‘เสรี’ ฟันธง ‘กู้ยืม’ ก็นับเป็น ‘รายได้’ ของพรรค ขัด พ.ร.ป.พรรคการเมืองแน่นอน ชง กกต.ยุบพรรค

เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา โพสต์ข้อความทางเฟซบุีกเรื่อง “การกู้ยืมเงิน” ของพรรคการเมือง กับการถูกยุบพรรคการเมือง ระบุว่า

ตอนที่เสนอแนวทางการปฏิรูปการเมือง ของ สปท. ได้เสนอแนวการให้มีการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม โดยไม่ต้องการให้พรรคการเมืองหรือนักการเมืองใช้เงินมากเกินไปในการเลือกตั้ง เพราะการลงทุนหรือการใช้เงินมากๆ ต่อไปก็จะมีถอนทุน อันเป็นบ่อเกิดแห่งการทุจริตคอร์รัปชั่นตามมา ดังนั้น การใช้เงินของพรรคการเมืองหรือของผู้สมัครรับเลือกตั้งจึงต้องมีกรอบของการใช้เงิน และมีที่มีของเงิน โดยไม่ให้มีการใช้เงินมากเกินไป รัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองและ พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. จึงได้บัญญัติแนวทางของการได้เงินมาของพรรคการเมือง และวางวงเงินที่ใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัครไว้ เพื่อป้องกันการลงทุนในพรรคการเมือง ดังนั้น ที่มาของรายได้ของพรรคการเมืองจึงได้บัญญัติไว้ ใน พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 62

“รายได้ของพรรคการเมือง” ที่ได้มาจากการ “การกู้ยืมเงิน”จากหัวหน้าพรรคการเมืองที่นำไปใช้จ่ายในการเลือกตั้ง

จะเป็น “รายได้” ของพรรคการเมืองที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และพรรคการเมืองสามารถกู้ยืมมาใช้ในการเลือกตั้งได้หรือไม่” จึงเป็นเรื่องที่น่าพิจารณา

Advertisement

ซึ่งรายได้ของพรรคการเมืองดังกล่าว แม้ว่าจะเป็นการกู้ยืมเงินที่เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 ซึ่งหากคิดได้เพียงว่า การได้เงินมาจากการกู้ยืมเงินโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือถือว่าเป็นชอบด้วยกฎหมายและคิดว่าสามารถทำได้นั้น เป็นการคิดผิด เนื่องจากพรรคการเมืองไม่มีวัตถุประสงค์ในการกู้ยืมเงิน และไม่อยู่ในแนวทางที่พรรคการเมืองจะหารายได้จากการกู้ยืมเงินมาใช้จ่ายในการเลือกตั้งได้ เพราะการได้รายได้ของพรรคการเมือง พ.ร.ป.พรรคการเมืองได้บัญญัติไว้ชัดเจนแล้วว่า พรรคการเมืองจะมีรายได้โดยวิธีการอย่างใด ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 62 และแม้ว่าการกู้ยืมเงินจะกู้เงินดำเนินการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่หากเป็นการได้เงินมาของพรรคการเมืองแล้ว จะต้องเป็นไปตาม พ.ร.ป. พรรคการเมือง มาตรา 62 ดังกล่าว

ซึ่งต้องเข้าใจคำว่า “เงินบริจาค” ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง นั้น ก็คงมีความหมายว่า การสละ การให้ การแจก นักการเมืองเหล่านี้ ไปตีความเพื่อเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น ว่าการกู้ยืมเงินสามารถทำได้ เพื่อให้พรรคมีเงินมาใช้จ่ายจำนวนมาก แล้วตีความเองว่า “การกู้เงิน” ไม่ใช่การบริจาคเงิน จึงเป็นการเข้าใจอย่างยิ่ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องเข้าใจว่า “การกู้ยืม”นั้น ก็เป็นการได้เงินมารูปแบบหนึ่ง เพียงแต่มีเงื่อนไขว่าผู้ได้รับเงินไปที่เรียกว่า “ผู้กู้” นั้น จะต้องคืนเงินในเวลาที่ตกลงกันในภายหลังหรือในอนาคต (ซึ่งไม่รู้ว่าจะได้รับคืนหรือเปล่า) การคืนเงินหรือไม่จึงไม่ใช่สาระสำคัญของรายได้ของพรรคการเมือง

Advertisement

แต่การรับเงินดังกล่าว ถือเป็นรายได้ของพรรคการเมือง ที่จะต้องอยู่ในเกณฑ์ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 62

ดังนั้น ปัญหาที่เป็นสาระสำคัญจึงอยู่ที่ “การได้รับเงิน” หรือ “รายได้” ของพรรคการเมือง ว่า พรรคการเมืองนั้นได้รับเงินนับร้อยล้านบาทที่ไม่เป็นไปตามที่ พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 62 บัญญัติไว้ จึงเป็นประเด็นสำคัญว่าเป็นความผิดหรือไม่

ซึ่งเมื่อพรรคการเมืองดังกล่าว ได้รับเงินมาเป็นรายได้ ไม่ว่าจะมาในรูปของการรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือ ประโยชน์อื่นใด หรือได้รับจากการจากกู้ยืมเงินซึ่งก็ถือว่าเป็นรายได้ เมื่อพรรคการเมืองนั้น โดยรู้หรือควรรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ไม่เป็นไป ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 62 และมิได้เป็นไปตาม หมวด 5 ในเรื่องของรายได้ของพรรคการเมือง จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืน พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 72 และมาตรา 74

คณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงมีอำนาจและหน้าที่ในการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้นได้ ตาม พ.ร.ป. มาตรา 92(3) ซึ่งจะทำให้พรรคการเมืองนั้นสิ้นสุดลง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวนั้นได้ ตาม พรป.พรรคการเมือง มาตรา 90 /.

เสรี สุวรรณภานนท์
อดีตประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง (สปท.)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image