ย้อนรอย เมื่อ‘มีชัย’ส่งคนไปดูงานเลือกตั้งของอินเดีย

ขณะที่การเลือกตั้งของประเทศไทยเมื่อ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา แม้จะมีการแจ้งผลเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ยังต้องรอ กกต.รับรองผลอย่างเป็นทางการภายใน 60 วัน หรือตรงกับวันที่ 9 พ.ค.นี้ แต่ยังมีปัญหาถึงสูตรการคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์

กระแสวิพากษ์วิจารณ์จากทั่วสารทิศ ขณะที่กกต.ชี้แจงกันเป็นระลอก จนมีมติของกกต.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพื่อให้มั่นใจว่าหลังประกาศผลอย่างเป็นทางการออกมาจะไม่ขัดตัวบทของรัฐธรรมนูญ

ช่วงระหว่างนี้ลองมาดูโลกประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างประเทศอินเดียกันบ้าง กำลังมีการจัดการเลือกตั้งกันอยู่ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงทั้งประเทศกว่า 900 ล้านคน คำนวณอัตราส่วนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งกับ ส.ส. คิดเป็น 1.6 ล้านคนต่อ ส.ส. 1 คน

จัดเลือกตั้งทั้งหมด 7 ดีลด้วยกัน ระหว่าง 11 เม.ย.-19 พ.ค.นี้ รวมเข้าคูหากินเวลา 39 วัน โดยหลังปิดหีบเลือกตั้งไปแล้ว 4 วัน หรือตรงกับ 23 พ.ค. กกต.อินเดียจะนับคะแนนกันวันเดียวจบ ประกาศผลใครได้เป็น ส.ส.ทันที

Advertisement

ย้อนไปเมื่อปี 2557 เลือกตั้งของอินเดียขณะนั้น มีคนออกมาใช้สิทธิ 541 ล้านคน จากผู้มีสิทธิ 814 ล้านคน มาครั้งนี้ปี 2562 จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมหาศาลงอกเพิ่มขึ้นมาอีกประมาณ 76 ล้านคน รวมเป็น 900 ล้านกว่า จากประชากรทั้งประเทศ 1.3 พันล้านคน

อินเดียกำลังจัดเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องการ ส.ส.ทั้งสิ้น 543 คน จาก 29 รัฐ รวมกับดินแดนสหภาพ และจะถูกประธานาธิบดีเลือกอีก 2 คน ตามรัฐธรรมนูญอินเดีย มีวาระ 5 ปี พรรคเสียงข้างมากที่ต้องการตั้งรัฐบาลต้องใช้อย่างน้อย 272 เสียงขึ้นไป

ช่วงที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เคยส่งเจ้าหน้าที่ไปศึกษาการจัดการเลือกตั้งของอินเดียมาแล้ว “มติชนออนไลน์” นำเสนอข่าวเมื่อวันที่ 7 ก.ย.2559

Advertisement

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งว่า “การที่นายมีชัยให้คนไปศึกษาว่า กกต.อินเดียคนเดียวทำไมเขาถึงทำได้นั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะเมื่อถึงเวลาเลือกตั้งเขาก็ให้หน่วยงานอื่นไปจัดการให้ เช่นผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่วนใหญ่หลายประเทศในโลกมีคนเดียว แต่พอต่างชาติมาดูงานประเทศเราที่มีผู้ตรวจฯถึง 3 คนเขาก็บอกว่ามันเยอะ”

แล้วก็ยังตอบนักข่าวที่ถามตอนนั้นว่า หากให้กกต.ไทยเพียงคนเดียวจัดการเลือกตั้งจะรับแรงกดดันไหวหรือไม่ รองนายกฯ ก็ตอบว่า ไม่ใช่เรื่องแรงกดดัน แต่กกต.ในต่างประเทศไม่มีแรงกดดันอะไร แต่ประเทศไทยกดดันทั้งนั้น ข้อต่อมา กกต.ต่างประเทศมีอำนาจ เพราะจัดวางระเบียบ แล้วให้คนอื่นปฏิบัติ

นายวิษณุยังตอบตอนท้ายที่ถามว่า แนวคิดของนายมีชัยที่ให้คนไปศึกษาก็เพื่อให้เห็นการทำงานของ กกต.ของเรา นายวิษณุก็ได้ตอบว่า “ท่านต้องการนำมาดูและเปรียบเทียบ เพราะท่านเคยพูดกับผมว่าคนพูดกันมากว่า กกต.อินเดียมี 1 คนแต่ทำไมเขาทำได้อย่างไร ทั้งนี้เราอาจจะเรียกเขามาศึกษาที่ไทยหรือจะไปดูงานที่อินเดียก็ได้”

เมื่อเสริมรายละเอียดกันต่อ รายงานข่าวจากต่างประเทศกล่าวถึงกระบวนการจัดการเลือกตั้งของกกต.อินเดีย ตั้งแต่เดินเข้าคูหา จะใช้เครื่องอิเลคทรอนิกส์ที่ผลิตขึ้นในประเทศอินเดีย ให้ผู้มีสิทธิโหวตกดเลือกผู้สมัคร ส.ส.ในเขตของตัวเอง ทั้งสะดวก รวดเร็ว บัตรเสียแทบเป็นศูนย์ อยู่ที่ว่าคนๆนั้นกดพลาดไปเลือกผู้สมัครผิดคนหรือไม่ อีกทั้งมีระบบการตรวจสอบคะแนนโหวต ป้องกันการนับคะแนนโกงได้ชะงักกว่าการกาบัตรกระดาษในอดีต สามารถนับคะแนนเสียงโหวตจำนวนหลายร้อยล้านโหวตได้ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง หรือจบในวันเดียว

ส่วนอินเดียจะมีปัญหาให้ถกเถียงกันมากมายตามมาเหมือนการเลือกตั้งในเมืองไทยหรือไม่นั้น ไม่ว่าการเลือกตั้งของประเทศไทยจะใช้งบประมาณถึง 5.8 พันล้าน หรือของอินเดียที่ใช้งบมากกว่าหลายเท่าตัวสูงนับแสนล้าน ย่อมมีแน่นอน

แต่พวกเราคนไทยกันเองคงต้องมาถามกันเองก่อนว่า ที่มีการตอกย้ำอยู่เสมอว่า ให้การเลือกตั้ง ส.ส.เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สุจริต เที่ยงธรรม และเป็นไปตามกรอบของกฎหมาย สุดท้ายแล้วเราทำกันได้ขนาดไหน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image