เชื่อ ปชป.ยังมีความหวัง คำต่อคำจากปากผู้เขียน ‘ประชาธิปไตยที่ไม่ตั้งมั่น’ เผยสถานการณ์นี้ ‘คนดูได้กำไร’

ดร.จิราภรณ์ ดำจันทร์

ทำบุญครบรอบวันก่อตั้งไปหมาดๆ เมื่อวันเสาร์ที่ 6 เมษายน ท่ามกลางสถานการณ์ไม่ค่อยสู้ดีจากผลการเลือกตั้ง 2562 สำหรับพรรคเก่าแก่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย อย่าง ประชาธิปัตย์ ซึ่งถือกำเนิดตั้งแต่ พ.ศ. 2489 นับเป็นเวลากว่า 7 ทศวรรษ

ก่อนหน้าวันเกิดพรรคดังกล่าวเพียงไม่กี่วัน ‘มติชนออนไลน์’ มีโอกาสได้รพูดคุยกับ ดร.จิราภรณ์ ดำจันทร์ นักวิจัยมากความสามารถ เจ้าของผลงาน ‘ประชาธิปไตยที่ไม่ตั้งมั่น’ หนังสือขายดีของสำนักพิมพ์มติชนในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 47

ไม่เพียงในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ หากแต่เมื่อครั้งคว้าปริญญาโท จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวข้อที่วิทยานิพนธ์ที่นักวิชาการท่านนี้นำเสนอนั้นคือความนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้

ต่อไปนี้ คือคำตอบของคำถามแบบ ‘คำต่อคำ’ ของ ดร.จิราภรณ์ที่มีต่อสถานการณ์พรรคในห้วงเวลานี้

Advertisement

-ในฐานะที่ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโท หัวข้อเกี่ยวกับความนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ในภาคใต้ มองสถานการณ์ของปชป. ขณะนี้อย่างไร ทำไมคะแนนเสียงลดลงขนาดนี้

อย่างที่หลายคนบอก ด้วยความที่ประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านมาค่อนข้างนาน การดูแลชาวบ้านในพื้นที่อาจจะไม่ได้ถึง เอาง่ายๆคือ ทำไม่ได้เลย ทำได้เฉพาะกลุ่มที่ใกล้กับเขา แต่โดยภาพรวมของภูมิภาค ค่อนข้างทำไมได้ และเศรษฐกิจหลักของภาคใต้ นอกจากการท่องเที่ยว คือ ปาล์ม กับยางพารา พอราคาไม่ดี เขาก็ต้องคิดเรื่องนี้ด้วยส่วนหนึ่ง

-มองอย่างไร กรณีที่มีนักวิชาการบางท่านตั้งข้อสังเกตว่า ปชป. มีปัญหาเรื่องความสับสนใจจุดยืนทางการเมืองของตัวเอง

Advertisement

ในพรรคเองก็มีความแตกต่างด้านความคิดว่าจะอยู่ขั้วไหน ความต่างนี้ จริงๆแล้วธรรมชาติของปชป.เองก็เป็นแบบนั้น แต่การสื่อสารสมัยก่อนจำกัด ทุกคนไม่ได้แสดงออกในความคิดออกมา ในภาพรวมมีการจัดระบบให้ข้างบนเป็นคนสื่อสาร เลยเห็นความเป็นกลุ่มก้อน อันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นภาพลักษณ์อย่างนั้น แต่สมัยนี้ทุกคนสามารถออกมานั่งพูดแล้วบอกว่าเป็นความเห็นส่วนตัว

ช่วงเวลานี้บังเอิญว่ามันหลายอย่าง พอคุณ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะลาออก ต้องมีการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ กรรมการบริหารชุดใหม่พอเข้าไปอาจมีการต่อสู้กันอยู่ ยังไม่เสร็จ เราก็จะเห็นการเดินของแต่ละคนออกมาคนละทิศคนละทาง เดี๋ยวพอได้กรรมการชุดใหม่ เชื่อว่าประชาธิปัตย์ก็กลับเข้าสู่การเป็นองค์กรที่ยาวนานของเขาได้ เราก็แค่รอดูไป คนดูได้กำไร

เพราะจะได้รู้ว่าแต่ละคนในพรรคมีความคิด ความเห็นอย่างไรที่เป็นตัวตนของตัวเอง เพราะเวลาเขาเข้าสู่องค์กรที่มีความแข็งแรง มีความเป็นพรรคที่ยาวนาน จะมีกรอบ เวลาเดิน จะเดินเคียงบ่าเคียงไหล่กันไปตามแนวนั้น เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ก็ต้องยึดตามแนวเดียวกัน แต่ช่วงเวลาพลิกผันแบบนี้เราจะเห็นมิติของความเห็นแต่ละคน ว่าเป็นอย่างไร

แต่ถามว่าคนใต้ยังผูกพันกับพรรคประชาธิปัตย์ไหม ส่วนหนึ่งก็ผูกพันนะ อาจจะกลับไปเลือกอีกเมื่อสถานการณ์เข้าร่องเข้ารอย ปชป. ยังมีความหวังอยู่ หลายคนเป็น ส.ส. น้ำดี ทำงานการเมืองมานาน

-จะมีงูเห่าสีฟ้าไหม?

จะบอกว่าเป็นงูเห่าไม่ได้ เพราะเขายังไม่บอกเลยว่าจะไปทิศไหน ต้องรอให้ธงไปทิศไหนก่อน ถ้าเขากำหนดทิศได้ ถึงจะรู้ว่ามีงูเห่าไหม ตอนนี้ยังตอบไมได้ แต่พรรคอื่นที่ได้เสียงปริ่มน้ำ ก็เป็นไปได้หมด ทุกคนก็แย่งชิงความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลอยู่แล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image