ย้อนรอยยุบพรรค กิโยติน ทางการเมือง

ย้อนรอยยุบพรรคž กิโยตินžทางการเมือง

ในทางการเมืองเปรียบเปรยการถูก “ยุบพรรค” เทียบได้กับโทษประหาร

ก่อนหน้ารัฐธรรมนูญปี 2540 การยุบพรรคการเมือง ส่วนใหญ่เป็นผลจากการบริหารจัดการ หรือศักยภาพของพรรคการเมืองนั้น เช่น มีจำนวนสมาชิกพรรคไม่อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด หรือส่งสมาชิกสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ไม่ถึงเกณฑ์ หรือไม่มีสมาชิกได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.

กระทั่งภายหลังรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา มีการกำหนดเรื่องศาลรัฐธรรมนูญ วางเงื่อนไขยุบพรรคการเมืองในหลายโทษานุโทษ เข้าสู่ กิโยติน

Advertisement

ไปสำรวจกันว่ากี่พรรคการเมือง ถูกตัดสินประหารชีวิต

6 กรกฎาคม 2549 อัยการสูงสุดยื่นคำร้องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบ 5 พรรคการเมือง อันประกอบด้วย พรรคไทยรักไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย

คำร้องยุบพรรค มีดังนี้

Advertisement

1.ยุบ พรรคไทยรักไทย ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 66 และ 67

มีสาระสำคัญสรุปว่า เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2549 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ได้ร้องเรียนต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ว่ามีการสมคบระหว่างผู้บริหารพรรคไทยรักไทย เจ้าหน้าที่พรรคการเมืองอื่น และเจ้าหน้าที่ กกต. เปลี่ยนแปลงข้อมูลสมาชิกพรรค และว่าจ้างพรรคการเมืองเล็ก (พรรคพัฒนาชาติไทยและพรรคแผ่นดินไทย) ให้ลงสมัคร ส.ส.ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ตามมาตรา 74 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว.พ.ศ.2541

นายทะเบียนพรรคการเมืองได้พิจารณาแล้ว มีความน่าเชื่อว่าการกระทำของกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย เป็นการกระทำในฐานะตัวแทนของพรรค มีลักษณะเป็นการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองในวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรือขัดต่อกฎหมาย หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองมาตรา 66 (1) และ (3)

2.ยุบ พรรคประชาธิปัตย์ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 66 และมาตรา 67 ดังนี้

-นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวปราศรัยที่ท้องสนามหลวง กล่าวหาการบริหารงานของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย ว่าเป็นระบอบทักษิณŽ ใส่ร้าย พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วยข้อความเท็จ ว่าระบอบทักษิณทำลายประชาธิปไตยแทรกแซงองค์กรอิสระ แทรกแซงสื่อ สร้างความแตกแยกของคนในชาติ มีการทุจริตอย่างมโหฬาร เพื่อจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของ พ.ต.ท.ทักษิณ

-นายทักษะนัย กี่สุ้น ผู้ช่วยนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย กรรมการบริหารและสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ นำ น.ส.นิภา จันโพธิ์ นางรัชนู ต่างสี และ นายสุวิทย์ อบอุ่น ชาว จ.ตรัง ไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า เพื่อลงสมัคร ส.ส. ที่ จ.ตรัง โดยใช้เอกสารอันเป็นเท็จ ว่าเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าไม่น้อยกว่า 90 วัน จากนั้นให้ทั้งสามคนแถลงข่าวใส่ร้ายว่าถูกกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยว่าจ้างให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทย

-นายไทกร พลสุวรรณ ในฐานะตัวแทน นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ว่าจ้างให้ นายวรรธวริทธิ์ ตันติภิรมย์ หัวหน้าพรรคชีวิตที่ดีกว่า แถลงข่าวใส่ร้าย นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ว่าจ้างสมาชิกพรรคชีวิตที่ดีกว่าลงสมัครรับเลือกตั้ง อันเป็นการใส่ร้ายด้วยความเท็จ

3.ยุบ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ในข้อกล่าวหา น.ส.อิสรา หรือพรณารินทร์ ยวงประสิทธิ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าออกหนังสือรับรองอันเป็นเท็จโดยรู้อยู่ว่าบุคคลทั้งสามเป็นสมาชิกพรรคยังไม่ครบ 90 วันจริง ถือเป็นกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ และกระทำการอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ หรือขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 66 (2) และ (3)

4.ยุบ พรรคพัฒนาชาติไทย ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 มาตรา 66 และ 67 คำร้องสรุปว่า เนื่องจากพรรคพัฒนาชาติไทย โดย นายบุญทวีศักดิ์ อมรสินธุ์ หัวหน้าพรรคพัฒนาชาติไทย กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 66 (2)

5.ยุบ พรรคแผ่นดินไทย ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2541 คำร้องสรุปว่าพรรคแผ่นดินไทย โดย นายบุญอิทธิพล หรือบุญบารมีภณ ชิณราช หัวหน้าพรรคแผ่นดินไทยเป็นผู้แทนของพรรค กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ และกระทำการอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 66 (2)

และ (3)

ต่อมาเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ตุลาการรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย แบ่งการพิจารณาคดีออกเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

1.กลุ่มที่ 1 พรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีมติให้ยุบ พรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย รวมทั้งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งต่อกรรมการบริหารพรรคของทั้ง 3 พรรค มีกำหนด 5 ปี

2.กลุ่มที่ 2 พรรคประชาธิปัตย์ และ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ตุลาการรัฐธรรมนูญมีมติยกคำร้องที่ให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ และมีคำสั่งให้ยุบพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า รวมทั้งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งต่อกรรมการบริหารพรรค มีกำหนด 5 ปี

คดียุบพรรคการเมืองอีกชุด เกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 

คณะกรรมการการเลือกตั้งตรวจสอบพบการทุจริตการเลือกตั้ง และมีมติให้ใบแดงและพิจารณาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของ นายมณเฑียร สงฆ์ประชา ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และรองเลขาธิการพรรคชาติไทย กับ นายสุนทร วิลาวัลย์ ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และรองหัวหน้า พรรคมัชฌิมาธิปไตย

ตามด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติให้ใบแดงและส่งความเห็นไปยังศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง เพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของ นายยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้า พรรคพลังประชาชน เนื่องจากพบว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งที่จังหวัดเชียงราย

คดีนี้สืบเนื่องจาก นายวิจิตร ยอดสุวรรณ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคชาติไทย นำหลักฐานเป็นวีซีดี กล่าวหานายยงยุทธเรียกกำนัน 10 คน ใน อ.แม่จัน จ.เชียงราย นำโดย นายชัยวัฒน์ ฉางข้าวคำ เดินทางไปพบที่กรุงเทพฯ ก่อนการเลือกตั้งวันที่ 23 ธันวาคม 2550 โดยกล่าวหา นายยงยุทธ ขอให้กำนันช่วยเหลือตัวเองและน้องสาว และ นายอิทธิเดช ผู้สมัครของพรรค จ.เชียงราย เขต 3 จากนั้นคนสนิทของ นายยงยุทธ ได้มอบเงินให้กำนันคนละ 20,000 บาท

ทั้ง 3 กรณีขึ้นสู่การพิจารณาของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ฐานเป็นพรรคการเมืองมีกระทำการซึ่งให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ให้ยุบ พรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย รวมทั้งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งต่อกรรมการบริหารพรรคทั้ง 3 พรรค มีกำหนด 5 ปี

สิบปีต่อมา 7 มีนาคม 2562 พรรคไทยรักษาชาติ เป็นอีกหนึ่งพรรคการเมืองกลายเป็นอดีต โดยผลคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image