จุดยืน‘อภิสิทธิ์’สู่การเมือง3ก๊ก กับสัญญาณ16.8ล้านเสียงหนุน‘บิ๊กตู่’

ประกาศจุดยืนทางการเมืองช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเข้าคูหาเลือกตั้ง ส.ส. วันที่ 24 มีนาคมนี้ชัดเจน สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่มี “หัวหน้ามาร์ค” อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั่งกุมบังเหียนสู้ศึกเลือกตั้ง

โดย “อภิสิทธิ์” ประกาศจุดยืนทางการเมืองให้ชัดเจนยิ่งขึ้นเพื่อสงบกระแสดราม่าทางการเมืองว่ายังมีอาการ “กั๊ก” พร้อมร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หลังการเลือกตั้ง ซึ่ง “อภิสิทธิ์” ยกเหตุผล 5 ข้อ ไม่สนับสนุน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะแคนดิเดตนายกฯของพรรค พปชร. ให้เป็นนายกฯ หลังการเลือกตั้งเพื่อไม่ให้เป็นเงื่อนไขของความขัดแย้งอีกครั้ง

ซึ่งจุดยืนทางการเมืองทั้ง 5 ข้อ ล่าสุดของนายอภิสิทธิ์ระบุว่า 1.จุดยืนนี้ไม่ใช่ความคิดเห็นส่วนตัว แต่พูดในฐานะหัวหน้าพรรคและเป็นอุดมการณ์พรรค เรื่องนี้ต้องมีมติพรรค แต่ตามข้อบังคับของพรรค มตินี้จะเกิดไม่ได้ถ้ายังไม่มีการเลือกตั้ง

2.เป็นการย้ำอุดมการณ์ของพรรค เพราะพรรคต้องการทำงานการเมืองแบบตรงไปตรงมา เพื่อให้ผู้เลือกตั้งมีสิทธิได้รับทราบจุดยืนของแต่ละพรรคอย่างชัดเจนก่อนการเลือกตั้ง 3.ยืนยันว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ประชาชนมี 3 ทางเลือก ซึ่งมีจุดยืนและแนวคิดที่ต่างกันอย่างชัดเจน

Advertisement

4.ปชป.ยืนยันว่าจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ไม่ใช่พรรคร่วมรัฐบาลและต้องอยู่ภายใต้พื้นฐานอุดมการณ์ของพรรค คือ ไม่เอาการทุจริตและการสืบทอดอำนาจ แต่การจัดตั้งรัฐบาลก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะดูผลการเลือกตั้งก่อน โดยมีเงื่อนไขคือตราบใดที่พรรคเพื่อไทยไม่สามารถออกมาจากการครอบงำของคนกลุ่มเล็กๆ ที่มีผลประโยชน์ขัดกับผลประโยชน์ของคนในประเทศ

5.สำหรับคำถามว่าหลังเลือกตั้ง ถ้าไม่มี พล.อ.ประยุทธ์ กลัวว่าบ้านเมืองจะเกิดความขัดแย้งขึ้นมาอีกหรือไม่นั้น เห็นว่าสถานการณ์ในประเทศกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ทุกฝ่ายได้เรียนรู้ และไม่ต้องการให้เกิดสถานการณ์ความวุ่นวาย เชื่อว่าผู้รับผิดชอบด้านความมั่นคง พร้อมทำงานไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้นอีก ส่วนตัวไม่มีปัญหากับ พล.อ.ประยุทธ์ เคยทำงานด้วยกันมาในช่วงที่ยากลำบาก พล.อ.ประยุทธ์เองก็เคยให้ความช่วยเหลือแก้ปัญหาตอนที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรี แต่การตัดสินใจของตนจะเอาเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัวมารวมไม่ได้ ต้องคิดถึงประเทศในระยะยาว

นัยยะทางการเมืองหลังจากที่ “อภิสิทธิ์” ประกาศจุดยืนที่ไม่สนับสนุน “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯอีกสมัย รวมทั้งไม่ร่วมงานกับพรรคการเมืองที่ยังมีภาพของการทุจริต รวมทั้งแนวทางการสืบทอดอำนาจ ทำให้ภาพของการเมืองก่อนการเลือกตั้งในลักษณะ 3 ก๊ก เด่นชัดยิ่งขึ้น

Advertisement

เริ่มจาก ก๊กที่ 1 คือ พรรคฝั่งประชาธิปไตย ที่มีพรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นหัวหอกและมี พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) พรรคประชาชาติ (ปช.) พรรคเพื่อชาติ (พช.) และพรรคเสรีรวมไทย ร่วมเป็นพันธมิตร ที่มีเป้าหมายใหญ่ร่วมกัน คือ ได้เสียง ส.ส.หลังการเลือกตั้งไม่ต่ำกว่า 250 เสียง เพื่อเป็นพลังเสียงในการขับเคลื่อนในสภาหากพรรคการเมืองอีกฝั่งยอมเสี่ยงตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยขึ้นมาสู้

ส่วน ก๊กที่ 2 คือ พรรค พปชร.และพรรคที่มีแนวร่วมเดียวกัน คือ ร่วมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกฯอีกครั้ง ทั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) พรรคประชาชนปฏิรูป (ปช.) รวมทั้งเสียงของ ส.ว.อีก 250 เสียง ที่มีอำนาจร่วมโหวตเลือกนายกฯด้วย

โดยในก๊กนี้ ยังต้องดูท่าทีของพรรคขนาดกลางที่ขอดูผลการเลือกตั้งว่าจะออกมาในทิศทางใด ทั้งพรรคภูมิใจไทย (ภท.) พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) พรรคชาติพัฒนา (ชพน.) ก่อนจะตัดสินใจสนับสนุนใครเป็นนายกฯ

และ ก๊กที่ 3 คือ พรรค ปชป. ที่นายอภิสิทธิ์ประกาศจุดยืนชัดเจนว่าไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ และจะขอเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง

แน่นอนแม้แฟนพันธุ์แท้ของทั้งพรรค ปชป. และกองเชียร์พรรค พปชร.และ “บิ๊กตู่” อาจจะออกอาการหงุดหงิดและไม่พอใจกับท่าทีและจุดยืนของนายอภิสิทธิ์ ก่อนการเลือกตั้ง เพราะอาจจะไปสกัดความหวังการรวมเสียงเพื่อสนับสนุน “บิ๊กตู่” กลับมานั่งนายกฯอีกสมัยจะยากยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะคนกันเอง อย่าง “ลุงกำนัน” สุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค รปช. ถึงกับออกมาโพสต์เฟซบุ๊กแสดงท่าทีตอบโต้จุดยืนของนายอภิสิทธิ์ทันทีว่า “เป็นที่ชัดเจนกันซะที หลังจากได้เห็นคลิปและจดหมายของท่านหัวหน้าพรรค ปชป.ที่ประกาศออกมาแบบไม่แทงกั๊ก แล้วว่าจะไม่ขอสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯต่อแน่นอน โดยให้เหตุผลว่าการสืบทอดอำนาจจะสร้างความขัดแย้ง และขัดกับอุดมการณ์ที่ว่าประชาชนเป็นใหญ่ ผมเคารพในการตัดสินใจครั้งนี้ของท่าน แต่ก็เสียดายในฐานะคนคุ้นเคย ท่านคงบวก ลบ คูณ หาร เรียบร้อยแล้ว ถึงเลือกข้างชัดเจน

ทำให้ผมนึกถึงเมื่อครั้งที่ 2 พรรคใหญ่ทั้งเพื่อไทย (พท.) และ ปชป.ต่างพร้อมใจประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 และครั้งนั้นก็เกิดปาฏิหาริย์ขึ้นบนแผ่นดินไทยอีกเป็นครั้งที่ 2 เมื่อพี่น้องประชาชนจำนวนถึงสิบหกล้านแปดแสนคน พร้อมใจกันออกมาลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ จนทำให้ได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ในเมื่อ ปชป.เลือกข้างมาแล้วผมเห็นข้อดีก็คือจะทำให้พี่น้องมวลมหาประชาชนที่เคยออกมาชุมนุมในครั้งนั้น คนที่เคยเลือก ปชป.มาตลอดชีวิตเหมือนผม ตัดสินใจชัดเจน ประกาศหนุน พล.อ.ประยุทธ์แบบไม่ต้องเกรงใจด้วยเช่นกัน”

หากถอดนัยยะที่ “ลุงกำนัน” ส่งถึงเครือข่ายผู้สนับสนุนพรรค ปชป.ให้มาสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ แบบไม่ต้องเกรงใจหัวหน้าพรรค ปชป.นั้น เพื่อเคลียร์ฐานเสียงแฟนคลับทั้งกลุ่มที่ยังสนับสนุนพรรค ปชป.และ พล.อ.ประยุทธ์ หันมาเทเสียงสนับสนุนไปในทิศทางเดียวกัน คือ สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ไปเลย

อีกทั้งยังยกตัวเลขการทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ 2560 จำนวน 16.8 ล้านเสียง ที่ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มหนุน “บิ๊กตู่” และฐานเสียงของพรรค ปชป.บางส่วน หากนำตัวเลข 16.8 ล้านคน มาคำนวณเพื่อแปรเป็นเก้าอี้ ส.ส.ในสภา ในสัดส่วน 8 หมื่นคะแนนต่อ ส.ส. 1 คน จะทำให้ได้จำนวน ส.ส.ด้วยตัวเลขกลมๆ ถึง 210 คน หรือคิดเป็นสัดส่วน 42% ของจำนวน ส.ส.ในสภา

ซึ่งแน่นอนในการเลือกตั้งอาจมีอีกหลายปัจจัยให้กลุ่มคนที่โหวตรับร่างรัฐธรรมนูญ อาจจะออกเสียงเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

แต่ก็ประมาทไม่ได้หากในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนการเลือกตั้งมีกระแสให้กลุ่มฐานเสียงดังกล่าวออกมาเทคะแนนเสียง ให้การเมืองก๊กใด ก๊กหนึ่งใน 3 ก๊ก ย่อมส่งผลชี้ขาด “ชนะ” หรือ “แพ้” ได้ทันที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image