250 ส.ว.โหวตนายกฯ ดับไฟ-ก่อวิกฤต!?

หมายเหตุความเห็นของนักวิชาการ กรณีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ระบุข้อดีของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ให้อำนาจ 250 ส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ว่าเป็นการช่วยดับไฟการเมือง

ผศ.ยอดพล เทพสิทธา
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.นเรศวร

กรณี พปชร.ยกย่องรัฐธรรมนูญที่ใช้ 250 ส.ว. ว่าเป็นตัวช่วยในการแก้ปัญหาการเมืองอย่างชาญฉลาดนั้น ไม่แน่ใจว่าเป็นการพูดประชดหรือพูดจริง ถ้าพูดจริง ก็ต้องยอมรับว่า เป็นการพูดโดยไม่มีหลักวิชาต้องไม่ลืมว่า ส.ว.มีอำนาจแค่กลั่นกรองกฎหมาย ไม่ได้มีอำนาจในการตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร แล้วจะมีคำพูดหนึ่งคือ รัฐบาลเสียงข้างน้อย ซึ่งเกิดจากความดื้อดึงของคนร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึง คสช.ที่พยายามจะดึงดันให้ ส.ว.ในระยะ 5 ปีแรกมีอำนาจในการโหวตนายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นนี่ไม่ใช่กลไกที่ชาญฉลาด แต่เป็นกลไกที่ทำโดยไม่มีหลักวิชาและจะก่อให้เกิดวิกฤตในอนาคตคือ เป็นรัฐบาลได้ แต่บริหารไม่ได้

ส่วนที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน พูดว่า ไม่เชื่อว่าจะมีรัฐบาลแห่งชาตินั้น ส่วนตัวแล้วเห็นด้วย เพราะมองว่าเป็นไปไม่ได้จริงๆ ถ้าเราจะเสียงบประมาณไป 5,800 ล้านบาท แล้วมาตั้งรัฐบาลแห่งชาติ จะเสียเงินทำไม พรรคเพื่อไทยและพลังประชารัฐก็อยู่ระหว่างรวบรวม ส.ส.เพื่อจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งไม่จำเป็นต้องมาตั้งรัฐบาลแห่งชาติมาเพื่อขจัดความขัดแย้ง จริงๆ แล้วการเลือกตั้งเป็นกลไกหนึ่งในการขจัดความขัดแย้งอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า ความขัดแย้งที่มีอยู่ทุกวันนี้ส่วนหนึ่งไม่ได้เกิดจากกลไกการเลือกตั้ง แต่อาจเกิดจากกลไกของผู้จัดให้มีการเลือกตั้ง พูดง่ายๆ คือ ไม่รู้ว่าตัวเองมีหน้าที่อย่างไร ถ้าวันนี้มีสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ทุกอย่างจบ ลงตัว ไม่จำเป็นต้องยืดออกไป วิธีการระงับความขัดแย้งได้ดีที่สุดคือ ยอมรับผลของการเลือกตั้ง และใช้กลไกรัฐสภาในการตรวจสอบ

Advertisement

ผศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

การที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เชื่อว่าไม่มีรัฐบาลแห่งชาติ เพราะไม่มีใครอยากกลับไปสู่ความขัดแย้งนั้น ส่วนตัวมองว่า เป็นเรื่องดีถ้าทุกคนพร้อมใจกันพูดว่า รัฐบาลแห่งชาติเป็นไปไม่ได้ เราต้องพยายามจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ภายใต้กลไกตามรัฐธรรมนูญคือ ถ้าทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า ถ้ารัฐบาลแห่งชาติเกิดขึ้นไม่ได้ เป็นสิ่งที่ดี ถ้าปิดประตูนี้ปั๊บ ทำให้กลับเข้าสู่กติกาว่าเราจะจัดตั้งรัฐบาลอย่างไรภายใต้กติกาตามรัฐธรรรมนูญ ถ้าเดินตามนี้ จะทำให้ปัญหาความขัดแย้งลดลงระดับหนึ่ง แต่จะไปเจอปัญหาว่า ภายใต้เงื่อนไขรัฐธรรมนูญ การจัดตั้งรัฐบาลก็เป็นเรื่องยาก ไม่ว่าจะเป็นฝั่งเพื่อไทยหรือพลังประชารัฐก็จะมีเงื่อนไขกันทั้งหมด ฝั่งเพื่อไทยคงยากที่จะรวบรวม ส.ส.ให้ได้เกิน 375 ซึ่งยากมาก

ฝั่งพลังประชารัฐเอง โอกาสที่จะรวบรวม ส.ส.ให้ได้เกิน 250 บวกกับ ส.ว.เป็นไปได้สูง แต่ปัญหาคือ เป็นไปได้ว่าพรรคที่มีแนวโน้มที่จะร่วมหลายๆ พรรค ติดล็อกตรงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งกลายเป็นเงื่อนไขขึ้นมา ทำให้หลายพรรคมองว่าหากจะร่วมรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จะต้องถอยออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี ตอนนี้ถ้าเราไม่พูดถึงรัฐบาลแห่งชาติ สิ่งหนึ่งที่เราน่าจะช่วยกันลดปัญหาความขัดแย้งได้คือ 1.ต้องช่วยกันกดดันไม่ให้ พล.อ.ประยุทธ์รับตำแหน่งนายกฯ ซึ่งก็ยาก 2.ฝั่งเพื่อไทยเองก็เป็นโอกาสที่ดีที่จะทำให้เขาเข้ามาเป็นฝ่ายค้าน พูดง่ายๆ คือ ทำให้การเมืองอยู่ในระบบ ฝ่ายรัฐบาลก็ทำหน้าที่ไป

Advertisement

ส่วนตัวเห็นด้วยกับข้อเสนอบางอย่างของหลายๆ คนที่บอกว่า รัฐบาลเดินต่อไปยากแน่นอนถ้าจัดตั้งได้ตามกติกาเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ รัฐบาลหน้าน่าจะทำสัญญาประชาคมว่า อยู่ภายใต้เวลาอันจำกัด แก้ปัญหาเฉพาะหน้าแล้วอาจจะมีการปรับแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจนำรัฐธรรมนูญปี 2540 มาปรับปรุงแก้ไขให้เกิดการเลือกตั้งใหม่ ถามว่าทำไมต้องเป็นอย่างนี้ เพราะทุกคนรู้ดีว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำงานไม่ได้ มีข้อจำกัดหลายอย่างที่เขียนเอาไว้เพื่อล็อกรัฐบาลเอง คนจำนวนมากมีความคลางแคลงใจรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่พอสมควร ตั้งแต่ที่มา การรับรอง และการใช้ หลายคนคิดว่าอนาคตจะเป็นปัญหาเช่นกัน ซึ่งนี่เป็นโอกาสที่ดีที่จะไม่เอารัฐบาลแห่งชาติ และรัฐบาลต่อไปต้องทำงานแบบสัญญาประชาคมได้หรือไม่ว่า จะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและหยิบยกปัญหารัฐธรรมนูญเป็นวาระแห่งชาติ อาจปรับปรุงรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือร่างใหม่ก็ได้ โดยเอา ส.ส.ที่มีอยู่ เป็น ส.ส. รอเลย ทำหน้าที่ 2 ปีจบแล้วเลือกตั้งใหม่ เพื่อเอา คสช.กลับบ้าน เอาทหารกลับกรมกอง

ประเด็นรัฐบาลแห่งชาติเหมือนเป็นการวางหมากซ้อนเอาไว้ ที่จะไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ พปชร.จัดตั้งรัฐบาลยากมาก เชื่อว่าประชาธิปัตย์หลายคนอยากเข้าร่วม แต่เมื่อมีเงื่อนไขคือ พล.อ.ประยุทธ์ก็รับไม่ได้ เพราะรู้สึกว่าต้องกลืนน้ำลายตัวเอง หรือแม้กระทั่งพรรคภูมิใจไทย ส่วนตัวเชื่อว่าอยากร่วม แต่เมื่อมีเงื่อนไขนี้ อาจถูกตราหน้าว่าเป็นงูเห่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image