ที่เห็นและเป็นไป : สวรรค์ของ‘งูเห่า’

ความหวังที่รอกันมา 5 ปีว่าหลังเลือกตั้งบรรยากาศทางการเมืองของประเทศไทยเราจะดีขึ้น ในระดับมีศักยภาพพอที่สร้างความเชื่อมั่นต่อนานาชาติที่จะเปิดให้พัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน ดูจะเกิดความไม่มั่นใจเสียแล้วว่าจะเป็นไปอย่างที่หวัง

การเลือกตั้งที่วางกติกาไว้อย่างซับซ้อน มีวาระซ่อนเร้นในการจำกัดบทบาทนักการเมือง ก่อความยุ่งยากขึ้นมาเพราะทำท่าว่าจะไม่มีพรรคใดตั้งรัฐบาลได้

มองในมุมหนึ่งดูเหมือนจะเป็นไปตามที่ออกแบบไว้ คือที่สุดแล้วต้องอาศัยเสียงของ “250 ส.ว.” เข้ามาร่วมโหวตว่าจะให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี

แต่หากมองยาวออกไป แม้จะได้นายกรัฐมนตรีตามปรารถนาของผู้มีอำนาจ แต่การทำงานซึ่งในที่สุดแล้วจะต้องอาศัยเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ในภาวการณ์ที่เสียงแยกเป็น 2 ฝ่ายแบบก้ำกึ่งอย่างที่รับทราบกัน การจัดการตามกรอบของระบบรัฐสภาจะมีปัญหามากมาย

Advertisement

มีแนวโน้มสูงมากที่ไม่ว่าเรื่องใดก็ตามที่ต้องเข้าพิจารณาในรัฐสภา จะต้องล็อบบี้กันอย่างเข้มข้น เพื่อหาทางล็อกเสียงสนับสนุน

ยิ่งเป็นการออกกฎหมายที่จำเป็นสำหรับการบริหาร การขอเสียงสนับสนุนจะยิ่งต้องออกแรงในการต่อรองค่อนข้างหนัก

ไม่มีทางที่การทำงานของรัฐบาลจะเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพ

Advertisement

กติกาโครงสร้างอำนาจที่เกี่ยวกับนักการเมือง และพรรคการเมือง ซึ่งเปิดทางให้ ส.ส.ไม่จำเป็นต้องโหวตตามมติพรรค และหากพรรคลงโทษ นักการเมืองสามารถย้ายพรรคได้โดยอิสระ โดยไม่ต้องเลือกตั้งใหม่ ทำให้พรรคยากจะควบคุม ส.ส.ให้ปฏิบัติตามการตัดสินใจของพรรค

“งูเห่า” หรือ ส.ส.ที่จะเลือกเดินไปคนละทางกับมติพรรค จะเกิดขึ้นง่ายดาย

การเมืองจะกลายเป็น “ยุคสมัยที่งูเห่ารุ่งเรือง”

แต่ละเรื่องที่ต้องใช้เสียงในสภาผู้แทนราษฎรโหวตให้จะต้องลงทุน ลงแรงมากมายเสียงชักจูงให้เป็นไปตามที่ต้องการ

ความยุ่งยากจะเกิดขึ้นไม่หยุดหย่อน

นั่นคือเรื่องราวที่จะเป็นไป ไม่ว่าฝ่ายไหนได้เป็นรัฐบาล

หากอ่านเกมด้วยความเชื่อว่า “คสช.” ไม่มีวันปล่อย เพราะหมายถึง “เสียของ” ที่ยอมให้เกิดขึ้นซ้ำอีกไม่ได้

โดยดูจากท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ออกมาพูดถึง “คลื่นใต้น้ำ” ว่ายังมีอยู่

และท่าทีการแถลงของโฆษกจากกองทัพที่ออกมาเตือน “พรรคฝ่ายแนวร่วมประชาธิปไตย” ว่า “การจับมือตั้งรัฐบาล” ให้ระวังว่า “จะเป็นการสร้างความแตกแยก”

อันเป็นสัญญาณว่า “พรรคการเมือง” ที่งอกมาจากคณะรัฐประหารไม่มีทางยอมให้ฝ่ายตรงกันข้ามจัดตั้งรัฐบาลได้โดยง่าย

แนวโน้มว่าความพยายามที่จะส่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สู่การเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป มีความเป็นไปได้สูง

หากเป็นเช่นนั้น ความน่าสนใจจะอยู่ที่ “การฟอร์มทีมคณะรัฐมนตรี”

เนื่องจาก “พรรคพลังประชารัฐ” ซึ่งเป็นฐานใหญ่ของ “พล.อ.ประยุทธ์” มีโครงสร้างอันประกอบด้วยกำลังหลักคือ “นักการเมืองที่ต่อยอดมาจากกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่น” เป็นหลัก

โฉมหน้าคณะรัฐมนตรีจะหนีไม่พ้นคนเหล่านี้ อันเป็นภาพเก่าๆ ที่กระตุ้นให้นึกถึง ยุคสมัยก่อนหน้านั้น ที่ถูกโจมตีว่าตั้งขึ้นด้วยเงื่อนไข “แบ่งผลประโยชน์” มากกว่าความรู้ ความสามารถและอุดมการณ์

ซึ่งสภาวะเช่นนี้เป็นเหตุผลสำคัญที่กองทัพใช้อ้างเป็น “ความชอบธรรมในการทำรัฐประหาร”

แต่กลายเป็นว่า การตั้งรัฐบาลที่กำลังจะเกิดขึ้น กลับอาศัยภาพเช่นนั้นมาอ้างเป็นความชอบธรรมในการช่วงชิงอำนาจ

การช่วงชิงโอกาสในอำนาจระหว่างคนในพรรคหรือแนวร่วมเดียวกัน จะเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง เพราะทุกกลุ่มล้วนต้องทำทุกอย่างเพื่อรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มตัวเองไว้

ความยุ่งยากในการต่อรองจะเริ่มทันทีเมื่อมีการฟอร์มคณะรัฐมนตรี

และภาพที่ย้อนแย้ง และดูอิหลักอิเหลื่อ แม้ผู้มีอำนาจจะไม่ให้ความสำคัญที่จะต้องใส่ใจ ด้วยขอเพียงให้ได้อำนาจแล้วจบกัน จะไม่รู้สึกละอายแก่ใจ ที่จะไม่เรียกสภาพเช่นนั้นว่า “เสียของ”

แต่เชื่อว่า ผู้ที่สนับสนุนจำนวนหนึ่งที่ยังไม่มืดบอดด้วยอคติ ยอมมองเห็นและรู้สึกถึงความน่าละอายนั้น

ความอึดอัด ขัดแย้งจะเกิดขึ้นมากมาย โดยต่างฝ่ายต่างมีเหตุผลที่อธิบายได้ถึงความชอบธรรมที่ไม่เห็นด้วยกับมติพรรค และโหวตไปอีกทางโดยต่างมีผู้สนับสนุนพร้อมเพรียง

และนั่นหมายถึงการเมืองไทยจะเข้าสู่

“ยุคงูเห่า” รุ่งเรือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image