‘มาร์ค’ ลั่นถ้าเป็นแกนนำรัฐบาลจะสังคายนากฎหมาย – โละ ป.ป.ช. ให้ทำงานคดีใหญ่ๆ เพื่อเป็นตัวอย่างปราบโกง

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม ที่พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคปชป. แถลงนโยบายปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่น ว่า ปัจจุบันปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นมี 3 รูปแบบ คือ ปล้นประเทศ ปล้นประชาชน และวางแผนกลับมาปล้นโดยใช้นโยบายเป็นตัวเดินเรื่องให้เอื้อประโยชน์กับพวกพ้องตนเอง ดังนั้นนโยบายการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นต้องควบคุม 3 ปัญหานี้ให้ได้ โดยพรรคจะใช้เครื่องมือ 5 ตัว คือ 1. การนำเทคโนโลยีมาใช้ คือ มีแอพพลิเคชั่นแจ้งปราบโกง ที่ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสการโกงทุกระดับได้อย่างสะดวก เพื่อเป็นช่องทางให้หน่วยงานที่รับผิดชอบรับทราบเบาะแส และไปดำเนินการ ไม่ต้องรอให้มาร้องเรียนอย่างเป็นทางการที่ยุ่งยาก ซับซ้อน นอกจากนี้ พรรคจะใช้ระบบ GovTech คุมกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทุกขั้นตอน ทำให้กรอบการประมูลของรัฐมีความโปร่งใส รวมถึงเปิดเผยราคากลาง และวิธีการเสียภาษีที่ดินออนไลน์

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า 2. การเอาคนในสังคมทุกภาคส่วนมามีส่วนร่วม โดยจัดหลักสูตร “โตไปไม่ยอมให้ใครโกง” โดยสนับสนุนให้มีองค์กรพิทักษ์ความโปร่งใส เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนตระหนักว่าตนเองเป็นเจ้าของประเทศ และลดแนวความคิดเรื่อง “ไม่เกี่ยวอะไรกับเรา” หากประชาชนชี้เป้าโกงก็จะได้รับรางวัลและการคุ้มครอง จูงใจให้คนพร้อมที่จะเอาข้อมูลมาให้รัฐ การทำระบบสัญญาคุณธรรมโดยให้ภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบในโครงการขนาดใหญ่ และการใช้สื่อเข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบร่วมกับงานวิจัยต่างๆ 3. การให้มีกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ จะมีการสังคายนากฎหมายที่ล้าสมัย ที่ให้อำนาจดุลพินิจกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดการทุจริต เราจะยกเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็น เชื่อว่าจะมีกฎหมายน่าหายไปได้ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 และจากนี้ไปการออกกฎหมายอะไรก็ตา ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเปิดโอกาสให้มีการสร้างทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นหลัก

“จะเห็นว่ารัฐบาลนี้เริ่มต้นสังคายนากฎหมายเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ขณะที่ยังไม่มีผลงานออกมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กลับออกกฎหมายใหม่กว่า 200 ฉบับ มีแต่เพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งเราจะต้องเข้าไปสังคายนาเรื่องนี้อย่างจริงจัง และจำเป็นต้องออกกฎหมายมาอีกฉบับที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่นโดยเฉพาะ เนื่องจากรูปแบบการทุจริตมันพัฒนาไปมาก ซึ่งต้องอาศัยคำนิยามและการตรวจสอบที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตที่มีความหลากหลาย นอกจากนี้จะมีการสนับสนุนให้มีหน่วยงานตรวจสอบงบประมาณที่ไม่อยู่ในฝ่ายบริหาร มีความเป็นอิสระในการจัดสรรงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ และปลอดการทุจริตมากขึ้น” หัวหน้าปชป. กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า 4. การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น วันนี้ต้องยกเครื่องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีปัญหาเรื่องการสืบสวนสอบสวน ความล่าช้าในการตัดสินชี้มูลคดี รวมถึงคำวินิจฉัยที่มีข้อกังขามากมายว่า มีการแทรกแซงทางการเมือง ซึ่งป.ป.ช.จะต้องทำงานมากขึ้น ภายใน 6 เดือนต้องมีการชี้มูลได้ โดยให้ใส่ใจแต่คดีทุจริตขนาดใหญ่ ส่วนคดีเล็กๆให้หน่วยงานอื่นทำ เพราะการเอาตัวใหญ่มาลงโทษจะเป็นปรามทุจริตได้ดีที่สุด และจะต้องมีการยกคำร้องที่เปิดเผยและตรวจสอบถ่วงดุลรายละเอียดได้มากที่สุด

Advertisement

“การจะยกเครื่องป.ป.ช. บางประเด็นต้องเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญด้วย เช่น การจะโต้แย้งต้องยื่นผ่านประธานรัฐสภาเท่านั้น โดยประธานรัฐสภามีสิทธิส่ง หรือ ไม่ส่งเรื่องต่อไปยังศาล และตัวประธานรัฐสภาส่วนใหญ่ก็มาจากพรรครัฐบาล ซึ่งเรื่องที่ถูกร้องให้สอบก็เป็นเรื่องที่มาจากรัฐบาลทั้งสิ้น เราจะปล่อยให้กลไกตรวจสอบไปขึ้นอยู่กับคนฝ่ายรัฐบาลได้อย่างไร นอกจากนี้ถึงเวลาที่ต้องเพิ่มอำนาจให้กับผู้ตรวจราชการประจำกระทรวง ให้มีอำนาจตรวจสอบเฉพาะเรื่องการทุจริตภายในกระทรวงให้ชัดเจนมากขึ้น โดยการบังคับใช้กฎหมายต้องมีความเข้มข้น เพราะที่ผ่านมาหลายเรื่องที่พบว่าทุจริตแต่กลับจบลงด้วยการโยกย้ายข้าราชการ ไม่ใช่การลงโทษ ” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า และ 5. การออกแบบระบบในการบริหารราชการแผ่นดิน เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งการกระจายอำนาจการปกครองจะมีส่วนช่วยในการลดการทุจริต ยิ่งรวมศูนย์อำนาจมากเท่าไหร่ ยิ่งตรวจสอบได้ยาก โดยพรรคจะออกกฎหมายเกี่ยวกับวิธีการบริหารงานท้องถิ่นโดยเฉพาะ กำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วม การใช้งบต่างๆ รวมถึงต้องมีการปฏิรูปตำรวจอย่างจริงจัง เช่นให้งานสอบสวนมีความเป็นอิสระ แต่ถูกตรวจสอบได้ง่ายขึ้น ประชาชนจะไม่ถูกเจ้าพนักงานใช้อำนาจในทางไม่ชอบ อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ยังไม่เพียงพอ ความรับผิดชอบทางการเมืองต้องสูงกว่ามาตรฐานทางกฎหมาย ที่ผ่านมาเกือบทุกรัฐบาลปราบโกงเฉพาะฝ่ายตรงข้าม แต่ตัววัดว่าใครจริงจังกับการปราบปรามทุจริต คือ ถ้าเกิดขึ้นกับรัฐบาลตัวเอง พรรคพวกตนเองจะมีมาตรการอย่างไร

“อย่างน้อยที่สุดคนของ ปชป.ที่เข้าไปอยู่ในรัฐบาล ทุกคนต้องมีมาตรฐานสูงกว่าที่กำหนด โดยจะให้คนของพรรค และครอบครัว พี่น้อง เปิดเผยข้อมูล ที่มีผลประโยชน์ทางธุรกิจอะไรบ้าง เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบได้ว่า การรับเหมาที่เกิดขึ้น เพราะมีเส้นสายหรือเกี่ยวพันอย่างไร การใช้สิทธิ์เดินทางตั๋วเครื่องบินของส.ส.ต้องมีรายงานการเดินทาง การเปิดเผยใช้งบรับรองของรัฐมนตรี หรือ สิทธิ์ในการนั่งเครื่องบินระดับเฟิร์สคลาสยังคงจำเป็นอยู่หรือไม่ ตนคิดว่าไม่จำเป็น สิ่งเหล่านี้จะต้องเปิดเผยทั้งการใช้สิทธิของนักการเมือง โดยต้องมีการรายงานให้พรรคทราบและตรวจสอบได้ เพราะตนถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ และอยากเห็นพรรคการเมืองทุกพรรคให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่อีกไม่กี่วันจะมีการเลือกตั้งแล้วตนกลับได้ยินแต่ว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นแค่วาทกรรม ขอยืนยันว่าไม่เป็นวาทกรรมแน่นอน แต่ยังเป็นภัยร้าย ถ้าประชาธิปไตยไม่สุจริต บ้านเมืองจะวนอยู่ในวงจรอุบาทว์ หมดเวลาเกรงใจแล้วครับ” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

Advertisement

เมื่อถามว่ากรณีที่จะให้ผู้ตรวจราชการมีอำนาจตรวจสอบการทุจริตภายในกระทรวง จะทำได้จริงแค่ไหน เพราะถ้าพบว่าปลัดกระทรวงนั้นๆเกี่ยวข้องกับการทุจริต จะทำอย่างไร ขณะที่ปลัดกระทรวงสามารถให้คุณให้โทษผู้ตรวจราชการ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จะต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าเรื่องนี้เป็นงานในหน้าที่ที่ผู้ตรวจราชการต้องทำ ขณะเดียวกันจะต้องมีระบบคุ้มครองการทำหน้าที่ของผู้ตรวจราชการโดยผู้ที่มีอยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าปลัดกระทรวง อาทิ รัฐมนตรีประจำกระทรวง เพราะต้องมีระบบการคานอำนาจกัน แม้มันไม่มีสูตรสำเร็จว่าใครจะคานอำนาจใครได้ แต่ปัญหาอยู่ที่ปัจจุบันยังไม่มีการใช้กระบวนการของการมีคนภายในกระทรวงตรวจสอบการเรื่องดังกล่าวอย่างชัดเจน และถ้าผู้ตรวจราชการตรวจพบว่ารัฐมนตรีหรือคนของรัฐมนตรีเกี่ยวข้องกับการทุจริต เขาสามารถไปยื่นเรื่องถึงหน่วยงานภายนอกที่มีอำนาจตรวจสอบ อาทิ ป.ป.ช. หรือส่งเรื่องถึงนายกรัฐมนตรีก็ได้

เมื่อถามถึงการยกเครื่องปรับปรุงป.ป.ช. นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เราจะปรับปรุงแก้ไขพ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการป.ป.ช. ซึ่งทำได้ง่ายกว่าแก้ไขบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อแก้ไขพ.ร.ป.นี้แล้ว เราจึงจะไปพิจารณาว่าควรจะเปลี่ยนแปลงกรรมการป.ป.ช.อย่างไร เพราะที่มาของป.ป.ช.ชุดปัจจุบันเข้ามาในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image