‘สุธี’ยัน ภัณฑารักษ์’กวางจู’เลือกเอง ไม่ได้บังคับ-บอกเคยได้รางวัลศิลปินดีเด่นด้านประชาธิปไตย

รศ.สุธี คุณาวิชยานนท์ ในงานแถลงข่าวที่ร้านไวท์ คาเฟ่ 26 พ.ค.59 (ภาพจาก ประชาไท)

กรณีนักวิชาการและศิลปิน รวม 209 ราย ในนาม “นักกิจกรรมวัฒนธรรมเพื่อประชาธิปไตย” (กวป.) ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงพิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจู เกาหลีใต้ ซึ่งนำผลงานของ รศ.สุธี คุณาวิชยานนท์ ร่วมจัดแสดงในนิทรรศการชุด ‘The Truth_ to Turn It Over’ ในเทศกาลประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และสันติภาพ เพื่อรำลึกเหตุการณ์ 18 พฤษภาคม ค.ศ.1980 ระหว่างวันที่ 10 พ.ค.-15 ส.ค.นี้ โดยกลุ่ม กวป.ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับแนวทางศิลปะของ รศ.สุธี กับจุดยืนทางการเมือง และจิตวิญญาณการต่อสู้ของชาวกวางจู จึงเรียกร้องให้ “ภัณฑารักษ์” ออกมาขอโทษนั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 พ.ค. เวลาประมาณ 11.00 น. ที่ร้านไวท์ คาเฟ่ โรงแรมซัมเมอร์เซท ทองหล่อ ได้มีการจัดแถลงข่าว เรื่อง “บทบาทและจุดยืนของศิลปินที่มีจิตสำนึกสาธารณะ” โดย รศ.สุธี คุณาวิชยานนท์, นายจรูญ อังศวานนท์ ศิลปินแห่งชาติ, นายจุมพล อภิสุข ศิลปินที่มีชื่อเสียงด้านการแสดงสด, นายไพโรจน์ ธีระประภา หรือ “โรจน์ สยามรวย” ศิลปินรางวัลศิลปาธร สาขาเรขศิลป์ ปี 2557, นายมานิต ศรีวานิชภูมิ ศิลปินชื่อดัง โดยมี นายอภิศักดิ์ สนจด ผอ.หอศิลป์ตาดู-ไทยยานยนตร์ ดำเนินรายการ

จากซ้าย จรูญ อังศวานนท์ ศิลปินแห่งชาติ, อภิศักดิ์ สนจด ผอ.หอศิลป์ตาดู-ไทยยานยนตร์ ผู้ดำเนินรายการ, ไพโรจน์ ธีระประภา (โรจน์ สยามรวย) ศิลปินรางวัลศิลปาธร, มานิต ศรีวานิชภูมิ ศิลปินชื่อดังและ รศ.สุธี คุณาวิชานนท์
จากซ้าย จรูญ อังศวานนท์ ศิลปินแห่งชาติ, อภิศักดิ์ สนจด ผอ.หอศิลป์ตาดู-ไทยยานยนตร์ ผู้ดำเนินรายการ, ไพโรจน์ ธีระประภา (โรจน์ สยามรวย) ศิลปินรางวัลศิลปาธร, มานิต ศรีวานิชภูมิ ศิลปินชื่อดัง และ รศ.สุธี คุณาวิชยานนท์

ในส่วนของ รศ.สุธีได้กล่าวในตอนหนึ่งว่า ตนเป็นข้าราชการ หัวหน้าภาควิชาทฤษฎีศิลป์ คณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร สอนมาราว 20 ปี นอกจากทำการสอนก็ทำงานศิลปะ ประมาณ 30 ปี ไม่ได้เป็นนักเคลื่อนไหวมืออาชีพ พร้อมทั้งนำเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลงานของตนมาให้ชม

“หนังสือที่นำมาวางนี้เป็นผลงานผม ทั้งงานศิลปะที่ปรากฏในนิทรรศการต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ มีหนังสือที่เขียนขึ้นอย่างน้อย 2 เล่ม สูจิบัตร นิทรรศการต่างๆ ที่เป็นงานเดี่ยว มีหนังสือภาษาอังกฤษอีกหลายเล่มที่นักวิจารณ์ นักประวัติศาสตร์ศิลปะต่างชาติเขียนถึงงานตนนำมาให้ดู

Advertisement

“จริงๆ ไม่ใช่นิสัยของผมที่จะต้องมาพูดถึงตัวเองเยอะขนาดนี้ แต่หลายท่านไม่รู้จักผม จึงขอแนะนำตัวก่อน ว่าทำงานศิลปะมานานแล้ว ผมมีที่มีทางของผม ไม่ได้คิดว่าจะทำไปเพื่อประสบความสำเร็จ คิดว่างานสำเร็จตั้งแต่ทำเสร็จแล้ว มีความสุขกับมันก็จบ สิ่งที่ตามมาเป็นของแถม มีคนชอบ มีคนซื้อ มีคนนำไปแสดง

“ผมไม่ได้เป็นนักเคลื่อนไหว นักประท้วงมืออาชีพ จริงๆ มีศิลปินรุ่นพี่หลายคนที่ผมชื่นชมว่า ทุ่มเทเรื่องการเคลื่อนไหวทางสังคมและการเมือง เช่น วสันต์ สิทธิเขต ซึ่งทุ่มเทยิ่งกว่า

“เนื้อหาเรื่องที่ทำหลากหลาย เรื่องประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมไทย การเมืองก็มีบ้าง เรื่องสิ่งแวดล้อมและอื่นๆ ไม่ได้ทำเรื่องการเมือง หรือเคลื่อนไหวการเมืองเป็นมืออาชีพอะไรเลย” รศ.สุธีกล่าว

Advertisement

รศ.สุธีกล่าวเพิ่มเติมว่า ตนยังเคยได้รับรางวัล มนัส เศียรสิงห์ “แดง” ครั้งที่ 52 ประจำปี 2549 อีกด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา หนึ่งในคณะกรรมการที่เคยมอบรางวัลดังกล่าวให้ตน ได้ออกมาโจมตีว่าตนเป็นศิลปินต่อต้านประชาธิปไตย

“บางงานผมก็ไปอยู่ในซีกฝ่ายซ้าย เขาก็ไปเชิญผมไปแสดง รางวัลนี้เขาก็ให้ผมมา มนัส เศียรสิงห์ “แดง” ครั้งที่ 52 ประจำปี 2549 ศิลปินทัศนศิลป์ดีเด่น ด้านสันติภาพ ประชาธิปไตย และความเป็นธรรม จากสถาบันปรีดี พนมยงค์ แม้ว่าจะมีกรรมการที่เคยให้รางวัลผม ออกมาโจมตีผมเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมาว่าผมเป็นศิลปินต่อต้านประชาธิปไตย” รศ.สุธีกล่าว

ผลงานชุด Thai Uprising ซึ่งกลุ่มกวป.มองว่าไม่เหมาะสมกับนิทรรศการชุด ‘The Truth_ to Turn It Over’ ในเทศกาลประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และสันติภาพ เพื่อรำลึกเหตุการณ์ 18 พฤษภาคม ค.ศ.1980
ผลงานชุด Thai Uprising ซึ่งกลุ่ม กวป.มองว่าไม่เหมาะสมกับนิทรรศการชุด ‘The Truth_ to Turn It Over’ ในเทศกาลประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และสันติภาพ เพื่อรำลึกเหตุการณ์ 18 พฤษภาคม ค.ศ.1980

สุธียัน ไม่ได้บังคับภัณฑารักษ์ “กวางจู” เลือกงาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับประเด็นงานศิลปะของ รศ.สุธี ชุด Thai Uprising ซึ่ง กวป.ทำจดหมายเปิดผนึกถึง นายลิม จง ยอง ภัณฑารักษ์พิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจู โดยมีความเห็นว่าผลงานชุดดังกล่าวขัดแย้งกับจิตวิญญาณการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของชาวกวางจูนั้น

รศ.สุธีกล่าวว่า ในนิทรรศการดังกล่าวมีศิลปินจากไทย เกาหลีใต้ เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ในส่วนของตน ภัณฑารักษ์ได้คัดเลือกไป 4 ชุด ชุดที่เกิดปัญหาคือชุดที่ตนเคยทำขึ้นระหว่าง พ.ศ.2556-2557 เป็นโปสเตอร์และเสื้อยืด โดยในการจัดแสดงครั้งนี้ตนได้ทำขึ้นใหม่จากแม่พิมพ์เดิม ส่วนตัวมองว่าเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ อีกทั้งตนไม่ได้บังคับภัณฑารักษ์ให้เลือกงานชุดดังกล่าว แต่ถูกเลือกเพราะเหมือนศิลปะเพื่อประชาชนของเกาหลี

“เขาเอาไปแสดง 4 ชุด ชุดอื่นๆ มีเรื่องเกี่ยวกับห้องเรียนประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่จากอดีตถึงปัจจุบัน จริงๆ แล้วเนื้อหาในนั้นหลายๆ อัน บางคนอาจไปหาเรื่องได้ว่า ผมโจมตีฝ่ายขวา โจมตีทหาร โจมตีเผด็จการ ในนั้นเป็นการต่อสู้ทางการเมืองที่สลับซับซ้อน แต่ชุดนั้นกลุ่มนั้น (กวป.) ไม่ได้แตะต้อง

“ชุดที่มีปัญหาคือ ที่ทำขึ้นมาใหม่จากแม่พิมพ์เดิม พ่นใหม่ เป็นเสื้อยืด โปสเตอร์ มองว่าเป็นบันทึกประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของเมืองไทยของเวลา ณ ตอนนั้น บริบทของตอนนั้น ไม่ตั้งใจว่าจะกระทบชิ่งปัจจุบัน หรือเพื่อเป็นเครื่องมือของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบัน แต่มองในแง่ประวัติศาสตร์

“ผมไม่ได้ไปบังคับนายลิม คิวเรเตอร์ (ภัณฑารักษ์) ด้วยนะครับ ว่าให้เลือกชิ้นนี้ เขาก็ดูงานเยอะๆๆๆ ของผม แล้วบอกว่าเอาชิ้นนี้ เขาบอกว่าเหมือนศิลปะเพื่อประชาชนของเกาหลี เขาบอกมีส่วนที่คล้ายกัน ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของเกาหลี เลยเลือกชิ้นนี้ เพราะมีส่วนที่สอดคล้อง เหมาะกับการจัดงานของเขา” รศ.สุธีกล่าว

รศ. สุธี คุณาวิชยานนท์ ถ่ายภาพร่วมกับศิลปินจากประเทศต่างๆ ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจู
รศ.สุธี คุณาวิชยานนท์ ถ่ายภาพร่วมกับศิลปินจากประเทศต่างๆ ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะกวางจู

ย้ำ ไม่ได้รับทุนจากไหน เจียด “เงินเดือนข้าราชการ” ทำงานศิลป์ช่วยชุมนุมเอง

รศ.สุธีกล่าวอีกว่า กรณีกลุ่ม “อาร์ตเลน” หัวหน้ากลุ่มคือ นายอำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ คณบดีคณะจิตรกรรมฯ ซึ่งเป็นเจ้านายของตน แต่ไม่ได้ใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่มาบีบบังคับให้เข้าร่วม ตนตัดสินใจด้วยจิตวิญญาณอิสรชน โดยออกค่าใช้จ่ายในการทำงานศิลปะเพื่อช่วยในการชุมนุมเองด้วยเงินเดือนข้าราชการ

“นอกจาก อ.อำมฤทธิ์ ยังมีพี่ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี (ศิลปินชื่อดัง) เป็นต้นเรื่องในการชักชวนเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆว่า เฮ้ย ! ไม่ไหวแล้ว เราต้องทำอะไรสักอย่าง ผมจะปฏิเสธก็ได้ ผมเป็นอิสระ ไม่ได้รับคำสั่งจากใคร เป็นข้าราชการ แต่หลวงไม่เคยมาสั่งให้ผมทำอะไร ยกเว้นเอกสารทางวิชาการ มคอ.ต่างๆ แต่ไม่เคยบังคับเรื่องศิลปะ ผมเป็นอิสระโดยตัวผมเอง เมียผมก็ยังบังคับไม่ได้ ดังนั้น ปี 2556-2557 ผมไปเองด้วยความสมัครใจ ตัดสินใจด้วยจิตวิญญาณอิสรชน ปัจเจกบุคคล

ที่ไปทำทั้งหมด ออกเงินเองทั้งหมดจากเงินเดือนข้าราชการ เจียดส่วนหนึ่งไปทำงานศิลปะ ตอนแรกก็ไม่ได้คิดว่าเป็นศิลปะ ทำโปสเตอร์มาช่วยในการชุมนุม เงินทุนส่วนตัวล้วนๆ ขอพูดให้ชัดเจน ตรงนี้ กปปส.ไม่ได้ออกเงินให้ผม พรรคการเมืองใดๆ คณะทหาร คณะบุคคล ไม่มี” รศ.สุธีกล่าว

รศ.สุธี ยืนยันว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมา กระทำเพื่อต่อต้านรัฐบาลคอรัปชั่น โดยทำงานศิลปะด้วยเงินทุนของตนเองรวมกลุ่มกับเพื่อนศิลปิน ซึ่งแรกเริ่มนั้น เกิดขึ้นก่อนมีกลุ่มกปปส.
รศ.สุธียืนยันว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมา กระทำเพื่อต่อต้านรัฐบาลคอร์รัปชั่น โดยทำงานศิลปะด้วยเงินทุนของตนเองรวมกลุ่มกับเพื่อนศิลปิน ซึ่งแรกเริ่มนั้นเกิดขึ้นก่อนมีกลุ่ม กปปส.

ยันกลุ่มตนเกิดก่อน “กปปส.”
เผย “สุดเขิน” เคลื่อนไหวการเมือง เหตุ “ไม่ใช่แนว”

รศ.สุธีกล่าวเพิ่มเติมว่า กลุ่มศิลปินที่ร่วมเคลื่อนไหวในช่วง พ.ศ.2556-2557 มีการรวมตัวกันก่อนกลุ่ม กปปส.จะเกิดขึ้นเสียอีก โดยนัดหมายเจอกันตั้งแต่เวทีอุรุพงษ์ ยอมรับว่า แต่ละคนไม่เคยเคลื่อนไหวกลางถนนมาก่อน ในช่วงแรกจึงรู้สึกเขิน

“ในปี 2556-2557 อยากจะบอกว่า กลุ่มศิลปินซึ่งตอนนั้นยังไม่มีชื่อ รวมตัวกันก่อนที่จะมี กปปส.เสียอีก ปรบมือครับ (เสียงปรบมือ) ผมยังจำบรรยากาศได้ ก็นั่งกันแถวๆ นี้แหละ ชลิต นาคพะวัน พี่ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี พี่เปิ้ล-วสันต์ ผึ่งประเสริฐ นายหัวป๋อง-วรศักดิ์ มาจากเกาะพะงัน ประเสริฐ บุตรสำเริง อะไรต่างๆ พวกนี้ เราไปเจอกันที่เวทีอุรุพงษ์ ยังไม่มี กปปส. เราทำกันมาแล้ว พี่น้องหนู-เบญญา นันทขว้าง (เสียงปรบมือ) เตรียมผ้าใบ เตรียมสีพลาสติก เตรียมพู่กัน เตรียมอะไรไว้เยอะแยะ

“ทุกคนก็เขินๆ นะ จดๆ จ้องๆ ใครจะวาดก่อนดี แต่ละคนจริงๆ แล้วไม่เคยเคลื่อนไหวแบบนี้หรอก ไม่ใช่แนวเลย แต่ละคนนี่เซเลบบ้าง บางคนก็เคยถูกหาว่าเป็นศิลปินบูติกบ้าง เคลื่อนไหวริมถนน กลางถนนไม่เคยทำหรอก จำได้ว่าผมเป็นคนลงมือวาดรูปคนแรกในวันนั้น ผมเอาก่อนเลย รีบวาดเสร็จไปรับลูกรับเมียกลับบ้าน” รศ.สุธีกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการแถลงดังกล่าวมีผู้เดินทางมาร่วมให้กำลังใจ รศ.สุธี ส่วนใหญ่เป็นคนในแวดวงศิลปะ อาทิ ศิลปิน นักออกแบบ และภัณฑารักษ์ เป็นต้น

 

ขอบคุณภาพประกอบจาก ประชาไท, เฟซบุ๊ก sutee kunavichayanont และ Hai Duc Le (ศิลปินเวียดนาม)

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image