บทนำ : ต้นเหตุความเสื่อม

การแข่งขันจัดตั้งรัฐบาลภายหลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรับรองรายชื่อ ส.ส.มีความเคลื่อนไหวสำคัญเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคมโดยพรรคการเมือง 11 พรรค ซึ่งได้ ส.ส.พรรคละ 1 คนจากระบบบัญชีรายชื่อรวมตัวกันแถลงข่าวสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ และสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้ขณะนี้พรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ มีจำนวนมากกว่า 126 เสียง และหาก ส.ว.จำนวน 250 คนสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ก็จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ส่วนการบริหารราชการแผ่นดินซึ่งมีจำนวน ส.ส.เกินกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรนั้น ยังคงต้องรอติดตามความเคลื่อนไหวต่อไป

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวในขณะนี้พอสะท้อนมุมมองของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับการเลือกตั้งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งยังคงยึดถือความคิดเห็นของประชาชน และยึดมั่นต่อคำสัญญาที่เคยให้ไว้ต่อประชาชนก่อนการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ หรือพรรคการเมืองที่ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งคือพรรคการเมืองที่ไม่ทำตามคำสัญญาที่เคยให้ไว้ ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวเริ่มมีผู้ที่ติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองเริ่มนำข้อมูลออกมานำเสนอเป็นระยะๆ แล้ว ขณะที่พรรคการเมืองที่ไม่ยอมทำตามคำพูด บางพรรคออกมาชี้แจง แต่บางพรรคยังนิ่งเฉยอยู่

การรักษาคำมั่นก่อนการเลือกตั้งถือว่ามีความสำคัญ เพราะถือเป็นสัญญาประชาคมที่พรรคการเมืองให้ไว้กับประชาชน เช่นเดียวกับนโยบายของพรรคที่หาเสียงไว้ ฝ่ายรัฐบาลสมควรผลักดันให้นโยบายพรรคเกิดเป็นรูปธรรมขึ้นมา แต่ละพรรคการเมืองหรือ ส.ส.แต่ละคน ต้องระลึกไว้เสมอว่าเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศ การเผลอคิดว่าตัวเองเป็นตัวแทนกลุ่มทุน หรือเป็นตัวแทนผู้มีอำนาจ โดยมองข้ามประชาชนไปนั้นถือเป็นมิจฉาทิฐิ ขณะนี้เริ่มมีกระแสข่าวว่ากลุ่มการเมือง เริ่มเจรจาต่อรอง เรียกรับผลตอบแทน เริ่มตอบแทนบุญคุณกลุ่มคนที่มีบุญคุณตอนเลือกตั้ง โดยไม่ใส่ใจความเป็นตัวแทนประชาชน พฤติกรรมเช่นนี้เคยนำประชาธิปไตยไปสู่ความเสื่อมมาแล้ว ดังนั้น หากอยากรู้ว่าต้นเหตุที่ทำให้ประชาธิปไตยของประเทศไทยเสื่อม ถ้าอยากเห็นตัวการที่ทำให้ประชาธิปไตยมัวหมอง เริ่มสังเกตดูได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image