สัมภาษณ์พิเศษ ‘สติธร’วิเคราะห์คะแนน‘ทษช.’ สู่โจทย์เลือก ส.ส.‘พปชร.-พท.’ โดย : จตุรงค์ ปทุมานนท์

⦁มองการเมืองและคะแนนเสียง ภายหลังยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) อย่างไร

ต้องมาดูตัวเลขผู้สมัคร ส.ส.พรรค ทษช.ส่งผู้สมัคร ส.ส. 174 เขต ขณะที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ส่งผู้สมัคร ส.ส. 250 เขต โดยมีผู้สมัครทับซ้อนกันทั้งสองพรรค จำนวน 74 เขต ในส่วนนี้คงไม่ยาก ฐานคะแนนใครอยู่ตรงไหนก็จะกลับไปที่นั่น

แต่อีก 100 เขตที่ พท.ไม่ส่งผู้สมัคร ส.ส. แต่มีคะแนนดั้งเดิม หากเทียบกับการเลือกตั้ง ส.ส.ปี 2554 พท.มีคะแนนเสียง 14 ล้านเสียง แต่มีคะแนน ส.ส.เขตที่ชนะรวม 204 เขต เฉลี่ยเขตละ 51,000 คะแนน ประมาณ 10.5 ล้านเสียง คะแนน 10.5 ล้านเสียงนี้จะเก็บไว้กับ พท.ทั้งหมด ส่วนคะแนนที่แบ่งไป ทษช.จะประมาณ 3.5 ล้านเสียง

คะแนน 3.5 ล้านเสียงจะปนกันอยู่ 2 ส่วน คือ 1.ส่วนที่เป็นฐานเสียงหรือแฟนพันธุ์แท้ (เอฟซี) ของ พท.จะมีอยู่ประมาณ 2 ล้านเสียงเศษๆ 2.คะแนนที่มาจากกระแสของพรรค ทั้งเรื่องนโยบายที่ดี แคนดิเดตนายกฯที่เด่น ประมาณ 1 ล้านเสียง คะแนนในทั้งสองส่วนนี้ ทางพรรคฝั่งประชาธิปไตยสามารถบริหารได้ อยู่ที่ว่าจะบริหารจัดการหรือแจกคะแนนให้ใคร

Advertisement

วิธีการแจก ก็คือมีอยู่ 2 แบบ คือ 1.เขตที่ ทษช.ชนะแน่ๆ จะอยู่ที่ตัวเลขกลมๆ 5-6 เขต เช่น จ.แพร่ 2 เขต คือ เขต 1 นพ.ทศพร เสรีรักษ์ เขต 2 นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล จ.ฉะเชิงเทรา มีประมาณ 2 เขต เขต 1 นางฐิติมา ฉายแสง เขต 4 นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง

การบริหารคะแนนในเขตที่ ทษช.ชนะแน่ๆ ก็มีอยู่ 2 แบบ คือ 1.การโหวตโน เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่แล้วให้ผู้สมัครของ พท.มาลงเลือกตั้ง กับ 2.เทคะแนนให้พรรคแนวร่วมฝ่ายประชาธิปไตยในเขตนั้นๆ แต่ปัจจัยในการเลือกก็ต้องดูทั้งตัวผู้สมัคร ส.ส.ด้วย ถ้าจะเทคะแนนให้แล้วประชาชนที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ในพื้นที่จะรับได้หรือไม่ แต่ถ้าในพื้นที่ที่แข่งขันกันสูงๆ ตัวผู้สมัคร ส.ส.ที่มีฐานเสียงสนับสนุนอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องมีทั้งนโยบาย และแคนดิเดตนายกฯมาช่วยเรียกคะแนนด้วย

อย่างพรรคเพื่อชาติ (พ.พ.ช.) ไม่ได้ส่งชื่อแคนดิเดตนายกฯ จะเหลือเพียงพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) พรรคเสรีรวมไทย และพรรคประชาชาติ (ปช.) ที่มีแคนดิเดตนายกฯ แต่ก็ต้องคำนึงในแต่ละพื้นที่ด้วย

Advertisement

แต่ถ้าจะใช้เกมถ่ายเทคะแนนในพื้นที่ที่ ทษช.จะชนะแน่นอน อย่าง จ.แพร่ ต้องคิดให้รอบคอบ ไม่เช่นนั้นคะแนนอาจจะไหลไปสู่พรรคคู่แข่ง อย่างพรรคประชา ธิปัตย์ (ปชป.) หรือพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้

ส่วนเขตที่เหลือประมาณ 95 เขตของ ทษช.ที่ไม่ได้เป็นเขตที่จะได้ ส.ส. ตรงนี้จะเทคะแนนเสียงได้ง่าย คือ สามารถถ่ายเทคะแนนให้กับพรรคฝ่ายประชาธิปไตยได้ ซึ่งมีตัวเลือกอยู่ที่ว่าจะให้กันแค่ 2 พรรค หรือ กระจายไปหลายพรรคในฝั่งประชาธิปไตย ซึ่งอยู่ที่การทำความเข้าใจในการบริหารคะแนน

ถ้าให้คะแนนกันแค่ 2 พรรค พรรคที่ได้คะแนนของ ทษช.ไปก็อาจจะกลายเป็นพรรคที่ใหญ่ขึ้นอาจถึง 50-60 เสียง หากพรรคนั้นมีกระแสที่ดีและได้คะแนนของ ทษช.โอนมาช่วย

แต่โจทย์สำคัญของพรรคฝั่งประชาธิป ไตยจะต้องไม่ลืมเป้าหมายใหญ่ คือ คะแนนเสียงเมื่อรวมกันแล้วหลังการเลือกตั้งจะต้องไปสู่เป้าหมายได้ ส.ส.ไม่ต่ำกว่า 250 เสียง

ซึ่งผมมองว่าโอกาสที่พรรค พปชร. และพรรค ปชป.จะมาแชร์คะแนนในส่วนของ ทษช.นั้นจะเกิดขึ้นยาก เพราะกลุ่มแฟนพันธุ์แท้ของพรรคฝั่งประชาธิปไตยจะไม่โหวตไปเลือกพรรคที่มีหลักการตรงกันข้ามแน่

อันนี้คือทางเลือกพื้นฐานที่ พท.จะเลือกเดินเกมได้ในการจัดการคะแนนของ ทษช. แต่ยังมีทางเลือกพิเศษ คือ ถ้ามีการดีลกันลงตัวกับพรรคขนาดกลาง เช่น ภท.เดิมอาจจะได้ ส.ส.ประมาณ 40-50 เสียง หากได้เสียงของ ทษช.ประมาณ 30 เสียงไปเพิ่ม จะทำให้กลายเป็นพรรคใหญ่เข้ามาเติมเสียงให้พรรคฝั่งประชาธิปไตยได้เกิน 250 เสียงได้ แต่ทางเลือกพิเศษนี้ก็ยังมีจุดเสี่ยง คือ ต้องดีลกันให้ชัวร์ เพราะไม่เช่นนั้นอาจเจอกับสภาวะ “คบซ้อน” อีกชั้นหนึ่ง ของพรรคขนาดกลางนั้น ส่งผลกระทบต่อเป้าหมายใหญ่ของพรรคฝั่งประชาธิปไตย คือ 250 เสียงได้

⦁เวลา 14 วันช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเลือกตั้ง พท.ควรเดินเกมการเลือกตั้งอย่างไร

ผมคิดว่า พท.ควรทำภารกิจของตัวเองให้สำเร็จจะดีกว่า จากโพลและผลสำรวจต่างๆ เกี่ยวกับคะแนน ส.ส.เขตของ พท.ก็อยู่ที่ 150-170 เสียงบวก-ลบ การบ้านของ พท. คือต้องไปเอา ส.ส.เขตกลับคืนมาให้ได้ใกล้เคียงกับตัวเลข ส.ส.เขตเมื่อปี 2554 คือ 204 เสียงเสียก่อน อย่างน้อยๆ ควรต้องไม่ต่ำกว่า 180 เสียง

ส่วนการบริหารคะแนนในส่วนของ ทษช. ก็ควรปล่อยให้แกนนำของ ทษช.ไปดำเนินการ เพราะตามยุทธศาสตร์การแบ่งพรรคของ พท.กับ ทษช.ก็จะมีตัวเลขฐานข้อมูลคะแนนเสียงในแต่ละเขตอยู่แล้ว ในเขตที่ฐานเสียงของ พท.ชัดเจนก็เก็บเสียง ส.ส.เขตไป ส่วนในเขตที่ไม่มี พท.ก็ต้องแชร์คะแนนไปยังพรรคฝั่งประชาธิปไตย ทั้ง อนค. เสรีรวมไทย พ.พ.ช. โดยใช้ทุกปัจจัยมาชี้วัดในแต่ละเขตทั้งกระแสพรรค ตัวแคนดิเดตนายกฯ ว่าจะแชร์คะแนนไปให้พรรคไหน

⦁เกมแตกแบงก์พันของ พท.ยังสามารถใช้ได้ต่อและนำไปสู่เป้าหมายรวมเสียงให้กับพรรคฝั่งประชาธิปไตยได้ตามเป้าหรือไม่

เกมแตกแบงก์พันของ พท.ยังไม่เกมโอเวอร์ ยังไม่ถูกทำลายไปทั้งหมด แม้จะเสียพรรคแนวร่วมไปแต่คะแนนยังอยู่ วิธีเดินต่อคือต้องบริหารคะแนนของ ทษช.ที่เหลือ โดยการเน้นยุทธศาสตร์ที่มั่นคง คือ พท.มีเป้าหมายที่เก็บ ส.ส.เขตก็ต้องเดินไปในทิศทางนั้น

ถ้าจะวิเคราะห์ให้ลึกลงไป การแบ่งพรรคออกมาก็เพื่อนำคะแนนส่วนเกินของ พท.ไปเพิ่มเป็นเสียง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ให้กับ ทษช.อยู่แล้ว แต่ต้องทำงาน 2 ชั้น คือเขตไหนที่ พท.ชนะแน่ๆ ก็ต้องบริหารคะแนนให้ดี คือ นำคะแนนส่วนเกินไปเติมให้กับพรรคฝั่งประชาธิปไตย เพื่อไปเพิ่มจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

⦁ตัวเลขคำนวณ ส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงมีจากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 51,427,628 คน อยู่ที่เท่าใด

หากดูตัวเลขจากผลโพลที่คาดการณ์ว่าจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง 80 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนผู้สิทธิเลือกตั้ง 51 ล้านคนเศษ จะอยู่ที่ประมาณ 41 ล้านคน ตอนนี้มีใช้กันหลายสูตร คือ ทั้งอ้างอิงจากตัวเลขเก่าคือ 7 หมื่นคะแนนต่อ ส.ส. 1 คน บางคนก็ใช้ 8 หมื่นคะแนน แต่ผมมองว่าตัวเลขที่ ปชป.ใช้คำนวณ คือ 7.5 หมื่นคะแนนต่อ ส.ส. 1 คน น่าจะเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงการคำนวณ ส.ส.มากที่สุด

ผมมองว่าบัตรเลือกตั้งใบเดียว อาจมีแนวโน้มว่าคนจะโหวตโนลดลงและบัตรเสียก็จะน้อยลง เพราะโหวตอย่างไรก็ไม่เสีย ครั้งนี้ผมประเมินว่าบัตรเสียและโหวตโนน่าจะลดลงอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านคะแนน ตัวเลขที่จะใช้คำนวณ ส.ส.จากบัตรที่นับคะแนนได้หากออกมาใช้สิทธิ 80% น่าจะอยู่ที่ 38 ล้านเสียง

พท.ก็ต้องเดินตามยุทธศาสตร์เก็บ ส.ส.เขตให้ได้มากที่สุด เท่าไรก็เท่ากัน ถ้าเขตไหนชนะเลือกตั้งแบบชัวร์ 7 หมื่นกว่าคะแนน ก็สามารถนำคะแนนส่วนเกินให้กับพรรคฝั่งประชาธิปไตยได้ ถ้ามีดูจากฐานคะแนนที่ พท.ชนะได้ ส.ส.เขต เมื่อปี 2554 เฉลี่ยคือ 5.1 หมื่นคะแนน ถ้ามีเขตไหนที่มีคะแนนส่วนเกิน 5.1 หมื่นคะแนนและชนะคู่แข่งได้ ก็สามารถแบ่งคะแนนส่วนเกินไปให้พรรคฝั่งประชาธิปไตยได้

สมการทางการเมืองก็ยังจะยันกันอยู่ 3 ฝ่าย พท.กับพรรคฝั่งประชาธิปไตยก็ต้องเดินไปสู่เป้าหมายรวมกันแล้วไม่ต่ำกว่า 250 เสียง เพื่อนำเสียงโดยรวมไปยันกับพรรคที่จะตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ส่วน ปชป.ก็หวังไม่ต่ำกว่า 100 เสียงเพื่อมีสิทธิจัดตั้งรัฐบาล ขณะที่ พปชร.ก็ต้องเดินไปสู่เป้าที่ไม่ต่ำกว่า 126 เสียง

⦁ฐานเสียงของวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ กลุ่มนิวโหวตเตอร์ประมาณ 7.3 ล้านเสียง ประเมินว่าจะเลือกพรรค อนค.

ผมคิดฐานเสียงของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่ใช่ห้วงอายุ 18-25 ปี แต่มองถึงช่วงอายุ 35 ปี จะมีตัวเลขกลมๆ อยู่ที่ 15 เสียง หากกลุ่มนี้มาใช้สิทธิประมาณ 70% หรือประมาณ 10 ล้านคน ถ้าเลือก อนค.เพียง 1 ใน 3 ประมาณ 3 ล้านเสียง ก็จะได้ ส.ส.ประมาณ 40-50 เสียง

เพราะมีทั้งกระแสโซเชียล ยอดไลฟ์สด ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บวกกับกระแสทางการเมือง เช่น ในทวิตเตอร์ #ฟ้ารักพ่อ ก็อยู่ที่ 3.4 แสนฟอลโลว์ หรือกระแส #SaveThanathorn ช่วงที่นายธนาธร หัวหน้า อนค.รับฟังคำสั่งอัยการว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีที่วิพากษ์วิจารณ์ คสช.ก็พุ่งไปที่ 7-8 แสนฟอลโลว์ รวมทั้งกระแสผ่านสื่อกระแสหลักต่างๆ

อีกทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่ไม่ได้มีเฉพาะเด็กนักเรียน นักศึกษา แต่ยังมีกลุ่มคนทำงานที่ยังทำงานได้ไม่เกิน 5 ปีก็เริ่มพูดถึง อนค.มากขึ้น เหตุผลที่มอง อนค.ก็ไม่ซับซ้อน คือ อยากเห็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เพราะช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมากลุ่มคนรุ่นใหม่ได้รับประสบการณ์ข้อมูลต่างๆ ของรัฐบาลชุดปัจจุบันอย่างชัดเจนแล้ว บวกกับสิ่ง อนค.สื่อสารมายังกลุ่มคนรุ่นใหม่ก็ไปกระตุ้นทำให้พวกเขารู้สึกอยากเลือกตั้งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ถ้าคนกลุ่มนี้ใช้สิทธิไปในทางใดทางหนึ่งจะเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดให้พรรคที่ได้เสียง ส.ส.ที่ส่งผลต่อนัยยะทางการเมืองได้

ประเด็นสำคัญของ อนค.อยู่ที่ว่าจะเลี้ยงกระแสของพรรคให้ดีไปจนถึงการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม ได้อย่างไร

⦁โค้งสุดท้ายของ พปชร.ที่ปรับแผน ไม่นำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นปราศรัยในฐานแคนดิเดตนายกฯของพรรค

ตรงนี้คงเป็นการประเมินกันภายในของแกนนำพรรคที่มีทั้งอดีต ส.ส.ในพื้นที่ ที่รับรู้ข้อมูลและคะแนนนิยมที่มีต่อตัว พปชร. และ พล.อ.ประยุทธ์ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนือที่ยังไม่ตอบรับในตัวของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พปชร.เท่าที่ควร หากให้ พล.อ.ประยุทธ์ขึ้นเวทีปราศรัยแล้วจากที่จะได้อาจจะกลายเป็นเสียคะแนนนิยมก็เป็นไปได้ ก็เป็นอีกหนึ่งการวางกลยุทธ์หาเสียงของ พปชร.

แต่ต้องไม่ลืมว่าส่วนตัวของ พล.อ. ประยุทธ์ก็มีแฟนคลับนิยมชมชอบพอสมควร หากได้สื่อสารในช่วงจังหวะการเมืองที่สำคัญๆ ก็สามารถเรียกคะแนนนิยมให้กับ พปชร.ได้ เช่น การสื่อสารของ พล.อ.ประยุทธ์ ช่วงโหวตรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ สุดท้ายก็มีคะแนนเสียงโหวตเห็นชอบให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติได้ ตรงนี้ก็อยู่ที่แกนนำ พปชร. ว่าจะไปปรับกลยุทธ์การหาเสียงช่วงโค้งสุดท้ายว่าจะทำอย่างไรให้คนที่ต้องเลือกตั้งด้วยบัตรใบเดียวที่มีผลตัดสินชี้ขาดชัยชนะมาเลือก พปชร. แม้คนคนนั้นอาจจะเป็นแฟนคลับทั้ง ปชป.และ พปชร. ดังนั้น พรรคใหม่ๆ ก็หวังคะแนน

⦁เวลานี้มีสูตรการเมืองที่ พปชร.หวังมีเสียงมาเป็นอันดับ 2 เพื่อให้ง่ายต่อการตั้งรัฐบาล

นี่คือโจทย์ที่ พปชร.ต้องหาคำตอบให้ได้ เพราะตราบใดที่ พปชร.ยังแพ้ ปชป. และได้เสียง ส.ส.มาเป็นอันดับ 3 ความชอบธรรมในการจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจะเป็นไปได้ยาก อีกทั้งแกนนำ พปชร.ก็พูดอยู่เสมอว่าถ้าใครรวมเสียง ส.ส.ได้เกินครึ่งก็จะมีความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล โจทย์ของ พปชร.คือต้องชนะมาเป็นที่ 1 ในกลุ่มที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ

เพราะถ้า ปชป.ชนะมาเป็นอันดับ 2 ปชป.ก็จะมีความชอบธรรมในการเสนอคนของ ปชป.เป็นนายกฯ ซึ่งหากเสียงออกมาแบบนี้จะเป็นงานยุ่งยากของ พปชร.ในการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ

อีกทั้งการที่ พปชร.จะฟอร์มเสียงให้ได้เป็นรัฐบาลอย่างมีเสถียรภาพก็ไม่ควรมีเสียงต่ำกว่า 300 เสียง ถึงจะปลอดภัย การเป็นรัฐบาลผสมที่มีเสียงเพียง 270-280 เสียงถือว่ายังเสี่ยง หากมีพรรคไหนถอนตัว หรือมีงูเห่าสัก 20-30 เสียง รัฐบาลก็เสี่ยงที่จะอยู่ไม่ได้

สูตรการตั้งรัฐบาลแบบนี้ พรรคร่วมรัฐบาลจะมีอำนาจต่อรองอย่างมาก เหมือนเมื่อครั้งรัฐบาลพรรค ปชป.ที่ ภท.มีอำนาจต่อรองสูงมาก ได้บริหารกระทรวงเกรดเอไปเกือบทั้งหมด แกนนำรัฐบาลอย่าง ปชป.ได้เพียงตำแหน่งนายกฯ และรัฐมนตรีในกระทรวงอื่นๆ

⦁การเมืองหลังการเลือกตั้ง หาก พท. และพรรคฝ่ายประชาธิปไตยได้เสียงเกิน 250 เสียง

ผมว่าจะต้องมีดีลกันใหม่ที่ยุ่งยากเลย สนุกที่สุดคือพรรคฝ่ายประชาธิปไตยรวมกันได้สัก 251 เสียง พปชร.ได้ 126 เสียงตามเป้าที่วางไว้ ปชป.ได้มา 100 เสียง ที่เหลือเป็นเสียงของพรรคอื่นๆ

หาก พปชร.จะไปหักดิบ นำเสียงไปร่วมกับ ส.ว. 250 คน เพื่อตั้งนายกฯที่มาจาก พปชร. และหวังว่า ปชป.อาจจะมาร่วมด้วย ขณะที่พรรคฝ่ายประชาธิปไตยยังจับมือกันแน่น ตรงนี้เสียงของ พปชร.กับพรรคแนวร่วมก็ยังไม่มีเสถียรภาพอยู่ดี

ยกเว้นว่า พปชร.จะยอมเสี่ยงตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย แล้วไปหางูเห่าจากพรรคฝั่งประชาธิปไตย สัก 20-30 เสียง แต่เป็นการหางูเห่า เป็นการเฉพาะกิจ แค่บางเรื่อง เช่น การขอเสียงมาสนับสนุนในการผ่าน พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ดีลเป็นเรื่องๆ ไป

แต่ถ้า พปชร.ยังฝืนตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย โอกาสที่จะเดินต่อไปจะยากมาก เพราะฉะนั้นเป้าหมายของ พปชร. จะต้องพยายามกดคะแนนเสียงไม่ให้พรรคที่มีจุดยืนฝั่งประชาธิปไตยไม่ให้ได้เสียงเกิน 250 เสียง เป็นงานที่ยากอีกเหมือนกัน

สุดท้ายถ้า พปชร.ได้เสียงมาไม่เข้าเป้ามากๆ ส.ว.ทั้ง 250 คน คงมีปัญหาชีวิตให้คิดหนักและไม่กล้าฝืนดันตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยแน่นอน คงต้องยอมให้ฝ่ายประชาธิปไตยได้ฟอร์มเสียงตั้งรัฐบาล เหมือนเมื่อการเลือกตั้งในปี 2550 หลังการรัฐประหารปี 2549

อยากให้ฝากถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งในครั้งนี้

อยากให้ทุกคนเชื่อในเสียงของตัวเอง แม้บางคนอาจมองว่ามีแค่เสียงเดียวจะไปเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่อยากให้มองว่าแม้จะมีแค่เสียงเดียวแต่เลือกตั้งครั้งนี้มีความหมายมากที่จะชี้ชะตาว่าจะได้การเมืองแบบไหนหลังการเลือกตั้ง เพราะทุกคะแนนมีความหมายถูกคิดคำนวณทั้งหมด 1 คะแนนอาจมีค่าถึงขั้นจัดตั้งหรือเปลี่ยนขั้วการตั้งรัฐบาลได้

ที่สำคัญเมื่อทุกคะแนนมีความหมาย หากออกไปใช้สิทธิกันมากๆ ก็จะไปลดความสำคัญของพวกคะแนนจัดตั้้งต่างๆ หรือคะแนนที่คนชอบพูดว่าไปซื้อๆ กันมา เพราะฉะนั้นจะเชื่อมั่นในคะแนนเสียงของทุกคน

จตุรงค์ ปทุมานนท์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image