ทบ.โต้ข่าวทำสัญญาขายซากชีนุกให้เอกชน ยันยังอยู่ขั้นประกวดราคา

ทบ.แจงไม่ได้ทำสัญญาขายซาก “ชีนุก” ให้ผู้ประกอบการ ชี้ยังอยู่ในกระบวนการประกวดราคาขาย

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก กล่าวถึงกรณีที่สื่อมวลชนบางสำนักได้เสนอข่าวการขายซากเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงแบบ 47 (ชีนุก) ของกองทัพบก จำนวน 6 ลำ โดยระบุว่ามีตัวแทนบริษัทของสหรัฐ ยื่นร้องเรียนต่อ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอให้ตรวจสอบและขอความเป็นธรรมในเรื่องดังกล่าวนั้น ว่า กองทัพบกขอเรียนข้อเท็จจริงต่อเรื่องดังกล่าวใน 3 ประเด็น ดังนี้ 1.การดำเนินการของกองทัพบกต่อการขายซาก ฮ.ล.47 กองทัพบกมีความประสงค์ที่จะขายซากเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงแบบ 47 จำนวน 6 ลำ พร้อมชิ้นส่วนเครื่องมือซ่อมบำรุงและบริภัณฑ์ภาคพื้น โดยมอบให้กรมการขนส่งทหารบกดำเนินการให้เป็นไปตามกฎระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของทางราชการ โดยกรมการขนส่งทหารบกได้ดำเนินการตามขั้นตอน ด้วยการแต่ตั้งคณะกรรมการกำหนดราคากลางและคณะกรรมการประกวดราคา โดยคณะกรรมการได้กำหนดราคากลางการประมูลขายครั้งที่ 1ไว้ที่วงเงิน 600 ล้านบาท โดยใช้ราคาสูงสุดที่เป็นราคาสืบจากผู้ประกอบการทั่วไป แต่ผลการประมูลในครั้งแรก เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2559 มีผู้เสนอราคารายเดียวในวงเงิน 420 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าราคากลางตามที่คณะกรรมการกำหนดไว้ ทางกรมการขนส่งทหารบกจึงพิจารณาให้ยกเลิกการประกวดราคาขาย และแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดราคากลาง และคณะกรรมการประกวดราคาชุดที่ 2 โดยเชิญผู้สังเกตการณ์จากหลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงบประมาณ กองทัพอากาศ และหน่วยงานในกองทัพบก ร่วมสังเกตการณ์การจัดทำราคากลาง และการประกวดราคา โดยได้กำหนดราคากลางการประมูลขายในครั้งที่ 2 ไว้ที่วงเงิน 420 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคากลางจากแหล่งข้อมูลที่อ้างอิงได้ และเป็นราคาจากผลการประมูลครั้งแรก แต่การประมูลในครั้งที่ 2 เมื่อ 12 พฤษภาคม 2559 มีผู้มายื่นซองประมูลเพียงรายเดียว และไม่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ทางราชการกำหนดไว้ได้ คณะกรรมการจึงยกเลิกการประกวดราคาขาย ดังนั้นกองทัพบกจึงยังมิได้มีการตกลงหรือทำสัญญาขายซากเฮลิคอปเตอร์ให้กับผู้ประกอบการใดๆ ทั้งสิ้น โดยยังคงอยู่ในกระบวนการประกวดราคาขายตามระเบียบของทางราชการ

พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าวต่อว่า 2.กองทัพบกดำเนินการขายซากเฮลิคอปเตอร์ ตามระเบียบของทางราชการ มิได้เป็นไปตามการกล่าวอ้างจากตัวแทนบริษัทของสหรัฐอเมริกา ว่าไม่ได้รับความสะดวกจากทางราชการในการเข้าร่วมประกวดราคาขายจากการที่ตัวแทน บริษัท ไทย แอร์โรสแปซ อินดัสทรีส์ จำกัด (จ.ส.ต.พงษ์ศักดิ์ คงคามาศ ปัจจุบันไม่ได้รับราชการทหารแล้ว) ระบุว่าทางบริษัทได้เคยมีหนังสือแสดงเจตจำนงขอซื้อเฮลิคอปเตอร์ในราคา 600 ล้านบาท ก่อนที่ทางราชการจะจัดการประกวดราคา ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดข้อจำกัดกับทางบริษัททำให้ไม่สามารถเข้าร่วมการประกวดราคาในครั้งที่ 1 และ 2 ได้ เพราะเกรงจะผิดต่อกฎหมายการสมยอมราคากันนั้น โดยกองทัพบกขอเรียนว่า การที่บริษัทมายื่นหนังสือต่อทางราชการแสดงเจตจำนงขอซื้อโดยตรง โดยไม่ผ่านกระบวนการแข่งขันการขายทอดตลาด เป็นการปฏิบัติที่ผิดระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุ ทางราชการไม่สามารถนำมาดำเนินการใดๆได้ เป็นเพียงหนังสือที่ทางราชการรับทราบว่ามีผู้สนใจซื้อเท่านั้น ซึ่งบริษัทจะต้องเข้าสู่กระบวนการประกวดราคาขายตามที่ทางราชการกำหนดขึ้น จึงจะเป็นการดำเนินการที่ถูกต้อง ซึ่งเจ้าหน้าที่พัสดุได้ให้คำแนะนำแล้วว่า บริษัทสามารถเข้าร่วมประมูลได้ ดังนั้นการที่บริษัทไม่เข้าร่วมประมูลน่าจะเป็นเพราะความไม่พร้อมของผู้ประกอบการเอง ไม่เกี่ยวข้องกับทางราชการ

รองโฆษกกองทัพบก กล่าวต่อว่า 3.การที่กรมการขนส่งทหารบกปลดกำลังพล ซึ่งกระทำผิดจากการขาดหนีราชการในเวลาประจำการนั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการขายซากเฮลิคอปเตอร์ตามที่ผู้แทนบริษัทกล่าวอ้าง จากการที่มีความพยายามที่จะเชื่อมโยงให้เข้าใจผิดว่า การที่บริษัท ไทย แอร์โรสแปซ อินดัสทรีส์ จำกัด ไม่เข้าร่วมในการประกวดราคา เป็นสาเหตุทำให้ จ.ส.อ.ธนลภย์ คงคามาศ สังกัดกรมการขนส่งทหารบก ซึ่งเป็นบุตรชายของผู้แทนบริษัท ถูกปลดออกจากราชการนั้น เราขอเรียนว่ากรณีดังกล่าวเป็นเหตุการณ์คนละเรื่องและไม่มีความเกี่ยวโยงกัน การพิจารณาปลดกำลังพล หน่วยทหารจะต้องดำเนินการตามขั้นตอน ตั้งแต่เมื่อกำลังพลกระทำความผิด มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนและเสนอบทลงโทษตามระเบียบของทางราชการจนถึงขั้นตอนการเสนอปลดและถอดยศ สำหรับกรณี จ.ส.อ.ธนลภย์ หน่วยต้นสังกัดได้ดำเนินการตามขั้นตอนมาตั้งแต่ปี 2557 โดยกำลังพลดังกล่าวมีพฤติกรรมขาดหนีราชการหลายครั้งมาอย่างต่อเนื่อง และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา หน่วยได้พิจารณาลงโทษ ลงทัณฑ์ ขัง จำขัง ตามขั้นตอนของการพิจารณาโทษมาตามลำดับ โดยล่าสุด เมื่อ 1 มีนาคม 2559 กรมการขนส่งทหารบกจึงได้มีคำสั่งให้ปลดออกจากราชการฐานหนีราชการในเวลาประจำการ เป็นนายสิบกองหนุนไม่มีเบี้ยหวัด ตั้งแต่ 23 ตุลาคม 2558 และต่อมาได้มีการรายงานขอถอดยศทหารตามระเบียบของกระทรวงกลาโหม เมื่อ 1 เมษายน 2559 หากพิจารณาตามขั้นตอนที่ได้กล่าวมา จะเห็นได้ว่าหน่วยต้นสังกัดได้ดำเนินการตามระเบียบของทางราชการ อย่างครบถ้วน มิได้มีการกระทำใดๆ ที่เกินกว่าขอบเขตหรือกลั่นแกล้งให้เกิดความเสียหายต่อกำลังพล และเรื่องดังกล่าวก็ไม่ได้มีความเกี่ยวโยงกับการขายซากเฮลิคอปเตอร์แต่อย่างใด

Advertisement

“กองทัพบกขอเรียนยืนยันว่า การดำเนินการขายซากเฮลิคอปเตอร์ลำเลียงแบบ 47 ในครั้งนี้ เป็นการบริหารจัดการยุทโธปกรณ์ที่ปลดประจำการแล้วให้มีมูลค่าและก่อให้เกิดประโยชน์กับทางราชการ ในการจัดประมูลกองทัพบก ได้เปิดโอกาสอย่างเท่าเทียมกัน ให้ผู้สนใจเข้าร่วม และดำเนินการอย่างยุติธรรม โปร่งใส เพื่อให้ได้ราคาประมูลที่เหมาะสมที่สุดกับสภาพยุทโธปกรณ์ โดยยึดประโยชน์ของทางราชการเป็นหลัก” พ.อ.หญิง ศิริจันทร์กล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image