เทคโนแครตในรัฐบาล

การที่ตัวแทนขององค์กรระหว่างประเทศและสถานทูต 12 ประเทศ ขอเข้าสังเกตการณ์การเรียก นายธนาธร จึงรุ่งเรือง กิจหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และว่าที่ ส.ส.เข้ารับทราบข้อกล่าวหาคดีอาญา 3 กระทงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ คือเจตนาจะแสดงจุดยืนบางอย่างของตนแก่รัฐบาลไทยใช่หรือไม่

ผมคิดว่าใช่ และเมื่อคิดว่าใช่ การกระทำนี้คือจงใจจะแทรกแซงการเมืองไทยใช่หรือไม่ ผมก็คิดว่าใช่อีกนั่นแหละ

แปลกอะไรหรือที่ประเทศไทยถูกประเทศอื่น ซึ่งมีอำนาจเหนือประเทศไทยด้วยเหตุของการค้าและการลงทุน หรือด้วยเหตุอื่นใดก็ตามแทรกแซงประเทศเล็กๆ อย่างไทยซึ่งต้องพึ่งพาประเทศอื่น (ผมขอย้ำว่า “พึ่งพา” ไม่ใช่แลกเปลี่ยนอย่างเท่าเทียม) ในด้านต่างๆ ถูกแทรกแซงมาตั้งแต่ผมและรัฐมนตรีต่างประเทศยังไม่เกิด

ถามว่า ตัวแทนทูตเหล่านั้นหรือทูตของประเทศเหล่านั้นรู้หรือไม่ว่า การกระทำเช่นนี้ของตนอาจถูกมองว่าเป็นการส่งสัญญาณบางอย่างให้รัฐบาลไทยได้รับทราบ ส่วนจะตอบสนองอย่างไรจึงจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศไทยที่สุด เป็นเรื่องที่รัฐบาลไทยต้องคิดเอง ผมแน่ใจว่าพวกเขารู้อยู่แล้ว และอาจถึงขนาดนัดแนะกันเพื่อส่งสัญญาณอย่างพร้อมเพรียงด้วยซ้ำ

Advertisement

“ผู้เชี่ยวชาญ” ด้านการต่างประเทศของไทยก็น่าจะเข้าใจได้เหมือนกัน และในฐานะ “ผู้เชี่ยวชาญ” ก็ควรเตือนนายกฯมาแต่ต้นแล้วว่า สัญญาณนั้นคืออะไร และเราควรตอบสนองอย่างไรมากกว่าการให้สัมภาษณ์โจมตีนักการทูตเหล่านั้น ส่วนนายกฯจะรับฟังคำเตือนหรือไม่และอย่างไร เพื่อจะได้เป็นนายกฯต่อไปหลังการเลือกตั้งซึ่งไม่ชนะ เป็นเรื่องการเมืองที่ “ผู้เชี่ยวชาญ” ไม่เกี่ยว แต่ท่านได้ทำหน้าที่ของท่านบริบูรณ์แล้ว

คำสัมภาษณ์ของ รมว.การต่างประเทศไม่ทำให้ผมประหลาดใจนัก เพราะท่านทำอย่างนี้มาหลายหนแล้วจนไม่แปลกอะไร แต่ทำให้ผมนึกถึงคำพูดของนักเศรษฐศาสตร์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นที่นับถืออย่างกว้างขวางในเมืองไทย

ท่านท้วงผมในการสนทนากันครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีมาแล้วว่า เดี๋ยวนี้ไม่มีเทคโนแครตในรัฐบาลแล้ว เพราะไม่มีเทคโนแครตคนไหนอยากไปทำงานภาครัฐ

ตอนนั้นผมคิดไม่ทันจึงรับฟังไว้เฉยๆ แต่มาในภายหลังจึงคิดว่าท่านพูดถูกเหมือนกัน แต่ไม่ถึงกับถูกหมด เทคโนแครตหมายถึงนักวิทยาศาสตร์หรือผู้เชี่ยวชาญในกิจด้านใดด้านหนึ่ง ดังนั้น รัฐบาลไทยสมัยหลังๆ   จึงยังมีเทคโนแครตทำงานอยู่ด้วยแน่ บางส่วนอาจเป็นข้าราชการ เพียงแต่ว่าไม่มีเทคโนแครต “เก่งๆ” ที่ไหนจะไปทำงานภาครัฐอีกแล้วต่างหาก (ที่ว่าเก่งๆ ก็คือมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในวงการของเขา)

ยุคสมัยที่รัฐบาลไทยใช้เทคโนแครตมากคือยุครัฐประหารของ สฤษดิ์ ลงมาถึง ถนอม ซึ่งแตกต่างจากรัฐบาลสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งมักใช้ “นักการเมือง” ในคราบของทหาร หรือพรรคพวกมากกว่า แต่หลัง 14 ตุลาเป็นต้นมา เทคโนแครตในรัฐบาลก็ร่อยหรอลงตามลำดับ อย่างน้อยก็ไม่ค่อยเหลือคน “เก่งๆ” อยู่อีกมากนัก จนแม้รัฐบาลรัฐประหารก็ไม่ได้นำเอาเทคโนแครตเข้ามาจำนวนมากดังสมัยสฤษดิ์ ยกเว้นแต่กระทรวงการต่างประเทศ เพราะถือว่าเป็นเทคนิคละเอียดอ่อนที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะก็ได้กระมัง   จึงมักใช้ข้าราชการเก่าของกระทรวงนี้เป็นรัฐมนตรี ส่วนงานเทคนิคด้านอื่น ก็มักใช้ข้าราชการประจำทำงานภายใต้รัฐมนตรีที่เป็นทหาร

แต่เทคโนแครตในรัฐบาลรุ่นแรกๆ นั้น ดูจะเป็นอย่างที่ผมกล่าวข้างต้น คือมักแยกตัวออกจากการเมืองเผด็จการของทหาร ทำหน้าที่ซึ่งเป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะของตนเอง และนอกจาก อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ แล้ว ก็ยังมีเทคโนแครตคนอื่นที่กล้าให้คำแนะนำซึ่งรู้อยู่แล้วว่าขัดกับประโยชน์หรือความต้องการของเผด็จการ ส่วนเขาจะฟังหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

จะเป็นด้วยเหตุใดก็ตาม ทั้งนายกฯสฤษดิ์ และนายกฯถนอมไม่รู้สึกขุ่นเคืองกับคำท้วงหรือคำแนะนำที่ไม่เป็นไปตามใจตัว อาจไม่เชื่อฟัง แต่ก็ไม่ได้ลงโทษหรือหวาดระแวงเกินไปกับเทคโนแครตเหล่านั้น

อาจเป็นด้วยเผด็จการทหารในยุคนั้นสามารถมั่นใจในอำนาจของตนมากกว่าสมัยหลังก็ได้ เนื่องจากอำนาจอื่นที่ขึ้นมาแข่งหรือคานยังไม่เติบใหญ่นักก็ได้ นอกจากนี้ ในระหว่างสงครามเย็น ความต้องการทำให้สหรัฐไว้วางใจก็มีความสำคัญยิ่ง จึงอยากรับความช่วยเหลือจากสหรัฐด้วยความรู้และมุมมองที่สหรัฐสบายใจมากขึ้นด้วย อเมริกันจึงมีส่วนช่วยให้รัฐบาลเผด็จการทหารไทยรับฟังเทคโนแครตมากขึ้น และเทคโนแครตไทยจึงยังรักษาความเป็นตัวของตัวเองได้พอสมควร

(ผมไม่ได้หมายความว่า หากเทคโนแครตเป็นตัวของตัวเองแล้วย่อมเป็นการปกครองที่ดีนะครับ อันที่จริงลัทธิ “เทคโนธิปไตย” คือเผด็จการอีกรูปแบบหนึ่ง เพียงแต่ใช้อำนาจของ “ความรู้” (ซึ่งจริงหรือไม่ก็ไม่ทราบ ยังไม่พูดถึงมีผลในทางปฏิบัติได้หรือไม่ ก็ยิ่งไม่ทราบขึ้นไปใหญ่) แทนอำนาจของปืนและคุกเท่านั้น ประชาชนก็ไม่มีสิทธิมีเสียงจะไปตรวจสอบอะไร “ผู้เชี่ยวชาญ” ได้เหมือนกัน ทั้งไม่มีใครฟังเสียงของประชาชนผู้โง่เขลาและตื้นเขินอีกด้วย)

ปัจจัยหลายๆ อย่างทำให้เทคโนแครตในรัฐบาลร่อยหรอลง ซึ่งไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลไทยเสื่อมสมรรถภาพลงนะครับ แต่ความอ่อนแอของเทคโนแครตในภาครัฐ ทำให้เทคโนแครต โดยเฉพาะที่ “เก่งๆ” ไม่อยากทำงานภาครัฐ และทำให้เทคโนแครตในรัฐบาลรัฐประหาร ทำได้เพียงทำตามคำสั่งของหัวหน้าคณะรัฐประหารเท่านั้น

มีหรือไม่มีเทคโนแครตในรัฐบาลเผด็จการก็ไม่ต่างกันนัก

แม้แต่ระบอบเผด็จการในประเทศไทยยังเสื่อมคุณภาพลงไปเลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image