5 พรรคลุย ‘พญาไท’ ถกปมร้อนคอนโดสูง เสนอ ผอ.เขตต้องมาจากเลือกตั้ง จี้ ขรก.เลิกเฉื่อย

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม เวลาประมาณ 14.00 น. ที่โรงแรมเสนาเพลส พหลโยธิน 11 เขตพญาไท กรุงเทพฯ ชมรมอนุรักษ์พญาไท (ชอพ.) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น “สู้! เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวพญาไท” โดยมีผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เขต 6 ราชเทวี พญาไท จตุจักร เข้าร่วม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในงาน มีผู้เข้าร่วมคึกคัก จนเกือบเต็มห้องประชุม โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ

นายนรฤทธิ์ โกมลารชุน ประธาน ชอพ. กล่าวว่า ตนย้ายเข้ามาอยู่ในย่านพญาไทตั้งแต่ช่วงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิยังสร้างไม่เสร็จ มีคูน้ำสองข้างทางและทุ่ง ปัจจุบันพญาไทเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในด้านที่อยู่อาศัย มีการก่อสร้างอาคารสูงเป็นจำนวนมากในซอยเล็กๆ ก่อให้เกิดการจราจรติดขัด มีปัญหามลพิษทั้งทางอากาศและทางเสียง กระทบสุขภาพ และยังเสี่ยงปัญหาเมื่อเกิดสาธารณภัย นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่ซึ่งมีการวางระบบโครงสร้างด้านสาธารณูปโภคแบบเก่า ไม่ได้วางแผนไว้รองรับประชาชนที่เพิ่มขึ้นจนแออัด จึงมีน้ำท่วมขังเพราะการระบายน้ำไม่มีประสิทธิภาพพอ ที่ผ่านมา ชอพ.มีการรวมตัวกันเพื่อดูแลพื้นที่ ติดตามการทำงานของรัฐตลอดมา ปัญหาที่พบคือ เมื่อ ชอพ.ร้องเรียน เกิดความติดขัด โยนกันไปมา ไม่มีตัวกลาง ดังนั้น เมื่อจะมีการเลือกตั้งจึงเป็นความหวังของชาวพญาไทในการพัฒนาคุณภาพชีวิต

“เขตพญาไท อยู่ในเขตการเลือกตั้งที่ 6 มีผู้สมัคร 30 คน จาก 30 พรรค การเปิดเวทีให้ผู้สมัครมาพบปะประชาชน รับฟังปัญหาและความต้องการจากคนในพื้นที่ อีกทั้งแสดงวิสัยทัศน์ แนวนโยบายการพัฒนา จะทำให้ชาวพญาไทตัดสินใจได้ว่าจะเลือกใครเข้ามาแก้ปัญหาได้ตรงจุด” นายนรฤทธิ์กล่าว

Advertisement

จากนั้นเป็นการฉายวีดิทัศน์ปัญหาต่างๆ ในเขตพญาไท เช่น น้ำท่วมพหลโยธิน 3, 5, 7, 11 รถติดซอยอารีย์ 4 ยาวถึงพหลโยธิน, การใช้ถนนเป็นที่จอดรถขนปูน, ทางเดินเท้าถูกยึดเป็นที่ก่อสร้างโครงการ, บ้านที่ติดคอนโดเกิดรอยร้าว โดยมีการระบุว่าเมื่อมีการร้องเรียนกลับไม่ได้รับการแก้ไข

นายอรรถวิชญ์ สุวรรณภักดี พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนขอปวารณาตัวช่วยเหลือดูแลชาวบ้าน ตนอยากเจอกลุ่ม ชอพ.มานานแล้ว ส่วนตัวไม่ใช่เด็กใหม่ ทำงานมานาน เหมือนผัดกะเพาที่ถูกแช่แข็งโดย คสช. เมื่อถึงเวลาสามารถอุ่นพร้อมใช้งานได้ทันที สำหรับประเด็นปัญหาต่างๆ อย่างคอนโดมิเนียมและอาคารสูง ขอนำเสนอและเน้นย้ำเรื่องการทำเช็กลิสต์เป็นข้อๆ ตัองคุยกันก่อนก่อสร้าง โดยมีจุดยืนเข้มแข็ง แล้วนัดแนะฝ่ายโยธาฯ กทม. ตนเชื่อว่าผู้ประกอบการก็ไม่ได้อยากทะเลาะกับชาวบ้าน เพราะเสียเวลา ดังนั้น การป้องกันก่อนเกิดและการเจรจาคือสิ่งที่อยากย้ำเพราะสำคัญมาก นอกจากนี้ ควรมีการทำประกันภัยล่วงหน้า เพื่อบรรเทาและเยียวยาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น สำหรับปัญหาเรื่องการระบายน้ำ มีนโยบายจัดให้ลอกท่อทุก 6 เดือน อีกทั้งมีแผนงานนำเสนอเรื่องแอพพลิเคชั่นชื่อว่า “ซิตี้โอเค” ซึ่งจะชี้ให้เห็นว่าการขออนุญาตสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เรื่องถึงใครแล้ว แม้เป็นแอพพ์ชื่อน่ารัก แต่เชื่อว่า กทม.ขยาดแน่นอน

“ผมทำงานดุ คอนโดไหนคุยไม่รู้เรื่องก็มีวิธีทุกอย่างให้ประชาชนไม่เดือดร้อน พร้อมทำงานตลอด ผมยังเตรียมร่างกฎหมายไว้ฉบับหนึ่งแต่ยังไม่เสร็จ คือการตั้งกองทุนเยียวยา ต้องคุยหลายชมรม หลายสมาคมก่อน สำหรับกฎหมาย มองว่าแรงพอแล้ว แต่อยู่ที่การบังคับใช้ และภาคประชาชนต้องเข้มแข็ง ส่วนปัญหาเรื่องฝุ่น PM2.5 ต้องคุยในการประชุมในภูมิภาคอาเซียนด้วย” นายอรรถวิชญ์กล่าว

Advertisement

นายประพนธ์ เนตรรังสี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตนไม่อยากใช้คำว่าน่าเห็นใจสำหรับชาวพญาไท แต่เสียใจที่กฎหมายที่มีอยู่ใช้บังคับได้ไม่เต็มที่ คนอยู่ไม่ใช่คนอนุมัติ คนอนุมัติไม่ได้อยู่ ต้องแก้ไขให้ประชาชนมีส่วนร่วม การสร้างอาคารสูงควรต้องมีกรรมการหมู่บ้าน หรือองค์กรรองรับ อาจเป็นชมรม หรือคณะกรรมการร่วมพิจารณา การแก้กฎหมายไม่ใช่เรื่องใหญ่แต่ต้องแก้ให้ทันเกม สำหรับปัญหาน้ำท่วมย่านนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากที่รับน้ำตามธรรมชาติหมดไป

“เชื่อว่าความเดือดร้อนของชาวพญาไท มีไม่กี่เรื่อง เช่น ความปลอดภัยชีวิต ทรัพย์สิน ผมทำงานกับชาวบ้านมาตลอด อยู่ข้างชาวบ้าน และความถูกต้อง ไม่ใช่ราชการ พร้อมสู้ไปด้วยกันทุกศาล การพัฒนาพื้นที่ตอนนี้ ท่อระบายน้ำยังมีปัญหา สิ่งแวดล้อมก็ยังมีปัญหา ส่วนตัวอยากเห็นพญาไทมีสวนสาธารณะที่ใช้พื้นที่ว่างเปล่าของหน่วยราชการ” นายประพนธ์กล่าว

นางสาวภาดาท์ วรกานนท์ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ตนเป็นหนึ่งในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมของพรรค มั่นใจในความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ของตัวเอง จึงอยากมาขอโอกาสในการทำงานให้ชาวพญาไท หากเกิดปัญหาเชื่อว่าช่วยได้ แต่ไม่ใช่การต่อสู้กัน มองว่าการอยู่ร่วมกัน พูดคุยกันคือทางออก

“ผู้ประกอบการเขาก็ทำมาหากิน ทำอย่างไรสองฝ่ายจะอยู่ร่วมกันได้ การใช้กฎหมายไม่พอ ปัจจุบันมีนวัตกรรมช่วยแก้ปัญหาได้ เช่น การรีไซเคิลน้ำใช้แล้วมารดน้ำต้นไม้ ค่าส่วนกลางคอนโดฯในระยะยาวก็ลด ช่วยประหยัดและเซฟน้ำเสียที่จะออกมา ถึงแม้ไม่ได้รับการเลือกตั้ง แต่ถ้าอยากให้ช่วยก็ยินดี นอกจากนี้ มองว่าปัญหาของแต่ละเขตต่างกัน อาจมีการกำหนดเป็นโซน เราอาจต้องศึกษาเพิ่ม ควรดูจำนวนประชากรต่อพื้นที่ในแต่ละเขต อย่างประเด็นที่จอดรถ บางโซนอยากได้ที่จอดรถเยอะ เพราะไกลรถไฟฟ้า บางเขตคนไม่หนาแน่นเท่าเรา ตรงนี้ควรคุยกันได้ กำหนดได้ด้วยจำนวนประชากร การมีคนมากขึ้น ทรัพยากรก็ถูกใช้มากขึ้น ขยะมากขึ้น” นางสาวภาดาท์กล่าว

นายคริส โปตระนันทน์ พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า คนพญาไทต้องกำหนดชีวิตตัวเองได้ ไม่ใช่ผู้ว่าฯกทม.ทำเองหมด ควรมีการกระจายอำนาจให้คนในพื้นที่ กรุงเทพฯมีคน 10 ล้าน ผู้ว่าฯคนเดียว ทำอะไรไม่ได้ สำหรับผู้อำนวยการเขต มองว่าอาจต้องมาจากการเลือกตั้ง และเอกสารราชการต่างๆ ต้องเปิดสาธารณะให้ประชาชนสามารถดูได้ผ่านอินเตอร์เนต ตอนนี้โครงสร้างประเทศเดินต่อไปไม่ได้แล้ว กลุ่มทุนเข้าผูกขาด ต้องมีการแก้ไข ราชการต้องไม่อยู่เหนือประชาชน เช่น ถ้าประชาชนสร้างอาคารแบบนี้ไม่ได้ หน่วยงานราชการก็ต้องสร้างไม่ได้เหมือนกัน ไม่ใช่บังคับใช้กฎหมายเฉพาะประชาชน ส่วนประเด็นฝุ่น PM2.5 ต้องเจรจาระดับนานาชาติ

“พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ไม่ได้บังคับใช้กับราชการ อนาคตใหม่มองว่า ราชการกับประชาชนต้องอยู่ใต้กฎหมายเดียวกัน ถ้าประชาชนสร้างไม่ได้ ราชการก็ต้องสร้างไม่ได้ ตอนนี้รัฐเชื่องช้า รวมศูนย์ ขอยืนยันว่าต้องคืนอำนาจให้คนพญาไท ไม่มีรัฐบาลไหนมาบอกได้ว่าที่ไหนควรมีที่จอดรถกี่เปอร์เซ็นต์นอกจากคนในพื้นที่ เราต้องการแก้ไขเชิงโครงสร้างโดยเพิ่มอำนาจประชาชน เชื่อว่ารัฐมาถึงจุดที่ต้องเปิดข้อมูลแล้ว ทุกอย่างที่เป็นการบริหารราชการแผ่นดิน ต้องเปิดเป็นสาธารณะ สิ่งที่ผมมีคือหัวใจ พยายามเดินทุกซอย ไม่มีซอยไหนยังไม่เคยไป พร้อมเป็นผู้แทนรับฟังประชาชน สร้างชีวิตที่ดีขึ้นให้ทุกคน” นายคริสกล่าว

นายภูวพัฒน์ ชนะสกล พรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า กทม.มีงบประมาณมากที่สุด แต่ใช้ได้ไม่เต็มที่ ตนอยากเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหา เป็นปากเสียงให้ประชาชน สิ่งที่จะต้องทำให้ได้คือ การกำจัดคอร์รัปชั่น ตัองรักษากฎหมายเคร่งครัด อย่าแบ่งแยก ต้องทำงานร่วมกัน ใครมีโอกาสเข้าไปขอให้รักษาคำพูด

“การแก้ปัญหาจราจร มองว่ารถเมล์ควรเข้าถึงง่าย เป็นระบบไฟฟ้า รถทั้งหมดต้องติดจีพีเอส ควรมีรถบัสวิ่งเลียบทางบีทีเอสหลังเที่ยงคืน ปรับลดราคาค่าบีทีเอสลง การเดินทางด้วยเรือปัจจุบันสะดวก แต่ความสะอาดและทันสมัยไม่เพียงพอ เชื่อว่าการแก้ปัญหาต่างๆ ทำได้ด้วยการมีผู้นำที่ดี หากคำอธิบายพลตำรวจเอกเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ได้เข้าสภา แก้ได้แน่นอน แม้นโยบายไม่หวือหวา แต่ทำได้จริง” นายภูวพัฒน์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้ายเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้รับฟังแสดงความเห็นและซักถาม ซึ่งมีชาวบ้านจำนวนมากร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ หนึ่งในนั้นคือ นายอนันต์ชัย ไชยเดช ทนายความชื่อดัง ซึ่งลุกขึ้นกล่าวว่า ปัญหารถติด น้ำท่วมที่กล่าวกันมา เป็นแค่ปลายเหตุเท่านั้น ปัญหาตอนนี้คือ เมื่อร้องเรียนไป เจ้าหน้าที่รัฐคือเขตกลับเฉยเมย ตนว่าความชนะคดีมากมาย แพ้อย่างเดียวคือการปล่อยปละละเลยของเจ้าหน้าที่รัฐ

“ปัญหาใหญ่คือ เจ้าหน้าที่รัฐทำเป็นมึน เมื่อเรามีปัญหาแล้วร้องเรียนไป เขตกลับเฉยเมย แค่นั้นยังไม่พอ มีการย้าย ผอ.เขตมาเซ็นเอกสาร ผมพาพี่น้องไปแจ้งความ ก็ย้ายอีก ปัญหาอยู่ที่บอกแล้วไม่ทำ น้ำท่วม ถนนแคบ เกิดจากเขตไม่ฟัง ล่าสุดมีการฟ้องศาลปกครองแล้ว” นายอนันต์ชัยกล่าว

นอกจากนี้ ชาวบ้านหลายรายกล่าวตรงกันว่า ปัญหาหลักต้องแก้ที่คน ไม่ใช่กฎหมาย หากเจ้าหน้าที่รัฐทำงานจริงจัง ปัญหาคงไม่เกิด และอยากให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจสิ่งที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ตนอาศัยอยู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image