อนุชา นาคาศัย เลือกเลี่ยงขัดแย้ง หวังบ้านเมืองสงบสุข

•เหตุใดถึงเลือกมาอยู่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)
หลังจากถูกตัดสิทธิทางการเมือง เมื่อมีการยุบพรรคไทยรักไทย ที่นำโดยนายทักษิณ ชินวัตร ตลอด 10 กว่าปีมานี้ ผมก็เลือกเส้นทางเดินของตัวเอง เพื่อหลีกหนีความขัดแย้ง เพราะคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วว่าไม่วันใดก็วันหนึ่ง จะต้องเกิดเหตุความรุนแรง เสียเลือดเสียเนื้อ ผมจึงไม่อยู่พรรคพลังประชาชนเมื่อมีการยุบพรรคไทยรักไทย แต่ให้ภรรยามาอยู่พรรคเล็กๆ อย่างพรรคมัชฌิมาธิปไตยและภูมิใจไทย แม้ไม่ง่ายเลยในการสู้ในสนามเลือกตั้ง แต่ผมต้องการหนีจากความขัดแย้ง แม้มีความน้อยเนื้อต่ำใจที่โดนตัดสิทธิทางการเมือง แต่ก็ต้องยอมรับในกระบวนการยุติธรรม เพราะถ้าไม่เดินตามกระบวนการยุติธรรมนี้ บ้านเมืองจะเดินหน้าไปไม่ได้ แม้กระบวนการยุติธรรมจะเกิดขึ้นภายหลังรัฐประหาร แต่ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในช่วงไหน อย่างไร ทุกคนควรยอมรับ เพราะหากหนีกระบวนการนี้ บ้านเมืองเราจะขาดขื่อแป กลายเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อน ที่ทุกคนไม่ยอมรับกรอบกฎหมาย ผมว่าไม่ควรเกิดขึ้นในบ้านเรา

•พรรค พปชร.ก็ถูกมองเป็นคู่ขัดแย้งที่ไม่ใช่ทางออก
ก่อนมาอยู่พรรค พปชร.เราเลือกอยู่พรรคเล็กๆ แม้ลำบาก แต่ผมต้องการหนีความขัดแย้ง จนมาถึงปัจจุบัน หลังการปฏิวัติรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องบอกว่า เราไม่อยากเห็นการรัฐประหาร เราต้องการเห็นความสงบสุขในบ้านเมือง เราไม่ได้กลัวการต่อสู้ทางการเมืองในสนามเลือกตั้ง แต่เรากลัวการต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจ เราไม่อยากเห็นการต่อสู้ที่เอาประชาชนมาเข่นฆ่ากันเพื่ออำนาจของตัวเอง ซึ่งไม่ใช่การต่อสู้เพื่อส่วนรวม เราพร้อมต่อสู้เพื่อประชาชน เพื่อส่วนรวม แต่เราไม่เอาด้วยกับการต่อสู้เพื่ออำนาจของตัวเอง และเรามองว่าพรรค พปชร.คือทางออกของปัญหา

•เข้ามาเพราะมองว่าพรรค พปชร.ได้เปรียบพรรคอื่นหรือไม่
ผมว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน นำไปสู่การเลือกตั้งแบบเสรีประชาธิปไตย ในฐานะนักการเมืองผมคิดว่าตรงนี้คือระบอบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดมาจากพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งประเทศให้ความเห็นชอบ แม้บางคนจะวิจารณ์บรรยากาศการรณรงค์ประชามติตอนนั้น แต่ผมว่าทุกคนเห็นชอบเพราะอยากให้บ้านเมืองสงบสุข มันออกแบบมาเพื่อให้ประเทศไทยก้าวข้ามความขัดแย้ง ซึ่งผมไม่มองเป็นอย่างอื่น
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาเพื่อก้าวข้ามความขัดแย้ง ใครจะได้เปรียบหรือไม่ พี่น้องประชาชนเป็นผู้ตัดสิน เพราะประชาชนเป็นผู้ให้ฉันทามติต่อรัฐธรรมนูญ โดยประชาชนจะเลือกเอง ดังนั้น การเสียเปรียบหรือได้เปรียบตรงนี้ เกิดจากมติของประชาชน ที่ต้องการเห็นรัฐบาลอย่างนี้ จึงได้ออกแบบรัฐธรรมนูญมาเช่นนี้ เพื่อให้ตรงกับบริบทการเมือง เหมาะกับสถานการณ์ ต้องยอมรับก่อนว่า ก่อนลงประชามติ มีการต่อสู้กันของฝ่ายที่สนับสนุนและต่อต้านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และที่สุดแล้ว ประชาชนให้การยอมรับในการลงประชามติ และนั่นคือข้อสรุปของทุกอย่าง ที่ประชาชนเลือกแล้วว่าต้องการให้บ้านเมืองเดินหน้าด้วยรัฐธรรมนูญแบบนี้

•ในการปราศรัยทำไมถึงพุ่งไปที่การโจมตีนายทักษิณ ชินวัตร
ผมไม่ได้พูดพุ่งเป้าไปที่นายทักษิณ แต่เน้นพูดถึงตัวเอง ที่ต้องออกมาจากวังวนการเมืองเดิม เพื่อหลีกหนีความขัดแย้ง หลีกหนีการต่อสู้เพื่ออำนาจ ไม่ได้พุ่งไปที่นายทักษิณ วังวนนี้ยังหมายรวมไปถึงพรรคประชาธิปัตย์ ผมก็หลีกหนีเหมือนกัน เพราะพรรคประชาธิปัตย์ก็เข้าไปสู่ความขัดแย้ง ผมจึงไม่เลือกไปอยู่ตรงนั้น แต่เลือกอยู่พรรคเล็ก ที่ไม่ใช่คู่ขัดแย้ง เพราะผมยังมองว่าสองฝ่ายขัดแย้งกันเพื่ออำนาจของตัวเอง

Advertisement

•การเดินสายหาเสียงที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง
ภาคกลางมีหลายส่วนที่ต่างจากภาคอื่น ในส่วนของผู้สมัครนั้นมีผลมากต่อการตัดสินใจของประชาชน ขณะที่นโยบายก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะส่งเสริมให้ผู้สมัครนำไปต่อสู้ ชิงพื้นที่ทางการเมืองได้ อดีต ส.ส.ที่มาอยู่พรรค พปชร.น่าจะได้รับการเลือกตั้ง เพราะเจ้าตัวเดิมก็ชนะเลือกตั้งอยู่แล้ว ยิ่งบวกกับนโยบาย และความเป็นพรรค พปชร.ก็จะทำให้การหาเสียงนั้นง่ายกว่าพรรคอื่น เพราะ พปชร.มีนโยบายที่เข้าถึงประชาชน ต่างจากพรรคอื่นที่ยังต่อสู้ในวังวนเดิมๆ ที่พูดถึงเรื่องความขัดแย้ง เผด็จการ การสืบทอดอำนาจ ผมคิดว่าประชาชนไม่ค่อยฟังแล้ว แต่เขาต้องการฟังนโยบายดีๆ ที่แต่ละพรรคจะนำเสนอ ซึ่งพรรค พปชร.หลีกหนีการสร้างวาทกรรมทางการเมือง สู้มานำเสนอว่าจะทำอะไรให้ประชาชนดีกว่า เพราะเรื่องความขัดแย้งเป็นปัญหาโลกแตกที่ทุกคนต่างมีเหตุผล และประชาชนเองก็มีเหตุผลที่จะไม่ฟัง ไม่รับรู้เรื่องพวกนี้

•การถูกตราหน้าเป็นเผด็จการ จะกระทบต่อคะแนนเสียงหรือไม่
อาจมีบ้าง แต่ไม่มาก วาทกรรมดังกล่าวเป็นเรื่องการเมืองที่แล้วแต่ว่า แต่ละคนจะคิดอย่างไร มุมของเราคือเราเป็นพรรคใหม่ เรามารวมตัวกันเพื่อลงเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีอะไรแตกต่างจากพรรคการเมืองอื่นเลย คำว่าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ แต่ถ้าหากเมื่อไหร่ที่เราไม่ยึดโยงรัฐธรรมนูญ มันก็เกิดปัญหาขึ้นแน่นอน แม้หลายคนจะวิจารณ์รัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่รัฐธรรมนูญมันก็แล้วแต่ว่าจะออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาใด เพราะอย่างปี 2540 ที่รัฐธรรมนูญออกแบบมาเพื่อให้พรรคการเมืองสามารถชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น ก็เพราะต้องการให้รัฐบาลเข้มแข็ง แต่ก็เกิดปัญหาจนได้ รัฐธรรมนูญทุกฉบับล้วนมีข้อดีและข้อเสีย แต่บทสรุปของทุกฉบับคือการเข้าสู่โหมดการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งในการเลือกตั้งนั้น พี่น้องประชาชนเท่านั้นจะเป็นผู้ตัดสิน

•ทำไมจึงมั่นใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะช่วยให้พรรคชนะการเลือกตั้ง
พล.อ.ประยุทธ์ คือคนที่เราคาดหวังว่าจะนำความสงบมาสู่บ้านเมือง เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาสู่กระบวนการเลือกตั้ง ผมเชื่อว่าผลงานที่ท่านได้ทำมา ซึ่งมีทั้งทำให้บ้านเมืองสงบสุข เศรษฐกิจเดินหน้า เชื่อว่าจะได้รับความไว้วางใจจากประชาชน เพราะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสามารถเลือกทีมงาน คณะรัฐมนตรี ได้กว้างกว่ารัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร ผมจึงเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งความสงบสุข ความเจริญรุ่งเรืองของประเทศชาติ

Advertisement

•หลายคนกลัวว่า พล.อ.ประยุทธ์จะคุมอารมณ์ไม่ได้ เมื่อเจอนักการเมืองในสภา
คิดว่าไม่เป็นปัญหา เพราะต้องไม่ลืมว่าตอนนี้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯอีกแบบหนึ่ง ซึ่งหากได้มีโอกาสเข้ามาเป็นนายกฯหลังการเลือกตั้ง วิธีทำงานก็ต้องเปลี่ยนไป และท่านเองก็จะต้องรับสภาพได้ ต้องตอบโจทย์การเมืองในระบอบรัฐสภาที่โถมเข้ามายังตัวท่านได้ ท่านมีความสามารถพอที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านั้น แม้จะเป็นคนตรงไปตรงมา

•แผนการตั้งรัฐบาลของพรรคเป็นอย่างไร
ต้องเป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก ไม่มีประโยชน์ที่จะเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อย เพราะตั้งไปก็อยู่ไม่ได้นาน หากรวมเสียงข้างมากไม่ได้ เราก็เป็นฝ่ายค้าน แต่กระแสวันนี้ผมว่าเรามีโอกาสมากในการชนะเลือกตั้ง นอกจากนี้ยังมีพันธมิตรหลายพรรคการเมืองที่เห็นว่าควรก้าวข้ามความขัดแย้ง คิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เรากับพรรคที่เห็นควรก้าวข้ามความขัดแย้ง จะรวมกันได้พอจัดตั้งรัฐบาล ส่วนจะมีพรรคใดบ้าง ต้องรอดูหลังเลือกตั้ง และตอนนี้มีหลายพรรค ประเทศไทยไม่เคยถึงทางตันในการฟอร์มทีมตั้งรัฐบาล

•ส.ว.250 คน คล้ายตั้งมาเพื่อเลือก พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ
ผมว่าประเด็นมันอยู่ที่การรวม ส.ส.เพราะถ้ารวมไม่ได้เกินครึ่ง คงทำงานต่อไม่ได้ แม้ ส.ว.จะโหวต พล.อ.ประยุทธ์ ให้เป็นนายกฯ แต่พรรคเราเป็นเสียงข้างน้อย ก็ทำงานไม่ได้ ประชาชนให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งครั้งนี้มาก เพราะเราขาดหายจากการเลือกตั้งไปตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งประชาชนอยากเห็นว่าเมื่อมีรัฐบาลแล้ว ประเทศไทยจะเดินไปสู่ครรลองของประชาธิปไตย นำพาประเทศสู่ความรุ่งเรืองได้หรือไม่

•ทำอย่างไรจึงจะไม่เกิดรัฐประหารอีก
ผมไม่นิยมการรัฐประหาร ผมว่าต้องมองไปที่นักการเมือง เมื่อเราเป็นนักการเมืองที่อาสาเข้ามาบริหารประเทศ จะต้องมองตัวเองว่าเราตอบโจทย์สังคมประชาธิปไตยได้อย่างไร ถ้าตอบโจทย์ได้โดยไม่ทะเลาะเบาะแว้งกันเกินขอบเขต ไม่แก่งแย่งกันเกินไป คงไม่มีใครมาทำรัฐประหาร ดังนั้นนักการเมืองต้องหันมามองตัวเองบ้าง ว่าเราเป็นนักการเมืองที่ตอบโจทย์สังคมหรือไม่ นักการเมืองมีส่วนสำคัญในการหลีกเลี่ยงการรัฐประหาร ถ้าเราโทษคนอื่น สังคมนี้จะเปลี่ยนแปลงยาก เราต้องหันกลับมามองตัวเอง จึงจะมองไม่เห็นรัฐประหารแน่นอน

•อยากเห็นอะไรเกิดหลังการเลือกตั้ง
ผมอยากเห็นบ้านเมืองสงบสุข ประเทศชาติก้าวข้ามความขัดแย้ง มีรัฐบาลที่ตอบโจทย์แผ่นดิน แผ่นดินนี้ยังต้องการความสงบสุข และความเจริญรุ่งเรือง ให้ลูกหลานไทยมองเห็นอนาคตของตัวเอง ผมหวังว่ารัฐบาลใหม่จะแก้ไขปัญหาประเทศไทย

อนุชา ทองเติม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image