เหลียวหลัง-แลหน้า 2ปีรัฐประหาร

(จากซ้าย) พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์, พีระศักดิ์ พอจิต, วันชัย สอนศิริ

หมายเหตุ – เป็นมุมมองสถานการณ์ประเทศไทยของแม่น้ำสายต่างๆ ภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังครบรอบ 2 ปีการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์

รองหัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ ส่วนงานรักษาความสงบ สำนักงานเลขาธิการ คสช.

หลังจาก คสช.เข้ามาควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ได้กำหนดโรดแมปให้ส่วนราชการมีกรอบการดำเนินการ 3 ระยะ คือระยะแรก 22 พฤษภาคม ถึง 4 กันยายน 2557 เป็นการยุติความขัดแย้งรักษาความสงบเรียบร้อย พร้อมทั้งแก้ไขปัญหาสำคัญเร่งด่วนของประชาชน ระยะที่สองคือ 4 กันยายน 2557 ถึงกรกฎาคม 2560 เป็นการวางกรอบกติกาในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นสากล อีกทั้งต้องสอดคล้องกับความเป็นไทย ประกอบกับการขจัดความขัดแย้งและให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักทางการเมืองที่สะสมมานาน เพื่อนำไปสู่การวางรากฐานที่มั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืนในประเทศ และระยะที่สาม เป็นการดำเนินการหลังจากที่ได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามกรอบของรัฐธรรมนูญใหม่ พร้อมทั้งต้องมีการปฏิรูปที่ครอบคลุมทุกมิติในการพัฒนาและต้องเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

Advertisement

อยากจะฉายภาพผลงาน 2 ปีที่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มงานใหญ่ๆ 1.การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่สำคัญ อาทิ การยุติความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด การสร้างความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน การกวาดล้างอาวุธสงครามและวัตถุระเบิด ตลอดจนการสร้างความปรองดองของคนในชาติ รวมถึงการเร่งขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดินให้เดินหน้าอย่างต่อเนื่องไม่ให้หยุดชะงัก

2.การแก้ไขปัญหาความสำคัญในห้วงเวลาต่อมาอันได้แก่การกวาดล้างอาวุธสงคราม ยาเสพติด บ่อนการพนัน การบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าและการทวงคืนผืนป่า การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย การจัดระเบียบชายหาดให้มีความสวยงามไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การจัดระเบียบรถตู้ที่รถสาธารณะทั้งแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ และรถตู้ให้เป็นไปตามกรอบกฎหมายที่กำหนด และอื่นๆ อีกมากมาย โดยที่ผมกล่าวไปเป็นการแก้ไขปัญหาให้บังเกิดผลอย่างรูปธรรมที่ต่อเนื่อง

3.การดำเนินการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยแบ่งออก ดังนี้ ด้านการรักษาความสงบเรียบร้อย การขอความร่วมมือเกษตรกรให้ช่วยแก้ไขปัญหาภัยแล้งด้วยการประหยัดการใช้น้ำ การขุดลอกแหล่งน้ำคูคลอง พร้อมทั้งจัดทำแก้มลิง แก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ การอำนวยความสะดวกให้พี่น้องประชาชนในช่วงเทศกาล และการปราบปรามผู้มีอิทธิพล

Advertisement

4.การดำเนินการสนับสนุนรัฐบาลเพื่อวางรากฐานประเทศในระยะยาว โดยมีการส่งเสริมการจัดตลาดริมคลองผดุงกรุงเกษมข้างทำเนียบรัฐบาล การจัดพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ การปรับปรุงระบบการศึกษา การปราบปรามการทุจริต และประพฤติมิชอบในระบบราชการ การส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ การกวดขันสถานบริการ และผู้ประกอบการที่ปล่อยปละละเลยจำหน่ายแอลกอฮอล์ การแก้ไขปัญหาแข่งรถจักรยานยนต์ในพื้นที่ถนนสาธารณะ การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว 20 ปี การเพิ่มบทบาทศูนย์ดำรงธรรมทั้งในระดับจังหวัดและอำเภอ อีกทั้งการผลักดันหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้กับพี่น้องประชาชน

นี่เป็นเพียงตัวอย่างของการทำงานของ คสช.ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งคิดว่าเราประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และระยะเวลาที่เหลืออยู่ว่าจะไปถึงการเลือกตั้งคือเป็นห่วงเวลาอันสำคัญที่เราจะต้องเร่งดำเนินการวางรากฐานให้ประเทศชาติเกิดความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนตามกรอบโรดแมป

ขณะเดียวกันมาตรการเข้มงวดอะไรต่างๆ ต่อผู้ที่แสดงความคิดเห็น ยืนยันว่าถ้าอะไรไม่เกินกว่ากฎหมาย เราจะเน้นการพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจเป็นหลัก แต่ถ้าอะไรก็ตามที่ไปแล้วละเมิดเกินกว่ากฎหมายกำหนด ต้องว่ากันไปตามกระบวนการกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เวลาอีกไม่กี่เดือนจะมีการทำประชามติแล้ว และใกล้จะมีการเลือกตั้ง

เพราะฉะนั้น คสช.ต้องการให้พี่น้องประชาชนมีความเข้าใจกรอบระยะเวลาและกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ ซึ่งขอย้ำว่าจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากนี้เลย

พีระศักดิ์ พอจิต

รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2

สนช.ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติได้ผลิตงานออกกฎหมายได้เยอะเกือบ 200 ฉบับแล้ว ในระยะเวลาเพียง 2 ปี เพราะด้วยเหตุที่ว่า สนช.เป็นสภาเดียวทำหน้าที่ทั้ง ส.ส.และ ส.ว. ไม่มีสมัยประชุม ขณะเดียวกันก็ยังมีข้อบังคับการประชุมที่เข้มงวด สมาชิกต้องมีการลงชื่อก่อนเข้าประชุมทุกครั้ง และห้ามขาดการลงมติเกินกว่าที่ข้อบังคับกำหนดด้วย ดังนั้น จึงทำให้ สนช.มีเวลาในการประชุมพิจารณากฎหมายอย่างต่อเนื่อง

สำหรับกฎหมายบางส่วนที่ สนช.ออก จะมีเนื้อหาในการอำนวยความสะดวกให้แก่ข้าราชการ เพราะเป็นสิ่งที่คั่งค้างมานานแล้ว ขณะเดียวกันก็คำนึงถึงประโยชน์พี่น้องประชาชนด้วย เช่น พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ เป็นต้น โดย สนช.จะนำข้อมูลจากการที่สมาชิกลงพื้นที่ออกไปสัมผัสกับพี่น้องประชาชนตามพื้นที่ต่างๆ ตามโครงการ สนช.พบประชาชนมาใช้สำหรับการออกกฎหมายด้วย

;;9

ขณะเดียวกัน สนช.ยังรับฟังความเดือดร้อนในแต่ละพื้นที่กลับมา และเป็นคนกลางเพื่อส่งไปให้ฝ่ายบริหาร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหาให้พี่น้องประชาชน โดยในครั้งต่อไปในระหว่างวันที่ 28-29 พฤษภาคมนี้ ผมก็จะนำสมาชิก สนช.ลงพื้นที่ในจังหวัดฉะเชิงเทรากับจังหวัดนครนายกต่อไป ซึ่งเวลาที่เหลืออยู่ สนช.จะพยายามไปให้ครบทุกพื้นที่ทั่วประเทศด้วย

นอกจากนี้ สนช.ยังมีหน้าที่ในการตั้งกระทู้ถาม ซึ่งเป็นบทบาทที่จะให้ทางรัฐบาลได้มาตอบข้อกระทู้ของสมาชิกเพื่อให้พี่น้องประชาชนที่ติดตามได้รับทราบว่า งานของรัฐบาลหรือการแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนมีความคืบหน้าไปอย่างไรบ้าง โดยข้อมูลทั้งหมด ไม่ว่าจากการลงพื้นที่รับฟังความเห็นของประชาชน การรับฟังข้อกระทู้ที่ผ่านมา หรือข้อมูลทางวิชาการต่างๆ สนช.ในฐานะผู้รับผิดชอบออกกฎหมายก็จะนำเสียงสะท้อนต่างๆ มาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงงานของเราอยู่เสมอๆ

อย่างไรก็ตาม หน้าที่ของ สนช.หลังจากนี้ โดยเฉพาะในช่วงปลายของโรดแมปที่ คสช.ได้วางไว้ นั่นคือ การพิจารณาออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูป และที่สำคัญก็คือ การพิจารณาออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ที่ สนช.จะต้องรับไม้ต่อนำมาพิจารณา ซึ่งขณะนี้ สนช.ได้พูดคุยวางแผนงาน และเตรียมบุคลากรบางส่วนที่เข้ามารับผิดชอบงานในส่วนนี้ไว้บ้างแล้ว เพื่อเป็นกรอบงานของ สนช.ในห้วงเวลาที่เหลืออยู่และทันตามระยะของโรดแมปที่ คสช.ได้วางไว้

วันชัย สอนศิริ

สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)

ผลงานสำคัญหลังจากรัฐประหาร 1.เรื่องของความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย นี่คือจุดแข็ง เพราะก่อนหน้านี้มีความแตกแยก มีการชุมนุม แต่วันนี้เรามีความสงบ การชุมนุมประท้วง คสช.สามารถจัดการได้ 2.เรื่องการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น ทั้งข้าราชการ นักการเมือง คสช.ระงับยับยั้งได้อย่างมีประสิทธิผล 3.การวางกฎกติกาต่างๆ ในการบริการประชาชนให้มีความสะดวกรวดเร็ว ไม่ให้มีปัญหาในการเข้าถึงหรือการติดต่อราชการ นี่คือการวางรากฐานปรับเปลี่ยนการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งประชาชนได้รับความสะดวกและตรวจสอบได้ 4.การปูฐานเพื่อเตรียมการเลือกตั้ง ซึ่งมีการแก้กฎ กติกา เพราะปัญหาใหญ่ของบ้านเราคือนักการเมืองที่ทุจริตและไม่เที่ยงธรรม คสช.กำลังปูรากฐานเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริต โดยมีรัฐธรรมนูญ กำจัดนักการเมืองชั่ว ไม่ให้เข้ามาเหยียบหรือมีอำนาจ

ส่วนเรื่องที่ยังไม่เป็นรูปธรรมมากนัก 1.การปฏิรูปตำรวจ ยังไม่ได้ปฏิรูปโครงสร้างสำคัญ เช่น การกระจายอำนาจ การให้ประชาชนมีส่วนร่วม เรื่องนี้ประชาชนเฝ้ามอง แต่ยังไม่ได้ 2.การปรองดองสมานฉันท์ นายกรัฐมนตรีบอกว่า จะเริ่มต้นจริงจังในปี 2560 ต้องรอดูต่อไป แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มองว่าประเด็นนี้ยังไม่มีอะไรให้เห็น ส่วนประเด็นข้อท้วงติงเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น วันนี้ประเทศไทยไม่ได้ใช้อำนาจปกติ จะให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยทุกอย่างคงเป็นไปไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบ ผู้ที่ได้รับผลกระทบคือฝ่ายตรงข้าม คสช.หรือคนที่ท้าทาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image