สัมภาษณ์พิเศษ : ‘สงคราม’ลั่นเพื่อชาติไม่ย้ายขั้ว มั่นใจฝ่ายปชต.ถึงเป้า250เสียง

หมายเหตุ – นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ (พ.พ.ช.) ให้สัมภาษณ์ “มติชน” ถึงความพร้อมของพรรค พ.พ.ช.ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ส.ส.วันที่ 24 มีนาคม รวมถึงแนวทางการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย

⦁ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง ส.ส.พรรค พ.พ.ช.มีความพร้อมอย่างไร

ช่วงโค้งสุดท้าย ผมรวมทั้งแกนนำพรรค และผู้ช่วยหาเสียงของพรรค ยังคงลงพื้นที่หาเสียงกับพี่น้องประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งกันลงพื้นที่ตามพื้นที่ของแกนนำพรรคดูแล อย่างนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงของ พ.พ.ช.จะลงพื้นที่หาเสียงในพื้นที่รับผิดชอบในภาคอีสานและภาคกลาง

ส่วนนายยงยุทธ ติยะไพรัช ผู้ช่วยหาเสียงเลือกตั้ง พ.พ.ช. ลงพื้นที่หาเสียงในพื้นที่ภาคเหนือ ขณะที่นายอารี ไกรนรา รองหัวหน้า พ.พ.ช.จะลงพื้นที่หาเสียงในพื้นที่ภาคใต้ ส่วนผมจะลงพื้นที่หาเสียงหมุนเวียนทั้งในพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพฯ

Advertisement

โดยนโยบายหลักๆ ที่ พ.พ.ช.ใช้พูดคุยหาเสียงกับพี่น้องประชาชน คือ การเป็นพรรคการเมืองที่ยึดมั่นในจุดยืนฝ่ายประชาธิปไตยเพื่ออาสาเป็นตัวแทนไปแก้ปัญหาให้กับประชาชนด้วยกลไกของรัฐสภา

พ.พ.ช.เป็นพรรคการเมืองที่ยึดโยงกับประชาชน ไม่ใช่พรรคที่มีนายทุนสนับสนุน เพราะฉะนั้นเราจะไม่เกรงใจนายทุนที่มีลักษณะเป็นทุนผูกขาดของประเทศ เรื่องของการผูก ขาด ตัด ตอน ของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ พ.พ.ช.จะต้องเข้าไปแก้ปัญหาเหล่านี้ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาความเหลื่อมล้ำให้ได้ จะต้องช่วยให้ชาวบ้าน คนยาก คนจน เข้าถึงโอกาสที่จะตั้งตัวให้ได้ ไม่ใช่ทุกอย่างถูกนายทุนครอบงำไปเกือบทั้งหมด

ถ้า พ.พ.ช.ยังขับเคลื่อนด้วยเงินทุนของเจ้าสัวทั้งหลาย ถึงเวลาถ้าเรามีนโยบายที่ดีอย่างไรก็จะทำไม่ได้เต็มที่ เพราะบางเรื่องอาจไปขัดแย้งในการดำเนินธุรกิจของนายทุน นโยบายที่จะทำให้กับประชาชนก็จะทำไม่ได้เต็มที่

Advertisement

อีกประเด็นที่สำคัญที่ พ.พ.ช.จะทำ คือ การจัดการปัญหาคอร์รัปชั่น วิธีง่ายๆ คือ ถ้าเป็นข้าราชการ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ก่อนเข้ารับราชการจะต้องยื่นชี้แจงบัญชีทรัพย์สิน ต้องแจกแจงทรัพย์สินของตัวเองให้ได้ว่าจนหรือรวยขนาดไหนและระหว่างทำหน้าที่มีทรัพย์สินเพิ่มหรือลดเพียงใด หากทำให้เป็นบรรทัดฐานจะช่วยแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้ดีขึ้น

⦁ช่วงใกล้เลือกตั้งมีกระแสข่าวว่าพรรค พ.พ.ช.จะไปจับมือกับแกนนำของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เพื่อเปลี่ยนขั้วการเมือง

ผมว่ากระแสข่าวดังกล่าวเป็นการดิสเครดิตทางการเมือง เป็นวาทกรรมที่สร้างกันขึ้นมา ผมยังไม่รู้เรื่องเลยว่ามีการพูดกันว่าผมไปคุยกับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง ภาคอีสาน พปชร. ซึ่งผมกับนายสุริยะตั้งแต่ไม่ได้ร่วมงานทางการเมืองกันกว่า 10 ปี ยังไม่เคยได้พบหรือคุยกันแต่อย่างใด แม้แต่โทรศัพท์ยังไม่เคยคุยกัน

ผมมองว่าเป็นเกมทางการเมืองมากกว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง ยืนยันว่าจุดยืนของ พ.พ.ช.ยังเหมือนเดิมไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังการเลือกตั้ง พ.พ.ช.จะยึดประชาธิปไตยเป็นหลัก จะให้ไปร่วมมือกับฝ่ายเผด็จการ ผมไม่ทำแน่นอน พ.พ.ช.ยังจับมือกันแน่นกับพรรคการเมืองในฝ่ายประชาธิปไตย ไม่มีเหตุผลอะไรที่ พ.พ.ช.จะไปอยู่กับฝ่ายเผด็จการ ถึงแม้บางพรรคจะทุ่มเงินทุนมากมาย ปูพรมเต็มพื้นที่ ซึ่งก็รู้ๆ กันอยู่ว่าเป็นพรรคไหน แต่โอกาสที่ประชาชนจะเลือกนั้นก็มีน้อย ถึงแม้จะใช้เงินมากแต่ชาวบ้านไม่เลือก

เท่าที่ผมลงพื้นที่มาประชาชนก็สะท้อนไปในทิศทางเดียวกันว่าจะไม่เลือกพรรคที่ใช้เงินเยอะ เพราะประชาชนเขารับรู้ข้อมูลข่าวสารที่มากพอในการตัดสินใจ อีกทั้งประชาชนยังบอกด้วยว่าเขาจนมา 5 ปีแล้ว ไม่อยากจะจนต่อไปอีก 4 ปี เขาอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น นี่คือคำพูดของชาวบ้าน

ผู้สมัคร ส.ส.ของ พ.พ.ช.มาด้วยใจและมีอุดมการณ์ที่ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย ทุกคนมาช่วยมาด้วยใจ พูดง่ายๆ คือมวลชนที่เป็นฐานเสียงส่วนใหญ่ของ พ.พ.ช. คือ กลุ่ม นปช. ตอนที่พวกเขามาสู้เพื่อประชาธิปไตยก็มาด้วยอุดมการณ์เดียวกัน เพราะฉะนั้นผู้สมัครของ พ.พ.ช.จะไม่ฟุ่มเฟือย บางคนเพิ่งจะติดป้ายหาเสียงก็มี เพราะงบหาเสียงของแต่ละคนมีจำนวนจำกัด ไม่มีเงินสะพัดเหมือนกับผู้สมัครพรรคอื่นๆ ตัวเลขอยู่ที่หลักสิบล้านบาท

⦁หลังจากยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) คะแนนในส่วนนี้จะกลับมาเลือก พ.พ.ช.ทั้งหมดหรือไม่

ยอมรับว่าผู้สมัครของ พ.พ.ช.ก็มีความสนิทสนมกับผู้สมัคของ ทษช.อยู่ หลายๆ เขตก็มีพูดคุยกันเป็นธรรมดา แต่ผมก็ไม่ได้ไปขอร้องใคร มีเพียงแค่ผู้สมัคร ส.ส.เขาพูดคุยกันเองก็จะมาช่วยกันทำงาน แต่คงไม่ถึงขั้นยกคะแนน ทษช.ทั้งหมดมาให้ พ.พ.ช.

เท่าที่ผมรู้คะแนนของ ทษช.ก็ไม่ได้ยกให้กับพรรคใดพรรคหนึ่งทั้งหมด แต่ผมเข้าใจว่าคะแนนของ ทษช.จะกระจายไปให้กับผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคฝ่ายประชาธิปไตย เชื่อว่าคะแนนของ ทษช.จะไม่ข้ามไปให้พรรคที่ไม่ใช่แนวร่วมของฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งอยู่กับความชอบของมวลชนที่สนับสนุนพรรคใดพรรคหนึ่งในฝ่ายประชาธิปไตย ผมไม่สามารถไปชี้นำได้

ลักษณะของการบริหารคะแนนก็เป็นการพูดคุยกันของผู้สมัคร ส.ส.ในแต่ละพรรคในฝั่งประชาธิปไตยพูดคุยกัน บางคนอาจมีอะไรในใจกันก็อาจไม่ช่วยหาเสียงให้กันก็ได้ เรื่องนี้เป็นธรรมดาของการเมืองที่ไม่สามารถบังคับใครได้ทั้งหมด

⦁พ.พ.ช.ตั้งเป้าหมายจำนวน ส.ส.ในการเลือกตั้งไว้เท่าใด

ตัวเลขจำนวน ส.ส.ผมยังไม่กล้าฟันธง ต้องอยู่กับผลการเลือกตั้งที่ประชาชนจะเลือกผู้แทนจากพรรคใดเข้าไปทำหน้าที่ในสภา ขอยังไม่ฟันธงก่อนประชาชนจะเลือกตั้งออกมา เพราะประชาชนเขามีข้อมูลและปัจจัยที่จะตัดสินใจเลือก ส.ส.มากพอสมควร

ทั้งนี้ พ.พ.ช.ก็มีการทำโพลเรื่องจำนวนตัวเลข ส.ส.ในการเลือกตั้งของพรรคเหมือนกัน แต่ผมจะไม่ออกมาเปิดเผยว่าจะได้จำนวน 120 เสียง 150 เสียง ได้ ส.ส.จำนวนเท่านั้น เท่านี้ แต่ผมก็พอรู้ว่า พ.พ.ช.จะได้ ส.ส.เข้าไปทำหน้าที่ในสภาแน่นอน ตัวเลข ส.ส.เท่าที่ดูข้อมูลของพรรคมาล่าสุดก็ไม่ขี้เหร่

แต่เป้าหมายใหญ่ของ พ.พ.ช.ไม่ใช่อยู่ที่จำนวน ส.ส.ที่จะต้องได้เท่านั้นเท่านี้ แต่เราดูเป้าหมายใหญ่ว่า พ.พ.ช.จะเข้าไปขับเคลื่อนนโยบายเพื่อประชาชนอะไรได้บ้าง นี่้คือเป้าหมายของ พ.พ.ช. อยากเข้ามาแก้ปัญหาที่ทำให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ เช่น ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ปัจจุบันอยู่ในสภาวะรวยกระจุกจนกระจาย ประชาชนในระดับล่างยังมีความยากลำบาก ปัญหาเรื่องยาเสพติดที่ควรจะได้รัฐบาลที่เข้ามาแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง

จริงๆ เข้ามาทำพรรคตั้งแต่แรกก็ไม่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐมนตรีกระทรวงนั้นกระทรวงนี้ ผมรู้ตั้งแต่แรกแล้วว่าพอมีคนที่เหมาะสมที่จะเป็นนายกฯ ผมก็ถอยเลย

⦁เวลานี้มีพรรคการเมืองที่คาดว่าจะได้จำนวน ส.ส.มาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลประกาศจุดยืนไม่จับมือกันจะทำให้การเมืองถึงทางตันหรือไม่

ตอนนี้จุดยืนที่แต่ละฝ่ายพูดออกมาสังคมต้องเฝ้าดูกันต่อไป บางคนก็เคยบอกว่าไม่เอาแล้วๆ ไม่เล่นการเมืองอีกแล้ว แต่สุดท้ายก็ยังเปลี่ยนจุดยืนก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว คนพูดอาจจะไม่รู้สึกอะไร แต่คนที่ได้ฟังบางครั้งก็รู้สึกหน้าชาเหมือนกัน

ซึ่งสังคมและพี่น้องประชาชนก็ต้องรอดูจนถึงคำตอบสุดท้ายว่าพรรคการเมืองนั้นๆ จะมีจุดยืนที่มั่นคงเพียงใด บางคนก็สามารถพลิกลิ้นได้ตลอดเวลา ถึงแม้เรื่องของนโยบายจะเขียนให้สวยหรูอย่างไรก็ได้ แต่ถึงเวลาแล้วทำจริงหรือไม่ เพราะฉะนั้นประชาชนก็ต้องดูประวัติการทำงานของพรรคการเมืองนั้นๆ ด้วยว่าเคยทำงานได้จริงหรือไม่ ต้องดูว่าพูดแล้วทำได้จริงหรือไม่

ผมยังมองไม่ออกว่าหากฝ่ายประชาธิปไตยชนะการเลือกตั้งแล้วรวมเสียงกันได้เกิน 250 เสียง จะยังมีปัจจัยอะไรที่ทำให้ตั้งรัฐบาลไม่ได้ แม้บางฝ่ายประเมินว่า ส.ว.ทั้ง 250 คน จะไม่โหวตสนับสนุนทำให้เลือกนายกฯกันไม่ได้

แต่ผมมองอีกด้านว่า หาก ส.ว.ไม่สนับสนุนพรรคที่รวบรวมเสียงได้เกิน 250 เสียงเป็นรัฐบาล แล้ว ส.ว.ไปสนับสนุนพรรคที่รวมเสียง ส.ส.ได้ไม่ถึง 250 เสียงเป็นรัฐบาล ผมถามว่าหากดึงดันตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยขึ้นมา อาจจะตั้งนายกฯได้แต่รัฐบาลจะอยู่ได้นานแค่ไหน ถ้าจะดันทุรังเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยแล้วรัฐบาลจะอยู่ได้หรือไม่ จะอยู่ได้สักกี่วัน

ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ ส.ว.ทั้ง 250 คน จะต้องชั่งน้ำหนัก ใช้ดุลนิพิจในการเลือกนายกฯให้ดี หากเลือกแล้วรัฐบาลอยู่ได้ไม่นานก็ต้องกลับมาเลือกตั้งกันใหม่ เลือกตั้งกันไปเรื่อยๆ นโยบายที่สำคัญๆ ที่จะทำให้ประชาชนก็จะเกิดขึ้นไม่ได้

ผมเสนอว่าถ้าทุกพรรคยืนอยู่ในหลักการที่เคยให้คำมั่นไว้กับประชาชนอย่างมั่นคง ผมคิดว่าประชาชนก็จะมอบความไว้วางใจให้ เพราะประชาชนเขายึดมั่นกับหลักประชาธิปไตยต่อให้จะทุ่มเงินลงไปเท่าใดก็คงจะได้ผลกลับมาไม่กี่เปอร์เซ็นต์ เพราะเสียงประชาชนส่วนใหญ่สะท้อนมาเช่นนี้

ต้องดูกันหลังปิดหีบนับคะแนนผลการเลือกตั้ง ส.ส.ในวันที่ 24 มีนาคมนี้ แล้วจะรู้ว่านักการเมืองหลอกประชาชน หรือประชาชนจะหลอกนักการเมือง

ศุภกาญจน์ เรืองเดช

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image