ที่เห็นและเป็นไป : ประเทศที่คลุมด้วย‘กังวล’

การเลือกตั้งจะมีขึ้นอีก 10 กว่าวันข้างหน้านี้แล้ว แม้ทุกพรรคทุกฝ่ายจะพยายามบอก หรือหาอะไรต่ออะไรมาเป็นหลักในการคิดว่า “โอกาสเป็นของตัวเองมากกว่าคนอื่น”

แต่กลับสัมผัสได้ว่า โอกาสที่ “ปลอบใจตัวเอง” หรือ “ทำลายขวัญคู่ต่อสู้” เสียมากกว่า

ในฝั่งของฝ่ายที่ต้องอาศัย “ประชาชนให้การสนับสนุน” หรือที่เรียกกันว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย” แม้จะมีเหตุผลหนักว่าจะได้รับเลือกเข้ามามากกว่า แต่เมื่อการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่เหมือนกับครั้งที่ผ่านมา คือ “ผลการเลือกตั้งเป็นตัวตัดสินว่าใครจะได้สิทธิเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล” และเพราะ “กติกากำหนดโครงสร้างอำนาจ” ที่ให้อำนาจ “สมาชิกวุฒิสภา 250 คน” อันเป็น “นักการเมืองที่มาจากการแต่งตั้งของฝ่ายตรงกันข้าม” มีบทบาทควบคุมการจัดตั้งรัฐบาลค่อนข้างสูง ทำให้ต้องกังวลมากมายว่า “ชัยชนะที่ประชาชนมอบให้” จะไม่มีความหมายต่อการเข้าไปจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง

นอกจากนั้นยังมีความกังวลอยู่สูงว่าจะถูกเอารัดเอาเปรียบในขั้นตอนของกระบวนการเลือกตั้งตั้งแต่ “การหาเสียง” ที่ถูกควบคุมคุกคาม การนับคะแนนที่หายใจไม่ทั่วท้องว่าจะมีการสอดไส้อะไรหรือไม่ และการประกาศผลที่คิดไปได้มากมายว่าจะเกิดอุปสรรคหลากหลาย แม้กระทั่งถูกทำให้พ่ายแพ้ด้วยใบเหลืองใบแดง ที่ไม่รู้จะรับประกันว่าเป็นไปโดยไม่มีการกลั่นแกล้งได้แค่ไหน

Advertisement

เรื่องราวที่ผ่านมาต้องปลุกใจสู้กับสถานการณ์ที่ทำให้ทดท้ออยู่ตลอดเวลา

ไม่มีหลักประกันอะไรที่จะบอกว่าผลการเลือกตั้งจะทำให้โอกาสจัดตั้งรัฐบาลมีความปลอดภัย

ส่วน “ฝ่ายอำนาจนิยม” แม้จะประกาศความเชื่อมั่นอย่างสูงยิ่งในทาง “รัฐธรรมนูญดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” ตามด้วยสถานการณ์ต่างๆ ที่ตอกย้ำให้เห็นว่าการใช้อำนาจเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่มีอุปสรรคอะไรที่จัดการไม่ได้ และสร้างปัญหา ยังสามารถเป็นศูนย์กลางควบคุมอำนาจได้อย่างเด็ดขาด ไม่เปลี่ยนแปลง กระทั่งแม้จะรู้อยู่เต็มอกว่า “พรรคการเมืองของฝ่ายตัว” อาจจะไม่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ยังประกาศได้ด้วยความเชื่อมั่นว่า “รัฐบาลหลังการเลือกตั้งหนีไม่พ้นมือ”

Advertisement

แต่แม้จะอหังการ์กับความได้เปรียบถึงเพียงนั้น ทว่า “ความหวั่นวิตก” กลับมีอยู่ไม่น้อย

การถูกโจมตีเรื่อง “อำนาจที่ไม่ชอบธรรม” กติกาที่เอื้อความได้เปรียบให้ตั้งแต่การหาเสียง และกลไกที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง จนไปถึงจัดตั้งรัฐบาล

ความวิตกอยู่ที่ “ภาพของรัฐบาลที่มาจากการเอาเปรียบ ภาพของรัฐบาลที่ไม่ชอบธรรม” ซึ่งกระทบต่อการ “คงอยู่”

ฝ่ายที่โจมตีนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง แต่ที่สำคัญมากกว่านั้นคือ “สำนึกของตัวเอง”

ถึงอย่างไร ระบอบการปกครองประเทศหนีไม่พ้นที่จะต้องเรียกว่า “ประชาธิปไตย” อันหมายความว่าไม่ว่าใครก็ตามที่เอ่ยอ้างถึงคำนี้ย่อมหนีไม่พ้นที่จะต้องอธิบายให้ด้วย “สำนึกในอำนาจของประชาชน”

หากเอ่ยคำว่า “ประชาธิปไตย” แล้วพยายามที่จะอธิบายถึง “ความชอบธรรมของอำนาจที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน” ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะ “ไม่รู้สึกผิด หรือละอายต่อสำนึกของตัวเอง” เว้นเสียแต่ว่าจะเป็น “คนที่ถูกหล่อหลอมมาให้มีสำนึกด้านอย่างถึงที่สุด”

ความวิตกของคนที่สร้างเงื่อนไข และกติกาที่ได้เปรียบมาให้ตัวเอง กดคู่ต่อสู้ ย่อมเป็น “สำนึกของพวกเขาเอง”

“ความรู้สึกผิดต่อสำนึกของตัวเอง” ย่อมเป็นสิ่งที่สร้าง “ความคิดหมิ่นแคลนตัวเอง” ให้เกิดขึ้น ซึ่ง “การดูถูกตัวเอง” ย่อมถือเป็น “กรรม” ที่จะส่งผลให้เกิดความทุกข์ได้ยืดเยื้อยาวนานที่สุดของมนุษย์

ไม่มีทางที่คนเหล่านี้จะมีชีวิตอยู่อย่างไม่กังวลว่าจะ “เป็นอำนาจที่อายุสั้น”

รัฐบาลประชาธิปไตยที่ไม่เคารพเสียงประชาชน ย่อมสื่อสารกับทุกฝ่ายได้ลำบาก ความภาคภูมิใจในการใช้อำนาจ ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ยากในสภาพที่รู้แก่ใจว่าได้อำนาจมาด้วยจิตใจที่มุ่งเอารัดเอาเปรียบ

จากที่ว่ามาทั้งหมดนี้ จะพบว่าการเมืองใช้ “ประชาธิปไตย” เป็น “-ภาพลวง” เช่นนี้ไม่มีทางที่จะสร้างความสุขให้ใครได้ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน

และในที่สุดแล้ว ประชาชนของประเทศที่รัฐบาลที่อยู่ด้วยอารมณ์หวาดวิตก ย่อมยากที่จะทำมาหากินและใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image