ปฏิกิริยาหลังเลือกตั้ง‘24 มีนา’ สารพัดปัญหาปมการเมือง

หมายเหตุเป็นความเห็นของนักวิชาการต่อสถานการณ์ภายหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม เกิดปัญหาตามมามากมายทั้งการตั้งข้อสังเกตการทำหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในกระบวนการจัดการเลือกตั้ง การประกาศผล รวมไปถึงการดำเนินการคดีนักการเมืองบางพรรคที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีความเชื่อมโยงด้านการเมือง


อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ประเด็นเรื่อง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ปัญหาตอนนี้คือ สูตรของการนับ ไม่มีการอธิบายออกมาสูตรที่ใช้คืออะไร ล่าสุด อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ออกมาบอกว่ามีสูตรเดียว แต่สังคมไม่ถูกอธิบาย ในขณะเดียวกันคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรออกมาอธิบายว่า ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ อาจประกาศได้ช้า เพราะเมื่อ ส.ส.เขตยังไม่มีการรับรอง ตัวเลขอาจยังไม่นิ่ง อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ กล่าวโดยสรุปคือ 1.สูตรไม่ชัด ทำให้คนตั้งคำถามได้ 2.กกต.น่าจะออกมาอธิบายว่าถ้ารายชื่อ ส.ส.เขต 95 เปอร์เซ็นต์ ยังไม่ถูกเปิดออกมา ตัวเลขปาร์ตี้ลิสต์ก็ถูกเปลี่ยนแปลงได้เสมอ จริงๆ แล้วการที่ยังไม่ประกาศออกมาตอนนี้ ก็ยังเป็นสิ่งที่ฟังได้ แต่ต้องอธิบายให้สังคมเข้าใจ

สำหรับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้ง ทั้งกรณีพรรคอนาคตใหม่ คดีความที่ถูกนำขึ้นมาดำเนินการตอนนี้ มองว่าในที่สุดสังคมอดที่จะรู้สึกไม่ได้ว่าเมื่อพรรคการเมืองอย่างอนาคตใหม่ทำได้ดี แล้วเกิดการติดตามเรื่องของกฎหมาย แฟนๆ เขาก็คิดได้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ส่วนตัวมองว่าต้องมีการอธิบายให้ชัด ต้องอธิบายว่าทำไม อย่างไร เพื่อให้ทุกฝ่ายเห็นเหตุผล ส่วนการที่จะเชื่อหรือไม่เชื่อนั้น คิดว่าคนทุกคนมีคำตอบอยู่ในใจ

Advertisement

ในการเลือกตั้ง ความสำคัญอยู่ที่วันหลังเลือกตั้ง คือ คนจะยอมรับผลหรือไม่ และผลของมันจะทำให้คนเห็นว่าการเลือกตั้งเป็นจุดที่ทำให้ประเทศเราเดินไปต่อในเส้นทางประชาธิปไตยหรือเปล่า สถานการณ์เช่นนี้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อการเลือกตั้ง คนที่จะมาเป็นรัฐบาล หรือไม่เป็นรัฐบาลต่อ มีความยากที่จะบริหารความรู้สึกของคน ในขณะนี้การบริหารความรู้สึกของคน มีผลเป็นอย่างมากต่อความชอบธรรมของรัฐบาลต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดธนาธรฟีเวอร์ หรืออนาคตใหม่ฟีเวอร์ โดยยิ่งทำให้คนรู้สึกว่า มีความพยายามที่จะทำให้มีการสกัดกั้นหรือเปล่า ตรงนี้ต้องทำให้ชัดว่าจริงๆ แล้วเป็นไปตามกระบวนการหรือเกิดขึ้นอย่างผิดธรรมชาติ มิฉะนั้น เลือกตั้งไปแล้วก็ไม่ได้ทำให้คนรู้สึกว่าจะนำไปสู่อะไรใหม่ๆ

ส่วนจุดจบของการจัดตั้งรัฐบาลนั้น ก่อนการเลือกตั้ง เรารู้อยู่แล้วว่า จะต้องได้รัฐบาลผสม คนกังวลว่ารัฐบาลผสมคือรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพ เมื่อก่อนประเทศไทยอาจมีการจัดตั้งรัฐบาล 6, 7, 8 พรรค เสถียรภาพเกิดหลังจากต่อรองที่นั่งของรัฐมนตรีในกระทรวงต่างๆ เรียบร้อย แต่หลังจากนั้น มันอาจจะคงความเสถียรภาพอยู่ได้บ้าง คนทุกคนก็ได้ตามความต้องการอยู่แล้ว แต่การเลือกตั้งในครั้งนี้ มีพรรคเล็กพรรคน้อยเยอะ ไม่เหมือนเมื่อก่อน ความไม่มีเสถียรภาพจะเกิดตอนโหวตและพิจารณาต่างๆ ในสภา คนไทยจะรู้สึกว่าความหลากหลายทางนโยบายที่เกิดจากพรรคการเมือง เขาจะโอเคกับตรงนั้นหรือไม่โอเคกับเสถียรภาพที่มีข่าวการต่อรองผลประโยชน์ หรือต่อรองทางการเมืองอยู่เสมอ คนจะรู้สึกอย่างนั้นได้

สำหรับปรากฏการณ์การร่วมลงชื่อถอดถอน กกต. ทั้งในเว็บไซต์ change.org และตั้งโต๊ะ ล่ารายชื่อ รู้สึกเห็นใจ กกต. เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นจากการนับคะแนนหรือกระบวนการจัดการ ไม่ถูกอธิบายให้ชัดเจน คำอธิบายของ กกต.ไม่ได้ทำให้ความคลางแคลงใจของคนลดลงไป ความไม่พอใจก็เกิดขึ้น ถามว่าการลงชื่อ ไม่ว่าจะเป็น 8 แสน หรือล้านคน ถามว่าเยอะไหม ก็เยอะ แต่ถ้าจะเปรียบเทียบกับจำนวนคนทั้งประเทศแล้ว อาจยังดูไม่มากพอ แต่ความไม่พอใจอาจอยู่ในกระบวนการอื่นๆ การลงชื่อในเว็บไซต์ อาจช่วยในเรื่องของความรู้สึกในสังคม

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะให้ได้ผลอาจต้องพึ่งกระบวนการที่เป็นทางการมากกว่านี้ แต่อย่างน้อยกระบวนการนี้คือการส่งเสียงว่าการจะทำอะไรต้องมีความระมัดระวัง และรอบคอบให้มากขึ้นโดยเฉพาะการเลือกตั้ง การไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งจะส่งผลต่อเสถียรภาพและความรู้สึกในส่วนของการเมืองอีกมาก


สุขุม นวลสกุล
อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

การเมืองหลังเลือกตั้งทุกอย่างก็คงเป็นไปตามที่เขากำหนด เขาจะเลือกนายกฯ และชวนพรรคต่างๆ มาร่วมเป็นรัฐบาล ถึงแม้ว่าอาจจะได้เสียงปริ่มน้ำก็ตาม ซึ่งจะมาว่ากันอีกที
เรื่องการนับคะแนน และจำนวนที่นั่ง ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ตอนนี้ยังมีความสับสนอยู่ แต่ถึงแม้จะนับคะแนนใหม่ตัวเลขก็ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงไปเท่าไหร่ เพราะก็ยังไม่มีฝ่ายใดที่ชนะเด็ดขาด ต้องรอดูความกระจ่างในวันที่ 9 พฤษภาคม ที่ กกต.จะประกาศผลรับรองอย่างเป็นทางการ

ขณะนี้มีการออกมาโต้กันของหลายฝ่าย ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลไม่ได้นำไปสู่อะไร เป็นเพียงละครฉากเก่าๆ ที่หากเอากลับมาเล่นอีกครั้งคนดูก็คงรู้สึกสังเวชและตั้งคำถามว่าเป็นการหาวิธีพังอีกฝ่ายหนึ่งหรือไม่ แต่ก็ไม่น่าจะไปถึงขนาดที่ คุณธนาธร
จึงรุ่งเรืองกิจ และคุณปิยบุตร แสงกนกกุล พ้นจากการเป็น ส.ส. เพราะอย่างเรื่องของคุณธนาธรก็เป็นเรื่องเก่าที่เกิดตั้งแต่ก่อนจะมีการตั้งพรรคอนาคตใหม่ด้วยซ้ำไป ซึ่งถ้ายิ่งทำให้เกิดเรื่องขึ้นมาก็จะยิ่งสร้างความเสียหายให้ฝ่ายที่ทำเรื่องนี้เอง เนื่องจากจะถูกกล่าวหาว่ารังแก และความศรัทธาก็จะยิ่งลดลงไปอีก

จุดจบของการเลือกตั้งครั้งนี้คือเสียงปริ่มน้ำทั้งสองข้าง แต่ฝ่ายของพรรคพลังประชารัฐก็คงจะได้จัดตั้งรัฐบาล ส่วนปัญหาเรื่องต่างๆ ที่จะตามมาหลังจัดตั้งรัฐบาลก็คิดว่าอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด แต่ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะที่ผ่านมาใน 1 ปี เลือกตั้ง 2 ครั้ง ก็ทำกันได้ ไม่ได้มีทางตันตรงไหน ถ้าบริหารไม่ได้ ไม่สามารถประคับประคองรัฐบาลไปได้ก็ยุบสภาไม่ก็ลาออก ไม่ใช่ว่ามีทางตันแล้วจำเป็นต้องปฏิวัติรัฐประหารลูกเดียว จริงๆ แล้วทางออกทางการเมืองมีตลอด


ไพลิน ภู่จีนาพันธ์
หัวหน้าสำนักวิชาการเมืองและการปกครอง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

การเมืองหลังการเลือกตั้งไม่ต่างอะไรกับสภาพอากาศภาคเหนือตอนนี้ ทุกคนคงอยากเห็นท้องฟ้าที่สดใส แต่อากาศก็ยังขมุกขมัวเพราะหลังเลือกตั้งยังไม่มีอะไรชัดเจน ทั้งการจัดตั้งรัฐบาล และคะแนนในหน่วยเลือกตั้งต่างๆ ถึงแม้ว่าจะมีการประกาศจัดเลือกตั้งใหม่ก็ตาม แต่ก็ยังไม่ชัดเจนเรื่องข้อมูลข่าวสารในหลายๆ เรื่อง ยังมีการปรากฏตัวภายหลังการเลือกตั้ง รวมทั้งการออกหมายเรียก เมื่อมีสภาพบรรยากาศขมุกขมัว ไม่เห็นท้องฟ้าที่สดใสหลังเลือกตั้ง แน่นอนว่าคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือประชาชน จึงเกิดการตั้งคำถามและการตรวจสอบ ซึ่งความจริงแล้วรัฐบาลควรดีใจที่ประชาชนส่วนใหญ่แสดงออก ทั้งในแง่ของโพสต์ หรือการพูดคุยกัน น่าดีใจที่การเลือกตั้งครั้งนี้ประสบความสำเร็จในแง่ที่สามารถกระตุ้นความตื่นตัวของประชาชนได้ค่อนข้างมาก ประชาชนให้ความสนใจการเลือกตั้งและยังคงติดตามข่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการตั้งคำถามและต้องการคำตอบในหลายเรื่องจากรัฐบาลและ กกต.ก็ไม่ใช่เรื่องผิด เป็นไปตามกลไก แต่กลับมีปัญหาเกิดขึ้นทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการเลือกตั้ง ดังนั้น จึงต้องย้อนดูว่าหัวใจของการเลือกตั้งคืออะไร ถ้ามองว่าหัวใจคือประชาชนผู้มีสิทธิ ก็ต้องถามต่อว่าความต้องการของประชาชนคืออะไร สิ่งที่ประชาชนเรียกร้องคือความโปร่งใสของคะแนนเลือกตั้ง ความชัดเจนของกฎกติกาและการดำเนินการภายหลังจากนี้ ซึ่งยังไม่มีคำตอบ ทำให้เกิดความวุ่นวาย และความไม่ไว้วางใจกันของคนในสังคมก็ยิ่งทวีสูงมากขึ้น การทำหน้าที่ขององค์กรก็จะไม่มีประสิทธิภาพ และมีโอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งอย่างที่เห็นกันในอดีต

ไม่มีใครอยากเห็นการเมืองบนท้องถนน แต่ในที่สุดแล้วสิ่งที่ปรากฏอยู่อาจจะนำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมือง เกิดการเคลื่อนไหวของหลายกลุ่มในสังคม จากความไม่ไว้วางใจเหล่านี้ เหมือนกับค่าอากาศที่ค่อยๆ แดงและเป็นสีม่วง คือเริ่มเห็นความไม่ชัดเจนในกฎกติกา หรือแม้แต่การทำหน้าที่หลายๆ อย่างที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ซึ่งไม่ได้ให้ความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจนกับประชาชนมาตั้งแต่ต้น มองอีกแง่ กกต.ก็มีระยะเวลาเตรียมการที่สั้น ทุกฝ่ายต้องมาระดมช่วยกัน แต่ความเคลือบแคลงสงสัยของสังคมมีสูงมากตั้งแต่ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งแล้ว และยังถูกแรงผลักดันจากภาคประชาชนผ่านการลงคะแนนเสียงรอบนี้ ที่หลายฝ่ายไม่คาดคิดกับคะแนนของบางพรรคและหลายจังหวัด ที่กำลังสะท้อนให้เห็นว่าวิธีการเดียวที่จะทำให้ทุกอย่างชัดเจนคือการไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

แต่หลังจากเลือกตั้งแล้วเสร็จ ปรากฏว่ามีประเด็นที่ถูกตั้งคำถามค่อนข้างมาก เช่น บัตรเลือกตั้งจากประเทศนิวซีแลนด์ จำนวนบัตรเสียที่มีมหาศาล หรือคะแนนที่มากว่าจำนวนผู้มีสิทธิ สิ่งที่ กกต.ตอบคือ หาเหตุไม่ได้ จึงจัดเลือกตั้งใหม่ ประเด็นคือ แล้วทำไมถึงมีขึ้นมาได้ เราต้องการคำอธิบายมากกว่านั้น

ถ้ามองระบบเลือกตั้งจะเห็นภาพว่าจะไม่มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง จะไม่มีพรรคการเมืองที่ใหญ่พอจะมีเสถียรภาพทางการเมืองได้ แต่จะเกิดปัญหาเรื่องของพรรคเล็กพรรคน้อย และปัญหาการนับคะแนน ที่บอกว่าพรรคเล็กได้ 3 หมื่นคะแนน เอามาเกลี่ยก็ได้ ส.ส.พรรคละ 1 คน หากมองในแง่ของสูตรคณิตศาสตร์ก็ไม่ค่อยถูกต้องเรื่องความได้เปรียบเสียเปรียบ และกรณีของคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และพรรคอนาคตใหม่ เชื่อว่าหลายคนก็ไม่คาดคิดว่าผลคะแนนจะออกมาแบบนี้ เพราะไม่ใช่แค่ในรั้วมหาวิทยาลัยที่เห็นภาพชัดตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งแล้วว่าคะแนนจะมาแบบนี้ แต่กลับมีผลนอกมหาวิทยาลัยด้วย ซึ่งความไม่คาดคิดเหล่านี้ต้องตั้งคำถามว่า ทำไมพรรคอนาคตใหม่ถึงได้รับความนิยมและได้คะแนนเสียงมากขนาดนี้ ไม่ใช่การตั้งประเด็นต่อคุณธนาธรและคุณปิยบุตร แสงกนกกุล ว่ามีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง เพราะนี่เป็นลักษณะของการเมืองที่กลับไปรูปแบบเดิมที่กล่าวให้ร้ายกัน ซึ่งอาจจะส่งผลต่อความเข้าใจผิดต่อสังคมได้มาก มีการพูดคุย มีการลงชื่อใน change.org จนกลายเป็นตัวแปรมากระตุ้นความรู้สึกของคนในสังคมให้เพิ่มทวีมากขึ้น

ความตื่นตัวของประชาชนมีสูงมาก ซึ่งเป็นพลังที่สำคัญในการพัฒนาในอนาคต แต่กลับมองว่าเป็นภัย ถ้าเป็นภัยเมื่อไรก็จบ การพัฒนาก็ไม่เกิด

สถานการณ์ตอนนี้ไม่รู้จะจบเมื่อไร แต่ทุกคนก็พร้อมที่จะใจเย็นและรอจนถึงวันที่ 9 พฤษภาคม ที่จะได้ชัดเจนหลายเรื่อง อาจจะไม่ได้เห็นหน้าตารัฐบาลร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยจะเป็นการขึ้นบันไดไปอีกขั้น ที่พอเห็นทางข้างหน้าได้บ้าง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image