‘โคทม’ หวั่นสูตร 27 พรรคขัดกฎหมาย ชี้เห็นใจพรรคเล็ก ไม่แคร์ ส.ส.เสียที่นั่งหรือ?

นายโคทม อารียา

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม นายโคทม อารียา อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ กกต. ยึดสูตรคำนวนแจก ส.ส. 27 พรรคเล็ก ว่า ในการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อเบื้องต้น กรณีนี้ชัดเจนว่ามีอยู่ 152 คน ที่จัดสรรตามจำนวนเต็ม ตามหลักทั่วไปซึ่งยังไม่ได้พูดถึงเศษ แปลว่ามี ส.ส.เกินมา 2 คน การที่จำนวน ส.ส.เขต เกินกว่า ส.ส.พึงมี เรียกว่า “โอเวอร์แฮงค์” ซึ่งจะต้องคิดอัตราส่วนโอเวอร์แฮงค์เพื่อนำมาคำนวณจำนวนพรรคที่ได้ โดยสุดท้ายแล้ว ส.ส.บัญชีรายชื่อคือ 150 คน ถ้าขาด 1 คนก็ต้องปัดขึ้น ถ้าเกินก็ต้องเกลี่ยลงให้ได้ 150 คนตามที่กฎหมายกำหนด หากค่อยๆเปลี่ยนตัวแปรโอเวอร์แฮงค์ จาก 23 เป็น 24 25 26 อย่างกรณีปัจจุบัน คิดว่าจำนวนพรรคควรจะกระโดดจาก 16 พรรค ไปเป็น 27 พรรคหรือไม่

“ถ้าโอเวอร์แฮงค์คือ 23 เรามี ส.ส.เบื้องต้น 149 คน ก็ปัดเศษขึ้นเป็น 150 แล้วคำนวณดูว่ามีกี่พรรคที่ได้ ส.ส. ซึ่งก็คือ 16 พรรค แต่ถ้ามี 150 พอดีก็ไม่ต้องปัดเศษ จะได้ ส.ส. 16 พรรค แต่หากแปรโอเวอร์แฮงค์เพิ่มขึ้นอีกจาก 24 หรือ 25 แล้วบอกว่ามีตัวคูณที่พิศดารเข้ามาคำนวณ แทนที่จะใช้บัญญัติไตรยางค์ธรรมดา คืออยากได้ 150 แต่มี 151 ก็คูณด้วย 150 หารด้วย 151 จะได้ ส.ส.16 พรรค ถ้าต่อไปส.ส.บัญชีรายชื่อเกินมาอีก 2 คน เป็น 152 หมายความว่า โอเวอร์แฮงค์เท่ากับ 26 ตามกรณีปัจจุบัน ก็ต้องใช้บัญญัติไตรยางค์ คือคูณด้วย 150 หารด้วย 152 จะได้ 16 พรรค ต้องเป็นการเปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่องเช่นนี้ ไม่ใช่จาก 151 กระโดดมาเป็น 27 พรรค ถ้ากลับมาเป็น 150 ก็เหลือ 16 พรรค ซึ่งไม่ใช่ ดังนั้นหากใช้สูตร 16 พรรคในการคำนวณ ถ้าเพิ่มโอเวอร์แฮงค์ทีละ 1 ไปเรื่อยๆ ก็จะยังคงได้ 16 พรรคเช่นเดิม ไม่มีการกระโดดมาเป็น 27 พรรค ซึ่งจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ ที่บอกว่าไม่ให้จัดสรรที่นั่งกับพรรคการเมืองที่มี ส.ส.น้อยกว่า ส.ส.พึงมี ซึ่งทำให้ผลการจัดสรรสูงกว่าตัวเลขพึงมี หมายความว่าหากน้อยกว่า 1 แต่ไปจัดสรรให้ 1 ก็ย่อมต้องขัดกับรัฐธรรมนูญ ทั้งมาตรา 91 และมาตรา 128 ของ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง”

นายโคทมกล่าวอีกว่า การที่มี 6 หมื่น แล้วบอกว่าพรรคที่ได้รับการจัดสรรเยอะน่าจะเห็นใจพรรคเล็ก ต้องถามว่าแล้ว ส.ส.ที่เสียที่นั่งไปเห็นใจเขาหรือไม่ เพราะ ส.ส.แต่ละคนก็ได้คะแนนเต็ม 7 หมื่นกันทั้งนั้น ถ้าหากใช้สูตร 27 พรรคจริง และหากว่าเป็นที่ยอมรับเพราะมีคำอธิบายชัดเจนแจ่มแจ้งก็ไม่น่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่คำอธิบายต้องมีเหตุผล กกต.ต้องรับฟังรอบด้านแล้วเห็นว่าสูตรนี้มีเหตุผลที่สุด ไม่ใช่สูตรกระโดด

“การเปลี่ยนที่นั่งของพรรคเพื่อไทยจาก 137 มาเป็น 136 แทนที่จะจัดสรรให้ 16 พรรค แต่อยู่ดีๆเมื่อเปลี่ยนไป 1 ที่นั่ง กลับขยับไป 27 พรรค เกิดคำถามว่าทำไมต้องเอา ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคใดพรรคหนึ่งที่ได้คะแนน 7 หมื่นเต็มซึ่งอาจจะยังมีเศษอีก มาแบ่งให้พรรคที่ได้ไม่ถึง ถ้าพรรคที่ได้ ส.ส.1 คน แต่เศษเยอะ เช่นมีเศษสูงถึง .99 จะให้เขา 2 ที่นั่งหรือไม่ ตอนนี้ยังไม่ต้องพูดถึงเศษ เอาจำนวนเต็มไปก่อน ถ้าได้แล้วก็ถือว่าได้ ยกเว้นว่าจะต้องปรับลงเพราะเกินจำนวน คือ 150 คน ถ้าปรับลงก็แค่เทียบบัญญัติไตรยางค์ซึ่งเข้าใจได้แม้ว่าจะมีการลดลงบ้างพรรคนนั้น 1 คน พรรคนี้ 1 คน ไม่ใช่จะปรับ 152 เป็น 150 แล้ว บอกว่า พรรคนี้ลดมา 7 พรรคนี้ลดมา 4 แล้วเดี๋ยวเอาไปแจกพรรคที่ 17 -27 ซึ่งทั้ง 10 พรรคไม่มีใครได้ 7 หมื่น แต่ 10 ที่นั่งก่อนหน้านี้ได้ 7 หมื่นทุกที่นั่ง ก็หวังว่าสูตรที่จะได้รับพิจารณาจา กกต.น่าจะคล้ายกับสูตร 16 พรรค ที่ไม่กระโดด และเป็นธรรมกับทุกพรรค” นายโคทมกล่าว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image