“อดีตขุนคลัง” เปิดวิธีคิดคำนวณส.ส.แบบรายชื่อ 2 ขั้นตอน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊ส่วนตัวเรื่อง “จำนวน สส. พึงมีที่ไม่เต็มคน จะมีได้อย่างไร?” โดยในเรื่องดังกล่าวนายธีระชัยระบุว่า

“ผมขอนำภาพข้างล่างของคุณสรุวิชช์ วีรวรรณที่อธิบายมาตรา 91 เกี่ยวกับวิธีคำนวนจำนวน สส. พึงมีได้ชัดเจน
ขณะนี้ มีข้อถกเถียงกันระหว่าง :- แนวคิดที่อ้างว่าเป็นของ กกต. ที่ให้นำคะแนนไปเฉลี่ยให้แก่พรรคจิ๋วแบบกว้างขวาง อันจะทำให้จำนวนพรรคการเมืองเข้าสภามากถึง 26-27 พรรค

โดยจะเป็นพรรค ‘เรียงเบอร์’ ที่มี สส. เพียงคนเดียว ประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวนพรรคทั้งหมด กับแนวคิดที่ให้นำคะแนนไปเฉลี่ยให้แก่พรรคจิ๋วแบบแคบ อันทำให้มีจำนวนพรรคการเมืองเข้าสภาน้อยลง ซึ่งอาจจะเหลือเพียง 13-14 พรรค นั้น

ผมขอแสดงความเห็นว่า มาตรา 91 ระบุขั้นตอนการคำนวนไว้เป็นขั้นบันได

Advertisement

ขั้นที่หนึ่ง ให้นําคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง หารด้วยห้าร้อยอันเป็นจํานวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร

ขั้นนี้ชัดเจน ปฏิบัติอย่างอื่นไม่ได้

ขั้นที่สอง ให้นําผลลัพธ์ตามขั้นที่หนึ่ง ไปหารจํานวนคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคการเมืองแต่ละพรรค
ที่ได้รับจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทุกเขต จํานวนที่ได้รับให้ถือเป็นจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้

Advertisement

ณ จุดนี้ จึงมีปัญหาที่ต้องพิจารณาว่า จำนวน สส. พึงมีของพรรคจิ๋วหลายพรรค ที่คำนวนได้ข้างต้น ไม่ถึง 1.0

ถามว่ากรณีพรรคเหล่านี้ ควรจะให้ สส. บัญชีรายชื่อ 1 คน หรือไม่? ซึ่งถ้าตอบว่าใช่ ก็จะเป็นไปตามสูตรที่ได้จำนวนพรรคมาก 26-27 พรรค

แต่ผมเห็นว่า ขั้นที่สอง ที่กำหนดว่า จํานวน สส. ที่ได้รับให้ถือเป็นจํานวน สส. พึงมี นั้น ย่อมจะหมายถึงเฉพาะกรณีที่พรรคนั้นได้รับจำนวน สส. อย่างน้อยเต็ม 1 คน

พูดง่ายๆ ถ้าคำนวณได้เพียง 0.1 หรือ 0.9 ก็เปรียบเสมือนได้รับ สส. เพียงหนึ่งแขน คือ 0.1 หรือยังขาดหัว ยังไม่เต็มตัว คือ 0.9

ดังนั้น จํานวน สส. ที่พรรคนั้นควรได้รับให้เป็น สส. พึงมีนั้น จึงควรจะได้เฉพาะกรณีที่เมื่อคำนวณแล้ว พรรคนั้นได้ตั้งแต่ 1.0 ขึ้นไปเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image