หลัง 24 มี.ค นายกฯ-รัฐบาล ใคร กำหนด?

เห็นชัดเจนมากขึ้นว่า เกมการเมืองหลัง 24 มี.ค. จะเดินไปทางไหน พรรคพลังประชารัฐ โดย อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค เผยแล้วว่า การตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง 24 มี.ค. อยู่ที่การล็อบบี้ การเจรจา หากมีพรรคการเมืองรวมตัวกันได้เสียงข้างมาก ก็สามารถตั้งรัฐบาลได้เลย

ส่วนทางพรรคเพื่อไทย ภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค บอกว่า เชื่อว่าในฝ่ายประชาธิปไตย หรือขั้วพรรคเพื่อ จะได้เสียงเกิน 250 และจะเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล

ตามธรรมเนียมที่ผ่านมา หลังเลือกตั้ง พรรคที่ได้คะแนนอันดับ 1 จะได้สิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลก่อน

แต่ก็ไม่แน่เหมือนกัน เมื่อปี 2529 พรรคประชาธิปัตย์ในยุค นายพิชัย รัตตกุล เป็นหัวหน้าพรรค ได้รับเลือกเข้าสภามาเป็นที่ 1 จำนวน 99 เสียง

Advertisement

แต่พรรคอันดับ 2 คือ ชาติไทย นำโดย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ได้ 64 เสียง และอันดับ 3 พรรคกิจสังคม ในยุค พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา ได้ 51 เสียง จับมือกัน กลายเป็นเสียงที่มากกว่าอันดับ 1 แล้วยืนยันหนุน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯ

หัวหน้าพรรคอันดับ 1 คือนายพิชัย จึงไม่ได้เป็นนายกฯ และ ปชป.กลายเป็นพรรคร่วมรัฐบาลไป

ในการเลือกตั้งปี 2539 พรรคความหวังใหม่ ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เข้าที่ 1 ด้วยจำนวน ส.ส. 125 เสียง ส่วน ปชป.ยุคนายชวน หลีกภัย เข้าที่สอง 123 เสียง

แกนนำ ปชป.เชียร์ให้พรรคชิงจัดตั้งรัฐบาล แต่นายชวนประกาศให้ความหวังใหม่ ใช้สิทธิพรรคอันดับ 1 ตั้งรัฐบาล

หลังจากนั้น การเลือกตั้ง 2544, 2548, 2550 และ 2554 พรรคอันดับ 1 จากสายทักษิณ มีคะแนนชนะขาดลอยได้จัดรัฐบาล แต่ 3 ครั้งหลังไม่ราบรื่น ต้องเจอวิกฤต ทั้งรัฐประหาร 2549, การพลิกขั้วในปี 2551 และโดนม็อบกดดันต้องยุบสภาในปี 2556 ก่อนเกิดรัฐประหาร

รอบนี้ หลัง 24 มี.ค. จะใช้ธรรมเนียมแบบไหน ต้องรอดู แต่ถ้าจะให้ดูสง่างาม ให้สภาผู้แทนฯ เป็นหลักของบ้านเมือง ก็ต้องให้พรรคอันดับ 1 ได้สิทธินั้นก่อน

พรรคลำดับถัดไปต้องอดใจไว้นิด ให้อันดับ 1 ไปไม่ไหวจริงๆ ค่อยเข้าไปใช้สิทธิแทน

ส่วนขั้วพลังประชารัฐ กับ ขั้วเพื่อไทย ใครจะมาวินหลัง 24 มี.ค.อีกไม่กี่ชั่วโมงจะได้เห็นกัน

ส่วนสถานการณ์เลือกตั้ง ข่าวทางลึก ระบุว่าต่างขั้วต่างยืนยันความมั่นใจว่าจะเข้าอันดับ 1 ของสภาผู้แทนฯ

ช่วงชิงกันในคะแนนระหว่าง 100 เศษถึง 180

แต่สุดท้าย คะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิ 51.4 ล้านคน จะทำหน้าที่ชี้ขาดว่า ความมั่นใจของฝ่ายไหนเป็นของจริงหรือความจริง

การเมืองจะยังคงเป็น 2 ขั้ว และเริ่มมีการติดต่อกันเป็นการภายในแล้ว

รายการหักปากกาเซียน หรือ เซอร์ไพรส์Ž จะเกิดขึ้นกับพรรคไหน จุดไหน และจะส่งผลแค่ไหนอย่างไร เชื่อว่าผู้ติดตามข่าวสาร คงพอมองเห็นจากภาพ ”กระสุนตกŽ”

นับเป็นการเลือกตั้งที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ต โดยมีเวทีอยู่ที่เว็บข่าวออนไลน์ บอร์ดฟอรัมออนไลน์ และโซเชียลมีเดีย

การใช้สื่อทำลายพรรค ทำลายนักการเมืองอย่างไม่แฟร์ ที่เคยเป็นเรื่องที่ไม่มีใครแตะต้องได้ แต่ยุคนี้ ประชาชนชาวเน็ต แสดงตัวออกมาประณามได้อย่างมีน้ำหนัก

เป็นภาพสะท้อนว่า การปฏิรูปที่พูดๆ กัน ไม่ได้เกิดขึ้น และรอคอยการปฏิรูปที่มีทุกฝ่ายเข้าร่วมและเป็นเจ้าภาพร่วมกัน

ไม่ใช่เป็นเพียง วาทกรรมŽ เพื่อทำลายฝ่ายตรงข้าม

การจัดตั้งรัฐบาลหลัง 24 มี.ค. มีปัจจัยสำคัญอยู่ที่สมาชิกวุฒิสภา 250 คน

บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้มี ส.ว. 200 คน

แต่บทเฉพาะกาล มาตรา 269 ระบุพิเศษว่า ในวาระเริ่มแรกŽ ซึ่งจะกินเวลา 5 ปี ให้ ส.ว.มี 250 คน โดยมีที่มาและอำนาจพิเศษมากกว่าบทบัญญัติปกติ

ส.ว. 250 คนนี้ 50 คนมาจากการเลือกกันเองตามกลุ่มอาชีพในจังหวัดต่างๆ จนเหลือ 200 คน ส่งให้ คสช.เลือก 50 คน ซึ่งเสร็จเรียบร้อยได้ตัวหมดแล้ว

6 คน เป็นโดยตำแหน่ง คือ ปลัดกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการ 3 ทัพ บก เรือ อากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ที่เหลือ มาจากคณะกรรมการสรรหา ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม รอง หน.คสช. เป็นประธานคัด 400 คน แล้วส่ง คสช.คัดเหลือ 194 คน บวก 6 เป็น 200 บวก 50 เป็น 250

รายชื่อเหล่านี้ต้องแล้วเสร็จภายใน 3 วัน นับแต่วันประกาศผลเลือกตั้ง ส.ส.

ส่วนวันประกาศผลเลือกตั้ง ส.ส. ต้องกระทำภายในวันที่ 9 พ.ค. ตามกรอบที่กำหนดให้ต้องจัดเลือกตั้งให้เสร็จใน 150 วัน นับจากกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2561

ความสำคัญของ 250 ส.ว.ก็คือ รัฐธรรมนูญกำหนดในบทเฉพาะกาลมาตรา 272 ว่า ใน 5 ปีแรก ให้การเห็นชอบบุคคลที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี กระทำในที่ประชุมรัฐสภา ที่ประกอบด้วย ส.ว. 250 คน และ ส.ส. 500 คน รวม 750 คน

โดยปกติจะให้สภาผู้แทนฯเป็นผู้ดำเนินการ ในฐานะที่มาจากประชาชน

คนที่จะเป็นนายกฯได้ ต้องมีเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสองสภา คือ 326 เสียงเป็นต้นไป

ดังนั้น ใน 5 ปีจากนี้ไป ใครก็ตามที่จะมาเป็นนายกฯ หากไม่มี ส.ว. 250 เสียงสนับสนุน ก็เท่ากับ “วืด”Ž ไป

ภายใต้กติกานี้ หากได้เสียงสนับสนุนจากสภาผู้แทนฯเพียง 126 เสียง รวม 250 เท่ากับ 376 เสียง ก็ “ผ่านŽ” แล้ว

แต่ในโลกของความจริง เสียงในสภาผู้แทนฯเพียง 126 เสียงยังไม่พอ จะต้องมีเสียงข้างมาก เพื่อการโหวตในเรื่องต่างๆ ที่มีตลอดเวลา

เสียงข้างมาก ควรจะเริ่มจาก 250 หรือ 251 เป็นต้นไป ยิ่งเกินยิ่งปลอดภัย

นี่คือกลไกที่ดีไซน์เอาไว้เป็นพิเศษ จึงมีเสียงเรียกร้องให้สภาผู้แทนฯช่วยกัน ”ปิดสวิตช์ ส.ว.”Ž ด้วยการให้ ส.ส.ทั้งสภา พร้อมใจกันลงมติให้นายกฯจากพรรคอันดับ 1

ซึ่งจะทำให้เสียง ส.ว.หมดความหมาย

นี่คือเค้าลางและแนวโน้มของการเมือง หากมองข้ามวันที่ 24 มี.ค.นี้ไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image