ปธ.กกต.ติวเข้ม ซักซ้อมการทำงานคณะอนุวินิจฉัยคดีเลือกตั้ง ขออย่าหวั่นไหว แรงเสียดทาน

“ประธาน กกต. ” ติวเข้มซักซ้อมการทำงานคณะอนุวินิจฉัยคดีเลือกตั้ง อย่าหวั่นไหวต่อแรงเสียดทาน ยอมรับทำงานอาจไม่ถูกใจทุกคน ขณะที่”ปกรณ์” แจงกฎหมายบังคับให้ กกต.ต้องไม่นับคะแนนบัตรเลือกตั้งนอกราชฯนิวซีแลนด์ เปรียบเหมือนส่งชิงโชคหลังจับรางวัลไปแล้ว

เมื่อเวลา 09.45 น. วันที่ 2 เมษายน ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง เป็นประธานพิธีเปิดการอบรมมอบนโยบายการประชุมชี้แจงขั้นตอนการดำเนินการของคณะอนุกรรมการวินิจฉัยปัญหาและข้อโต้แย้ง โดยนายอิทธิพร กล่าวว่า สำหรับอนุกรรมการฯ ที่กกต.ตั้งขึ้นเป็นบุคคลที่มีความเป็นกลาง มีความซื่อสัตย์ สุจริต ซึ่งการจัดประชุมชี้แจงในครั้งนี้เพื่อเป็นการซักซ้อมการปฎิบัติงานให้มีเอกภาพ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งกกต.มั่นใจว่าจากความรู้ความสามารถและประสบการณ์ของแต่ละคนจะสามารถปฎิบัติหน้าที่ได้เป็นอย่างดี การเลือกตั้งที่ผ่านพ้นไป สังคมคาดหวังมายังกกต. โดยอยากทราบผลการเลือกตั้งอย่างรวดเร็ว ซึ่งก็อาจจะไม่ได้รวดเร็วทันใจ ตามที่หวัง เพราะเราต้องทำหน้าที่ด้วยความรอบคอบ ถูกต้อง ด้วยความสุจริต ด้วยความเที่ยงธรรมและชอบด้วยกฎหมาย

นายอิทธิพร กล่าวว่า สำหรับแนวทางการทำงานและหลักการทำงานที่เห็นว่าจำเป็นที่จะใช้ในการทำงานของทุกคน โดยการทำงานต้องมีคุณภาพ คุณธรรม และความรวดเร็ว คุณภาพคือมีความรู้รอบด้าน ถูกต้องครบถ้วน มีมาตรฐานในเนื้อหาสาระของงานที่ทำ ส่วนคุณธรรมคือ ความเป็นกลาง ปราศจากอคติ กล้าหาญ ยึดความถูกต้องตามตัวบทของกฎหมาย บนพื้นที่ฐานของหลักนิติธรรมคือ หลักความเป็นธรรมตามกฎหมาย ไม่หวั่นไหวต่อแรงเสียดทาน หรืออำนาจอิทธิพลใดๆ หากทำได้เช่นนี้ ก็ขอให้มั่นใจว่า คุณธรรมจะเป็นเกราะป้องกันตัว และองค์กรกกต.ก็จะสนับสนุนปกป้องการทำงานของท่านอย่างเต็มที่ ส่วนคำว่ารวดเร็ว คือ ไม่ล่าช้า ความรวดเร็วในกรณีนี้คือทำเสร็จตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด เพราะความล่าช้าคือ ความอยุติธรรม

ด้านนายปกรณ์ มหรรณพ กรรมการกกต. กล่าวชี้แจงเรื่องบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรจากนิวซีแลนด์ ว่า เรามีคำตอบ ขั้นตอนต่างๆ เรามีหมด และกำลังจะตรวจสอบขั้นตอนสุดท้ายว่าทำอะไรบกพร่องหรือไม่ และเป็นความรับผิดชอบของใคร ซึ่งในมาตรา 114 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เงื่อนไขมีอยู่ 4 ข้อ แต่ข้อที่ต้องพิจารณามีข้อเดียว ซึ่งเป็นข้อที่วิพากษ์วิจารณ์กันมาก แต่เราไม่สามารถทำให้ทุกฝ่ายพึงพอใจได้ คือให้เรามีอำนาจสั่งเมื่อบัตรเลือกตั้งไปถึงหน่วยเลือกตั้ง หลังจากมีการนับคะแนนแล้ว เราจึงจะสั่งได้ว่าเป็นบัตรเสีย แต่กรณีนี้บัตรไม่ได้ไปถึง และการนับได้จบสิ้นแล้ว

Advertisement

“ท่านนึกถึงการเลือกตั้งต่างๆ และการส่งชิงโชคต่างๆ เมื่อดำเนินการเสร็จแล้ว บัตรต่างๆ เอกสารต่างๆ ที่ส่งมาใช้สิทธิ ท่านจะสามารถมาขอให้นับเมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว นับไม่ได้ เราจึงวินิจฉัยเช่นนี้ เราไม่ได้วินิจฉัยว่าเสียหรือดี ถ้าเราวินิจฉัยว่าเสีย ฝ่ายดีก็จะยกขึ้นมาอ้างว่าขอให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ถ้าวินิจฉัยว่าดี ฝ่ายเสียก็จะยกขึ้นอ้าง อันนี้เป็นสิ่งที่สังคมรับรู้ จุดประสงค์เค้าเป็นอย่างนั้น” นายปกรณ์ กล่าวและว่าในวันเลือกตั้งหลังการลงคะแนน 2-3 ชั่วโมง เรานับคะแนนทุกหน่วยเรียบร้อยประกาศหน้าหน่วยกว่า 92,000 หน่วย

ส่วนกรณีที่มีบัตรเกิน 4 ล้านกว่าใบ ตอนนั้นกกต.แถลง โดยระบบแรพพิดรีพอร์ต ขณะนั้นเวลาประมาณ ‪21.00 น.‬ ข้อมูลเพียงร้อยละ 93 ขาดอยู่ร้อยละ 7 ของประมาณ 30 ล้าน เหลืออีก 2 ล้านกว่าคน ยังไม่ได้ประกาศ เมื่อจากหน่วยมาถึงเขต เขตต้องเอาต่างประเทศแสนกว่าคน เลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 17 มีนาคมอีก กว่า 2 ล้านคนมารวม เมื่อรวมกันทั้งหมดคือ 4 ล้านเศษ ไม่มีการเพิ่มบัตรอะไรเข้าไปทั้งสิ้น นี่คือความจริงการที่มี กปน. กว่า 7 แสนคน ทั่วประเทศ ซึ่งประกอบด้วย ชาวบ้าน ครู ฝ่ายปกครอง มาช่วย กกต.ทำหน้าที่ อาจจะผิดบ้าง 10 คน 100 คน นี่คือสิ่งที่ กกต.กำลังจะตรวจสอบเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม เที่ยงธรรม อย่างไรก็ตาม ย้ำว่า กฎหมายกำหนดให้ กกต.ต้องประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส.พร้อมกันไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 หรือ 333 เขต หาก กกต.ไม่ทำตามกฎหมาย เราก็จะผิด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image