รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ อัด พปชร.ดื้อตั้งรัฐบาล ‘ไม่สง่า-เจอฝ่ายค้านสายแข็ง’

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการจัดตั้งรัฐบาลว่า โดยมารยาทต้องให้พรรคที่ได้คะแนนเสียงอันดับ 1 จัดตั้งรัฐบาล ไม่ได้วัดจากตัวเลขของคะแนนนิยม เนื่องจากประเทศไทยไม่มีป๊อบปูลาร์โหวตแบบอเมริกันซึ่งเป็นระบอบประธานาธิบดี
ที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯบอกว่า ไม่จำเป็นจะต้องได้เสียงอันดับหนึ่งก็จัดตั้งรัฐบาลได้ อาจเป็นการพูดเอาดีใส่ตัวไปบ้าง เพราะในระบอบการเมืองประชาธิปไตยแบบรัฐสภา จะให้คะแนนเสียงอันดับ 1 ของจำนวนที่นั่งในสภา เป็นคนจัดตั้งก่อน ถ้าพรรคที่ได้อันดับ 1 ไม่สามารถจัดตั้งได้ ค่อยเขยิบไปพรรคอันดับรอง เพราะพรรคคะแนนเสียงข้างน้อยหากจัดตั้งรัฐบาลจะเกิดปัญหาเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาล ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อประเทศ

ผศ.ดร.บัณฑิตกล่าวว่า การจัดตั้งรัฐบาล เสียง ส.ส.ต้องเกินกึ่งหนึ่ง คือ 250 เพื่อรวมกับ 125 ส.ว. แต่ปัญหาคือในการโหวตนายกฯ ส.ว.จะร่วมด้วยหรือไม่ ดังนั้น พรรคฝั่งประชาธิปไตยต้องรวมกันให้ได้มากกว่า 376 เสียงเพื่อโหวตนายกฯโดย ไม่ต้องพึ่งเสียง ส.ว. แต่ปัญหาคือตัวเลขที่เป็นไปได้ในการจัดตั้งรัฐบาลอยู่ที่เท่าไหร่ ข้อมูลที่นั่งรวม ส.ส.อย่างไม่เป็นทางการจากเว็บไซต์ www.elect.thematter.co.th (เวลา 13.06 น. วันที่ 25 มี.ค.62 ) พรรคเพื่อไทย 135 เสียง พลังประชารัฐ 119 เสียง อนาคตใหม่ 87 เสียง ประชาธิปัตย์ 55 เสียง ภูมิใจไทย 52 เสียง เสรีรวมไทย และชาติไทยพัฒนา 11 เสียง ประชาชาติ และเศรษฐกิจใหม่ 6 เสียง รวมพลังประชาชาติไทย เพื่อชาติ และชาติพัฒนา 5 เสียง ดังนั้น ตัวแปรค่อนข้างชัดคือ ภูมิใจไทย ถ้าอนาคตใหม่รวมเพื่อไทย จะมี 222 เสียง ในขณะที่พลังประชารัฐรวมกับภูมิใจไทยได้ 171 เสียง ซึ่งยังไม่แตะ 200 เว้นแต่ว่าจะรวมกับประชาธิปัตย์

“เราจะเห็นได้ว่า ฐานเสียงของประชาธิปัตย์เท่ากับศูนย์ สะท้อนว่าคนในกรุงเทพฯไม่อยากได้การเมืองแบบเดิมที่พรรคประชาธิปัตย์ครอบงำมาหลายสิบปี พรรคประชาธิปัตย์พยายามพูดถึงผีทักษิณเพื่อกำจัดออกจากการเมืองไทย ขณะนี้สำเร็จในแง่ตัวบุคคล แต่ได้เราเห็นการบอยคอตการเลือกตั้งปี พ.ศ.2548 และบอยคอตอีกครั้งหลังยุบยสภา ปี พ.ศ.2556 และ 2557 เป็นการนำเอาการเมืองที่ควรจะอยู่ในสภามาสู่ท้องถนน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามีนัยยะสำคัญกับกระบวนการ กปปส. ทำให้เกิดรอยร้าวในพรรคประชาธิปัตย์ จนถึงขนาดต้องปฏิรูป ในขณะที่ฝั่งคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ต้องแยกออกมาเมื่อทิศทางของคุณสุเทพคือเอาทักษิณเป็นธงและมุ่งชนเรื่องนี้ ทำให้ภาพลักษณ์ของประชาธิปัตย์ที่ดีต้องดรอปลง เพราะไม่สามารถแสดงตัวตนของพรรคให้สอดรับกับความต้องการเปลี่ยนแปลงของคนได้

“การเมืองไทยที่ผ่านมาเราตกอยู่ในวังวนของความขัดแย้งและการแข่งขันทางการเมืองที่ไม่เท่าเทียมกัน พรรคประชาธิปัตย์ตกหล่มของตัวเองแทนที่จะยึดมั่นในระบอบรัฐสภาแต่กลับปฏิเสธการเมืองในระบอบรัฐสภา ทำให้คนเหนื่อยหน่ายกับการเมืองที่ไม่มีทางออก ส่วนพลังประชารัฐบริหารประเทศภายใต้การรัฐประหารมา 5 ปี ยังทำได้เท่านี้ มีกลไกรัฐ มีกฎหมายและมีอำนาจอยู่ในมือ แต่ก็ยังไม่สามารถเอาชนะพรรคเพื่อไทยหรือเด็กหนุ่มที่ไม่เคยมีประสบการณ์อย่างคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจได้ ซึ่งผมคิดว่ายังไม่แน่จริง แต่ถ้าจะดื้อจัดตั้งรัฐบาลด้วยเสียง 119 ก็ไม่สง่างาม และแน่นอนว่าจะต้องเผชิญกับฝ่ายค้านที่เข้มแข็ง”

Advertisement

ผศ.ดร.บัณฑิตยังกล่าวอีกว่า การเมืองต่อจากนี้จะยุ่งยาก เพราะไม่ว่าฝ่ายไหนได้เข้ามาก็ต้องเผชิญกับปัญหาขาดเสถียรภาพ ที่ ส.ส.ในสภาห้ามลุกไปเข้าห้องน้ำ แต่เพื่อไทยจะได้ 376 เสียง โดยไม่พึ่ง ส.ว.ได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้จะล็อบบี้ให้ ส.ว.โหวตแคนดิเดตได้หรือไม่ ในทางตรงข้าม ถ้าพลังประชารัฐดึงดันเป็นแกนนำ แม้ว่าจะมีโอกาสกว่า แต่สุดท้ายจะบริหารประเทศไม่ได้ จึงต้องรอดูตัวแปร ถ้าพลังประชารัฐร่วมกับประชาธิปัตย์จริงก็จะได้ ส.ส.มากกว่าเพื่อไทยเพียงแค่ 4 เสียงเท่านั้น

“ในรอบหลายปีเราไม่ได้ใช้สติปัญญาในการแก้ไขปัญหาประเทศ เรามีคนที่พร้อมจะบิดเบือนหลักการและทำให้วาระของฝ่ายตนได้รับการผลักดัน แต่ลืมว่ายังมีวาระประชาชนที่รอการแก้ไข ทุกครั้งที่สับสนเราต้องกลับไปหาหลักการที่ว่า ‘เสียงของประชาชนคือเสียงสวรรค์’ ไม่อย่างนั้นเราจะมีรัฐธรรมนูญมีหลักการประชาธิปไตยไปทำไม คนไทยมีอคติต่ออาชีพนักการเมือง จึงทำให้เกิดความไม่เข้าใจว่าศิลปะของการเมืองคือการสร้างความเป็นไปได้ คือการเข้ามาแก้ปัญหาสังคม จึงต้องประนีประนอมกันให้ได้ ต้องรู้จักถอยและปรองดอง นักการเมืองต้องย้ำว่าถึงเวลาคืนสู่สภาวปกติของการเมืองแล้ว ถ้ามุ่งชนะโดยไม่คำนึงถึงบ้านเมืองจะเกิดความเสียหายแน่นอน” ผศ.ดร.บัณฑิตกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image