09.00 INDEX มาตรการ “ตบแล้วจูบ” เหี้ยมแล้วปลอบ กรณี”เหมืองทอง”และกรณี”ประชามติ”

แนวทาง “ตบแล้วจูบ” อันเป็นท่วงทำนองแบบ พิศาล อัครเศรณี ยังเป็นแนวทางที่ได้ผล

ไม่ว่าในวงการ “หนัง” ไม่ว่าในวงการ “การเมือง”

คำสั่งเข้มให้เลิกการทำ “เหมืองทอง” ของคสช.และรัฐบาลเป็นตัวอย่าง 1

เหมือนกับการกวักมือเรียก “พรรคการเมือง” ให้ส่งตัวแทนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อ “ร่างรัฐธรรมนูญ” ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)

Advertisement

เหมือนกับคำประกาศว่าจะไม่มีการเรียกตัวเข้า “ปรับทัศนคติ” อีกแล้ว

ไม่ว่าจะดังมาจาก พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ไม่ว่าจะดังมาจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

นี่คือ ท่วงทำนอง “ตบและจูบ” ในทางการเมือง

การตบนั้น “เจ็บ” แต่การบรรจง “จูบ” ไม่ว่าบนสองแก้ม หรือที่ริมฝีปาก

อ่อนหวาน ประทับใจ

ผู้คนมักเลือกที่จะจดจำความประทับใจจาก “การจูบ” เพราะตกอยู่ในภวังค์แห่งความเคลิ้มฝัน

เคลิ้มฝันกระทั่งลืมริ้วรอยจากการ “ตบ”

จำได้หรือไม่ว่า ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจาก “เหมืองทอง” เคยออกมาเคลื่อนไหวอย่างไร

มีการส่ง”ทหาร”เข้าไป”จัดการ”อย่างไร

จำได้หรือไม่ว่า การเรียกตัว นายวัฒนา เมืองสุข เข้าไปยังมทบ.11 นั้นเป็นอย่างไร

รถฮัมวี่ซึ่งปรากฏบริเวณหน้าบ้านคึกคักหรือไม่

จำได้หรือไม่ว่า มีการจัดทำ “หลักสูตร” การปรับทัศนคติเอาไว้แล้วอย่างไร

ทั้งหมดนี้ คือ รูปธรรมแห่งมาตรการ “ตบ”

แท้จริงแล้ว อุปมาแห่ง “จูบและตบ” ในวงการภาพยนต์เป็นฉันใด

อุปมัยแห่ง “การเมืองและการทหาร” ก็เป็นฉันนั้น

กระบวนการสอบสวนของ “เจ้าหน้าที่ตำรวจ” อาจจำเป็นต้องมีคน 1 เล่นบท “เหี้ยม”

ขณะที่มีคน 1 เล่นบท “ปลอบ”

แท้จริงแล้ว ก็คือรูปธรรมแห่งภาพสะท้อนของ “การเมือง” ประสาน “การทหาร”

จะ “ตบ” อย่างเดียวคงไม่ได้ จำเป็นต้องมี “จูบ”

จะแสดงบท “เหี้ยม” ผ่านการข่มขู่ คุกคามอย่างเดียวคงไม่ได้ จำเป็นต้องมีบท “ปลอบ”

นี่คือกระบวนการ “การเมือง” กับ “การทหาร”

ประเด็นสำคัญก็คือ การเมืองต้อง “นำ” การทหาร มิใช่การทหารนำ”การเมือง”

อย่ามองข้ามบท” ปลอบ” อย่ามองข้ามบท “จูบ”

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image