ข่าวสาร ข้อมูล กรมสารนิเทศ บัวแก้ว วิกฤต “แย่งไมค์”

เห็น “คำแถลง” ไม่ว่าจะมาจากคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สนช. ไม่ว่าจะมาจากแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ภายหลัง คณะผู้แทนรัฐสภายุโรปเข้าพบ

แล้วก็บังเกิดอาการ “ซาโตริ”

เข้าใจว่า ทำไมสถานเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทยจึงต้องนำเอา “คำแถลง” อย่างเป็นทางการของสถานเอกอัครราชทูตเผยแพร่

เผยแพร่ “ย้ำ” และ “ซ้ำ” อีกครั้งหนึ่ง

Advertisement

เข้าใจว่า ทำไม นายกลิน ที. เดวีส์ เมื่อเดินทางไปพบ นายดอน ปรมัตถ์วินัย ณ กระทรวงการต่างประเทศ จึงต้องพก “คำแถลง” อย่างเป็นทางการของโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมกับมีคำแปลติดตัวไปด้วย

“จำเป็น” และจำเป็นอย่างยิ่ง

เพราะว่า “คำแถลง” ของคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สนช. ก็เป็นไปตามบทสรุปและมุมมองของกรรมาธิการการต่างประเทศ

Advertisement

เช่นเดียวกับ “คำแถลง” อันมาจาก “พรรคประชาธิปัตย์”

เช่นเดียวกับ “คำแถลง” อันมาจากปากโดยตรงของนายเวอร์เนอร์ แลงเก้น ประธานคณะกรรมาธิการด้านความสัมพันธ์กับประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอาเซียน รัฐสภายุโรป

2 คนยลตามช่อง คน 1 มองเห็นโคลนตม คน 1 ตาแหลมคม มองเห็นดาวอยู่พราวพราย

กระนั้น หากกล่าวสำหรับกรณีของเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย เป็นเรื่องของ “การตีความ” และ “มุมมอง” อันนำไปสู่การตีความ

เช่นเดียวกับของกรรมาธิการการต่างประเทศ สนช.

เมื่อเป็น “มุมมอง” และนำไปสู่ “การตีความ” ก็ดำรงอยู่อย่างมีลักษณะของการคัดสรรเอาตามที่ตนเองปรารถนา

แต่กรณีของ “กระทรวงการต่างประเทศ” กลับมิใช่

กรณีของกระทรวงการต่างประเทศเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “ข้อมูล” และ “ความเป็นจริง” เป็นมูลเชื้อสำคัญยิ่ง เหนือกว่ามุมมองและการตีความ

เป็นข้อมูลเกี่ยวกับ น.ส.แคทรีนา อดัมส์

ถามว่าการยืนยันสถานะของ น.ส.แคทรีนา อดัมส์ ว่าเป็น “เจ้าหน้าที่เวร” กรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกนั้นมาได้อย่างไร

มาจากการคิดนึกหรือ “มโน” เอาเองของกรมสารนิเทศ

หรือมาจากการสอบถามด้วยความรอบคอบระหว่างเจ้าหน้าที่กรมสารนิเทศกับเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน

เพราะนี่เป็นเรื่องของ “ข้อมูล” เพราะนี่เป็นเรื่องของ “ข้อเท็จจริง” สำคัญทางด้านการข่าว

กระทรวงการต่างประเทศของไทยมี “ความแม่นยำ” มากน้อยเพียงใด

สถานการณ์แย่งและยึดไมโครโฟน ระหว่าง นายดอน ปรมัตถ์วินัย กับ

นายกลิน ที. เดวีส์ กระทรวงการต่างประเทศอาจสามารถยุติและก้าวข้ามไปได้

เพื่อให้ “เรื่องอื้อฉาว” ค่อยๆ สงบและ “จบ” ลง

แต่เรื่อง “ข้อมูล” และ “ความเป็นจริง” อันดำรงอยู่ภายใน “คำแถลง” อย่างเป็นทางการ

โดยนายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เกี่ยวกับสถานะของ น.ส.แคทรีนา อดัมส์

ไม่น่าจะปล่อยให้ผ่านเลยไป เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

เพราะเมื่อ นายกลิน ที. เดวีส์ ยืนยันสถานะของ น.ส.แคทรีนา อดัมส์ ว่าเป็นโฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ

เท่ากับความเข้าใจที่ว่าเป็น “เจ้าหน้าที่เวร” หรือมิได้เป็นการแถลงอย่างเป็น “ทางการ” ของกระทรวงต่างประเทศ

ย่อม “ตกไป” โดย “อัตโนมัติ”

เท่ากับตอกย้ำว่า เป็นกรมสารนิเทศ เป็น “เจ้าหน้าที่” ของกระทรวงการต่างประเทศไทยต่างหากที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด

เรื่องนี้จึงจำเป็นต้องมีการสอบสวน ทำให้กระจ่าง

กระนั้น ไม่ว่ากรณีทูตสวีเดน ไม่ว่ากรณีทูตสหรัฐ ไม่ว่ากรณีสมาชิกรัฐสภายุโรป ที่เข้ามาสัมพันธ์กับไทย

ทั้งหมดนี้ล้วนยึดโยงอยู่กับ 1 กระบวนการทำงาน และ 1 ซึ่งสำคัญเป็นอย่างมากเป็นเรื่องของการได้มาซึ่ง

“ข่าวสาร” และ “ข้อมูล” ระหว่างกันและกันว่ามีประสิทธิภาพและมีความแม่นยำมากน้อยเพียงใด

รู้เขา รู้เรา ร้อยศึกก็บ่พ่าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image