น.2รายงาน : ‘สมชัย’คิดโชว์สูตรปาร์ตี้ลิสต์ แค่14พรรคคว้า150ส.ส.

หมายเหตุ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และอดีตผู้สมัคร ส.ส.สมุทรสาคร พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แถลงถึงสูตรการคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 150 คน ที่พรรคการเมืองควรจะได้ตามรัฐธรรมนูญ 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.พ.ศ.2561 ที่พรรค ปชป. เมื่อวันที่ 8 เมษายน ซึ่งแตกต่างจากสูตร กกต.ที่มีถึง 25 พรรคได้ที่นั่งปาร์ตี้ลิสต์

สูตรคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ไล่เรียงการคำนวณตามรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 มาตรา128 ตั้งแต่ (1) ถึง (7) มาแจกแจงวิธีการคำนวณอย่างละเอียด

ขั้นแรกต้องพิจารณากฎหมายสองฉบับคือ รัฐธรรมนูญมาตรา 91 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 โดยสิ่งที่รัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.กำหนดไม่ได้มีปัญหา เนื่องจากสามารถถอดค่าและนำมาคำนวณได้ แต่สูตรที่ผมคำนวณแตกต่างจากผลลัพธ์ที่ กกต.ออกมาชี้แจงก่อนหน้านี้ว่าจะมีพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 25 พรรค ที่ได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ

1.นำคะแนนรวมทั้งประเทศ ที่พรรคการเมืองทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อได้รับ จากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหารด้วยห้าร้อยอันเป็นจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร คือ 35,528,749/500 = 71,057.4980 (คือจำนวนคะแนนต่อ ส.ส.พึงมี 1 คน)

Advertisement

2.นำผลลัพธ์ตาม (1) ไปหารจำนวนคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทุกเขต จำนวนที่ได้รับให้ถือเป็นจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้เบื้องต้น และเมื่อได้คำนวณตาม (5) (6) หรือ (7) ถ้ามีแล้ว จึงให้ถือว่า เป็นจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ ตัวอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับคะแนนเสียงจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ได้คะแนนรวม

3,947,726 คะแนน หารด้วยผลลัพธ์ จากข้อ (1) 3,947,726/71,057.4980 =55.5568 (เป็นจำนวน ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์พึงมีได้เบื้องต้น)

Advertisement

ผลลัพธ์จากข้อ 2 ส่งผลให้มีพรรคการเมืองที่มีโอกาสได้จำนวน ส.ส.เบื้องต้น มากกว่าหรือเท่ากับ 1 ที่นั่ง ขึ้นไปจำนวน 16 พรรค และมีพรรคการเมืองที่มีโอกาสได้จำนวน ส.ส.เบื้องต้นที่น้อยกว่า 1 ที่นั่งจำนวน 58 พรรค ไม่รวมพรรคที่ไม่ส่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3 พรรค

3.นำจำนวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองจะพึงมีได้ตาม ข้อ 2 ลบด้วยจำนวน ส.ส.เขตทั้งหมดที่พรรคการเมืองนั้นได้รับเลือกตั้งในทุกเขตเลือกตั้ง ผลลัพธ์คือจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับเบื้องต้น

4.ภายใต้บังคับ (5) ให้จัดสรรจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองจะได้รับให้ครบหนึ่งร้อยห้าสิบคน โดยจัดสรรให้พรรคการเมืองตามผลลัพธ์ตาม (3) เป็นจำนวนเต็มก่อน หากยังไม่ครบจำนวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน ให้พรรคการเมืองที่มีเศษจากการคำนวณมากที่สุดได้รับการจัดสรรจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคนตามลำดับจนครบจำนวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน ในกรณีมีเศษเท่ากัน ให้ดำเนินการตาม (6)

5.ถ้าพรรคการเมืองใดมีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งเท่ากับหรือสูงกว่าจำนวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (2) ให้พรรคการเมืองนั้นมี ส.ส.ตามจำนวนที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และไม่มีสิทธิได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อและให้นำจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งต่ำกว่าจำนวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (2) ตามอัตราส่วน แต่ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมี ส.ส.เกินจำนวนที่จะพึงมีได้ตาม (2)

5.1 ถ้าพรรคการเมืองใดมีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งเท่ากับหรือสูงกว่าจำนวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (2) ให้พรรคการเมืองนั้นมี ส.ส.ตามจำนวนที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และไม่มีสิทธิได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อและให้นำจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปจัดสรรให้แก่พรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งต่ำกว่าจำนวน ส.ส.ที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ตาม (2) ตามอัตราส่วน แต่ต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าวมี ส.ส.เกินจำนวนที่จะพึงมีได้ตาม (2)

6.ในการจัดสรรตาม (5) แล้วปรากฏว่ายังจัดสรรจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อไม่ครบหนึ่งร้อยห้าสิบคน ให้พรรคการเมืองที่มีเศษจากการคำนวณมากที่สุดได้รับการจัดสรรจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคนตามลำดับจนครบจำนวนหนึ่งร้อยห้าสิบคนให้นำค่าเฉลี่ยคะแนนของแต่ละพรรคการเมืองต่อจำนวน ส.ส.ที่พึงมีหนึ่งคนมาพิจารณา โดยหากพรรคการเมืองใดมีค่าเฉลี่ยคะแนนของพรรคการเมืองต่อจำนวน ส.ส.ที่พึงมีหนึ่งคนมากกว่าพรรคการเมืองอื่น ให้พรรคการเมืองนั้นมีสิทธิได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเพิ่มอีกหนึ่งคนและหากยังมีจำนวนค่าเฉลี่ยดังกล่าวเท่ากันอีกให้ใช้วิธีจับสลาก

7.ในกรณีที่เมื่อคำนวณตาม (5) แล้วปรากฏว่าพรรคการเมืองทุกพรรคได้รับจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อรวมกันแล้วเกินหนึ่งร้อยห้าสิบคน ให้ดำเนินการคำนวณปรับจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อใหม่โดยคำนวณตามอัตราส่วนที่ทุกพรรคจะได้รับการจัดสรรจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อซึ่งเมื่อรวมแล้วไม่เกินหนึ่งร้อยห้าสิบคน โดยให้นำจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้รับคูณด้วยหนึ่งร้อยห้าสิบ หารด้วยผลบวกของหนึ่งร้อยห้าสิบกับจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่เกินจำนวนหนึ่งร้อยห้าสิบ และให้นำ (4) มาใช้ในการคำนวณด้วยโดยอนุโลม

ในขณะที่สูตรของผมจะมีพรรคการเมืองได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 14 พรรค เนื่องจากต้องตัดพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่ได้ ส.ส.เขต 137 คน เกินกว่าจำนวน ส.ส.พึงมี 111 คน ทำให้ไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และตัดพรรคประชาชาติออก เนื่องจากได้จำนวน ส.ส.พึงมีที่ 6.8316 และได้ ส.ส.เขตมาแล้ว 6 คน ทำให้เศษที่เหลือสำหรับการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่ถึง 1 คน จึงต้องตัดทิ้ง เท่ากับเหลือพรรคการเมืองที่จะได้รับการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อ 14 พรรคการเมือง จะต้องนำมาปรับอัตราส่วนใหม่ให้รวมแล้วได้ 150 คน ตามที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 กำหนดไว้

โดย ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ทั้ง 14 พรรคจะได้รับ มีรายละเอียดดังนี้ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 21 คน พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) 56 คน พรรค ปชป. 22 คน พรรคภูมิใจไทย (ภท.) 13 คน พรรคเสรีรวมไทย (สร.) 11 คน พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) 5 คน พรรคเศรษฐกิจใหม่ 6 คน พรรคเพื่อชาติ 5 คน พรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) 4 คน พรรคชาติพัฒนา (ชพน.) 2 คน พรรคพลังท้องถิ่นไท (พทท.) 2 คน พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย (รป.) 1 คน พรรคพลังปวงชนไทย (พลท.) 1 คน และพรรคพลังชาติไทย (พพชท.) 1 คน

ส่วน 58 พรรคเล็กที่ไม่ได้รับการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะเป็นไปตามที่กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 (5) ที่กำหนดว่า การจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อต้องไม่มีผลให้พรรคการเมืองใดดังกล่าว มี ส.ส.เกินจำนวนที่จะพึงมีได้ ซึ่งเป็นข้อความเดียวกับที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 91(4) เนื่องจากทั้ง 58 พรรคได้คะแนนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยประชากร 71,057.4980 จึงต้องตัดทิ้งไปตั้งแต่แรก อย่างไรก็ตาม จะนำสูตรคำนวณของตนจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษรส่งให้ กกต.อย่างเป็นทางการภายในสัปดาห์นี้ และอยากให้ กกต.ดูข้อความในกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 (5 ) ที่กำหนดไม่ทำให้พรรคการเมืองมี ส.ส.เกินกว่าจำนวนที่พึงมีให้ดีๆ ว่าแปลว่าอะไร

ในขณะนี้ยังมีเวลาอีกหนึ่งเดือนกว่าจะถึงวันที่ 9 พฤษภาคมที่ กกต.จะต้องประกาศผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการร้อยละ 95 จึงอยากให้ กกต.จัดเวทีรับฟังความเห็นจากหลายฝ่าย ทั้งนักกฎหมาย นักคณิตศาสตร์ หรือจะเชิญผมก็ยินดี และสุดท้ายเมื่อได้รับข้อมูลครบถ้วนค่อยตัดสินใจว่าสูตรที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร

ผมขอให้ กกต.เอาการติดยึดกับประโยคที่บอกว่าถูกแล้วออกไปจากหัวก่อน ไม่อยากให้ กกต.ติดยึดสิ่งที่เคยเผยแพร่ไป ควรเปิดกว้างรับฟังก่อน ไม่มีใครกดดัน กกต. ท่านต้องตัดสินใจเองว่าจะเลือกใช้สูตรใดในการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อและรับผิดชอบต่อการตัดสินใจของตัวเองด้วย เพราะหากคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อผิด ก็ถือว่าบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่แต่เป็นการบกพร่องเจตนาหรือไม่เจตนาต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริง หากบกพร่องโดยตั้งใจ ทั้งๆ ที่สังคมพยายามสะท้อนถึง กกต.แล้วก็ต้องรับผลที่ตามมาด้วย อย่างไรก็ตาม หากมีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อผิดพลาด ก็ไม่ส่งผลให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ เพราะสามารถแก้ไขผลลัพธ์ให้ถูกต้องได้ ส่วนข้อเสนอให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้นเห็นว่าก่อนวันที่ 9 พฤษภาคม ไม่มีช่องทางที่จะส่งศาลรัฐธรรมนูญได้ กกต.จึงต้องตัดสินใจเอง ผมอยากให้ กกต.ยึดหลักไม่มีเขา ไม่มีเรา ไม่มีหน้าตาที่ต้องเสีย แต่ต้องให้ประเทศชาติเดินต่อไปได้ อย่าติดยึดเรื่องการเสียหน้า เมื่อผิดก็แก้ไข เชื่อว่าสังคมเข้าใจ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image