ปิดฉาก ทษช. เกมชิงคะแนนระอุ ตอกย้ำ‘คืนอำนาจ’

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เมื่อวันที่ 7 มีนาคม
ยุบพรรค ไทยรักษาชาติ หรือ ทษช.
ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้ตั้งประเด็นและมีคำวินิจฉัย 3 ประเด็นด้วยกัน สรุปได้ว่า
หนึ่ง กระทำผิดตาม พ.ร.บ.พรรคฯ มาตรา 92 หรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 เสียงวินิจฉัยให้ยุบพรรค ทษช.
โดยเห็นว่ามีการกระทำเข้าข่ายเป็นปฏิปักษ์การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตาม พ.ร.บ.พรรคฯ มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) อย่างชัดแจ้ง
สอง คณะกรรมการบริหารพรรค ทษช.จะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรคสองหรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง ให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งเป็นวันกระทำอันเป็นเหตุให้สั่งยุบพรรค เป็นเวลา 10 ปี นับตั้งแต่วันที่มีคำสั่งยุบพรรค
ทั้งนี้ มติดังกล่าวแบ่งเป็น 6 เสียงให้เพิกถอนสิทธิ 10 ปี อีก 3 เสียงให้เพิกถอนสิทธิตลอดชีวิต
และ สาม ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค ทษช.และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งจะไปจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกไม่ได้ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคหรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 ห้ามผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหาร ทษช.ที่ถูกเพิกถอนสิทธิไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่
ห้ามเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่
คำตัดสินที่ออกมา ถือเป็นการปิดฉาก ทษช.

ย้อนกลับไปช่วงเหตุการณ์หลังวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันที่พรรคไทยรักษาชาติกระทำขัดกฎหมายจนเป็นเหตุให้ต้องยุบพรรค แวดวงการเมืองได้ทำโพลสำรวจจำนวน ส.ส.ที่จะได้รับ
โพลของพรรคเพื่อไทยยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส. 200 ที่นั่งขึ้นไป โดยมีพรรคประชาธิปัตย์และพรรคพลังประชารัฐตามหลัง
ทั้งประชาธิปัตย์และพลังประชารัฐจะมีจำนวน ส.ส.ต่ำกว่าร้อย
ขณะที่พรรคภูมิใจไทยได้ไม่เกิน 50 ที่นั่ง
และน่าจับตาพรรคอนาคตใหม่ที่คะแนนดีวันดีคืน ดีจนกระทั่งประเมินว่าจะได้ ส.ส.มากกว่า 50 ที่นั่ง
ขณะที่โพลของพรรคพลังประชารัฐสำรวจแล้วฟันธงว่า พรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส. 150 ที่นั่ง พรรคพลังประชารัฐและพรรคประชาธิปัตย์ได้ประมาณ 105 ที่นั่ง
ขณะที่พรรคภูมิใจไทยได้มากกว่า 50 ส่วนพรรคอนาคตใหม่ไม่ถึง 30 ที่นั่ง
ผลการสำรวจหลังวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ยังสรุปว่าพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.มากที่สุด
หากแต่พรรคพลังประชารัฐมีแต้มตีโค้งแซงพรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมา
การที่พรรคพลังประชารัฐชนะพรรคประชาธิปัตย์ ย่อมเพิ่มความชอบธรรมหากมีการจับมือกันแล้วดัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
เพราะหากพรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.มากกว่า พรรคพลังประชารัฐ การจะผลักดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ ข้ามหน้า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คงต้องมีเหตุผลที่ดี
แต่ถ้าพลังประชารัฐได้มากกว่า ทุกอย่างถือว่า “เข้าเป้า”

อย่างไรก็ตาม เมื่อพรรคไทยรักษาชาติปิดฉากลง ทำให้ผู้สมัคร ส.ส. จำนวน 282 คนต้องตัดสินใจว่าเสียงที่ตัวเองหาจะยกให้กับพรรคการเมืองใด
แน่นอนว่า สมาชิกพรรคไทยรักษาชาติคงไม่ยกคะแนนไปให้กับขั้วสนับสนุน คสช.
แต่ขั้วที่ไม่เอา คสช. ก็มีอยู่หลายพรรค อาทิ พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาชาติ เป็นต้น
ขณะนี้กระแสข่าวจากพรรคเพื่อไทยเริ่มแพร่ออกมาว่า มีโอกาสที่จะเทคะแนนนิยมในพรรคไทยรักษาชาติไปสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่
แต่น่าสังเกตว่า พรรคอนาคตใหม่เองกลับไม่ยินดีกับการ “เทคะแนน” มาให้ ทุกจังหวะก้าวในกรณีของพรรคไทยรักษาชาติพรรคอนาคตใหม่จะแสดงท่าทีต่อสาธารณะ
เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พรรคไทยรักษาชาติเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีในช่วงเช้า พอตกเย็นพรรคอนาคตใหม่ก็แสดงท่าที
ยืนยันว่า อนค.ไม่สนับสนุนนายกฯที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง
พรรคอนาคตใหม่ย้ำความเป็นตัวของตัวเอง

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม หลังจากศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยยุบพรรค ทษช.แล้ว ตกเย็นพรรคอนาคตใหม่ก็มีแถลงการณ์
ตอนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุว่า
“…การยุบพรรคการเมืองในช่วงเวลาก่อนถึงวันเลือกตั้งเพียง 17 วัน ย่อมส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งที่กำลังเกิดขึ้นนี้ด้วย
ในประการแรก การยุบพรรคการเมืองเป็นการตัดโอกาสมิให้พรรคการเมืองที่ถูกยุบได้เข้าแข่งขันในการเลือกตั้ง และทำลายเจตจำนงของประชาชนที่ต้องการเลือกพรรคการเมืองที่ถูกยุบ
ประการที่สอง การยุบพรรคการเมืองในช่วงเวลานี้อาจทำให้ประชาชนเสียความเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะดำเนินไปอย่างเสรีและเป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากพรรคที่ถูกยุบเป็นพรรคที่มีจุดยืนต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช…”
และจบท้ายด้วยข้อเรียกร้อง
“…พรรคอนาคตใหม่ขอเรียกร้องให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิออกเสียงในการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 เพื่อต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. พิสูจน์ให้เห็นว่า แม้ระบอบเผด็จการได้วางกลไกการสืบทอดอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญและกฎหมายไว้ แต่ก็ไม่อาจต้านทานอำนาจของประชาชนได้
24 มีนาคม 2562 จับปากกาฆ่าเผด็จการ เริ่มต้นยุติวงจรรัฐประหาร เปิดฉากการเมืองแบบใหม่ที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน”
เป็นข้อเรียกร้องให้ประชาชนออกมาแสดงอำนาจ
ย้ำอีกครั้ง เป็นตัวของตัวเอง

Advertisement

ด้วยท่าทีของพรรคอนาคตใหม่ ทำให้มีแนวคิดอีกด้านที่เห็นว่า คะแนนของพรรคไทยรักษาชาติไม่น่าจะเทไปที่พรรคอนาคตใหม่
แต่น่าจะหวนกลับมาเทให้พรรคเพื่อไทย หรือการกลับมา “รวมเซลล์”
แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะลงสมัคร ส.ส.เขตแค่ 250 เขต และแม้ว่าคะแนนที่ได้อาจจะ “มากเกินไป” จนกระทบต่อจำนวน ส.ส. อันพึงมี
แต่ทุกคะแนนเสียงที่มองว่า “มากเกินไป” นั้น จะสะท้อนให้เห็นเจตนารมณ์ของประชาชนได้ดียิ่ง
อย่าลืมว่า รัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดให้คิดทุกเสียงที่ประชาชนหย่อนบัตรเป็นคะแนนพรรค
ก่อนหน้านี้ทุกคะแนนอาจมีการคำนวณแล้วมีการ “แตกเซลล์” เพื่อให้ได้จำนวน ส.ส. มากที่สุด
ทั้ง ส.ส.ระบบเขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
เมื่อเหตุการณ์พลิกผัน จำนวน ส.ส.ที่คาดว่าจะได้มากที่สุด อาจจะได้ไม่ถึง เพราะถูกจำกัดด้วยระบบสัดส่วนตามที่กฎหมายบัญญัติ
แต่ทุกคะแนนยังโชว์ตัวเลขให้ได้เห็นว่า ประชาชนนิยมพรรคการเมืองใด
ยิ่งมีคนบอกว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ อาจมีผู้ไปใช้สิทธิกันถึง 90 เปอร์เซ็นต์
ยิ่งผลการตัดสินคดียุบพรรค ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้รับฟังข่าวสารต่างมีหลากหลายความคิด
ยิ่งน่าสนใจว่า คะแนนส่วนใหญ่ของผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จะเทไปให้พรรคการเมืองไหน
ผลการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม จะเป็นการตอกย้ำเจตนารมณ์ประชาชน
ตอกย้ำการคืนอำนาจให้ประชาชน
ว่าที่สุดแล้ว พรรคและคนที่ประชาชนเลือกจะมีโอกาสเข้าไปทำหน้าที่แทนประชาชนหรือไม่ อย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image