พัฒนา ความคิด ยุทธศาสตร์‘การเมือง’ ในกระแส การต่อสู้

รูปของการจัดตั้งพันธมิตร 7 พรรคต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ คสช. คือ ตัวอย่างอันเด่นชัดยิ่งของการร่วมมือกันในเชิง “ยุทธศาสตร์”

สามารถทำได้ทันที 3 วันหลัง “เลือกตั้ง”

โดยมี 7.9 ล้านคะแนนเสียงเป็นพื้นฐานหลัก ประสานเข้ากับ 6.2 ล้านเสียงของพรรคอนาคตใหม่ 8.2 แสนเสียงของพรรคเสรีรวมไทย 4.8 แสนเสียงของพรรคเศรษฐกิจใหม่ 4.8 แสนเสียงของพรรคประชาชาติ 4.1 แสนเสียงของพรรคเพื่อชาติ และ 8.1 หมื่นเสียงของพรรคพลังปวงชนชาวไทย

ในที่สุดก็กลายเป็น “บังเกอร์” ใหญ่ในทางการเมือง

Advertisement

มีส่วนอย่างสำคัญทำให้พรรคขนาดกลางอย่าง พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา สามารถนำไปต่อรองกับพรรคพลังประชารัฐได้อย่างคึกคัก

นี่คือการคิดและลงมือทำในเชิง “ยุทธศาสตร์”

มิได้เป็นยุทธศาสตร์ในการเป็นรัฐบาล หากแต่เป้าหมายอย่างสำคัญ คือ สกัด ขัดขวางมิให้การสืบทอดอำนาจของ คสช.ดำเนินไปด้วยความราบรื่น

Advertisement

หากไม่เข้าใจยุทธศาสตร์อันมีพื้นฐานมาจากการลงสัตยาบันและแถลงข่าวร่วมกันที่โรงแรมแลงคาสเตอร์ เมื่อวันที่ 27 มีนาคม

ก็จะไม่เข้าใจ “ยุทธวิธี” หลายอย่างซึ่งตามมา

ไม่ว่ายุทธวิธี “ปิดสวิตช์ ส.ว.” ที่ออกโรงอย่างแข็งขันโดยพรรคอนาคตใหม่ ไม่ว่ายุทธวิธีปล่อยวางจากตำแหน่งทางการเมือง

นั่นก็คือ ให้ตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” เป็นทางเลือกซึ่งเปิดกว้าง

สามารถเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ สามารถเป็นของพรรคภูมิใจไทยก็ได้ ขออย่างเดียวต้องไม่เป็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นั่นก็คือ เปิดทางกับทุกพรรคการเมือง ยกเว้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แม้ยุทธวิธีนี้จะก่อความเข้าใจผิดในบางระดับ หรือคนที่มองไม่ทะลุจากยุทธวิธีไปยังยุทธศาสตร์แต่ก็ก่อผลสะเทือนในทางการเมืองโดยฉับพลัน

นำไปสู่การกดดัน “คสช.” อย่างทรงความหมาย

ถามว่าทำไมจึงเกิดกระแสจากความพยายามตัด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ตัด พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ออกไปจากวงจร

กระทั่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เริ่มพิจารณาตนเอง

น่าสนใจอย่างที่สุดก็ตรงที่เป็นการพิจารณาตนเองบนพื้นฐานที่ต้องการไม่ให้ภาพ “การสืบทอด” หรือ “ต่อท่อ” แห่งอำนาจดำรงอยู่

น่าสนใจอย่างที่สุดก็ตรงที่มีการเน้นไปยัง “ครม.เศรษฐกิจ”

การพยายามชูภาพ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ โดยมี 4 ยอดกุมารที่ออกจากทำเนียบรัฐบาลไปจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐเริ่มถูกตั้งคำถาม

ทำให้สถานะ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นเช่นเดียวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

การจะมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หรือไม่ การจะมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ หรือไม่กลายเป็นประเด็นสำคัญในการต่อรอง

นี่คือผลสะเทือนจาก “ยุทธวิธี” ที่รับใช้ “ยุทธศาสตร์” ต้านการสืบทอดอำนาจ

จากการเกิดขึ้นของยุทธศาสตร์ต้านการสืบทอดอำนาจ จากการเกิดขึ้นของยุทธวิธีปิดสวิตช์ 250 ส.ว.ได้ให้บทเรียนอย่างสำคัญในเชิงความคิด ในเชิงการเมือง

เน้นย้ำว่าความจำเป็นในความคิดเชิงยุทธศาสตร์ เชิงยุทธวิธี

เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และจำเป็นต้องอาศัยเวลาในการบ่มเพาะ ฝึกฝน เพราะอย่าว่าแต่พรรคการเมืองเลยที่ขาดความสันทัด แม้กระทั่งนักวิชาการบางคนก็เด่นชัดว่ายังศึกษาไม่เป็น ใช้ไม่เป็น

การเรียนรู้ท่ามกลางการปฏิบัติที่เป็นจริง จึงทรงความหมาย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image