บทบาท พลังดูด อนาคต พลังประชารัฐ อนาคต ‘คสช.’

ทำไมเมื่อมีข่าวพรรคพลังประชารัฐพยายามจะดึงตัวว่าที่ ส.ส.ไม่ว่าจะจากพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะจากพรรคอนาคตใหม่สังคมจะเกิดความคล้อยตามโดยอัตโนมัติ

แม้จะมีเสียงปฏิเสธจากพรรคพลังประชารัฐ

คำตอบ 1 มาจากสภาพความเป็นจริงที่พรรคพลังประชารัฐแม้จะได้คะแนนรวมอย่างที่เรียกว่าป๊อปปูลาร์โหวตสูงถึง 8.3 ล้านเสียง

แต่จำนวน ส.ส.กลับเป็นรองพรรคเพื่อไทย

Advertisement

หากพรรคพลังประชารัฐต้องการจะรวบรวมเสียงให้ได้ 251 เสียง โดยพื้นฐานนอกจากการเป็นพันธมิตรกับพรรคการเมืองอื่นย่อมมีความจำเป็นต้องดึงตัวว่าที่ ส.ส.มาเป็นพวกของตน

ตรงนี้แหละที่สำคัญในแง่ของ “คณิตศาสตร์” การเมือง

ขณะเดียวกัน คำตอบ 1 ซึ่งสำคัญก็คือ การสร้างพรรคของพรรคพลังประชารัฐมีจุดเริ่มต้นมาจากการใช้ “พลังดูด”

Advertisement

กระบวนการของ “พลังดูด” นั่นแหละที่กลายเป็น “ภาพลักษณ์” พรรคพลังประชารัฐ

สภาพความเป็นจริงที่ยอมรับร่วมกันก็คือ ไม่ว่าการใช้ “พลังดูด” ไม่ว่าการใช้อามิสและบรรณาการในการ “ดึง” ตัวว่าที่ ส.ส.เป็นปัญหาอย่างสูง

เป็นปัญหาในเรื่อง “ธรรมาภิบาล”

เสียงตำหนิติฉินในกรณีอย่างนี้มิได้เป็นเรื่องซึ่งเพิ่งเกิดขึ้น ตรงกันข้าม ตั้งแต่ยุคพรรคมนังคศิลากระทั่งยุคพรรคสามัคคีธรรมสังคมก็ไม่ยอมรับ

จึงได้กลายเป็น “มาร” เป็น “เทพ” เมื่อเดือนพฤษภาคม 2535

กล่าวสำหรับพรรคพลังประชารัฐเมื่อใช้บริการของ “กลุ่มสามมิตร” ประสานกับอำนาจทางการเมืองการทหาร

ถึงขั้นเปิด “ทำเนียบรัฐบาล” ในการดึงคนเข้าร่วม

ไม่ว่าซุ้มเมืองชล ไม่ว่าซุ้มปากน้ำ ไม่ว่าซุ้มเมืองกาญจน์

เมื่อพัฒนาจาก “กลุ่มสามมิตร” มาเป็นหัวใจของพรรคพลังประชารัฐ การใช้ “พลังดูด” ภายหลังการเลือกตั้งจึงกลายเป็น BRAND หนึ่งอย่างตรึงตรา

บั่นทอนภาพลักษณ์ และก่อให้เกิด “วิกฤตศรัทธา” ในทางการเมือง

ประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ สภาพทางการเมืองอย่างที่กำลังเกิดและเห็นกันในห้วงหลังการเลือกตั้งเช่นนี้อยู่ในความคาดหมายหรือไม่

เด่นชัดยิ่งว่า มีเสียง “เตือน” มาอย่างยาวนาน

ยาวนานตั้งแต่เริ่มร่างรัฐธรรมนูญโดย นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ต่อเนื่องมายังการลงมือร่างโดย นายมีชัย ฤชุพันธุ์

เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่มุ่งทำลายพรรคการเมือง

เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้ผลการเลือกตั้งดำเนินไปอย่างกระจัดกระจายอันเป็นปัจจัยก่อเกิดให้มีการซื้อตัวว่าที่ ส.ส.ได้อย่างง่ายดาย

เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่ให้เอกสิทธิ์ ส.ส.ซึ่งพร้อมในการขายตัว

มีหรือที่มือกฎหมายอย่าง นายโภคิน พลกุล จะมองไม่ออก มีหรือที่ผู้จัดเจนในทางการเมืองอย่าง            นายจาตุรนต์ ฉายแสง จะแทงไม่ทะลุ

มีก็แต่คนในพรรคพลังประชารัฐเท่านั้นที่มองไม่เห็น “ปัญหา”
บางคนอาจเรียกว่าสภาพการณ์ทางการเมือง ณ เบื้องหน้า คือ “เดดล็อก” บางคนอาจสรุปด้วยความเชื่อมั่นว่ากำลังก้าวไปสู่ “ทางตัน”

เมื่อมีการใช้ “พลังดูด” ก็ย่อมมีการ “ซื้อตัว”

นี่คือรากฐานการจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม อันมีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำในการขับเคลื่อน

อนาคตของรัฐบาลแบบนี้จะเป็นเช่นใด ย่อมไม่ยากที่จะคาดทำนาย

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image