น.2 รายงาน : นักการเมืองวิพากษ์ กกต. จัดเลือกตั้งส.ส. 24 มี.ค.

หมายเหตุ มุมมองนักการเมืองกับความคาดหวังการทำหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการจัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป ในวันที่ 24 มีนาคมนี้

ประเสริฐ จันทรรวงทอง
ผู้สมัคร ส.ส.เขต 3 จ.นครราชสีมา และแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.)

การเลือกตั้งครั้งนี้ มองว่า กกต.ถูกแทรกแซงจากผู้มีอำนาจมาตั้งแต่ต้นแล้ว ผมแบ่งสถานการณ์การถูกแทรกแซงที่น่าเป็นห่วงไว้เป็น 3 ระยะ คือ ระยะต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

Advertisement

สำหรับต้นน้ำนั้น เป็นเหตุการณ์เมื่อครั้งให้ กกต.จังหวัดนครราชสีมา แบ่งเขตเลือกตั้งเพื่อให้พี่น้องประชาชน และพรรคการเมืองช่วยกันเลือกว่าจะเอาแบบไหนดี ซึ่งขณะนั้นมีอยู่ทั้งหมด 3 รูปแบบ เราเลือกแบบที่ 1 ส่งไปให้ กกต.ส่วนกลางพิจารณา

แต่ คสช.กลับใช้อำนาจเปลี่ยนแปลงรูปแบบแบ่งเขตเป็นแบบที่ 4 ออกมาประกาศใช้ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มการเมืองของตนเอง โดยไม่ฟังเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน

ทำให้เห็นว่า กกต.ยังขาดอิสระในการทำงานอยู่

Advertisement

หลังจากนี้ไปจะเป็นระยะกลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งคาดหวังว่า กกต.จะต้องแสดงให้ประชาชนเห็นว่าเป็นองค์กรอิสระจริงๆ โดยเร่งให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนเรื่องการเลือกตั้งให้มาก

เพราะครั้งนี้มีบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว จากการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา จะพบว่ามีประชาชนจำนวนมาก ที่ยังไม่เข้าใจ ไปกาลงที่เบอร์ผู้สมัครเลย โดยไม่ได้กาลงที่ช่องว่าง ทำให้เกิดบัตรเสียขึ้นมาทันที

รวมทั้งการเก็บบัตรเลือกตั้งล่วงหน้า ซึ่งไม่ค่อยมีมาตรฐานเท่าที่ควร ทำให้หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารว่าอาจจะมีการตุกติกอะไรหรือไม่ และวิตกว่าอาจจะมีการนำเรื่องนี้มาทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะได้ในภายหลัง

สุดท้าย กกต.ต้องทำงานด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส และต้องแสดงให้ประชาชนเห็นว่าไม่ถูกอำนาจใดๆ เข้ามาครอบงำ โดยเฉพาะเรื่องการปราบปรามการทุจริตซื้อสิทธิ ขายเสียง

ส่วนการเลือกตั้งที่จะถึงในวันที่ 24 มีนาคมนี้ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากกว่า 80% ผมเชื่อว่าเรื่องเวลาไม่มีปัญหาแน่นอน เพราะให้เวลาตั้งแต่ 08.00-17.00 น. แต่หลังจากปิดหีบเลือกตั้งแล้ว จะต้องจับตาดูให้ดี

โดยเฉพาะกระบวนการนับคะแนน สำหรับหีบบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าในประเทศ บัตรเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักร และการขนย้ายหีบบัตรเลือกตั้ง จะต้องทำกันอย่างเปิดเผย

ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมสังเกตการณ์ทุกขั้นตอน และหลังจากผลคะแนนการเลือกตั้งออกมาอย่างไรแล้ว ก็ขอให้ประกาศออกมาอย่างชัดเจน อย่ามีการหมกเม็ด อย่าสร้างสถานการณ์ขึ้นมาเพื่อใส่ร้ายป้ายสี
ผู้ที่ได้รับเลือกตั้ง จนเกิดการแจกใบเหลือง ใบแดงตามมาภายหลัง

โดยเฉพาะการใช้คำอ้างลอยๆ เช่น ใช้คำว่า “มีเหตุอันเชื่อว่า…” เพื่อที่จะเอาผิดผู้ที่ได้รับเลือกตั้งคนนั้นให้ต้องถูกแจกใบเหลือง ใบแดง โดยที่ไม่มีหลักฐานใดๆ ซึ่งเรื่องนี้ประชาชนทั่วประเทศต้องช่วยกันตรวจสอบด้วย

สาทิตย์ วงศ์หนองเตย
ผู้สมัคร ส.ส.เขต 2 จ.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

การเลือกตั้งครั้งนี้คิดว่าเรามีความเชื่อว่าด้วยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ดี ด้วยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต.ก็ดี หรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งก็ดี ผมคาดหวังการทำงานของ กกต.ไว้สูงมาก

แต่ต้องยอมรับว่าตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ระยะห่างระหว่าง คสช.กับ กกต. เป็นระยะห่างที่ทำให้หลายคนกังวลเพราะไม่ได้ห่างในแบบที่มีคนคาดหวังว่า องค์กรอิสระควรห่างจากอำนาจรัฐให้มากเพราะ กกต.จะต้องเป็นกลางในการจัดการเลือกตั้ง และหัวหน้า คสช. ซึ่งเป็นหนึ่งในบัญชี นายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ

เพราะความคลางแคลงใจต่อ กกต.จึงสูงมาก ตลอดระยะเวลาที่มีการเตรียมการเลือกตั้ง จะเห็นความไม่ชัดเจนในหลายเรื่อง ทั้งเรื่องกฎระเบียบต่างๆ แม้กระทั่งเรื่องเล็กๆ อย่างกำหนดจุดติดป้ายต่างๆ ซึ่งมีความสับสนเปลี่ยนแปลงไปมาตลอดเวลา

ผลงานที่ทำให้เกิดความคลางแคลงใจต่อ กกต.คือวันเลือกตั้งล่วงหน้า เนื่องจากวันเลือกตั้งล่วงหน้ามีปัญหาในหลายเรื่อง ตั้งแต่ในหน่วยทหารหลายหน่วยมีความเคลื่อนไหวอย่างผิดปกติ

แต่ กกต.ไม่เคยมีการออกไปเตือนหรือจับตามองในเรื่องเหล่านี้เลย เสมือนกับว่าแม้ไม่รู้เห็นเป็นใจก็เหมือนกับทำเฉยต่อเรื่องเหล่านี้ ทั้งๆ ที่เรื่องเหล่านี้แพร่สะพัดในโลกโซเชียลออนไลน์

พอถึงวันเลือกตั้งล่วงหน้า หน่วยทหารต่างๆ ที่ต้องการใช้สิทธิโดยเจตจำนงเสรีของตัวเอง ก็มีความคลางแคลงใจว่าในเมื่อหน่วยมีการสั่งการให้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งล่วงหน้าแล้ว เขาตรวจสอบได้จริงหรือ คนต่างๆ เหล่านั้นไม่เชื่อว่า กกต.จะเก็บหีบบัตรได้อย่างเป็นความลับและตรวจสอบไม่ได้ เขาเชื่อว่าอาจจะมีการสมคบคิดกันตรวจสอบบัตรเลือกตั้งได้ด้วย เรื่องนี้เป็นความคลางแคลงใจที่ไม่ควรเกิดขึ้นในยุคปฏิรูปการเมือง

พอมารวมถึงเรื่องของบัตร การเปิดหีบบัตร การเก็บหีบบัตรเลือกตั้ง ในวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าเกิดความขลุกขลักทั้งหลายทำให้ความคลางแคลงใจและความผิดหวังต่อการทำหน้าที่ของ กกต.สูงมาก

ที่สำคัญการเลือกตั้งครั้งนี้มีแนวโน้มว่าจะมีการทุจริตการเลือกตั้งซื้อเสียงสูงมาก ตั้งแต่เรื่องที่ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ออกมาเปิดเผยเรื่องของการเก็บบัตรประชาชน ณ เวลานี้ยังไม่มีความเคลื่อนไหว หรือท่าทีใดๆ อย่างชัดเจนจาก กกต. ในเขตเลือกตั้งของผมชาวบ้านไปแจ้ง กกต.ว่ามีการจ้างคนไปฟังการปราศรัยเลือกตั้งกันอย่างคึกคัก ซึ่งเป็นการกระทำผิดเลือกตั้ง ก็ไม่มีการดำเนินการอย่างชัดเจนจาก กกต.

เพราะฉะนั้นที่กังวลวันที่ 24 มีนาคม จะเกิดอะไรขึ้นและสามารถที่จะไว้วางใจได้หรือไม่ว่า กกต.จะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสุจริตและเที่ยงธรรม

ซึ่งผมคิดว่าเวลาที่เหลือ 3-4 วัน ผมก็ยังรู้สึกกังวลต่อการทำหน้าที่ของ กกต.

ชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ
ผู้สมัคร ส.ส.เขต 7 จ.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.)

มุมนักการเมืองในฐานะผู้เล่น ก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมากนัก ขอเพียงให้ กกต.จัดการเลือกตั้งให้ปกติก็เพียงพอแล้ว เพราะว่าพรรคเพื่อไทยทำอะไรก็ถูกติดตาม อัดเทป ส่วนพรรคพลังประชารัฐทำอะไรก็ไม่ผิดเลย

การจัดเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา มีทั้งเรื่องพิมพ์บัตรเลือกตั้งผิดพลาดบ้าง การแจกบัตรให้ผู้ใช้สิทธิผิดบ้าง การขนย้ายหีบบัตรที่เกิดความกังวล เหล่านี้จะส่งผลความกังวลว่าจะเกิดตุกติกหรือผิดปกติในวันที่ 24 มีนาคมนี้หรือไม่

สำหรับการจัดการเลือกตั้งวันที่ 17 มีนาคม ที่ผ่านมาก็ได้รับทราบจากประชาชนในเขตที่ได้เลือกตั้งล่วงหน้า ก็พบปัญหามาก แต่ก็ได้แต่ทำใจ เพราะเราขาดความเชื่อมั่นใน กกต. ในการจัดการเลือกตั้ง

การเลือกตั้ง 24 มีนาคม คาดคนใช้สิทธิเกิน 80% เป็นการเลือกตั้งที่คึกคักอย่างมาก มีความเชื่อมั่นว่าชาวบ้านจะออกมาใช้สิทธิ ใช้เสียงกันเป็นจำนวนมากและพรรคเพื่อไทยจะชนะแบบถล่มทลาย

อยากขอวิงวอนว่า ถ้าอยากให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้ กกต.ก็อย่าคิดจะโกงการเลือกตั้งเองก็แล้วกัน

องอาจ คล้ามไพบูลย์
ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

ประการแรกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรจะสรุปข้อผิดพลาดจากวันเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตเมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา ว่ามีปัญหาอะไรบ้างที่ทำให้เกิดข้อผิดพลาดขึ้นและเมื่อสรุปปัญหาที่ผิดพลาดได้แล้วก็ควรที่จะเริ่มดำเนินการแก้ไขในข้อผิดพลาดต่างๆ ที่เกิดขึ้น

อีกส่วนหนึ่งผมคิดว่าข้อมูลผู้สมัครที่ กกต.ส่งไปตามบ้านเรือนของประชาชน ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่มีข้อผิดพลาดมากพอสมควร ดังนั้น กกต.ควรจะตรวจสอบให้ชัดเจนเพราะจะเกิดผลกระทบต่อผู้สมัครในเขตนั้นๆ รวมทั้งการรับรู้ข้อมูลของผู้ใช้สิทธิอาจคลาดเคลื่อนได้หรือเข้าใจผิด เนื่องจากข้อมูลต่างๆ อาจทำให้การตัดสินใจเลือกตั้งของประชาชนมาใช้ผิดไปจากการตัดสินใจของเขา นี่คือข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งแล้ว

ประการสุดท้าย ผมคิดว่า กกต.ควรสรุปบทเรียนจากวันที่ 17 มีนาคม และจะดูว่าการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคมนี้ มีเรื่องอะไรบ้างที่ต้องระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดการผิดพลาด สิ่งสำคัญที่สุดก็คือข้อมูล และบัตรเลือกตั้งในแต่ละพื้นที่และในแต่ละเขตที่ต้องให้ถูกแล้วให้ตรงกัน จะต้องมีการตรวจสอบอย่างเคร่งครัด หากมีข้อผิดพลาดอย่างไรควรแก้ไขก่อนวันที่ 24 มีนาคม

นอกจากนี้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในวันเลือกตั้ง การนับคะแนนที่ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าหากมีข้อผิดพลาดเพียงเล็กน้อยผู้คนก็คงไม่ติดใจอะไร แต่หากมีการผิดพลาดจำนวนมากหรือมหาศาลผู้คนก็อาจมองได้ว่ามีเจตนาจะทำผิดอะไรหรือไม่

ถ้าวันที่ 24 มีนาคม มีข้อผิดพลาดอะไรมากขึ้น อาจจะทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกมองว่า มีเจตนาที่จะดำเนินการเพื่อให้เกิดข้อผิดพลาดเพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งหรือไม่

ตรงนี้เป็นหัวใจสำคัญมาก ส่วนตัวยังมองว่า กกต. อาจจะไม่มีเจตนาที่อยากทำให้มีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น เพราะทุกฝ่ายก็คงอยากให้การเลือกตั้งดำเนินการไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม

กกต.เป็นองค์กรอิสระที่มีความรับผิดชอบสูงต่อประเทศชาติบ้านเมือง ในภารกิจนี้ก็คงอยากให้มีการเลือกตั้งมีข้อผิดพลาดให้น้อยที่สุด เพื่อไม่ให้มีปัญหาในการที่จะทำให้ประชาชนไม่ยอมรับผลของการเลือกตั้ง เพราะถ้าประชาชนมองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่สุจริต ไม่เที่ยงธรรม ผมคิดว่าตรงนี้จะเกิดปัญหามาก

ดังนั้น กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งให้ประชาชนยอมรับผลการเลือกตั้งให้ได้ และ กกต.ต้องทำงานหนักและเข้มงวดตรวจสอบในการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทุกระดับ

สันติ ตันสุหัช
ผู้สมัคร ส.ส.เขต 6 จ.เชียงใหม่ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)

การคาดหวังการทำหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนหย่อนบัตรเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคมนี้ ว่า การเลือกตั้งล่วงหน้า วันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา มีประชาชนมาใช้สิทธิจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนตื่นตัว หลังว่างเว้นเลือกตั้งนานกว่า 10 ปี ทำให้การเลือกตั้งบางเขต มีคนเข้าแถวยืนรอใช้สิทธินานนับชั่วโมง บางรายถึงกับหน้ามืดเป็นลม เพราะตากแดดเป็นเวลานาน

ดังนั้น ควรมีหน่วยแพทย์หรือจุดปฐมพยาบาลดูแล พร้อมรถพยาบาล กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญมาก

ส่วนตัวมองว่า หากมีผู้มาลงทะเบียนใช้สิทธิล่วงหน้าจำนวนมาก บางเขตมีจำนวน 40,000-50,000 คน ควรขยายเวลาลงคะแนนเพิ่มอีก 2-3 วัน ไม่ใช่ลงคะแนนเพียงวันเดียว ทำให้เกิดโกลาหล และสับสนวุ่นวาย เพื่ออำนวยความสะดวกและลดความแออัดผู้มาใช้สิทธิดังกล่าว

ซึ่งการเลือกตั้งล่วงหน้า เป็นเรื่องที่ดีที่เปิดโอกาสให้ประชาชน นักธุรกิจ ผู้อยู่นอกราชอาณาจักร หรือเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งมาใช้สิทธิก่อน เพื่อความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน

ส่วนข้อกังวล หรือข้อสังเกตเกี่ยวกับการทุจริตเลือกตั้ง อาทิ พิมพ์บัตรเลือกตั้ง หรือแจกบัตรเลือกตั้งให้ผู้ใช้สิทธิผิดพลาด รวมทั้งการขนส่งหีบบัตรของผู้ใช้สิทธิล่วงหน้าไปยังหน่วยนับคะแนนที่ภูมิลำเนานั้น อาจเกิดผิดพลาดได้

เชื่อว่าเป็นส่วนน้อยหรือเป็นกรณีไป ไม่ใช่ทั้งหมด แต่ถึงขั้นทุจริตหรือไม่ เชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะมีเจ้าหน้าที่ควบคุมดูแลมีผู้สังเกตการณ์เลือกตั้ง และมีระเบียบขั้นตอนปฏิบัติที่รัดกุม จึงไม่เชื่อว่าเกิดการทุจริตได้ง่าย

ซึ่งการเลือกตั้งล่วงหน้าที่ เขต 6 อ.เชียงดาว อ.เวียงแหง อ.ไชยปราการ มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้ากว่า 1,000 ราย ไม่มีปัญหาร้องเรียนแต่อย่างใด

สำหรับการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคมนี้ ที่ กกต. คาดมีผู้ไปใช้สิทธิเกิน 80% นั้น มองว่าเป็นเรื่องดี แต่ กกต.ควรนำบทเรียนที่ผิดพลาด และประสบการณ์การจัดการเลือกตั้ง มาปรับแก้ไข หรือบริหารจัดการใหม่ที่สำคัญต้องพร้อม 100% ไม่ให้มีข้อผิดพลาดแบบเลือกตั้งล่วงหน้าอีก

และไม่ห่วงการทุจริตเลือกตั้ง เพราะทุกฝ่ายต้องจับตามองกันและกันอยู่แล้ว โอกาสทุจริตแทบไม่มีเลย อีกทั้งมีระเบียบปฏิบัติที่เข้มงวดและบทลงโทษที่รุนแรง ทั้งพรรคหรือผู้สมัครทุจริต ดังนั้นทุกฝ่ายควรยอมรับผลเลือกตั้ง เพราะถือเป็นประชามติของเสียงส่วนใหญ่แล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image