“สฤณี อาชวานันทกุล” อธิบาย “โอนทรัพย์สินเข้า Blind Trust” คืออะไร สำคัญอย่างไร

วันนี้ (18 มี.ค.) สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ นักเขียน นักแปลชื่อดัง โพสต์ข้อความทางเฟสบุ๊ก Sarinee Achavanuntakul – สฤณี อาชวานันทกุล แสดงความเห็น ถึงกรณี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ตัดสินใจโอนทรัพย์สินหลายพันล้านบาท บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร เป็นผู้ดูแลจัดการ โดยไม่มีอำนาจสั่งการ หรือยุ่งเกี่ยว จนกว่าจะพ้นจากการเมือง 3 ปี โดย ระบุว่า

มีนักข่าวมาถามความเห็นต่อข่าวนี้ เลยมาแปะไว้ในนี้สั้นๆ ด้วยค่ะ เผื่อเป็นประโยชน์

1. การจัดการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน เป็นเรื่องใหญ่และเรื่องสำคัญที่นักการเมืองผู้มาจากภาคธุรกิจทุกคนควรใส่ใจ เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาว่า มุ่งคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย (ออกนโยบายเอื้อธุรกิจตัวเองหรือพวกพ้อง) หรือใช้ข้อมูลภายใน (ที่ได้จากตำแหน่งทางการเมือง) ไปซื้อหุ้นทำกำไร เรื่องนี้ รัฐธรรมนูญและกฎหมายไทยก็ให้ความสำคัญมาตลอด (แต่ก็มีหลายคนหาทางซิกแซก “ซุกหุ้น” ตลอดมา อย่างเช่นคดีอดีตนายกทักษิณเมื่อหลายปีก่อน ที่ตัวเองก็เคยเขียนวิจารณ์ไปหลายรอบ)

รัฐธรรมนูญ 2560 วางเกณฑ์เข้มข้นกว่าเดิมอีก โดยมาตรา 184 ​ห้าม​ไม่​ให้​ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ถือ​หุ้น​ใน​บริษัท​หรือ​กิจการ​ที่​ได้​รับ​สัมปทาน​จาก​ภาค​รัฐ​หรือ​เป็น​คู่สัญญา​กับ​รัฐ​ทั้ง​ทาง​ตรง​และ​ทาง​อ้อม

Advertisement

2. ทีนี้ ถ้าการห้ามถือหุ้น แปลว่าต้องขายหุ้นไปให้คนอื่น นักการเมืองก็จะไม่ได้รับประโยชน์โภชผลใดๆ ในหุ้นนั้นอีก เท่ากับหมดสิทธิได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินที่(เคย)เป็นของตัวเอง ซึ่งก็จะลดแรงจูงใจของนักธุรกิจที่จะเข้ามาทำงานการเมือง

ฉะนั้นคำถามก็คือ มีวิธีใดหรือไม่ที่จะป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน โดยไม่ตัดสิทธิของนักการเมืองที่จะได้ประโยชน์จากหุ้น? คำตอบซึ่งเป็นมาตรฐานสากล ทำกันทั่วโลก คือ ให้ทำข้อตกลงโอนหุ้นนั้นให้มืออาชีพทางการเงินบริหารแทน ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ้าจะให้ดีก็ควรให้บริหารแบบ blind trust คือ ให้เจ้าของเดิม (นักการเมือง) ไม่มีอำนาจตัดสินใจใดๆ ในทรัพย์สินนั้นเลย ไว้ใจให้มืออาชีพบริหารจัดการแทนให้เกิดผลงอกเงย ระหว่างที่ตัวเองมีตำแหน่งทางการเมือง

การโอนหุ้นให้คนอื่นบริหารแทนนี้ กฎหมายไทยก็เปิดช่องให้ทำได้ โดย พ.ร.บ. การจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี ออกตั้งแต่ พ.ศ. 2543 (ดู http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/%A1106/%A1106-20-2543-a0001.htm) แต่กฎหมายนี้กำหนดเฉพาะระดับรัฐมนตรีเท่านั้น ไม่รวม ส.ส. และ ส.ว. และไม่ได้ระบุว่าต้องเป็น blind trust ระบุแค่หลวมๆ ว่า ให้โอนให้กองทุนส่วนบุคคลบริหารได้

Advertisement

3. การลงนาม MOU ของคุณธนาธร โอนทรัพย์สินให้จัดการแบบ blind trust ก่อนที่ตัวเองจะรู้ผลการเลือกตั้ง (ยังไม่ได้เป็น ส.ส. ด้วยซ้ำ) จึงนับเป็นก้าวที่น่าชื่นชม ขยับเพดานธรรมาภิบาลนักการเมือง สังคมควรเรียกร้องให้นักการเมืองคนอื่นทำตาม

สำหรับคำถามที่ว่า คุณธนาธรเป็นนักการเมือง “คนแรก” ในไทยหรือเปล่าที่โอนทรัพย์สินให้จัดการแบบ blind trust ส่วนตัวไม่แน่ใจ นักข่าวควรไปเช็ค แต่ที่แน่ๆ เป็นคนแรก (เท่าที่เคยเห็น) ที่เปิดเผยรายละเอียด MOU ต่อสาธารณะ และการระบุว่าจะไม่รับโอนทรัพย์สินกลับมาจนกว่าจะพ้นตำแหน่งการเมืองไปแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ก็นับเป็นมาตรฐานขั้นสูง กฎเกณฑ์ลักษณะคล้ายกันนี้ (revolving door) ในหลายประเทศระบุเพียง 2 ปีเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image