กกต.อ่วม-เปิดผล‘ช้า’ พท.-พปชร.ชิงตั้งรบ. ลุ้น‘ตัวเลข’พลิกได้อีก

การเลือกตั้ง 24 มีนาคมผ่านไปพร้อมกับเสียงวิจารณ์การทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. อย่างรุนแรง
สัญญาณไม่สวยงามของ กกต.เริ่มต้นมาตั้งแต่การจัดเลือกตั้งนอกประเทศที่มีการใช้ลังกระดาษมาทำคูหาลงคะแนน ข่าวการไปดูงานต่างประเทศ มาจนกระทั่งการใช้สิทธิล่วงหน้า 17 มี.ค. ที่มีการแจกบัตรเลือกตั้งผิดเขต
รวมถึงบัตรเลือกตั้งนิวซีแลนด์ 1,500 ใบ ที่บินจากเวลลิงตันถึงสุวรรณภูมิ แต่ไม่มีใครไปรับมาเข้าขั้นตอน ก่อนกลายเป็น “บัตรเสีย” ไป
การเลือกตั้ง 24 มี.ค. เป็นไปตามระบบใหม่ การคิดคะแนนใหม่ กำหนดเวลาลงคะแนน ขยายจาก 7 ชั่วโมง จาก 08.00-15.00 น. เป็น 9 ชั่วโมง จาก 08.00-17.00 น
บรรยากาศการลงคะแนนคึกคักพอสมควร คนรุ่นใหม่ออกมาใช้สิทธิหนาตาชัดเจน หลังปิดหีบในเวลา  17.00 น. ประชาชนทั้งประเทศ ตั้งหน้ารอผลการนับคะแนนโดย กกต. ที่มีการกระจายข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ให้สื่อโดยเฉพาะทีวี
การเลือกตั้งที่ผ่านๆ มา การนับคะแนนจะกระทำอย่างต่อเนื่อง จนทราบภาพรวม อาทิ จำนวนผู้มาใช้สิทธิ บัตรเสีย ผลคะแนนในแต่ละเขต
เย็น-ค่ำวันที่ 24 มี.ค. ประชาชนเฝ้ารอหน้าจอทีวีและอินเตอร์เน็ต ติดตามผลการนับคะแนน ที่เกิดความเร้าใจ เมื่อคะแนนของพรรคหลัก 2 พรรคจาก 2 ขั้ว คือ พรรคเพื่อไทย กับพรรคพลังประชารัฐ มีจำนวน ส.ส.สูสีคู่คี่ ผลัดกันนำ ผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะ
ขณะที่ตัวเลขของพรรคน้องใหม่อย่าง “อนาคตใหม่” มาแรงเกินคาด
ที่ล้มเหลวอย่างผิดคาด คือพรรคประชาธิปัตย์ ที่เพลี่ยงพล้ำ เสียที่นั่งในภาคใต้ และ กทม.ให้กับพรรคพลังประชารัฐ
ส่งผลให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ที่เคยบอกว่า ถ้าต่ำร้อยจะลาออก ได้ลาออกจากหัวหน้าพรรคจริงๆ ในคืนวันนั้นเอง
ยังไม่ทันทราบผลอย่างชัดเจน ว่าพรรคการเมืองในแต่ละขั้วได้ ส.ส.เท่าไหร่กัน กกต.ยุติการแถลง แล้วแจ้งว่าจะแถลงข่าวตอนเช้า
แต่ถึงตอนเช้า กกต.ขอเลื่อนไปแถลง 16.00 น.แทน
ในเวลา 16.00 น. มีการเปิดเผยรายชื่อ ผู้ได้รับคะแนนสูงสุดในแต่ละเขตเลือกตั้ง รวม 350 เขต ซึ่งเท่ากับผลไม่เป็นทางการของ ส.ส.เขต 350 คนนั่นเอง ส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ยังไม่มีการคำนวณออกมา

เวลาผ่านไป 2-3 วัน ตัวเลข ส.ส.ยังไม่นิ่ง ทั้งที่หีบบัตรคะแนนถูกเปิดนับแล้ว ตั้งแต่คืนวันที่ 24 มี.ค. ทำให้เกิดความสับสน และข้อสงสัยในความโปร่งใสของการนับคะแนนเลือกตั้ง
สำหรับพรรคการเมืองต่างๆ ยิ่งหนัก เพราะจะต้องเตรียมตัววางแผนจัดตั้งรัฐบาล
ในการแถลงหลังเลือกตั้ง กกต.ประกาศว่า มีผู้มาใช้สิทธิเพียง 64-65% จากเดิมที่คาดไว้ 80%
วันที่ 27 มี.ค. พรรคเพื่อไทย ซึ่งได้ ส.ส.จำนวนมากสุด 137 เสียง เป็น ส.ส.เขตทั้งหมด ประกาศเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล รวบรวมพรรคต่างๆ 7 พรรค ได้แก่ เพื่อไทย อนาคตใหม่ เสรีรวมไทยประชาชาติ เศรษฐกิจใหม่ เพื่อชาติ และพลังปวงชนไทย ลงสัตยาบันสนับสนุน คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรี
ส่วนทางขั้วพรรคพลังประชารัฐ ยกเอาคะแนนรวม หรือป๊อปปูลาร์โหวต 7.9 ล้านเสียง มายืนยันว่า ประชาชนลงคะแนนให้พรรคเพื่อไทย ที่ได้ 7.4 ล้านเสียง ดังนั้นมีความชอบธรรมที่จะรวบรวมพรรคการเมืองจัดตั้งรัฐบาล สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯอีกสมัย
แต่จะขอรอผลการเลือกตั้งเป็นทางการไปก่อน
ในขั้วของ พปชร. ประกอบด้วย พปชร., ประชาธิปัตย์, ภูมิใจไทย, ชาติไทยพัฒนา, รวมพลังประชาชาติไทย, ชาติพัฒนา, พลังท้องถิ่นไท,รักษ์ผืนป่าประเทศไทย รวมจำนวนเสียง ใกล้เคียงกับอีกขั้ว
อย่างไรก็ตาม ในขั้วพรรคเพื่อไทย ต่อมามีข่าวสะพัดว่าพรรคเศรษฐกิจใหม่ของ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์    ไม่ยืนยันมั่นเหมาะว่าจะเข้าร่วม ส่วนขั้ว พปชร.มีปัญหาที่พรรค ปชป. แม้แกนนำ อาทิ นายกรณ์ จาติกวณิช นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรค มีความโน้มเอียงอยากเข้าร่วมรัฐบาล สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯต่อ
แต่ผู้อาวุโส นำโดย นายชวน หลีกภัย นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ยังเห็นตรงกันข้าม
ทำให้ ปชป.ต้องกลับมาเคลียร์ปัญหาภายในกันใหม่ ด้วยการเลือกคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ ที่สิ้นสภาพตาม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าไป
กว่าจะมีคำตอบอย่างเป็นทางการ คาดว่าน่าจะเป็นเดือนพฤษภาคม หลังจาก กกต.ประกาศผลเลือกตั้ง ส.ส.อย่างเป็นทางการ

วันที่ 28 มี.ค. เวลาผ่านไป 4 วัน หลังจากลงคะแนนเลือกตั้ง กกต.เปิดเผยตัวเลขการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการครบ 100%
ตัวเลขผู้มาใช้สิทธิ เปลี่ยนจาก 65% เป็น 74.69% คิดเป็นจำนวนผู้มาใช้สิทธิงอกขึ้นมาจากเดิม 4.4 ล้านคน
ตัวเลขคะแนนรวมของพรรคพลังประชารัฐ เพิ่มจาก 7.9 ล้านคะแนน เป็น 8.4 ล้านคะแนน พรรคเพื่อไทย  จาก 7.4 ล้านคะแนน เป็น 7.9 ล้านคะแนน
พรรคอนาคตใหม่ เพิ่มเป็น 6.2 ล้านคะแนน พรรค ปชป. เป็น 3.9 ล้านคะแนน ภูมิใจไทย เป็น 3.7 ล้านคะแนน
ส่วนจำนวน ส.ส.เขต กับบัญชีรายชื่อ ที่คำนวณใหม่ เรียงตามลำดับ คือ อันดับ 1.เพื่่อไทย 137 ส.ส.เขต ไม่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ
อันดับ 2.พลังประชารัฐ 97 ส.ส.เขต กับ 19 บัญชีรายชื่อ รวมเป็น 116 เสียง
อันดับ 3 อนาคตใหม่ ส.ส.เขต 30 คน บัญชีรายชื่อ 50 คน รวมเป็น 80 คน
อันดับ 4.ประชาธิปัตย์ ส.ส.เขต 33 คน กับบัญชีรายชื่อ 19 คน รวมเป็น 52 คน
อันดับ 5 ภูมิใจไทย ส.ส.เขต 39 คน บัญชีรายชื่อ 12 คน รวมเป็น 51 คน
นอกจากนี้ เป็นพรรคที่มี ส.ส.เขตและปาร์ตี้ลิสต์ 10 คนลงไปจนถึง 1 คน ได้แก่ เสรีรวมไทย 10,              ชาติไทยพัฒนา 10, ประชาชาติ 7, เศรษฐกิจใหม่ 6, เพื่อชาติ 5, รวมพลังประชาชาติไทย 5, ชาติพัฒนา 3, พลังท้องถิ่นไท 3, รักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2
พรรคที่มี 1 เสียง 13 พรรค ได้แก่ พลังปวงชนไทย, พลังชาติไทย,ประชาภิวัฒน์, พลังไทยรักไทย,             ไทยศรีวิไลย์, ประชานิยม, ครูไทยเพื่อประชาชน, ประชาธรรมไทย, ประชาชนปฏิรูป, พลเมืองไทย, ประชาธิปไตยใหม่, พลังธรรมใหม่ และไทรักธรรม

ด้วยระบบการเลือกตั้งที่ตั้งเพดานจำกัดให้พรรคใหญ่ และส่งเสริมพรรคขนาดกลาง ขนาดเล็ก ปรากฏผลชัดตามที่ดีไซน์ไว้แล้ว
ผลที่ตามมาคือ การจัดตั้งรัฐบาลทำได้ยาก เพราะมีเสียงสูสีกันระหว่าง 2 ขั้ว
จากนี้ จนถึง 9 พ.ค. อันเป็นวันสิ้นสุดกรอบเวลา 150 วัน ที่จะต้องจัดการเลือกตั้งและประกาศผลการเลือกตั้ง
กกต.จะดำเนินการสะสางข้อร้องเรียนต่างๆ ในการเลือกตั้ง ซึ่งอาจมีรายการเลือกตั้งซ่อมในหลายพื้นที่
ตัวเลข ส.ส.ในแต่ละพรรค จะเปลี่ยนแปลงไปอีกรอบ
ขณะเดียวกัน เสียง ส.ส.ที่ชนะกันไม่ขาด อาจจะทำให้ต้องพึ่งพาบริการของ “งูเห่า” จากต่างพรรคต่างขั้ว
แล้วไปสรุปตัวเลขอย่างเป็นทางการกันอีกครั้งในเดือน พ.ค. แล้วดำเนินการเลือกนายกฯ ในที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งจะมี ส.ว. 250 คนจากการแต่งตั้งของ คสช.เข้าร่วม
ถึงจุดนั้น ใครจะได้เสียงสนับสนุนเป็นนายกฯ มากกว่ากัน ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ ที่ พปชร.ส่งประกวด       กับคุณหญิงสุดารัตน์จากขั้วเพื่อไทย น่าจะคาดเดาได้ไม่ยาก

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image