“ทักษิณ” กู๊ดมันเดย์ EP.9 ย้ำเกษตรแม่นยำ คือหัวใจของเกษตรกรไทย แนะเปลี่ยนจากเพื่อชีวิตมุ่งสู่ธุรกิจ

เมื่อวันที่ 11 มีนาคม นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จัดรายการกู๊ด มันเดย์ (Good Monday) กับ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ตอนที่ 9 “EP.9 เกษตรแม่นยำ คือหัวใจของเกษตรกรไทย” ตอนที่ 1 เกษตรเพื่อชีวิตสู่เกษตรเพื่อธุรกิจ โดยแนะนำการทำเกษตรในยุคใหม่ที่จะเปลี่ยนไปจากเดิมด้วยเกษตรแม่นยำ เกษตรกรต้องใช้เทคโนโลยีสู้กับภาวะดินเสื่อม ปัญหาน้ำ และภาวะโลกร้อน หากจะทำเกษตรให้ได้กำไรต้องเปลี่ยนจากเกษตรยังชีพมาเป็นเกษตรธุรกิจ ใช้ agritech ยกระดับอาหารที่ดีขึ้นสู่ผู้บริโภค และแปรรูปเพื่อหาตลาดที่ต้องการให้ได้ราคาที่ดีที่สุด
ทั้งนี้ ข้อความ

“สวัสดีครับพี่น้องชาวไทยที่เคารพรักครับ วันจันทร์นี้ผมขอพูดเรื่องแนวทางการทำมาหากินอีกครั้งหนึ่ง  แต่วันนี้จะเน้นเรื่องของการเกษตรและการอาหาร ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่เป็นเรื่องที่เป็นการเกษตรเฉพาะเกษตรกรเท่านั้น ผมยังคิดว่ามันเป็นการประสานสินทรัพย์สมอง ปัญญา ระหว่างคนกรุงและคนชนบท การเอาที่ดินความชำนาญ ความอดทนของเกษตรกร กับการเอาความเป็นคนรุ่นใหม่การใช้เทคโนโลยีเป็น หรือการหาตลาดเป็น เป็นการประสานกันระหว่างคนเมืองกับคนชนบท ก็จะเป็นการแนะนำว่าเรายังมีช่องทางทำมาหากินของเราอีกทางหนึ่ง คือเรื่องเกษตรและเรื่องอาหาร

ปัจจุบันประชากรโลกมีอยู่ราว 7.6 พันล้านคน แล้วเค้าประมาณว่าในปี 2050 หรือก็ประมาณอีก 31 ปีข้างหน้า ประชากรโลกอาจจะมีถึง 10,000 ล้านคนนะครับ องค์การอาหารและการเกษตรหรือ FAO บอกว่า จำนวนประชากรที่สูงขึ้นจะส่งผลทำให้โลกต้องการบริโภคสินค้าที่เป็นอาหารเพิ่มขึ้นถึง 70%  แล้ว 70% มันจะเพิ่มอย่างไร มันก็มีการชั่งใจกันระหว่างการจะขยายพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งมันคงทำไม่ได้แล้ว แต่การขยายพื้นที่เพาะปลูกนั้นก็จะเจอปัญหาว่า ถ้าการตัดไม้ทำลายป่ามากขึ้น การใช้ป่ามาทำการเกษตรมากขึ้น การเกษตรที่เป็นลักษณะเป็นพืชอาหาร มันก็จะทำให้เกิดปัญหาเรื่องภาวะโลกร้อน หรือ climate change ก็เลยต้องชั่งใจกันว่าจะเอายังไง จึงเกิดเทคโนโลยีขึ้นอย่างมากมายเกี่ยวกับเรื่องการเพาะปลูกอะไรทั้งหลาย

หันกลับมาในประเทศไทย บ้านเรามีพื้นที่ทำการเกษตรประมาณ 108 ล้านไร่ หรือราว 80% ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งประเทศ เรามีปัญหาหาดินเสียไปแล้วนะครับ 80 เปอร์เซ็นต์ของร้อยแปดล้านไร่เนี่ย มีปัญหาเรื่องดินเสีย เสียจากอะไร จากสารเคมี จากการเพาะปลูกที่มันไม่เหมาะสม เพราะว่าบางทีบางครั้งเราก็ไปปลูกในพื้นที่ที่พืชตัวนี้ต้องการดินที่มีปุ๋ยที่เป็นธรรมชาติ แต่ว่าเราต้องฝืนใส่ปุ๋ย ฝืนใส่อะไรเข้าไปเพื่อจะปลูกพืชตัวนี้ คือเราไม่ได้ปลูกพืชตามความเหมาะสมของดินฟ้าอากาศ แต่เราปลูกพืชตามความเคยชินมากกว่าที่เราจะไปคิดถึงหลายๆ อย่าง วันนี้คือสิ่งที่เป็นปัญหาปัจจุบันนะครับ ก็ทำให้ดินมันเสื่อมโทรม ภาวะโลกร้อนก็ยิ่งรุนแรงขึ้น

เพราะฉะนั้นในการเพาะปลูกต่อไปเนี่ยมันต้องคิดถึงว่า ทำไงจะให้ใช้น้ำน้อยลง ทำยังไงถึงจะให้เป็นมีความปลอดภัยในการบริโภคมากขึ้น หรือทำยังไงจะให้ได้ผลมากขึ้น ก็เลยมีการพูดกันถึงเรื่องเทคโนโลยีที่เรียกว่าเกษตรแม่นยำ หรือว่า Precision agriculture, Precision agriculture ถามว่าที่ไหนทำแล้วบ้าง ก็ที่ญี่ปุ่นครับ ญี่ปุ่นเนี่ยพัฒนาการเขาชัดเจนมาก จากการทำที่เรียกว่าเป็น Mechanized farming ใช้เครื่องจักรกลธรรมดาที่เป็นระบบที่เราเรียกว่า อนาล็อก ตอนนี้เขาก็เริ่มมาทำเป็น Digital ก็คือการใช้ระบบที่สามารถทำนายดินฟ้าอากาศ รู้ดินที่มันจะต้องเข้ากันว่า ช่วงฤดูนี้ควรปลูกอะไรยังไง น้ำจะมาตอนไหน มาตอนเก็บเกี่ยวหรือมาตอนเพราะปลูกอะไร คือเขาคำนวณได้หมด เขาก็จะเลือกพืชที่มันเหมาะสม แล้วนอกนั้นยังไม่พอ การหว่าน หรือการเก็บเกี่ยว เขาก็ใช้ GPS เชื่อมมากับรถแทรกเตอร์ หรือรถที่ใช้ในการพรวน ในการปลูกชำ มีความละเอียดเป็นตารางนิ้วเลย เพราะฉะนั้นเขาก็จะปลูกตรงนี้ๆๆ และเขาก็จะเก็บถูกต้องหมด ใช้เหมือนกับเป็นหุ่นยนต์ ถือเป็นเทคโนโลยีทั้งด้าน Artificial Intelligent หรือปัญญาประดิษฐ์ หรือหุ่นยนต์ บวกกับเรื่องของ GPS เข้าไป จริงๆ แล้วมันก็เป็นคอนเซ็ปต์ที่เป็นที่เรียกว่าเป็น IOT หรือ Internet of Things ด้วยเหมือนกัน นั้นก็คือสิ่งที่มือถือรุ่นใหม่ ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่รุ่นใหม่ที่จะใช้ 5G ก็จะมีศักยภาพในการทำ Internet of Things มากขึ้นนะครับ เพราะฉะนั้นก็ 5G กำลังจะมา เราเนี่ยเป็นคนที่ใช้เทคโนโลยีและใช้ก็ไม่ค่อยคุ้มเท่าไหร่ เพราะเรายังเอาฟีเจอร์ของเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้เป็นบางส่วนเท่านั้นเอง ไม่ต้องอะไรมากเอาแค่วิทยุในรถเรานี่แหละ มันมีลูกเล่นตั้งเยอะแยะแต่เราใช้ไม่กี่อย่าง เพราะเราขี้เกียจศึกษา จริงๆ แล้วแต่และเทคโนโลยีมันแข่งกันที่ฟิวเจอร์ต่างๆ มีเยอะมาก เพราะฉะนั้นเหมือนกับ 5G ที่กำลังจะมาเนี่ย เค้าเอาไปใช้กับรถที่ไม่มีคนขับ หรือ ICar เอามาใช้กับพวก Internet of Things ทั้งหลายที่สามารถที่จะเชื่อมโยงแบบไร้สายเข้ามาผ่านระบบโทรศัพท์มือถือด้วยความเร็วสูงขึ้นนะครับ ใช้กับ Virtual Reality มันกำลังมาหมดละ เพราะฉะนั้นการเกษตรก็ต้องเอามาใช้เป็นประโยชน์ เรื่องโดรน การควบคุมโดรน ก็สามารถใช้คลื่นของ 5G ได้ อันนี้ก็มันกำลังมา ก็เรื่องการเกษตรนี้ก็จึงเป็นสิ่งที่จะต้องใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้นนะครับ

Advertisement

การลงทุนพวกนี้ก็เริ่มมีในหลายประเทศก็ลงทุนไปมากขึ้นเรื่อยๆ นะครับ วันนี้ที่เอาเรื่องนี้มาพูดก็เพื่อจะโน้มน้าวให้ฟังว่า ข้างหน้ามันผลิตอาหารเท่าไหร่ก็ไม่พอกิน แล้วเราเนี่ยเป็นประเทศที่อยู่ในประเทศที่เป็นความร้อนชื้น เราสามารถปลูกพืชได้เยอะแยะไปหมด พืชอาหาร เราสามารถเลี้ยงสัตว์ที่เป็นอาหารได้อีกเยอะแยะมาก แต่ว่าวันนี้เกษตรกรของเรายังเป็นเกษตรกรแบบวิถีชีวิต ก็คือวันๆ หนึ่งก็เป็นวิถีชีวิตว่าจะต้องทำการเกษตรเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวไปวันๆ หนึ่ง ไม่ได้คิดว่าจะทำเศรษฐกิจเป็นเรื่องเป็นราวที่จะทำมาหากินเป็นล่ำเป็นสัน ร่ำรวยอะไรเนี่ย ยังไม่ได้คิดไปถึงขนาดนั้น แล้วก็ค้าขายก็ไม่ได้เป็น ก็เลยทำให้ขาดทุนบ้าง รัฐบาลต้องเข้าอุ้มบ้าง     ถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลางบ้าง ปัญหาเหล่านี้มันเลยเป็นปัญหาที่ว่าเกษตรเราจริงๆแล้วเราก้าวหน้าเก่งกว่าใครในโลกเยอะแยะไปหมด ผมมาที่อินโดนีเซียเขาก็บอกว่าสินค้าเกษตรของเขาสู้เราไม่ได้ เขาส่งคนไปเรียนตั้งเยอะแยะ กลับมายังสู้ของไทยไม่ได้ คือเรายังมีของเราได้ก้าวหน้ากว่าคนอื่นเยอะ แต่เราทำให้มันเป็นสเกลเป็นเรื่องเป็นราวไม่ได้ เพราะฉะนั้นวันนี้ก็เลยอยากจะชวน จะช่วยทั้งเกษตรกร แล้วก็ชวนคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่รู้จะทำมาหากินอะไร ได้มองเรื่องนี้ว่าเราจะเอาเทคโนโลยีไปใช้กับการเกษตรได้อย่างไรบ้างนะครับ เรื่องนี้อาจจะยาวไม่รู้จะต้องแบ่งเป็น 2 ต่อหรือเปล่านะครับ เพราะมันเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์จริงๆ

ผมมานั่งดูว่า วันนี้ยกตัวอย่างง่ายๆ บางที่ชอบปลูกสับปะรดก็จะปลูกประจำ ปลูกจนดินมันจืดหมดแล้วเพราะมันกินดินเยอะ ปลูกอ้อยก็ปลูกประจำ แต่ว่าเราไม่รู้ว่ามันควรจะต้องลงเดือนไหน แล้วควรจะเก็บเกี่ยวเดือนไหนยังไงเนี่ย มันก็ยังไม่มีข้อมูล เราใช้ความเคยชินของการเป็นเกษตรกรตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่ามา แต่ว่าโลกยุคใหม่มันสามารถที่จะเก็บข้อมูลขึ้นไปบน Cloud นะครับ เช่นว่า ข้อมูลดิน ว่าดิน ณ บริเวณนี้ จังหวัดนี้ เขตนี้ พิกัดเท่านี้ มันเป็นดินประเภทที่ว่าสภาพดินเป็นยังไง มันมีปุ๋ยประเภทไหน ขาดปุ๋ยประเภทไหน ต้องเติมปุ๋ยประเภทไหน ถ้าจะต้องปลูกพืชอะไร แล้วพืชอะไรควรเหมาะกับดินที่มีอยู่ที่จะต้องใช้ปุ๋ยน้อย แล้วก็แถบนั้นดินฟ้าอากาศเป็นยังไง สมมุติว่าฝนจะตกเดือนมิถุนาเป็นต้นไป ถ้าเราไปปลูกพืชที่มันออกดอกออกผลในช่วงฝนตกมันก็อาจจะเสียหาย ช่วงฝนตกมันก็อาจจะเป็นช่วงที่เราชำแล้ว แล้วก็มีฝนมาเลี้ยง ทำให้เราไม่ต้องรดน้ำมาก นี่ก็จะเป็นสิง่ที่เราจะเอาขึ้นไปใน Cloud  หรือในที่เก็บข้อมูลขนาดใหญ่ เราก็จะสามารถใช้ Application ในมือถือเรียกถามดูได้ว่า ดินตรงนี้เป็นยังไง ฝนจะเป็นยังไง แล้วผมควรจะปลูกเพื่ออะไร ปลูกแล้วพืชตัวนี้ แล้วต้นทุนการผลิต ณ จุดนี้มันจะเท่าไหร่ เพราะมันใช้ปุ๋ยน้อย มันควรจะเป็นต้นทุนผลิตเท่าไหร่แล้วราคาตลาดวันนี้เป็นเท่าไหร่ เราควรจะทำไหม ถ้าควรทำเราก็จะปลูก ไม่ควรทำ ขาดทุนแน่ๆ ทำทำไม อะไรทำนองนี้ แล้วนอกนั้นยังไม่พอ เราจะมีเรื่องการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เดี๋ยวเราว่ากันทีหลังเรื่องการตลาด แต่เรื่องปลูกเนี่ยเราต้องทำให้การเพาะปลูกมันแม่นยำขึ้น สิ่งเหล่านี้มันทำได้เลยนะครับ และคนรุ่นใหม่สามารถเข้ามาช่วยกันทำเรื่องพวกนี้ ผมอยากเปลี่ยนเกษตรจากวิถีชีวิต มาเป็นเกษตรเพื่อเป็นธุรกิจ เมื่อเกษตรเป็นธุรกิจนั่นหมายความว่าท่านจะต้องทำกำไรจากการทำเกษตร    ซึ่งมันสามารถทำได้ไม่ยากในประเทศไทยนะครับ เดี๋ยวเรามาพูดเรื่องการตลาดแล้วเราจะเห็นชัดว่าเราเสียเปรียบได้เปรียบยังไง

ก็วันนี้เนี่ยเรายกตัวอย่างง่ายๆ อย่างป่าที่ขาดความอุดมสมบูรณ์บางส่วนก็ต้องมาทำเป็นพื้นที่เพาะปลูกการเกษตร บางส่วนก็สามารถปลูกไม้โตเร็ว บางส่วนอาจจะปลูกไผ่ พวกนี้มันเป็นธุรกิจหมด มันสามารถทำเงินได้ แต่ในขณะเดียวกันก็รักษาความชุ่มชื้นของดินของป่าได้ แต่ว่าต้องบริหารการจัดการอย่างถูกต้อง ยกตัวอย่างเช่นในประเทศฟินแลนด์ เขาปลูกต้นไม้เต็มเลย แต่เค้าให้ตัด เค้าไม่ได้ตัดแบบถางหญ้านะ ตัดพรวดยาวเนี่ย ตัดไม่มักง่ายแบบนั้น เค้าตัดเป็นต้นสลับ พอตัดเสร็จปุ๊บ ก็มีการปลูกใหม่ ปลูกแซม แล้วปีต่อไปที่ไม่ได้ตัดก็มาตัด ก็สลับกันไปเรื่อยๆ อย่างนี้ ก็ทำให้สภาพความเป็นป่าก็ยังอยู่ แล้วทำอุตสาหกรรมไม้ก็ยังทำได้อยู่

เรื่องของการปลูกพืชที่เป็นอาหาร วันนี้เราจะต้องเปลี่ยนนอกจากเราใช้ดินที่มีอยู่เต็มที่แล้วเนี่ย อีกอย่างนึงเนี่ย อย่างจีนเนี่ยเริ่มแล้วครับ เริ่มเอาพืชมาเป็นอุตสาหกรรม เอาการเกษตรมาเป็นอุตสาหกรรม แต่ไม่ใช่อุตสาหกรรมการเกษตรนะ เอาเกษตรมาเป็นอุตสาหกรรม ก็คือเอามาปลูกในร่ม ในโกดังใหญ่ๆ มาปลูกในร่ม แล้วก็ใช้ระบบน้ำน้อย แบบไฮโดรโพนิกส์แบบนี้ก็มีนะครับ ปลูกแบบใช้น้ำน้อย ปลูกในโรง เยอะมากในจีน เวลาผมบินก่อนจะร่อนลงเนี่ยจะเห็นมีโรงกรีนเฮ้าส์พวกนี้เยอะมาก แล้วก็เขาปลูกเนี่ย เค้าใช้โรบอตเป็นตัวปลูกตัวเก็บ แล้วเป็นโรงงานใหญ่ ก็ทำเหมือนโรงงานอุตสาหกรรมเลย แล้วก็ควบคุมอุณหภูมิ ควบคุมอะไรได้ แล้วก็สามารถขายออกไปในในตลาดใหญ่ๆ ได้ เพราะประเทศเขาระบบการตลาดของเขาดี แล้วก็มีระบบการซื้อขายล่วงหน้าผ่านระบบเทคโนโลยีจากบล็อกเชนบ้างอะไรบ้าง ผมคิดว่าวันนี้คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ทางเทคโนโลยีก็สามารถที่มาทำการเกษตร โดยที่อาศัยความชำนาญและความอดทนของเกษตรกรจากต่างจังหวัด อาศัยที่ดินที่มีอยู่ เพราะต่อไปข้างหน้าที่ดินที่มีอยู่ ที่ดินเพื่อการเกษตรเนี่ยจะมีราคา เพราะผลิตอาหารได้เยอะ และผลิตอาหารแบบได้รอบของการผลิตเร็วขึ้น มองไปเลยครับว่าอนาคตมันเป็นอย่างนี้ แม้กระทั่งการเลี้ยงสัตว์ เดี่ยวนี้บางทีบางครั้งในโลกข้างหน้าเนี่ยมันเริ่มมีการเพาะเนื้อสัตว์ขาย ไม่ใช่เป็นการฆ่าสัตว์จริงๆ ก็เทคโนโลยีนี้มาจากอิสราเอลตอนนี้จีนซื้อมาแล้วบางส่วน บางประเทศก็ซื้อไปเองบ้าง มีเทคโนโลยีตัวนี้เองบ้างสามารถผลิตไก่โดยที่ไม่ต้องมีไก่สักตัว สามารถผลิตเนื้อ โดยที่ใช้เทคโนโลยีตัวนี้เพาะพันธุ์ ซึ่งผมก็ยังไม่ค่อยได้เห็นของจริงเท่าไหร่ แต่ก็ไปอ่านหนังสือมาก็รู้ว่ามันมีแล้วนะครับ

พวกนี้มันก็จะทำให้เราสามารถที่จะสร้างรายได้ใหม่นะครับ ถามว่าแล้วผมจะไปเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีเหล่านี้ได้อย่างไร ก็ต้องบอกให้ว่ามันมีงานนิทรรศการทั้งหลายที่เขาเรียกว่า AgriTech หรือ FoodTech ทั้งหลายเนี่ย มันจะมีนิทรรศการอยู่ประจำ ดูไบก็จัดบ่อยนะครับ ทั้งๆ ดูไบก็เป็นทะเลทรายก็จัด AgriTech จัดที่สิงคโปร์ประกาศว่าจะเป็นศูนย์ทาง AgriTech นะครับ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีที่เกษตรกรอะไร แต่ว่าเขาต้องการที่จะเอาเทคโนโลยีเนี่ย มาสามารถที่จะมาให้เป็นที่ปรึกษา แล้วก็ติดตั้งเทคโนโลยีต่างๆเพื่อมาใช้สำหรับให้เกษตรกรก็ดี หรือว่าให้คนที่ต้องการจะเอาการเกษตรมาทำเป็นธุรกิจเนี่ย ก็จะได้สามารถที่จะเข้าใจและทำได้ คนรุ่นใหม่ผมอยากแนะนำว่า ตอนสมัยผมหนุ่มๆ เนี่ย ผมไม่รู้เรื่อง Telecom เลย ผมก็อาศัยไปเรียนรู้จาก Exhibition หรือนิทรรศการต่างๆ เป็นประจำวัน เพราะฉะนั้นวันนี้ถ้าคนหนุ่มๆ ทั้งหลายสนใจว่าเกษตรมันน่าจะเป็นแนวทางที่ทำมาหากินได้ในอนาคตข้างหน้า ก็ลองไปดู Exhibition เรื่อง AgriTech ที่มีอยู่ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น สิงคโปร์ บราซิล เนเธอร์แลนด์ หรือแม้กระทั่งดูไบ มีจัดงานบ่อย ก็นั่งเข้าอินเตอร์เน็ตดูได้ว่า AgriTech จัดที่ไหน เมื่อไหร่ก็ไปดู ดูแล้วเริ่มศึกษาเข้าใจ แล้วก็ไปนั่งพูดคุยกับบริษัทที่ผลิตทั้งหลาย บริษัทที่ปรึกษาทั้งหลาย ผมก็เป็นคนแบบนี้ ไปนั่งคุยคนนั้นนั่งคุยคนนี้ ฟังจนเข้าใจหมด แล้วก็เลยมาเริ่มหัดทำธุรกิจ ก็เราก็เอามาหัดได้นะครับ หรือแม้กระทั่งคนที่จบมหาวิทยาลัย หรือจบวิทยาลัยเทคนิคทางด้านการเกษตร ก็แทนที่จะทำธุรกิจแบบเดิมๆ ก็มาทำแบบนี้ได้”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image