กกต.หมดสิทธิพิง‘ศาล รธน.’ ตั้งหลักอย่างไร‘สูตรปาร์ตี้ลิสต์’

หมายเหตุ – กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ขอให้วินิจฉัยวิธีคำนวณหาจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ว่าเป็นไปตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 มาตรา 128 และชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 91 หรือไม่ โดยให้เหตุผลว่าตามกระบวนการ กกต.ยังไม่ได้ใช้หน้าที่และอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติกำหนดไว้ จึงไม่ถือว่ามีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของ กกต. ทำให้ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้วินิจฉัย จากนี้เป็นความเห็นของนักวิชาการและฝ่ายการเมืองถึงรูปแบบสูตรคำนวณดังกล่าว และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในระยะต่อไป


ผศ.ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

คําตอบอยู่ที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็ได้ออกมาพูดแล้วว่ามีสูตรอยู่แล้ว มีบันทึกอยู่แล้ว บางที กกต. อาจต้องกลับไปย้อนดูตรงนั้นก่อน
อย่างที่ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า ไม่ใช่หน้าที่ที่จะมาดู หรือว่าปัญหายังไม่เกิดขึ้น และรัฐธรรมนูญก็ได้ชี้แจงมาแล้ว ส่วนตัวคิดว่าการหาคำตอบ ไม่ใช่ไปหาที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ควรต้องไปหาที่คนร่าง พ.ร.ป.กฎหมายลูกมากกว่า

ตอนนี้กลายเป็นว่าถ้าสูตรการคำนวณ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์ยังไม่เสร็จ ทำให้เกิดคำถามว่า แล้วการประกาศผล 95% ภายในวันที่ 9 พฤษภาคม จะทันหรือไม่ ผมไม่ห่วงว่า ส.ส. ระบบเขตจะเป็นอย่างไร หรือจะให้ใบเหลืองหรือใบแดงก็ค่อยมาว่ากันทีหลังได้

Advertisement

แต่ปัญหาคือการคำนวณ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อจะสามารถทำได้ไหม

ส่วนตัวไม่ห่วงเรื่องการเปลี่ยนแปลงว่าใครได้ใบอะไร เชื่อว่าไม่มีปัญหา แต่ปัญหาคือจะคำนวณอย่างไรมากกว่า ถามว่าวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ จะได้ 95% หรือไม่ แล้วจะมองไปสู่ประเด็นที่ว่าการเลือกตั้งจะโมฆะหรือไม่ หากไม่ทันในกำหนดเวลาดังกล่าว แต่ก็หวังว่าไม่น่าจะไปถึงจุดนั้น

ตอนนี้สิ่งที่ กกต. ต้องทำอย่างเดียวคือทำความเข้าใจกับสังคมว่าตกลงใช้สูตรนี้ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่าทุกคนมีสูตรอยู่ในมือแล้ว หาก กกต.ออกมาช้าแล้วคนเลือกที่จะเชื่อว่าควรเป็นสูตรใดสูตรหนึ่งไปก่อน ขณะที่สูตรที่เป็นทางการและถูกต้องก็จะไม่ถูกเชื่อถือ


อัษฎางค์ ปาณิกบุตร
อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง

การตีความเรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ไม่ใช่หน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นผู้ตัดสินคดีความ ต้องมีคดีไปสู่ศาล การที่ศาลรธน. ปฏิเสธก็เป็นไปตามครรลองอยู่แล้ว เพราะ 1.ศาล รธน. ไม่ใช่ที่ปรึกษา กกต. ซึ่ง กกต.เองมีที่ปรึกษากฎหมายมากมายอยู่แล้ว 2.ถ้าตัดสิน ก็ผิดธรรมเนียม เพราะไม่ใช่หน้าที่ 3.ถ้าศาลรับแล้วใช้คำวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐาน จะยุ่งไปกันใหญ่ จึงเป็นสิ่งที่เป็นไปตามคาดว่า ศาล รธน.คงไม่รับแน่

สิ่งที่ กกต.ต้องทำอย่างรวดเร็วที่สุดคือ การประกาศผลการเลือกตั้ง โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงวันที่ 9 พฤษภาคม และต้องเปิดเผยคะแนน ทำไม กกต.ไม่พิจารณาคำร้องที่มาถึงว่า อะไรที่ปฏิบัติได้ อะไรที่ควร หรือไม่ควรปฏิบัติ มีเหตุผลหรือไม่ในแต่ละประเด็น ซึ่งมีคนข้องใจเป็นล้านคน ไม่ใช่น้อยๆ

การเลือกตั้งครั้งนี้ คนทั่วไปไม่เชื่อถือการกระทำหรือวิธีการของ กกต. ถามว่าไม่รู้สึกตัวเองหรืออย่างไร เป็นผู้ควบคุมกำกับดูแลการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ ยุติธรรม และเป็นความลับ ถามว่าทำครบจริงหรือไม่ กกต.อาจจะคิดว่าตัวเองบริสุทธิ์ ยุติธรรม แต่ในขณะเดียวประชาชนทั่วไป ผู้เลือกตั้ง พรรคการเมือง เห็นว่าไม่ยุติธรรม กกต.ก็ต้องแจงเหตุผลให้สังคมได้ยอมรับว่า สิ่งที่ตอบออกมานั้นคือความยุติธรรม ไม่ใช่เก็บไว้เหมือนไม่ทำงาน ต้องตอบคำถามของสังคมได้

กรณีสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ส่วนตัวมองว่าต้องเอารัฐธรรมนูญมาตรา 91 ที่มีข้อ 1-5 แล้วมีวรรคสุดท้าย ต้องตีความตรงนั้นให้แตก เสร็จแล้วกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ออกมาจะถูกหรือผิดช่วยไม่ได้ แต่ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ความจริงพูดมาตั้งนานแล้วว่า ในมาตรา 91 วงเล็บ 2 ให้เอาจำนวนคนมาใช้สิทธิเลือกตั้งหารด้วย 500 เป็น ส.ส. พึงมี ซึ่งชัดเจนจนไม่รู้จะชัดอย่างไรแล้ว ไม่ต้องไปคิดอะไรมากเลย ต้องใช้รัฐธรรมนูญเป็นหลัก

การอ้างว่าคะแนนมันไม่ตกน้ำ ถามว่าคำว่า “คะแนนไม่ตกน้ำ” มีหรือไม่ในรัฐธรรมนูญ คำตอบคือไม่มี แต่เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ต้องการให้ทุกคะแนนของผู้ที่มาใช้สิทธิเลือกตั้งมีประโยชน์กับพรรค

เมื่อก่อนคะแนนเสียเปล่า เช่น ผู้สมัครรับเลือกตั้ง นาย ก ข ค ง แล้วนาย ก ได้รับเลือกตั้ง คะแนนของ นาย ข ค ง ก็ถูกทิ้งไป แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เมื่อเลือกตั้งเขตเสร็จ ทุกคะแนนที่เลือก สมมุติสมัคร 10 คน นาย 1 ชนะแล้ว แต่คะแนนนาย 2 ถึงนาย 10 ก็จะถูกนำมานับรวมในจำนวนผู้ใช้สิทธิ คะแนนไม่ได้หายไปไหน ถูกใช้ให้เป็นประโยชน์ทุกคะแนน เพราะฉะนั้นจึงไม่ได้ตกน้ำ แต่ว่ามีกติกาที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ข้อ 2 กรณีคะแนน ส.ส. พึงมี ให้นำคะแนนรวมทั้งหมดมาหารด้วย 500 หมายความว่า 71,400 กว่าคนนั้นแหละ เพราะฉะนั้นคุณจะให้คนน้อยกว่านั้นได้ ส.ส.ด้วย ไม่ได้แล้ว และยังมีข้อ 4 กำกับไว้อีกว่า อย่าให้เกิน ผมไม่สนใจเลยว่ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าอย่างไร เพราะดูในรัฐธรรมนูญแล้วต้องเป็นแบบนี้


ชูศักดิ์ ศิรินิล
ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย

เท่าที่ดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มี 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือ การเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญมีกระบวนการที่กำหนดไว้ชัดเจนแล้วตามรัฐธรรมนูญ มีความหมายว่า กกต. ส่งเรื่องมาไม่ถูกช่องทาง

ส่วนอีกประเด็น เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อขัดแย้งใดๆ เกิดขึ้น กกต.ยังไม่ได้ดำเนินการตามอำนาจและหน้าที่ของตน คือการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ตรงนี้ที่เคยอธิบายว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจหน้าที่มาอธิบายรัฐธรรมนูญ เมื่อกรณีเป็นเช่นนี้ก็คงเป็นเรื่องที่ กกต. จะต้องตัดสินใจว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร

เข้าใจว่าสิ่งที่ กกต.เกรงอยู่ก็คือ การดำเนินการรับรองผลไป และถูกกล่าวหาว่าไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และมีผู้ไปร้องเรียนโต้แย้งคัดค้านหรือฟ้องร้องเป็นคดีขึ้น ฟังมาว่าอาจมีการใช้บริการผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ แต่ก็คงต้องคิดพอสมควร เพราะตอนหลังดูเหมือนว่าผู้ตรวจการฯจะไม่ได้ทำหน้าที่แบบบุรุษไปรษณีย์ เช่น การไปวินิจฉัยว่าผู้นำ คสช.ไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ และไม่ส่งเรื่องให้ศาลพิจารณา

สิ่งที่ กกต.จะต้องคิดคำนึงให้ดี คือ จะต้องรับรองผลภายในวันที่ 9 พฤษภาคมตามที่ได้ประกาศไว้ จะถูกกล่าวหาอีกว่า มีการเตะถ่วงทำให้ล่าช้า หากไม่ทันก็จะถูกกล่าวหาอีกว่า กระทำการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ

สำหรับการประกาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่เป็นปัญหา อยากจะให้ กกต.ได้พิจารณาว่ารัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง กำหนดไว้อย่างไร ก็เดินไปตามนั้น และหากเข้าใจว่าจุดมุ่งหมายและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และที่บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร มีความหมายอย่างไร ก็เดินไปตามนั้น ต้องไปดูเหตุว่า ทำไมกฎหมายให้คิดคำนวณจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ก่อนเป็นลำดับแรก และกำกับไว้หลายๆ อนุมาตราว่าจะคิดคำนวณอย่างไรก็ตาม ต้องไม่มีผลทำให้พรรคการเมืองใดๆ มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินจำนวนที่พึงมีได้ เข้าใจว่าที่เป็นปัญหากันอยู่ก็คือปัญหานี้

ส่วนสำคัญที่ กกต. จะต้องคำนึงก็คือ ขณะนี้มีการแบ่งฝ่ายแบ่งพวกกันชัดเจน มีเจรจาต่อรองกันอยู่อย่างเอาจริงเอาจัง เพื่อผลต่อการจัดตั้งรัฐบาล ใครจะรวมเสียงได้มากกว่า 250 เสียง สิ่งนี้หากทำใจให้เป็นกลาง ไม่เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใด ยึดถือรัฐธรรมนูญและกฎหมายเป็นหลัก ก็คงปลอดภัยด้วยกันทุกฝ่าย

มองภาพบรรยากาศขณะนี้ดูเหมือนว่า มีความพยายามจะตีความหรือต้องการให้การเมืองเดินทางไปสู่ทางตัน ไม่มีทางออก เช่น การพูดถึงการเลือกตั้งเป็นโมฆะ การมีรัฐบาลแห่งชาติ รัฐบาลปรองดอง ในชั้นนี้จึงอยากให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะ กกต.ต้องตั้งหลักให้ดี


นิกร จำนง
ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.)

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 2 ไม่รับวินิจฉัยในประเด็นเรื่องการคิดคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตามที่ กกต.ได้ยื่นคำร้อง ก็ต้องยอมรับ หลังจากนี้จึงขึ้นอยู่กับ กกต.แล้วว่า จะชี้ออกมาอย่างไร ผมคิดว่า ไม่ว่า กกต.จะชี้ออกมาแบบไหน เรื่องก็จะไม่จบ เพราะถึงอย่างไรข้อถกเถียงนี้จะเป็นปัญหาที่ต้องพิจารณากันอีกในอนาคตอย่างแน่นอน เพราะเชื่อได้ว่าจะต้องมีคนยื่นร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีกอยู่ดี ว่าสิ่งที่ กกต.ชี้นั้นชอบตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่

แม้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นความคลุมเครือของการเขียนกฎหมาย แต่เมื่อปล่อยความคลุมเครือให้มาถึงวันนี้ก็คงทำอะไรไม่ได้ นอกจากจะรอให้เหตุมันเกิดขึ้น แล้วค่อยช่วยกันแก้ไขในวันข้างหน้า แต่ผลที่ตามมา นั่นก็คือปัญหาที่รอการแก้ไขนี้อาจจะลึกกว่าเดิม เพราะผลจากความไม่ชัดเจนในเรื่องการคิดคำนวณ ส.ส. จะส่งผลไปสู่ความคลุมเครือไม่ชัดเจนในทางการเมืองด้วย โดยเฉพาะในมุมของประชาชน จะเกิดความกังวล ไม่มั่นใจ ต่อกระบวนการดังกล่าว และจะเป็นปัญหาอื่นๆ ตามมาอีกมากมายเกินกว่าที่จะคาดการณ์กันได้

วันนี้คงต้องปล่อยให้เป็นไปตามบุญตามกรรมของการเมืองไทย เพราะการเมืองก็เหมือนกับปัญหาอื่นๆ ที่ต้องเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป แม้ว่าจะแก้ไขได้หรือไม่ได้ก็ตาม ดังนั้น สิ่งที่ทำได้ก็มีเพียงแค่รอฟังผลว่า จะเป็นอย่างไร แต่ความไม่แน่นอน ความไม่มั่นใจจะขยายวงกว้างต่อเนื่องจนส่งผลไปสู่ความไม่เชื่อมั่นของประเทศในระยะยาวไปอีก ทั้งในมุมของประชาชนผู้ใช้สิทธิ นักธุรกิจ หรือแม้แต่พรรคการเมือง และทุกๆ ส่วนที่เกี่ยวข้อง เพราะเรื่องนี้ถือเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นท่ามกลางความขัดแย้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image