‘เรืองไกร’ ร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน สอบ กกต. เลือกปฏิบัติต่อ ‘ธนาธร’ หรือไม่

เมื่อวันที่ 28 เมษายน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตส.ว. กล่าวว่า จากการติดตามกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถูก กกต. ตั้งข้อกล่าวหาว่า ถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่มีวัตุประสงค์เข้าข่ายต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ที่ห้ามมิให้เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ นั้น ตามมาตรา 98 (3) มีทั้งการเป็นเจ้าของและการเป็นผู้ถือหุ้น ซึ่งคำว่าเจ้าของกับผู้ถือหุ้นกฎหมายมุ่งประสงค์ให้มีนัยแตกต่างกัน และคำว่าหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนใดๆ ก็มีความหมายต่างกัน หนังสือพิมพ์ เป็นคำเฉพาะ แต่ สื่อมวลชนใดๆ เป็นคำทั่วไป ที่มีความหมายกว้างมาก เช่น วิทยุ วิทยุโทรทัศน์ วิทยุชุมชน เว็บไซต์ ทวิตเตอร์ อินสตราแกรม เว็บไซต์ สื่อออนไลน์อื่น วารสารหรือการรับพิมพ์วารสาร ก็ควรอยู่ในความหมายด้วย จากการตรวจสอบคำสั่งศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง พบว่า กกต. เคยยื่นคำร้องหรือถูกร้องคัดค้านมาแล้วอย่างน้อย 11 คดี ที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยความหมายของคำว่า เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ไว้เป็นบรรทัดฐานแล้ว ดังนั้น การที่ กกต. ตั้งข้อกล่าวหานายธนาธร จึงอาจเป็นไปตามแนวคำพิพากษาของศาลฎีกา เรื่องนี้ หลายฝ่ายวิตกวิจารณ์ไปต่างๆ นานา โดยไม่ได้ศึกษาแนวคำพิพากษา ทั้งที่ศาลฎีกามีคำสั่งไปหลายคดีแล้ว หรือกระทั่งการถือหุ้นสัมปทานเพียงหุ้นเดียวก็ผิดตามที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ ดังนั้น ต้นเหตุจึงน่าจะมาจากการที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ที่บัญญัติไว้กว้างเกินไป และจะมีผลให้มีคนกระทำการฝ่าฝืนมาตรานี้ตามมาอีกมากมาย

นายเรืองไกร กล่าวอีกว่า แต่มีอยู่กรณีหนึ่ง ที่มีความปรากฏต่อ กกต. แล้ว แต่ กกต. กลับไม่ทำการวินิจฉัย คือกรณีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดย กกต. สรุปความเห็นไว้ในลักษณะตัดสินแทนศาลว่า การที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดช่องทางการสื่อสารกับสาธารณชนในรูปแบบ เพจเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม (ไอจี) ทวิตเตอร์ รวมถึงเว็บไซต์ส่วนตัว ซึ่งยังไม่อาจถือได้ว่าเข้าข่ายการเป็นเจ้าของกิจการ การสรุปดังกล่าว จึงเหมือนกับการเลือกปฏิบัติ ไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกับทุกกรณี ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ เฉพาะกรณีของพล.อ.ประยุทธ์ กับของนายธนาธร อาจถูกสังคมตั้งคำถามว่า นายกฯ เป็นเจ้าของสื่อไม่ผิด แต่ธนาธรเป็นผู้ถือหุ้นสื่อกลับผิด ทั้งนี้ การกระทำของ กกต. ดังกล่าวต่อกรณีของพล.อ.ประยุทธ์ กับของนายธนาธร จึงอยู่ในอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามความในรัฐธรรมนูญ มาตรา 231 (1) ที่จะตรวจสอบได้ว่า การไม่วินิจฉัยกรณีพล.อ.ประยุทธ์ และไม่ตั้งข้อกล่าวหานั้น แต่ต่อมากลับตั้งข้อกล่าวหากรณีนายธนาธร นั้น การกระทำของ กกต. จะเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ และการกระทำของ กกต. ดังกล่าวจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ ในวันที่ 29 เมษายนนี้ เวลา 10.30 น. ตนจะไปยื่นหนังสือเพื่อขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบการกะทำของ กกต. ต่อไปโดยเร็ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image