น.2 รายงาน : เสวนา 5G ที่จุฬาฯ ปลุกไทยอันดับ 1 อาเซียน

หมายเหตุ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), กระทรวงดิจิทัลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จัดงานสัมมนา “5G ปลุกไทยที่ 1 อาเซียน” ที่ห้องประชุมอาคารมหิตลาธิเบศร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีผู้ร่วมรับฟังจำนวนมาก เมื่อวันที่ 3 เมษายน

 

พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)

ปัจจุบันไทยมีพระราชบัญญัติด้านดิจิทัลและพระราชบัญญัติของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ต้องเดินไปด้วยกันเพื่อผลักดันให้ไทยก้าวไปข้างหน้า และมุ่งสู่การเป็นผู้นำของอาเซียน โดย 5G คือ
เป้าหมายหลัก เป็นเรื่องสำคัญของไทยต้องผลักดันให้เกิดขึ้น

ทั้งนี้ 5G จะเป็นอาวุธช่วยประเทศเล็กๆ ล้าหลังให้สามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้ สำหรับไทยปัจจุบันได้เริ่มดำเนินการแล้ว มีความท้าทายเพราะเป็นการก้าวกระโดดจาก 3G และ 4G

Advertisement

สำหรับ 5G มีคุณสมบัติสำคัญคือ 1.ความหน่วงต่ำที่ลดลง 2.การเคลื่อนย้ายข้อมูลของ 5G จะสูงกว่า 4G ถึง 100 เท่า 3.การเชื่อมต่อของ 5G จะสูงกว่า 4G ถึง 100 เท่าเช่นกัน และ 4.โมบิลิตี้ หรือการสัญจรของ 5G ที่มีประสิทธิภาพอย่างกรณีรถพยาบาลจะช่วยชีวิตผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้นสูงถึง 1.5 เท่า ไม่สะดุดในช่วง 500 กิโลเมตรแรก ระบบนี้จะรองรับทั้งรถไฟความเร็วสูง และรถยนต์ขับเคลื่อนอัจฉริยะในอนาคต

กสทช.ได้ขับเคลื่อน โดยร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำพื้นที่ทดสอบรูปแบบการใช้งาน (ยูสเคส) ภายใต้ชื่อ ศูนย์ 5G เอไอ/ไอโอที อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ ซึ่งตั้งอยู่ในอาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นศูนย์ปฏิบัติการทดสอบ 5G บนคลื่นความถี่ย่าน 26-28 กิกะเฮิรตซ์ และ 3500 เมกะเฮิรตซ์ ที่ใช้สำหรับทดสอบการรบกวนกันของคลื่นความถี่

นอกจากนี้ กระทรวงดีอีได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยใช้พื้นที่วิทยาเขตศรีราชาของมหาวิทยาลัยจัดตั้งศูนย์ทดสอบการใช้งาน 5G (5G Testbed) ถือเป็นการทดสอบซึ่งอยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นอกจากนี้ ยังมีการทดสอบ 5G ในภาคส่วนต่างๆ ในศรีราชา อาทิ ท่าเรือแหลมฉบัง ไปรษณีย์ไทย โรงพยาบาลสมิติเวช โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลพญาไท มหาวิทยาลัยมหิดล บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)

Advertisement

สำหรับการจัดเก็บค่าธรรมเนียม หรือรายได้จากผู้ใช้โครงสร้างพื้นฐานที่มีความหนาแน่นของการใช้งาน 5G ในอนาคตคาดว่าจะมีการจัดเก็บในอัตราที่เหมาะสม เกิดการแข่งขัน เพื่อเป็นรายได้ของประเทศ ทำให้คิดถึงเรื่องระบบการจัดเก็บค่าไฟฟ้าที่ต้องมีโรงไฟฟ้ารองรับที่เพียงพอ โดยเรื่องนี้ภาครัฐจะเร่งดำเนินการต่อไป

อนาคตเมื่อโครงสร้างพื้นฐาน 5G เสร็จสมบูรณ์แล้ว จะจัดเก็บรายได้จากหลายภาคส่วน อย่างกรณีไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุจะต้องมีระบบรองรับ อาทิ สมาร์ทโฮม และภาครัฐต้องคิดระบบประหยัดพลังงาน ต่อเนื่องไปสู่สมาร์ทซิตี้

ซึ่งปัจจุบันกระทรวงดีอีได้ผลักดันสมาร์ทซิตี้หรือเมืองอัจฉริยะในปี 2562 จำนวน 7 จังหวัดสมาร์ทซิตี้ ประกอบด้วย กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี ระยอง ขอนแก่น โดยกรุงเทพฯจะเริ่มจากย่านพหลโยธินก่อน

ขณะที่ภูเก็ตก้าวหน้าอย่างมาก เพราะได้นักธุรกิจในพื้นที่ประมาณ 10 ราย มีการลงเงินทุนและร่วมมือภาครัฐตั้งบริษัทภูเก็ตพัฒนาเมือง รูปแบบประชารัฐ เพื่อพัฒนา จ.ภูเก็ต สู่สมาร์ทซิตี้

เชื่อว่าหากอีก 70 จังหวัดของไทยจะเดินหน้าสู่สมาร์ทซิตี้ต้องอาศัยผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดเดินหน้า สิ่งนี้จะทำให้ไทยมุ่งสู่สมาร์ทซิตี้ที่ขับเคลื่อนด้วย 5G ได้รวดเร็วและครอบคลุม

ทั้งนี้ ธุรกิจ 5G ต้องสร้างนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง นอกจากมุ่งผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) แล้วจะมีอนุญาตรายพื้นที่เพื่อขยายสู่ภาคส่วนที่ต้องการใช้ อาทิ นิคมอุตสาหกรรมเพื่อให้บริการลูกค้าที่เป็นโรงงานในพื้นที่ หรือหากจุฬาฯจะขอใบอนุญาตเพื่อให้บริการของพื้นที่ของตนเองก็ได้เช่นกัน

สุดท้ายนี้การผลักดัน 5G ในไทยควรมีความร่วมมือวิจัยและพัฒนาควบคู่การทดสอบระบบต่างๆ

ขณะเดียวกันควรมีการแบ่งปันโครงสร้างพื้นฐาน 5G เพื่อให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุด ยกตัวอย่างเสาสัญญาณ 5G ควรมีจำนวนเหมาะสม ไม่ใช่ปักเสาเต็มไปหมด การทดสอบนี้ต้องได้ข้อสรุป

นอกจากนี้ การขับเคลื่อนเทคโนโลยีดังกล่าวต้องไม่ลืมการดูแลผู้ใช้บริการ ทั้งความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ (ไซเบอร์ ซีเคียวริตี้) สมาร์ทเฮลธ์หรือสุขภาพ ต้องไม่มีผลกระทบเกี่ยวกับคลื่นที่ปล่อยออกมา

เพราะท้ายที่สุดผู้บริโภคคือกุญแจสำคัญ เป็นกลุ่มที่จะขับเคลื่อน 5G ของประเทศให้สำเร็จได้อย่างแท้จริง

ฐากร ตัณฑสิทธิ์
เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

ข้อมูลจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) พบว่าการลงทุนจากต่างประเทศในอาเซียน 2561 มีการลงทุนในภาคเกษตร 4.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ, ภาคการผลิต 3.16 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ, ค้าส่งและค้าปลีก 3.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ การเงินและประกัน 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ คมนาคมขนส่ง 5 ร้อยล้านเหรียญสหรัฐ และสุขภาพและสังคม 3 ร้อยล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่การลงทุนโดยแยกรายได้ พบว่าปี 2553 ไทยมีรายได้ อยู่ที่ 1.47 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนปี 2561 อยู่ที่ 1.25 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 15% ส่วนมาเลเซีย มีรายได้ลดลง 26% โดยปี 2553 มีรายได้อยู่ที่ 1.09 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ ปี 2561 อยู่ที่ 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ด้านอินโดนีเซีย มีรายได้เพิ่มขึ้น 77% จาก 1.53 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2553 เป็น 2.7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2561 ขณะที่ เวียดนาม มีรายได้เพิ่มขึ้น 139% จากปี 2553 อยู่ที่ 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 1.91 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2561 และฟิลิปปินส์ มีรายได้เพิ่มขึ้น 816% จากปี 2553 อยู่ที่ 1.07 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 9.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2561

หากไทยยังไม่ปรับตัวให้สอดรับกับเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะ 5G ที่จะส่งผลกระทบต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ดังนั้น กสทช. จึงมีการเตรียมความพร้อม ได้แก่ 1.ผ่อนคลายการกำกับดูแลที่เข้มงวด 2.สนับสนุนการทดลองทดสอบและพัฒนานวัตกรรม ในพื้นที่เฉพาะ 3.ทดลองคลื่นความถี่ย่าน 26 และ 28 กิกะเฮิรตซ์ และ 4.ขยายพื้นที่ทดลองทดสอบไปทุกภาคทั่วประเทศ

กสทช.ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการว่าด้วยการศึกษาและจัดตั้งศูนย์ทดลองทดสอบ 5G ในชื่อ ศูนย์ 5G เอไอ/ไอโอที อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ ซึ่งตั้งอยู่ในอาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นศูนย์ปฏิบัติการทดสอบ 5G บนคลื่นความถี่ย่าน 26-28 กิกะเฮิรตซ์ และ 3500 เมกะเฮิรตซ์ ที่ใช้สำหรับทดสอบการรบกวนกันของคลื่นความถี่

โดยศูนย์ทดลองทดสอบดังกล่าว นอกเหนือจากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) และผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคม (เวนเดอร์) ที่จะได้รับประโยชน์แล้ว ยังเปิดให้ทุกภาคส่วนที่สนใจสามารถเข้าร่วมการทดลองทดสอบได้ เช่น ภาคการผลิต การแพทย์ และการเกษตร เป็นต้น

ทั้งนี้ กสทช. มีแผนที่จะขยายศูนย์ปฏิบัติและทดสอบ 5G ไปยังมหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ภาคเหนือ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และภาคใต้ ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

โดยใช้งบประมาณจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) เชื่อว่าการขยายศูนย์ปฏิบัติและทดสอบ 5G เพื่อสนับสนุนให้มีการศึกษาและพัฒนายูสเคสมากขึ้น จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศอย่างมาก

คลื่นความถี่ที่ กสทช. มีแผนจะจัดสรร ได้แก่ 1.คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์, 2600 เมกะเฮิรตซ์, คลื่นความถี่ย่าน 26 และ 28 กิกะเฮิรตซ์ และคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์

โดยจะกำหนดหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่หลายย่านพร้อมกัน (มัลติแบนด์) เช่น จัดการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ คู่กับ 26 หรือ 28 กิกะเฮิรตซ์ เพื่อเป็นการประหยัดต้นทุนให้กับโอเปอเรเตอร์ และสามารถนำคลื่นความถี่ดังกล่าวไปใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้

กสทช.จะปรับปรุงหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ที่จะใช้งานคลื่นความถี่ 5G ใหม่เพิ่มเติม เพื่อให้เหมาะสมกับรูปแบบการประกอบธุรกิจในยุค 5G โดยแบ่งวิธีการอนุญาตเป็น 2 รูปแบบ

ได้แก่ ใบอนุญาตที่ใช้งานครอบคลุมการให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศ (เนชั่นไวด์) และใบอนุญาตแบบที่ครอบคลุมเฉพาะพื้นที่ที่กำหนด (สเปซิฟิก แอเรีย) เช่น ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม และพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อให้เหมาะสมกับรูปแบบการประกอบธุรกิจในยุค 5G

คาดว่าในปี 2578 นั้น 5G จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศราว 2.3 ล้านล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น ภาคการเกษตร มูลค่า 96,000 ล้านบาท ภาคโลจิสติกส์ 124,000 ล้านบาท ภาคการผลิต 634,000 ล้านบาท และโดยเฉพาะภาคสาธารณสุข ที่จะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับรัฐบาลได้ราว 38,000 ล้านบาทต่อปี หรือช่วยลดการเดินทางไปพบแพทย์ได้ 13 ล้านครั้งต่อปี

ในอนาคตไทยจะต้องเผชิญปัญหาการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุ โดยปัจจุบันไทยมีผู้สูงวัยอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปคิดเป็น 7% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และคาดว่าปี 2565 จะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 14% ของจำนวนประชากร

จึงเรียกได้ว่า อีก 3-4 ปีข้างหน้า ไทยจะก้าวเข้าสู่ยุคของสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ดังนั้น ภาคสาธารณสุข จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความสุข

ผู้บริโภคทั่วโลก มีแนวโน้มความต้องการใช้งานด้านดาต้าเพิ่มขึ้น จากปี 2557 ที่มีปริมาณดาต้า อยู่ที่ 494,194 เทราไบต์ เพิ่มขึ้นเป็น 5,809,365 เทราไบต์ ในปี 2561 ทั้งนี้ คาดว่าในอนาคตจะเพิ่มขึ้น 40 เท่า จากปริมาณดาต้าที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน

สำหรับความต้องการใช้งานด้านดาต้าเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เกิดจากผู้บริโภคนิยมใช้การบริการผ่านอินเตอร์เน็ตเปิด (โอทีที) เช่น โซเชียลมีเดีย และวิดีโอสตรีมมิ่ง จากข้อมูล พบว่าปี 2561 เฟซบุ๊กมีจำนวน 61 ล้านบัญชี การใช้งาน 655 ล้านครั้งต่อเดือน ขณะที่ยูทูบมีจำนวน 60 ล้านบัญชี การใช้งาน 409 ล้านครั้งต่อเดือน และไลน์ มีจำนวน 55 ล้านบัญชี การใช้งาน 126 ล้านครั้งต่อเดือน

ปริมาณการใช้งานอินเตอร์เน็ตผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่มากกว่า 10 เท่า ส่งผลให้ผู้ประกอบการขยายโครงข่ายเพื่อรองรับการใช้งานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ให้บริการโอทีทีระหว่างประเทศ มี 17 ราย เป็นรายใหญ่ 4 ราย เช่น บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ในเครือเอไอเอส

กสทช.จะกำหนดหลักเกณฑ์ปริมาณความหนาแน่นของการใช้งาน (ทราฟฟิก) เพื่อจัดเก็บค่าใช้โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพื่อเป็นการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐ จากการใช้งานโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมของประเทศ เช่น ปริมาณทราฟฟิกน้อย หรือใช้งานส่วนบุคคล เปิดให้ใช้งานฟรี

และปริมาณทราฟฟิกมาก หรือใช้งานเชิงธุรกิจโอทีที ขนาดเล็ก (ไซซ์ S), ขนาดกลาง (ไซซ์ M) และขนาดใหญ่ (ไซซ์ L) คิดแบบอัตราก้าวหน้า เพื่อนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน

ในที่สุดเทคโนโลยีจะล้อมโลก ล้อมประเทศ แม้เราไม่อยากเปลี่ยน แต่เราก็ต้องเปลี่ยน หากเราเปลี่ยนแปลงช้า เราจะเสียเปรียบประเทศอื่น หากเราเปลี่ยนแปลงเร็ว เราจะนำหน้าประเทศอื่น แต่หากเปลี่ยนให้เร็วกว่านี้ เราจะก้าวเป็นที่ 1 อาเซียน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image