‘เพื่อไทย’ แจงรายละเอียด ‘นโยบายหวยบำเหน็จ’ หวังแก้ คนไทย-ผู้สูงอายุไร้เงินออม

วันนี้ (17 มี.ค.) หลังเปิดตัวนโยบาย หวยบำเหน็จ สร้างเสียงฮือฮาอย่างมากในโลกออนไลน์ ล่าสุดพรรคเพื่อไทย ชี้แจงรายละเอียด ที่มาที่ไปของโครงการ มีรายละเอียดดังนี้

นโยบายหวยบำเหน็จ (สลากการออมแห่งชาติ)

เนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุเร็วกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ประชากรที่มีอายุมากกว่า 65 ปี จะเพิ่มขึ้นจาก 11.4% ของประชากรทั้งหมด ในปี 2017 เป็น 19.6% ของประชากรทั้งหมดในปี 2030 ปรากฏการณ์นี้ จะทำให้อัตราการโตของ GDP ไทย ชะลอตัวลง 0.75% ต่อปี ระหว่างปี 2020-2050 ประเทศไทยมีลักษณะเป็นสังคมเมืองมากขึ้น คนที่อยู่ในเมืองไม่ได้รู้จักกันเหมือนชนบท ผู้สูงอายุที่อยู่บ้านคนเดียวไม่ปลอดภัยไม่มีคนดูแล ผู้สูงอายุไทยยังขาดเงินออม เกิดภาวะ “แก่ก่อนรวย” และ “ทั้งแก่ทั้งจน” ลูกหลานต้องทำงานหาเลี้ยงให้ โดยคนไทยซื้อหวยมากถึงปีละ 2.5 แสนล้านบาท (จากผลวิจัยของศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจธนาคารทหารไทย พ.ศ.2561) และผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่ซื้อหวยมากที่สุด

พรรคเพื่อไทยจึงจะจัดให้มีสลากการออมแห่งชาติ หรือหวยบำเหน็จ เป็นสลากที่คล้ายสลากกินแบ่งรัฐบาล แต่จะได้เงินที่เคยซื้อสลากไปคืนทั้งหมดเมื่ออายุ 60 ปี ช่วยลดงบประมาณที่ไม่ต้องจ่ายเพิ่มให้กับเบี้ยคนชราขั้นต่ำปีละ 12,000 ล้านบาท

Advertisement

รายละเอียดนโยบาย ขายสลากการออมแห่งชาติ ซึ่งจูงใจให้เกิดการออมด้วยรางวัลเหมือนสลากกินแบ่งรัฐบาล แต่จะเอาใบสลากไปฝากเข้าบัญชีฝากระยะยาวได้ จะได้เงินต้นค่าสลากกลับคืนครบทุกบาทพร้อมดอกเบี้ยเมื่ออายุครบ 60 ปี / สำหรับผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี ถ้าซื้อแล้วจะได้เงินสะสมเป็นเงินช่วยฌาปนกิจศพ ได้เงินคืนทุกบาทเมื่อเสียชีวิต

-เงินซื้อหวยของคนไทยถึงปีละ 2.5 แสนล้านบาท นโยบายนี้จะทำให้เงินจำนวนนี้ส่วนหนึ่ง กลับเป็นเงินออมใช้ในวัยชราของผู้สูงอายุ

-คาดการณ์เงินออมจากสลากเงินออมแห่งชาติ แบบคาดการณ์น้อยที่สุดไว้ ต่อปี 12,000 ล้านบาท

Advertisement

– รัฐบาลจะแยกเงินนี้ไว้เป็นเงินออมของประชาชนนำใส่เข้าไปในกองทุนการออมแห่งชาติ

-เงินรางวัลและค่าดำเนินการต่างๆ เช่นค่าพิมพ์สลากได้จาก ผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนการออมแห่งชาติ ประมาณการที่ 4% โดยเงินรางวัลคิดจาก 50% ของกำไรกองทุน ส่วนที่เหลือเป็นค่าดำเนินการ และส่วนที่ใส่เงินหนุนเข้าไปในกองทุนการออมแห่งชาติ

-ราคาสลากสามารถซื้อได้ที่ใบละ 50 บาท รางวัลต่องวดใกล้เคียงกับสลากออมสิน

ถาม-ตอบ

ถาม: จะซื้อสลากการออมแห่งชาติได้ที่ไหน
ตอบ: จะมีสลากขายเหมือนสลากกินแบ่งรัฐบาลทั่วไป

ถาม: ถ้าถูกรางวัลขึ้นเงินได้เลยหรือไม่ หรือต้องรอเอาพร้อมเงินสะสม
ตอบ: ขึ้นเงินได้เลยทันทีเหมือนสลากกินแบ่งรัฐบาลทั่วไป

ถาม: ถ้าไม่ถูกรางวัล เอาไปฝากได้ที่ไหน
ตอบ: ฝากได้ที่ธนาคารออมสินและ/หรือธนาคารกรุงไทย จะมีตัวเลขเงินที่ฝากไว้ขึ้นในสมุดบัญชี เชื่อมกับระบบ myID หรือพร้อมเพย์ ที่จะบันทึกไว้ในเลขประจำตัวประชาชนของทุกคน นับจำนวนสลากเป็นหนึ่งหน่วยลงทุน

ถาม: เบิกเงินบำเหน็จที่ฝากไว้ได้เมื่อไหร่
ตอบ: เมื่ออายุ 60 ปี ให้นำสมุดบัญชี และบัตรประชาชนไปถอนเงินออกมาได้ที่ธนาคารออมสินและ/หรือธนาคารกรุงไทย

ถาม: ตอนถอนได้เงินเท่าไหร่
ตอบ: เมื่ออายุ 60 จะถอนเงินได้เท่าราคาสลากที่ซื้อไว้ทั้งหมด โดยจะมีผลตอบแทนตามมูลค่าผลตอบแทนของกองทุน คูณจำนวนหน่วยสลากการออมที่ซื้อไว้

ถาม: ถ้าเสียชีวิตก่อน 60 ล่ะ
ตอบ: ผู้รับมรดกจะถอนเงินได้เท่าราคาสลากที่ซื้อไว้ทั้งหมดพร้อมกับดอกเบี้ยเล็กน้อย

ถาม: คนอายุเกิน 60 ซื้อได้มั้ย
ตอบ: ซื้อได้ โดยสลากที่นำมาฝากธนาคาร จะกลายเป็นเงินช่วยฌาปนกิจแทน จะเบิกได้เมื่อเสียชีวิต เพื่อให้นำมาใช้เป็นค่าฌาปนกิจ หรือเป็นมรดกแก่ลูกหลาน

ถาม: ต่างจากสลากออมสินหรือสลาก ธกส. อย่างไร
ตอบ: ออมสินหรือสลาก ธกส. มีเลข 7 หลัก และมีหมวดตัวอักษรด้วย จึงถูกรางวัลยากกว่า ในขณะที่สลากการออมแห่งชาติมีอายุจนถึงเวลาที่ผู้ซื้อครบ 60 ปี และมีตัวเลขให้เลือกซื้อตามแผงคล้ายสลากกินแบ่งรัฐบาล

ถาม: ต่างจากสลากกินแบ่งรัฐบาลอย่างไร
ตอบ: สลากการออมแห่งชาติรางวัลน้อยกว่า แต่ได้เงินต้นที่ซื้อสลากคืนทุกบาท

ถาม: ต้องซื้อทุกคนหรือไม่
ตอบ: ไม่ ซื้อตามความสมัครใจ

ถาม: ต้องส่งทุกเดือนแบบกองทุนการออมแห่งชาติหรือไม่
ตอบ: ไม่ ซื้อเฉพาะเดือนที่สะดวกก็ได้ เดือนไหนอยากซื้อมาก เดือนไหนอยากซื้อน้อยก็เป็นอิสระของผู้ออม

ถาม: เดือนหนึ่งออกรางวัลกี่งวด
ตอบ: เดือนละ 1 งวด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image