‘อภิสิทธิ์’ เปิดเกมจี้ คสช.ปลดล็อคการเมือง ‘สมชัย’ ชี้ คำหยาบคาย แค่ กู-มึง ไม่ผิด

“มาร์ค” เปิดเกมถามความชัดเจน อะไรทำได้-ไม่ได้ ช่วงประชามติ จี้ปลดล็อคประกาศ คสช. หากอยากให้พรรคการเมืองช่วยเผยแพร่ ด้าน “สมชัย”แจงคำหยาบใช้มาตรฐานคนชั้นกลางคำว่า กู-มึง ไม่ผิด

วันนี้ (19 พ.ค.) เวลา 15.35 น. ที่สโมสรกองทัพบก บรรยากาศการชี้แจงร่างรัฐธรรมนูญกับพรรคการเมือง โดยเมื่อเข้าสู่กระบวนการซักถามของพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง เริ่มที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้สอบถามว่า หากร่างรัฐธรรมนูญนี้ไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชน ก็จะเกิดความขัดแย้งในวันข้างหน้า สุดท้ายแล้วเท่ากับว่าสิ่งที่ได้ทำมาช่วง 2 ปีก็สูญเปล่า และตนก็เป็นคนหนึ่งที่เรียกร้องให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งการทำประชามตินั้น เป็นกระบวนการทางการเมืองที่ต้องมีการแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างเสรี เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจ แต่ก็แปลกใจว่าคำบางคำกลายเป็นสิ่งต้องห้าม เช่นคำว่า “ชี้นำ” ตนจึงอยากถามว่ามีกระบวนการเรียนรู้การทำประชามติที่ไหน ที่ไม่มีการชี้นำนั้น ไม่มีหรอก ถ้าท่านมองว่าการชี้นำ เป็นเรื่องเลวร้าย ถือว่าเป็นการดูถูกประชาชน สิ่งสำคัญคือ การแสดงความเห็นจะต้องทำได้อย่างเสรี มีตัวอย่างใน 2 ประเทศ ทั้งในประเทศนิวซีแลนด์ และประเทศสหราชอาณาจักร ที่มีการทำประชามติ เขาก็เปิดโอกาสให้ผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย สามารถรวมตัวเคลื่อนไหวได้อย่างเสรี ซึ่งการแสดงความคิดเห็น หรือเคลื่อนไหวไม่ได้หมายความว่า ซื้อเสียงหรือพูดเท็จได้ เพราะนี่เป็นกติกาสากล แต่ขณะนี้เหตุใดจึงมีการทำความเข้าใจที่ไม่ตรงกับกฎหมาย เช่น การชี้นำก็ผิด หรือรณรงค์ก็ผิด แม้มาตรา 61 ในพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติได้ห้ามว่า อย่านำความเท็จมาพูด และถ้าพูดความจริงต้องไม่รุนแรง ก้าวร้าว ดังนั้น ตนจึงต้องการคำตอบจาก กกต.ให้กับประชาชนว่า ท่านตีความคำว่า ก้าวร้าว หยาบคาย รุนแรง ปลุกระดม และข่มขู่ อย่างไร ซึ่งขอให้มีการยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม เช่น บุคคลที่สวมเสื้อ หรือขายเสื้อ รับ ไม่รับ ทำได้หรือไม่

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า การทำประชามติจะมีความหมายก็ต่อเมื่อประชาชนมีทางเลือก แต่วันนี้เรายังไม่ทราบว่า ถ้าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแล้วจะเป็นอย่างไร นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ชี้แจงว่า ตามโรมแมประบุว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ก็ไปแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 57 ซึ่งความจริงแล้วตามโรดแมปไม่ได้ห้ามให้ท่านแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวตั้งแต่วันนี้ ขอให้ประชาชนเจ้าของประเทศที่เขาต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญ ได้รู้ทางเลือกที่แท้จริง การทำประชามติครั้งนี้จะได้ไม่เสียหาย สุดท้ายถ้าประธาน กกต. ต้องการให้พรรคการเมืองชี้แจงเพื่อขยายผล คงต้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) แก้ไขหรือยกเลิกคำสั่งฉบับที่ 57 เพื่อให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ ตนยืนยันว่า ไม่สนับสนุนให้พรรคการเมืองไหนปลุกระดม สร้างความวุ่นวายกระทบต่อความมั่นคง แต่ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนและพรรคการเมือง ควรเคลื่อนไหวทางการเมืองได้อย่างสุจริต

จากนั้น นายสมชัย ชี้แจงว่า ตามมาตรา 61 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ได้ระบุ 7 ฐานความผิด ซึ่งจะมีปัญหาอยู่ที่มาตรา 61 วรรค 2 เพราะเรื่องใหม่คือสื่ออิเล็คโทรนิค ที่ต้องเพิ่มเข้าไปเพื่อให้เข้ากับสมัยปัจจุบัน ดังนั้น กกต.ก็พยายามให้มีความชัดเจน จึงมีประกาศของ กกต. คือ 6 ข้อทำได้ และ 8 ข้อทำไม่ได้ ส่วนคำถามว่า อะไรคือ ก้าวร้าว เป็นเท็จ หยาบคาย นั้น คำว่าเป็นเท็จคือ เอาสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญออกมาพูดโดยไม่เป็นจริง ส่วนการคาดการอนาคตไม่มีใครบอกว่า เป็นการพูดเท็จ เช่นการพูดว่า ใช้ร่างรัฐธรรมนูญนี้แล้วจะเป็นปัญหา หรือใช้ร่างรัฐธรรมนูญแล้วดีหรือไม่ดี เพราะเป็นการคาดการณ์อนาคตสามารถพูดได้ แต่หากนำเสนอเรื่องที่เป็นเท็จถือว่าผิด

Advertisement

นายสมชัย กล่าวอีกว่า ส่วนมาตรฐานของคำว่าหยาบคาย เราใช้มาตรฐานของชนชั้นกลาง เช่นคำว่า “กู มึง” ไม่ถือว่าหยาบคาย อย่างนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ออกจากห้องนี้ไปก็คงพูด กู มึง เป็นปกติ หรือ คนใต้ก็พูดเหมือนกัน จึงไม่ถือว่าผิด ส่วนเรื่องการขายเสื้อ ใส่เสื้อถ้าไม่ได้เป็นการรณรงค์ก็ไม่ถือว่าผิด อย่างวันนี้นายจตุพรใส่เสื้อที่มีคำว่า “ประชามติ ไม่ล้ม ไม่โกง ไม่อายพม่า” ก็ไม่ถือว่าผิด รวมทั้ง การขายแถวโบ๊เบ๊ก็ไม่ถือว่าผิดเป็นเรื่องปกติ แต่หากขายเสื้อ แจกจ่ายในแบบที่เป็นการรณรงค์ และแจกของที่มีมูลค่า ถือว่าเป็นความผิดคล้ายกับการซื้อเสียง ซึ่งเราจะเฝ้าดูว่า การขายเสื้อที่นำไปสู่การปลุกระดมให้รับ หรือไม่รับหรือไม่ หากดูแล้วพบหลักฐานชัดเจน ก็จะมีความผิดทันที โดยจะเข้าสู่กระบวนการทางอาญา แต่ทุกอย่างก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการดำเนินการของ กกต. เพราะคนในประเทศทุกคนสามารถฟ้องร้องได้

ขณะที่นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การทำได้หรือไม่ได้ เราดูที่เจตนาว่าเป็นการปลุกระดม ข่มขู่หรือไม่ ซึ่งมีอยู่ในมาตรา 7 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่ให้บุคคลมีสิทธิเสรีภาพเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติได้อย่างสุจริต หากบุคคลกระทำไม่ขัดต่อกฎหมาย จะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็สามารถแสดงความเห็นได้อย่างเต็มที่ และคนที่สามารถชี้ว่าการกระทำนั้นผิดหรือไม่ผิด คือ ศาลยุติธรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image