กกต.มติเอกฉันท์ส่งศาลรธน.วินิจฉัยตีความการคำนวณส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ

เมื่อวันที่ 11 เมษายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกเอกสารชี้แจงผลการประชุม กกต. ต่อสื่อมวลชน โดยที่ประชุมมีมติส่งเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณเพื่อจัดสรรจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ ที่แต่ละพรรคการเมืองพึงมีได้ ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งเอกสารมีเนื้อหาระบุว่า กกต.ได้พิจารณาหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ ประกอบกับพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 128 โดยที่ประชุม กกต. มีความเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 91 วรรคสาม กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการคำนวณ และการคิดอัตราส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ให้เป็นไปตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ดังกล่าว มาตรา 128 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ ซึ่ง กกต. ได้เสนอผล และวิธีการคำนวณตามกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่ได้จัดวิธีการคำนวณ ส.ส. แล้วปรากฏว่าการคำนวณมีพรรคการเมืองหลายพรรค มีส.ส.พึงมีได้เบื้องต้น ต่ำกว่า 1 คน ทั้งนี้ เมื่อคำนวณตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 (5) พรรคการเมืองที่มีผลการคำนวณจำนวน ส.ส. จะพึงมีได้ในเบื้องต้นต่ำกว่า 1 คน ดังกล่าว สามารถได้รับการจัดสรรจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน ขณะเดียวกัน แม้การคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่กกต.ได้ดำเนินการมานาน สามารถจัดสรรจำนวน ส.ส. ได้ครบ 150 คน และสอดคล้องกับความเห็น กรธ. แต่การคำนวณ ส.ส. ตามพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 (5) มีผลขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 (2) และ (4) เนื่องจากมีผลให้พรรคการเมืองมีจำนวน ส.ส. จะพึงมีได้ ตาม (2) ต่ำกว่า 1 คน สามารถได้รับการจัดสรรให้มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้ 1 คน จึงอาจทำให้พรรคการเมืองบางพรรค มีจำนวน ส.ส. เกินกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงมี ซึ่งต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 (4) อย่างไรก็ตาม หากคำนวณหา ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 แล้ว จะทำให้ไม่สามารถจัดสรร ส.ส. บัญชีรายชื่อได้ครบ 150 คน อีกทั้ง หากไม่นำจำนวน ส.ส. ที่พึงจะมีได้ในเบื้องต้นของพรรคการเมืองที่มีส.ส.ที่จะพึงมีได้ต่ำกว่า 1 คน ไปคำนวณ ต่อตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 128 (5) ก็ไม่สามารถคิดคำนวณจัดสรร 150 คน ได้เช่นกัน จึงไม่มีวิธีการใดที่จะนำมาคำนวณให้มีส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้จำนวน 150 คน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 83 ได้

นอกจากนี้ การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามมาตรา 91 วรรค 3 ของรัฐธรรมนูญ ผลของการคำนวณจะไม่สามารถนำไปประกาศผลการเลือกตั้งได้ เพราะอาจขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 (4) โดยเหตุผลทั้งหมดที่ได้กล่าวมา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ ตามมาตรา 210 (1) และ (2) ของรัฐธรรมนูญ และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) ว่ากรณี กกต. จะคำนวณหา ส.ส. บัญชีรายชื่อ ตามวิธีการดังกล่าวข้างต้น ไม่มีวิธีใดทำให้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ครบ 150 คนได้ มีเพียงการคำนวณตามมาตรา 91 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญ ประกอบมาตรา 128 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่จะสามารถคำนวณให้ได้จำนวน ส.ส. ให้ครบ 150 คนได้ ดังนั้น กกต.จะคำนวณหาส.ส.บัญชีรายชื่อตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 โดยการคำนวณดังกล่าวอาจทำให้พรรคการเมืองบางพรรค ที่มีจำนวนส.ส.ที่จะพึงมีได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ส.ส.ที่พึงมี ได้ส.ส. 1 คน กกต.จะดำเนินการได้หรือไม่ และการดำเนินการดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 91 หรือไม่

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image