หลังจากที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้รับเกียรติจาก “กกต.” ได้รับแจ้งข้อกล่าวหา ฐานเป็นบุคคลที่มีลักษณะ “ต้องห้าม” แล้วยังลงสมัครรับเลือกตั้ง
ปรากฏการณ์ “โดมิโน” ก็เริ่มส่อเค้า
กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ราว 2 คน อาจถูกร้องเช่นเดียวกันว่า ถือหุ้นในบริษัทที่ประกอบธุรกิจสื่อ
แต่ทั้ง 2 ก็มีทางออกว่า บริษัทที่ถือหุ้นอยู่นั้นแค่ “จดแจ้งวัตถุประสงค์” ประกอบธุรกิจสื่อจริงๆ แต่ “ไม่ได้ทำธุรกิจสื่อ”
กล่าวในทางธุรกิจ เมื่อจดแจ้งวัตถุประสงค์เปิดเอาไว้ จะทำกิจนั้นเมื่อใด ทำได้ทันที
เปรียบได้ว่า “บริษัทยังมีชีวิต”
เทียบกับกรณี “ธนาธร” ที่เคยถือหุ้นในบริษัทที่เคยผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทนิตยสาร แต่นิตยสารนั้น “ปิดตัว” ลาโรงไปแล้ว
เปรียบได้ว่าเป็น “บริษัทที่ตายแล้ว”
หุ้นที่นายธนาธรกับภรรยาเคยถืออยู่ก็ “โอน” ไปแล้ว
หัวใจสำคัญในบทบัญญัติของกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายอยู่ที่ “เจตนารมณ์” หรือบางคนเรียกว่า “คุณธรรมกฎหมาย”
ไม่ใช่การเล่นลิ้นตีความตามตัวอักษรหรือมุ่งเอาชนะคะคานกันทางเทคนิควิธี
ยังมีกรณีที่น่าสนใจไปกว่า “ธนาธร”
น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี ว่าที่ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์และหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญในขบวนทัพ “พลังประชารัฐ” ภายในพรรคได้ประชุมกันแล้วเห็นร่วมกันว่า ในทาง “นิตินัย” มาดามปลอดภัย
แต่ “พฤตินัย” ไม่แจ้งว่า “มาดามเดียร์” ซึ่งเป็นที่รู้จักกันกว้างขวางว่าเป็นใคร มีบทบาท มีความสำคัญอย่างไรกับธุรกิจสื่อสารมวลชนค่ายใหญ่
จะเอาอะไร นิตินัย พฤตินัย ศรีธนญชัย !
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ “ระบบยุติธรรม” ยังคงตั้งมั่น “กกต.” ที่เป็นองค์กรอิสระ “มืออาชีพ” ควรจะต้องระวังตั้งแต่การพูดและการปฏิบัติที่ต้องอิงกับ “หลัก” และ “วิธี”
ไม่ผลีผลามกล่าวหาใคร อ่านให้ขาด พินิจพิเคราะห์ให้แตกฉานว่า “มีเจตนา” ชั่วร้ายหรือไม่
คนไหนเป็นพวก “ศรีธนญชัย” ที่ขาดคุณสมบัติ ครอบงำกิจการสื่อ บงการสื่ออยู่ทุกวี่ทุกวันแล้วยังตั้งใจลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่
กล่าวตาม “ระบบ” เมื่อฝ่ายหนึ่งกล่าวหา ฝ่ายที่ถูกกล่าวหาก็มีหน้าที่ “พิสูจน์” ด้วยพยานหลักฐาน เพื่อให้ศาลเชื่อว่า “ไม่ได้มีเจตนา” ทำผิดคิดชั่ว
ในชั้นนั้นจะได้เห็นกัน ใครครอบงำสื่อบงการใช้งานสื่อไปในทางเบียดเบียนทำลายคู่แข่งขันทางการเมือง !?!!