เช็กเสียง 2 ขั้ว-เปิดอันดับป๊อปปูลาร์โหวต-250 ส.ว. ชี้ขาด ‘นายกรัฐมนตรี’ ถ้าเสียงในสภา ‘สูสี’

เช็กเสียง 2 ขั้ว-เปิดอันดับป๊อปปูลาร์โหวต-250 ส.ว. ชี้ขาด ‘นายกรัฐมนตรี’ ถ้าเสียงในสภา ‘สูสี’

ผลการนับคะแนนเลือกตั้ง ส.ส. ถึงวันที่ 26 มี.ค.ยังไม่เป็นทางการ ตัวเลขคร่าวๆ พบว่า 2 ขั้วการเมืองที่หนุนและไม่หนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีคะแนนเสียงสูสีกัน ทำให้เกิดการช่วงชิงความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลขึ้นอย่างดุเดือดในขณะนี้

ขั้วหนุนบิ๊กตู่ นำโดย พรรคพลังประชารัฐ มีพันธมิตรได้แก่ ประชาธิปัตย์, ภูมิใจไทย, ชาติไทยพัฒนา นำโดย น.ส.กัญจนา ศิลปอาชา, ชาติพัฒนา นำโดย นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ, รวมพลังประชาชาติไทย ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นหัวเรือใหญ่ พลังท้องถิ่นไท ของนายชัชวาล คงอุดม หรือชัช เตาปูน และพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย นำโดย นายดำรงค์ พิเดช

ขั้วคัดค้านการสืบทอดอำนาจ นำโดย พรรคเพื่อไทย, พรรคอนาคตใหม่ ที่แถลงเมื่อ 25 มี.ค.ว่า สนับสนุนคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แคนดิเดตของพรรคเพื่อไทย ตามหลักการให้พรรคอันดับหนึ่งมีสิทธิเป็นนายกฯและจัดรัฐบาล

Advertisement

นอกจากนี้ ยังมีพรรคเสรีรวมไทย, พรรคเศรษฐกิจใหม่ นำโดย นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ อดีต รมต.ในรัฐบาลเพื่อไทย, พรรคประชาชาติ นำโดย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา, พรรคเพื่อชาติ ที่มีนายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ อดีต รมต.ในรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เป็นหัวหน้าพรรค และพรรคพลังปวงชนไทย ที่มีนายนิคม บุญวิเศษ เป็นปาร์ตี้ลิสต์อันดับ 1 และ พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร เป็นประธานที่ปรึกษาพรรค

อย่างไรก็ตาม พรรคพลังประชารัฐ แกนนำของขั้วสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งได้จำนวน ส.ส.เขตและปาร์ตี้ลิสต์อยู่ที่ 120 เสียง ออกมาประกาศว่า ได้คะแนนรวม หรือป๊อปปูลาร์โหวต 7.9 ล้านคะแนน มากกว่าพรรคเพื่อไทย ซึ่งได้ 7.4 ล้านคะแนน ดังนั้น พปชร. จึงมีความชอบธรรมมากกว่า ที่จะเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลก่อน

ส่วนพรรคเพื่อไทยยืนยันว่า เนื่องจากได้ ส.ส.เขต 137 เสียง มากกว่าพรรคพลังประชารัฐที่ได้ ส.ส.เขต 97 เสียงกับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 23 เสียง รวมเป็น 120 เสียง ดังนั้น จึงมีความชอบธรรมมากว่า พปชร.

Advertisement

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธู์ หนึ่งใน 3 ผู้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯในบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย แถลงเมื่อวันที่ 25 มี.ค.ว่า จะเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยเชิญพรรคต่างๆ ที่มีแนวคิดไม่เห็นด้วยกับการสืบทอดอำนาจมาร่วมสนับสนุน

อย่างไรก็ตาม นอกจากเสียงสนับสนุนข้างมากในสภาผู้แทน หรือเกิน 251 จาก 500 ในสภาผู้แทนฯแล้ว เสียงสนับสนุนจาก ส.ว. 250 คน ที่ตั้งโดย คสช.ก็มีความสำคัญ หากคะแนนในสภาผู้แทนฯสูสีกัน เสียงที่จะมาตัดสินชี้ขาดอยู่ที่ ส.ว.ทั้ง 250 คน

ทั้งนี้ การประชุมเสนอชื่อและรับรองนายกรัฐมนตรี กระทำโดยที่ประชุมรัฐสภา ที่ประกอบด้วย ส.ส.และ ส.ว. จำนวน 750 คน ดังนั้น นายกรัฐมนตรีต้องได้เสียง 376 เสียงขึ้นไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image