วิพากษ์กกต.แจ้งข้อหา ปม‘ธนาธร’ถือหุ้น‘สื่อ’

หมายเหตุ ความเห็นของนักวิชาการต่อกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติแจ้งข้อกล่าวหาแก่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากถือครองหุ้นสื่อนั้น

ผศ.ดร.ยอดพล เทพสิทธา
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.นเรศวร

มองว่าไม่มีอะไรน่าห่วง เหมือนที่ อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล ออกมาชี้แจงว่าการโอนหุ้นไม่ได้ง่ายเหมือนเดินไปซื้อของที่ร้านสะดวกซื้อ ต้องมีระเบียบขั้นตอน มีเอกสารที่ค่อนข้างละเอียดว่าโอนไปให้ใคร เวลาเท่าไหร่ ถ้าเอกสารในการโอนระบุวันที่โอนชัดเจนก็ไม่เห็นมีประเด็นอะไรที่ต้องมาชี้แจง ไม่ว่าตอนนี้หุ้นไปอยู่กับใครก็ตาม หากออกจากนายธนาธรไปวันที่ 8 ม.ค. หรือก่อนหน้านั้น ก็ไม่เห็นมีประเด็นอะไรที่จะต้องมาสอบสวนกัน ส่วนตัวยังงงอยู่ว่าเกิดเป็นประเด็นขึ้นมาได้อย่างไร

Advertisement

สำหรับนักข่าวในสื่อบางสำนักที่ตั้งคำถามถึงระยะเวลาเดินทางระหว่างบุรีรัมย์มาถึงกรุงเทพฯ มองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ เหมือนพยายามจะสื่อว่า การโอนหุ้นวันที่ 8 เป็นไปไม่ได้ เพราะนายธนาธรอยู่บุรีรัมย์ แต่อย่างที่บอกคือเอกสารในการโอนหุ้น มีวันที่รับรองอยู่แล้ว จึงควรจะจบแค่นั้น ก็ยังมีนักข่าวจากสื่อบางสำนักตั้งคำถามว่า ต้องขับรถในความเร็ว 73 กม. ต่อชม. เพื่อถึงด่านธัญบุรีในเวลา 17.57 น.ตามข้อมูลการใช้บัตรอีซี่ พาส ถามว่าความเร็วเท่านี้ใครขับกันบ้าง คนขับรถต่างจังหวัดขับกัน 100 กว่า กม.ต่อชั่วโมง กล่าวโดยสรุปคือ นี่เป็นเรื่องไม่เป็นเรื่อง ที่ถูกนำมาทำให้เป็นเรื่อง

ส่วนที่มีการตั้งคำถามว่ากรณีแบบนี้ถ้าจะเกิดควรเกิดตั้งแต่ตอนตรวจสอบคุณสมบัติก่อนลงสมัครรับเลือกตั้งแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาตรวจสอบตอนนี้ ขอให้ความเห็นเชิงวิชาการว่า กกต. ชุดนี้มีความบกพร่อง ซึ่งไม่ใช่กรณีแรก สมมุติบอกว่านายธนาธรผิดจริง นายธนาธรก็ไม่ใช่กรณีแรก แต่ยังมีกรณีของไทยรักษาชาติที่ กกต. รับรองคุณสมบัติแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี หน้าที่ กกต. คือ ถ้าขาดคุณสมบัติ ก็ต้องปัดตกไป ไม่ใช่รับรอง แล้วมาบอกตอนหลังว่าไม่ได้

Advertisement

ผศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

สถานการณ์นี้มีลักษณะที่สามารถพิจารณาได้ 2 มิติ มิติที่ 1 คือ มิติทางกฎหมาย มิติที่ 2 คือ มิติทางการเมือง ซึ่งส่วนตัวคิดว่าการไล่บี้นายธนาธร นอกจากเหตุผลทางกฎหมาย ยังมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องมากพอสมควร เนื่องด้วยปรากฏการณ์ อนาคตใหม่ฟีเวอร์ จากการยุบพรรคไทยรักษาชาติ คะแนนส่วนหนึ่งสะวิงมาที่อนาคตใหม่บวกกับกระแสคนรุ่นใหม่ ทำให้พรรคอนาคตใหม่ ได้จำนวน ส.ส. เกินความคาดหมายของทุกฝ่าย ประกอบกับในขณะนี้มีความพยายามที่จะแย่งชิงอำนาจในการจัดตั้งรัฐบาล กระบวนการทางการเมืองจึงจำเป็นต้องทำให้พรรคอนาคตใหม่โดยเฉพาะผู้ที่มีบทบาทหลักคือ อ.ปิยบุตรและนายธนาธร ถูกจัดการทางการเมือง อาจเพื่อให้ ส.ส. ส่วนหนึ่งเป็นงูเห่าไหลมาทางฝั่งพรรคพลังประชารัฐ

ถามว่าทำไม จึงหวังให้เกิดงูเห่าในพรรคอนาคตใหม่ นั่นก็เพราะพรรคดังกล่าวโตขึ้นมาแบบวูบเดียว หลายคนก็ไม่ได้คาดหวังว่าตัวเองจะได้เป็น ส.ส. และหลายคนก็ไม่ได้มีความผูกพันกับพรรคเท่าที่ควร โดยเฉพาะแกนนำคนหลักๆ ซึ่งตรงนี้อาจเปิดทางให้บรรดานักการเมืองหรือกลุ่มก้อนที่อยากจัดตั้งรัฐบาลเข้าไปดึง ส.ส. กลุ่มหนึ่ง หลังจากไม่มีนายธนาธรหรือ อ.ปิยบุตร จึงจำเป็นต้องจัดการ 2 คนนี้อย่างเต็มที่โดยอาศัยกลไกทางกฎหมายและโดยการสร้างกระแสทางสังคม

กรณีการให้ใบส้มนายธนาธร ซึ่ง อ.ปิยบุตรออกมายืนยันว่า กกต. ไม่สามารถทำได้ มองว่าเป็นเรื่องทางกฎหมายที่ยังต้องถกเถียงกันอีกนานในกระบวนการการต่อสู้ แต่ถ้า กกต.ไม่รับฟัง หลังจาก 7 วันนี้ แล้วส่งศาลพิพากษานายธนาธรอาจต้องหลุด ซึ่งเพียงแค่นายธนาธรหลุดเท่านั้น เชื่อว่าบรรดา ส.ส.หลายสิบคน จากราว 80 คน ของอนาคตใหม่ อาจเป็นงูเห่าไหลไปพรรคอื่น เพราะอย่าลืมว่าหลายคนไม่ได้คิดว่าตัวเองจะได้เป็น ส.ส. ไม่ได้เตรียมความพร้อมอะไรไว้เลย แล้วมูลค่าของงูเห่าครั้งนี้สูงถึง 30-40 ล้านบาทต่อคน คนที่ไม่เคยคิดว่าตัวเองจะมีมูลค่าทางการเมืองมากขนาดนี้ แล้วก็รู้ว่าการเมืองหลังการเลือกตั้ง แม้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ อายุคงไม่เกิน 2 ปี ถ้าคิดแบบธุรกิจการเมือง บรรดา ส.ส. หลายคนอาจมองว่ารับ 30 ล้านดีกว่าไหม แล้วนำเงินส่วนนี้ไปทำงานการเมืองระยะยาว

ดังนั้น นี่คือสถานการณ์ที่ต้องจับตา ถ้ามองเฉพาะหลักนิติศาสตร์ เราจะเห็นเพียงแค่กระบวนการ กลไกทางกฎหมายที่จะเล่นงานนายธนาธร แต่ถ้ามองในทางการเมือง เป็นการเขย่าให้เกิดความสับสนอลหม่าน เกิดความปั่นป่วนในพรรคอนาคตใหม่เพื่อให้บรรดา ส.ส. ในพรรค รู้สึกว่าตัวเองไม่มีความมั่นคงทางเมือง จำเป็นจะต้องเลือกตัดสินใจในสิ่งที่ตัวเองได้ประโยชน์มากที่สุดสำหรับอนาคตทางการเมืองของตัวเอง

ที่สำคัญถ้า อ.ปิยบุตร และนายธนาธรหลุดไปครั้งนี้ อนาคตใหม่ต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควร เพราะพรรคดังกล่าวไม่ได้สร้างผู้นำแถว 2 แถว 3 ไม่ได้สร้างจุดเด่นของพรรคผ่านนโยบายที่จริงจัง แต่ถูกสร้างผ่านตัวบุคคลโดยเฉพาะนายธนาธรกับ อ.ปิยบุตร ถ้าไม่มี 2 คนนี้ โอกาสที่พรรคจะกลับมามีกระแสแบบนี้ค่อนข้างยาก

ผศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่

การเมืองหลังการเลือกตั้งเป็นต้นไปรวมถึงสนามต่อสู้ที่จะเป็นไปอีกระยะหนึ่งก็คือ การใช้เล่ห์เหลี่ยม ชั้นเชิงในแง่ข้อกฎหมาย โดยดูจังหวะและเวลาที่เหมาะสม มีความพยายามใช้ข้อกฎหมายเพื่อให้เป็นประโยชน์ด้านการเมืองนั้น โดยคิดว่าจะเป็นไปในลักษณะ “ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว” เมื่อจังหวะเวลาเหมาะสม สามารถทำให้ทุกอย่างถูกกำหนดไว้ได้อย่างราบเรียบ

นายธนาธรเป็นสัญลักษณ์ของแนวความคิดใหม่และสัญลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ การเติบโตของนายธนาธรที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ผลดีคือกลายเป็นความหวังใหม่ๆ ของคนที่อยากเห็นวิธีการทำงานทางการเมืองที่ฉีกแนวออกไปจากเดิม แต่ในอีกด้านหนึ่งต้องยอมรับว่าการเป็นคลื่นลูกใหม่ก็สร้างความกังวลใจพอสมควรให้คนบางกลุ่ม

การเกิดขึ้นของนายธนาธรถ้าเปรียบเทียบกับ เอ็มมานูเเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส หรือผู้นำคนรุ่นใหม่อื่นๆ จะเห็นว่ามีความแตกต่างกันพอสมควร เพราะนายธนาธรเติบโตในสังคมการเมืองที่กำลังพัฒนาไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบมีวินัย ตัวสถาบันการเมือง ระบอบของการเลือกตั้ง ระบบต่างๆ มีโควต้าจำกัดให้ชนชั้นนำใหม่ การตีตั๋วเพื่อเข้าสู่ชนชั้นทางการเมืองไม่สามารถทำได้โดยผ่านขีดจำกัดที่กติกาแบบประชาธิปไตยแบบมีวินัยทำไว้ให้แล้ว นี่คือความยากและท้าทาย สิ่งนี้กำลังเกิดกับหลายประเทศในเอเชีย ซึ่งปัจจุบันระบอบประชาธิปไตยแบบมีวินัยกับระบอบอำนาจนิยมอยู่ควบคู่กันไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image