ทางออกประเทศ หากร่าง รธน.ถูกคว่ำ

หมายเหตุ – ความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ต่อกรณีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระบุว่าจะใช้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ผ่านการลงประชามติ

วิรัตน์ กัลยาศิริ
หัวหน้าคณะกฎหมาย พรรคประชาธิปัตย์

หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ แล้ว กรธ.ให้ใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว แนวคิดนี้ถูกครึ่งหนึ่งและไม่ถูกครึ่งหนึ่ง เราอาจใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวได้ แต่จะต้องไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับที่เป็นอยู่นี้ เพราะต้องมีการปรับปรุงแก้ไขให้ชัดเจนเสียก่อน โดย คสช. ครม. และ สนช.เสนอ โดยส่วนตัวเห็นว่าเรื่องนี้อาจมีการกำหนดว่า กรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ผ่านประชามติ ต้องใช้รัฐธรรมนูญ 2540 หรือ 2550 แทน เป็นต้น

ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ คสช.จะต้องอยู่ในอำนาจต่อไป อยู่ที่เงื่อนไขการเขียนและปรับแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวว่าจะบัญญัติให้หยิบยกรัฐธรรมนูญฉบับใดมาใช้แทน แต่ถ้าประชามติไม่ผ่าน แล้ว คสช.ยังอยู่ต่อ ผมมองว่าจะไม่มีความชอบธรรม เพราะหาก คสช.ดึงดันจะอยู่ต่อ อาจจะทำให้ทุกภาคส่วนเข้ามาเล่นงาน คสช.ได้ ดังนั้น คสช. ครม.และ สนช.ต้องรีบแก้และเขียนรัฐธรรมนูญชั่วคราวให้ชัดเจนก่อนทำประชามติว่าจะเอาอย่างไร เพราะเมื่อประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คสช.ควรสิ้นสภาพไปทันที

 

Advertisement

จตุพร พรหมพันธุ์
ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่านการลงประชามติ ประเทศไทยก็จะยังคงใช้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ของนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อยู่ดี และที่กำลังร่างอยู่นั้น นายมีชัยพยายามสร้างวิกฤตให้ประเทศ ทั้งนำประเด็นการเลือกตั้งมากดดันประชาชน แต่วันนี้ไม่มีใครกล้าพูดว่าจะให้รัฐธรรมนูญผ่านไปก่อนแล้วกลับมาแก้ไขทีหลัง ทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ไม่มีทางแก้ไขได้ เนื่องจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ปิดประตูการแก้ไขหมดแล้ว จะเห็นว่านายมีชัยต้องการให้ประชาชนไม่มีทางเลือก หากร่างฉบับใหม่ผ่านเท่ากับสร้างวิกฤตให้ประเทศที่หนักกว่าปัจจุบัน ดังนั้นนายมีชัยไม่ควรพูดเลยว่าหากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านแล้วจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพราะไม่ว่าจะผ่านหรือไม่ผ่านก็เหมือนเดิม ไม่ว่าจะฉบับชั่วคราวหรือถาวรก็ฉบับของนายมีชัย ด้วยเหตุนี้ นปช.ยืนยันรณรงค์ให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และ คสช.ควรเปิดโอกาสให้ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยได้วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา

เรื่องเดียวที่จะทำให้นักเลือกตั้งอ่อนไหวคือกลัวการเลือกตั้งจะช้าออกไป แต่ฝ่ายประชาธิปไตยกลับเห็นว่าด้วยสภาพการณ์ลักษณะนี้หากเลือกตั้งเร็ว จะน่ากลัว เนื่องจากกลไกองค์กรอิสระวางไว้ครบอยู่แล้ว ส.ว.ก็มาจากการลากตั้ง รัฐธรรมนูญก็ห้ามแก้ไข รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งก็จะอยู่ไม่ได้เพราะเกิดวิกฤตแน่นอน วิกฤตก็เกิดขึ้นมาจากการสร้าง แล้วให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหานายกรัฐมนตรีคนนอก บรรดาบิ๊กใน คสช.ก็จะมีชื่อในนั้น ปัญหาของประเทศจะหนักกว่าเดิม ดังนั้นการเลือกตั้งภายใต้กติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ประเทศไทยควรพอกันได้แล้ว ผมว่าอย่ากลัวเสียเวลา และผมไม่กังวลว่าหากผู้มีอำนาจอยู่นานแล้วเราจะโดนเยอะกว่านี้ เพราะนี้คือระยะสุดท้ายของผู้มีอำนาจ

เชื่อว่าสถานการณ์ขณะนี้ทำให้ คสช.หรือผู้มีอำนาจอยู่ในระยะสุดท้าย หาก คสช.คิดว่าจะได้ประโยชน์จากการที่รัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ผ่าน ถือเป็นความคิดที่ผิดเพราะความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งผลิตผลทางการเกษตร การค้าขาย ภัยแล้ง ความอดอยาก ประชาชนมีความยากลำบาก เหล่านี้ล้วนมีผลต่อการลงประชามติ จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถสะท้อนได้อย่างน่าตกใจ เชื่อว่าประชาชนจะมาใช้สิทธิลงประชามติจำนวนมากเพื่ออธิบายกับคณะรัฐประหารถึงความไม่พอใจในความเดือดร้อนทั้งปวง ทางออกที่ดีที่สุดของรัฐบาลคือต้องคืนอำนาจให้ประชาชน

Advertisement
วิรัตน์ กัลยาศิริ-จตุพร พรหมพันธุ์-ยอดพล เทพสิทธา
วิรัตน์ กัลยาศิริ-จตุพร พรหมพันธุ์-ยอดพล เทพสิทธา

ยอดพล เทพสิทธา
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยไม่ผ่าน แล้วบอกว่าจะใช้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ผมคิดว่า ถ้าเขาว่าไงก็ว่ากัน บอกว่าได้ก็คงต้องได้ ต่อให้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ผ่านหรือไม่ผ่านก็ต้องใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวอยู่ดี เพราะรัฐธรรมนูญใหม่ต้องมีเวลารอบังคับใช้ ไม่ได้ร่างเสร็จแล้วจะใช้ได้เลย

แต่โดยรวมแล้ว ร่างรัฐธรรมนูญนายมีชัยมีปัญหาอะไร เห็นอยู่คือมีปัญหาเยอะ ไม่ว่าจะเป็นนักกฎหมาย นักวิชาการก็ออกมาให้ความเห็นกันเยอะแยะถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และถ้าจะให้ผ่านได้ใช้จริงๆ ก็น่าจะมีปัญหาในอนาคตได้

หากจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เมื่อรัฐบาลใหม่มาก็ต้องร่างใหม่อีก เสียเวลา แค่นี้ก็เสียเวลาพอแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเชียร์ให้รัฐธรรมนูญผ่านจริงๆ ถ้าเราไม่พร้อม รัฐธรรมนูญยังไม่ดี สังคมยังไม่ตอบรับ เราก็ไม่จำเป็นต้องรีบให้มีประชามติก็ได้ แม้ว่าจริงๆ ควรจะรีบทำประชามติ แต่ตัวผู้ร่างควรร่างให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนมากกว่า ไม่ใช่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง

คำถามคือ อนาคตจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปกครองประเทศหรือเท่าที่ทำได้ตอนนี้คือ ฝึกหัดการรอไป ประชาชนรอมานานแล้ว แต่ไม่ได้จะบอกให้รออีกหน่อย อันที่จริงควรเสร็จได้ตั้งนานแล้วแต่ก็ไม่เสร็จ เหตุเพราะร่างออกมาแล้วห่วย ใช้ไม่ได้ คนไม่ยอมรับ

 

ปูนเทพ ศิรินุพงศ์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ประชามติจริงๆ เป็นการเลือกระหว่างสองสิ่งที่ดีกับไม่ดี หรือไม่เหมือนกัน มีนัยยะต่างกัน แต่ถ้าเป็นอย่างนี้คือ คนไปเลือกระหว่างสิ่งที่แย่อาจเป็นรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาหลายเรื่องที่คนโจมตีกับสิ่งที่แย่กว่า เราไม่รู้อะไรเลยว่าถ้าไม่ผ่านแล้วจะเป็นยังไงต่อ จะมีกระบวนการทำรัฐธรรมนูญที่ดีกว่านี้หรือแย่กว่านี้ ในแง่หนึ่งเป็นการทำประชามติที่เรียกว่าไม่ยุติธรรมตั้งแต่ต้น ตั้งแต่การตั้งโจทย์

จริงๆ ไม่ใช่การกลับไปใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แต่โดยสภาพของมันอยู่แล้ว ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่าน จะเป็นไปตามกระบวนที่ปัจจุบันตัวบทเป๊ะๆ ไม่ได้เขียนไว้ว่าจะเป็นยังไงต่อ

เพียงอาจจะตีความกลับไปได้ว่า วนกลับไปตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ ในแง่นี้คนต้องไม่พอใจอยู่แล้ว อย่างน้อยช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่สัญญาว่าจะมีรัฐธรรมนูญ เป็นเวลาที่เสียเปล่าโดยสิ้นเชิง

ถ้าจะเอาให้ถูกหลักต้องเป็นประชามติที่ให้เห็นว่าถ้าครั้งนี้ไม่ผ่าน คือ 1.คนไม่เห็นด้วยกับเนื้อหา 2.คนมีช่องทางแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับกระบวนการทั้งหมดที่ทำมาโดยที่ประชาชนไม่ได้มีพื้นที่ในการแสดงออกตั้งแต่ต้น ทางออกที่ดีที่สุดคือจะต้องยอมทั้งสองฝ่าย เราก็เห็นว่ากระบวนการทำรัฐธรรมนูญที่คนไม่มีส่วนร่วม สุดท้ายคนก็ไม่ยอมรับ เนื้อหาคุณพูดฝ่ายเดียว ต้องมีการทำรัฐธรรมนูญโดยที่ประชาชนมีส่วนร่วม จะเป็นไปได้ไหมว่าแก้รัฐธรรมนูญ อันนี้คุณทำมาแล้ว คุณทำให้เสร็จ แล้วรัฐธรรมนูญเปิดช่องเอาไว้ สมมุติประชามติครั้งนี้ไม่ผ่าน เราจะนำไปสู่การทำรัฐธรรมนูญที่ตัวแทนประชาชนเป็นคนทำ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เข้าไปทำ โดยที่ คสช.อาจจะคุมกรอบกติกาอยู่ให้เดินไปได้ต่อ ประชาชนมีสิทธิเลือกตั้ง ส.ส.ร.เข้าไป เป็นอย่างนี้ถึงจะเป็นประชามติที่แฟร์ต่อคนลงคะแนน

ปูนเทพ ศิรินุพงศ์-ชำนาญ จันทร์เรือง-ชูศักดิ์ ศิรินิล
ปูนเทพ ศิรินุพงศ์-ชำนาญ จันทร์เรือง-ชูศักดิ์ ศิรินิล

ชำนาญ จันทร์เรือง
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

มันเป็นหลักกฎหมายธรรมดา เขาไม่ได้พูดถึงขนาดนั้นเสียหน่อย พอหนังสือพิมพ์หรือสื่อลงข่าวว่านายมีชัยพูดอย่างนี้ หุ้นร่วง นักลงทุนขวัญหนีดีฝ่อหมด ต้องแปลความหมายให้ถูก ปัจจุบันก็ใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวอยู่แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นฉบับที่ใช้ถาวร ยกเว้นเสียแต่ว่าจะแก้ใหม่ให้เป็นถาวร

ที่นายมีชัยพูดไม่ได้จะหมายความว่าให้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเป็นฉบับถาวร และไม่ใช่หน้าที่ของนายมีชัยด้วย สมมุติว่าจะเป็นฉบับถาวร คสช.ต้องทำเองอีกครั้ง อาจจะประกาศใช้เลยหรือรัฐประหารซ้ำอีกครั้ง ซึ่งผมไม่เห็นด้วยทั้ง 2 วิธี

แต่การสัมภาษณ์ของนายมีชัยเมื่อ 25 มกราคมที่ผ่านมา หมายความถึงเมื่อกฎหมายใหม่ยังไม่เกิด กฎหมายเก่าก็ยังอยู่ ใช้กฎหมายปัจจุบันไปก่อนจนกว่าจะมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาแทนหรือจะยืดอันเก่าให้เป็นฉบับถาวร ผมไม่เห็นด้วย แต่ก็เป็นไปได้ทั้งนั้นเมื่อเขามีอำนาจรัฐประหารอยู่ แต่แรงต่อต้านทางการเมือง หนทางการเมืองที่เกิดขึ้น ก็คงรุนแรงเกินกว่าการที่จะคาดเดาได้ นานาประเทศคงไม่รับรอง

ถามว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัยไม่ผ่าน ใช้รัฐธรรมนูญฉบับอื่นแทนฉบับชั่วคราวได้ไหม ก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวก่อนลงประชามติ ถ้าไม่แก้เลยและประชามติไม่ผ่าน ยืนยันจะใช้ก็ต้องใช้อำนาจรัฐประหาร แต่ก็ต้องเจอการต่อต้าน การไม่ยอมรับ ความชอบธรรมทางการเมืองก็หมดไปเลย เพราะอย่างน้อยที่สุด ตอนนี้ยังพอพูดได้เรายังมีรัฐธรรมนูญอยู่ รอโรดแมป รออะไรต่างๆ ถึงจะยืดมาแต่คนก็ยังมีความหวัง

 

ชูศักดิ์ ศิรินิล
หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.)

เป็นคำตอบที่ว่ากันไปตามรูปแบบในทางกฎหมาย ประชาชนฟังแล้วก็คงงงๆ คงใช้แบบที่นายมีชัยว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก็ยังคงอยู่ ถึงเวลานั้นก็ต้องตั้งต้นกันที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป จะตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หรือจะใช้แนวทางอย่างใด หรือต้องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว

ฟังคำสัมภาษณ์ของนายมีชัย น่าจะมีเป้าหมายความต้องการว่าไม่สมควรแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวในเวลานี้ ตามข้อเรียกร้องที่หลายฝ่ายเสนอว่าควรแก้ไขที่มีปัญหาในเรื่องถ้อยคำการนับคะแนนเสียงประชามติ และมิได้กำหนดไว้ว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติแล้วจะทำอย่างไร ดังเช่นที่พรรคเพื่อไทยเคยเสนอไว้ สมัยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในชุดนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ควรมีทางเลือกให้ประชาชน เราจึงเสนอให้นำรัฐธรรมนูญ 2540 มาปรับใช้ แล้วจัดการเลือกตั้งภายใน 60 วัน

เป็นทางเลือกให้ประชาชน มิฉะนั้นประชาชนจะคิดไปคล้ายๆ ตอนรัฐธรรมนูญ 2550 ว่าถ้าไม่ผ่านแล้วอาจจะเจออะไรที่ร้ายยิ่งกว่า เลยให้ผ่านๆ ไปก่อน จึงเกิดการรณรงค์ให้ผ่านไปก่อนแล้วแก้ภายหลัง ซึ่งก็แก้ไม่ได้ ฟังดูแล้วท่านไม่อยากให้แก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวตอนนี้ ทิ้งไว้อย่างนี้แหละ ถ้าแก้แล้วจะดูเป็นเงื่อนไขหรือชี้นำว่าไม่ให้ผ่าน สำหรับผมยังคงยืนยันว่าก่อนทำประชามติครั้งนี้ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เปิดทางเลือกให้ประชาชน เห็นอนาคตความเป็นไปในทางการเมืองในการตัดสินใจอนาคตของประเทศ หากร่างรัฐธรรมนูญมาดีจริงแล้วจะไปกลัวอะไรกับอำนาจของประชาชน กลัวอะไรกับการไม่ผ่านประชามติ ส่วนข้อกังวลว่าหากประชามติไม่ผ่านแล้ว รัฐบาลยังมีมาตรา 44 อาจนำมาใช้ผ่าทางตัน คิดว่ามาตรา 44 คงไม่อาจนำมาใช้ในทางที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2557 ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image