมทั้งกรรมการบริหารพรรคต้องถูกลงโทษทางการเมืองตาม พ.ร.บ.พรรคฯ มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) หรือ (2) แล้วแต่กรณี

การอ้างว่าไม่รู้ หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่อาจเป็นข้อแก้ตัวให้หลุดพ้นความผิดไปได้ไม่ แม้กฎหมายไม่ได้บัญญัตินิยามศัพท์คำว่าล้มล้างและปฏิปักษ์ไว้ แต่ทั้ง 2 คำเป็นภาษาไทย ที่ใช้ และรับรู้โดยทั่วไป ศาลย่อมรู้ได้เอง ล้มล้าง หมายถึง การทำลาย ล้างผลาญ สลายหมดไป ไม่ให้ธำรงอยู่ หรือมีอยู่ต่อไปอีก ส่วนปฏิปักษ์ หมายถึง ไม่จำเป็นต้องรุนแรง ถึงเจตนา
ล้มล้างทำลายให้สิ้นไป และไม่อาจตั้งตนเป็นศัตรู เพียงแค่ขัดขวางมิให้เจริญก้าวหน้า หรือกระทำบ่อนทำลาย ทำให้ชำรุด อ่อนแอลง ก็เข้าข่ายปฏิปักษ์ได้แล้ว

ประเด็นเรื่องเจตนานั้น พ.ร.บ.พรรคฯ มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (2) บัญญัติชัดเจน เพียงแค่อาจเป็นปฏิปักษ์ก็ต้องห้ามแล้ว หาต้องมีเจตนาประสงค์ต่อผล หรือรอให้เกิดผลเสียหายร้ายแรงขึ้นเสียก่อนไม่ เพื่อให้เป็นมาตรการป้องกันการเสียหายแก่สถาบันหลักของประเทศ เป็นนโยบายตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ไม่ให้กองไฟเล็ก โหมไหม้ จนเป็นมหันตภัยที่มิอาจต้านทานได้

ที่ว่าอาจเป็นปฏิปักษ์ เป็นเงื่อนไขภาววิสัย ไม่ขึ้นเป็นปฏิปักษ์ หากความคิดของวิญญูชน จะเห็นว่าการกระทำดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดความเป็นปฏิปักษ์ เทียบกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 กรณีหมิ่นประมาทน่าจะทำให้เสียชื่อเสียง หรือดูหมิ่น ซึ่งศาลฎีกาวางบรรทัดฐานไว้มั่นคงว่า การพิจารณาถ้อยคำใส่ความจนถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ต้องพิจารณาความรับรู้ในถ้อยคำของวิญญูชนทั่วไปเป็นเกณฑ์ และข้อความใดทำให้เสียหายแก่ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ต้องถือเอาความคิดของบุคคลธรรมดาพูดให้คนอื่นฟัง ไม่เกี่ยวกับเจตนา ผลของการใส่ความผู้อื่นทำให้เสียชื่อเสียง ดูหมิ่นหรือไม่นั้น ศาลวินิจฉัยเองได้ ไม่ต้องอาศัยคำเบิกความของพยาน

การกระทำของ ทษช. มีหลักฐานชัดเจน ทำไปโดยรู้สำนึก กรรมการบริหารพรรคทราบดีว่า ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) อีกทั้งยังเป็นพระเชษฐภคินี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) แม้ทรงกราบบังคมทูลลาออกจากฐานันดรศักดิ์ แต่ยังเป็นสมาชิกราชจักรีวงศ์

การกระทำของพรรค ทษช. นำสมาชิกพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงมาฝักใฝ่ในทางการเมือง เป็นการกระทำที่วิญญูชนเห็นว่า ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจ ต้องถูกนำมาใช้เพื่อความได้เปรียบทางการเมืองอย่างแยบยล ปรากฏผลมุ่งหวังผลประโยชน์ทางการเมือง ไม่สนใจพื้นฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการสุ่มเสี่ยงสถานะที่ทรงอยู่เหนือการเมือง และดำรงความเป็นกลางทางการเมือง จุดประสงค์เบื้องต้นเพื่อเซาะกร่อน ทำให้อ่อนแอลง เข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตาม พ.ร.บ.พรรคฯ มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) อย่างชัดแจ้ง เนื่องจากระบอบการปกครองของไทยมีวิวัฒนาการมาอย่างยาวนานตั้งแต่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนมาถึงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีหมวดพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ จะละเมิดมิได้ จึงมีมติเอกฉันท์ให้ยุบพรรค ทษช.

ประเด็นที่สอง กรรมการบริหารพรรคจะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 92 วรรคสองหรือไม่ ศาลมีมติ 6 ต่อ 3 เห็นว่า ตามกฎหมาย กำหนดว่า เมื่อศาลฯไต่สวนแล้ว มีคำสั่งยุบพรรค จึงชอบที่ศาลจะเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 แต่มีข้อพิจารณาต่อไปว่า เมื่อเพิกถอนสิทธิสมัครแล้ว จะต้องเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาเท่าใด เห็นว่าการกำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งซึ่งเป็นสิทธิทางการเมืองที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้งจึงต้องพิจารณาให้ได้สัดส่วนพอเหมาะพอควรกับความร้ายแรงกับโทษ เมื่อพิจารณาจากการกระทำของผู้ถูกร้องซึ่งกระทำเพียงอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง ยังไม่ถึงขนาดมีเจตนาที่จะล้มล้างการปกครอง อีกทั้งการ
กระทำดังกล่าวเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งของการได้มาซึ่งรายชื่อของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี ยังไม่เกิดความเสียหายร้ายแรง นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาความสำนึกของกรรมการบริหารพรรค ที่น้อมรับพระราชโองการไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมทันทีเมื่อรับทราบแสดงให้เห็นว่ายังมีความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่จึงเห็นสมควรกำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไว้ 10 ปี ตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมี
คำสั่งยุบพรรค

ประเด็นที่สาม ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคของพรรคผู้ถูกร้อง และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง จะไปจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ได้หรือไม่ ศาลมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นว่ากฎหมายไม่ให้ศาลพิจารณาเป็นอย่างอื่นได้ เมื่อศาลมีคำสั่งยุบพรรคแล้ว ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองประกาศคำสั่งยุบพรรคนั้น และห้ามบุคคลใด ใช้ชื่อย่อ หรือภาพพรรคการเมืองซ้ำ และห้ามไม่ให้ผู้ที่เคยเป็นกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบไปจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งยุบพรรค

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image